คาเวนดิชจะเป็นยังไงในฤดูกาล 2016?

Mark Cavendish on stage eighteen of the 2013 Tour de France

สัปดาห์ก่อน DT พูดถึง 9 สปรินเตอร์ที่น่าจับตามองในฤดูกาล 2016 ไป เราวิเคราะห์ตัวเต็งหลักๆ สามคนคือ อังเดร ไกรเปิล (Lotto-Soudal), มาร์ค คาเวนดิช (Dimension Data) และมาร์เซล คิทเทล (Etixx-Quickstep)

แต่คนหนึ่งที่อยากดูเป็นพิเศษคือมาร์ค คาเวนดิช ขอเรียกสั้นๆ ว่า Cav ละกัน เทียบกับสปรินเตอร์คนอื่นที่เราพูดถึงแล้ว คาเวนดิชเป็นคนที่เปลี่ยนทีมบ่อยกว่าเพื่อน นับจากวันที่ทีม HTC เลิกราไป คาเวนดิชก็ย้ายมาสามทีมแล้ว นั่นคือ Sky > Etixx-Quickstep และล่าสุด Dimension Data

แน่นอนว่าผลงานสำคัญ​ที่เป็นตัวชี้วัด “ความสำเร็จ”​ ของสปรินเตอร์ก็คือ ยอดชัยชนะสเตจใน Tour de France ซึ่งสำหรับคาเวนดิชแล้ว มันลดลงทุกปีๆ แต่กระนั้นเขาก็ยังมีชัยชนะในสนามอื่นอยู่เรื่อยๆ คำถามคือตกลงเขาฝีเท้าตก พ่ายให้เด็กใหม่หรืออย่างไรกันแน่?

ปีนี้จะเป็นปีที่สำคัญมากสำหรับคาเวนดิชครับ เพราะ 1. ย้ายมาอยู่ทีมใหม่ 2. อายุเข้า 30 ปี 3. มีเป้าหมายใหญ่เยอะ (เหรีญยทองโอลิมปิก, สเตจวิน TDF, แชมป์โลกสมัยที่สอง) ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการชนะของเขาอย่างไรบ้าง? อันดับแรก เรามาดูผลงานของเขาก่อน

Winning Percentage

  • 2015: สปรินต์ 25 ครั้ง, ชนะ 14 ครั้ง, ชัยชนะคิดเป็น 56% ของการสปรินต์
  • 2014: สปรินต์ 24 ครั้ง, ชนะ 11 ครั้ง, ชัยชนะคิดเป็น 46% ของการสปรินต์
  • 2013: สปรินต์ 34 ครั้ง, ชนะ 16 ครั้ง, ชัยชนะคิดเป็น 47% ของการสปรินต์
  • 2012: สปรินต์ 39 ครั้ง, ชนะ 13 ครั้ง, ชัยชนะคิดเป็น 33% ของการสปรินต์
  • 2009: สปรินต์ 35 ครั้ง, ชนะ 23 ครั้ง, ชัยชนะคิดเป็น 66% ของการสปรินต์
  • Reference: Procyclingstats

ข้อมูลข้างบนนี้เราไม่ได้พูดถึง “คุณภาพ” ของชัยชนะ แต่เป็นผลงานการสปรินต์ทั้งหมดของ Cav ทั้งสนามเล็กสนามใหญ่ มีข้อสังเกตุหลายประการครับ

  1. คุณไว้ใจ Cav ในการสปรินต์ได้เสมอ ดูจาก 3 ปีล่าสุด เปอร์เซ็นต์ในการได้แชมป์ของเขานั้นแทบจะครึ่งต่อครึ่งกับจำนวนครั้งที่เขา “มีโอกาส” ได้สปรินต์เลย (มีโอกาสในที่นี้หมายถึง ปั่นจนจบสเตจ มาทันสปรินต์พร้อมกลุ่มหน้า) Success Rate แบบนี้ จัดว่าหาได้ยากมากในวงการโปรครับ ถ้าคิด Return of Investment แล้ว เขาเป็นนักปั่นที่ควรซื้อตัวมาไว้มากที่สุด เพราะการันตีได้ว่า ในครึ่งหนึ่งของสนามที่เขาลงแข่ง เขามีโอกาสชนะเกือบครึ่ง
  2. 2009-2012 คือปีที่คาเวนดิช พีคฟอร์มที่สุด โดยเฉพาะ 2009 ที่ Success Rate ของเขาสูงถึง 66% นั่นคือทุกๆ สามครั้งที่เขาสปรินต์ เขาชนะไปแล้วสองครั้ง!
  3. ปี 2012 เขาย้ายทีมมาอยู่กับ Sky ปีนี้ข้อมูลน่าสนใจหลายอย่างเพราะเป็นปีที่เขาชนะสเตจ Tour de France เยอะที่สุดในรอบสี่ปีล่าสุด (3 สเตจ) แต่เปอร์เซ็นต์การชนะตกลงมาก เพราะทีม Sky ไม่ค่อยสนับสนุนให้เขาสปรินต์ และต้องเล่นเป็นไพ่รองให้ฟรูม พอร์ท และวิกกินส์
  4. ปี 2013-2014 เป็นปีที่เขาปรับตัวเข้ากับทีมใหม่ และขบวนลีดเอาท์ใหม่ ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ เขาก็ยังชนะการสปรินต์เกือบครึ่งต่อครึ่ง
  5. ปี 2015 ซึ่งเขาชนะสเตจตูร์แค่สเตจเดียว แต่กลับมีเปอร์เซ็นต์การชนะ overall เยอะกว่าสองปีก่อนหน้า ตลอดสามปีที่อยู่กับ EQS เขาเป็นคนที่มีผลงานชัยชนะเยอะที่สุดในทีมทุกปี!

บทสรุปจากข้อมูลข้างต้นคือ เห็นได้ชัดว่าคาเวนดิชสปรินต์น้อยครั้งลงกว่าตอนเด็กๆ และเขาฝีเท้าเขาไม่ได้ตกลงมากนัก แค่มีโอกาสชนะสเตจในแกรนด์ทัวร์น้อยลง 

ประโยคสุดท้ายนี่สำคัญครับ เพราะว่าแกรนด์ทัวร์เดี๋ยวนี้ เห็นได้ชัดว่ามีสเตจทางราบน้อยลงมาก จากแต่ก่อนที่มี 6-7 สเตจที่การันตีได้เลยว่าต้องจบด้วยการสปรินต์ เดี๋ยวนี้ผู้จัดกลับมองว่าสเตจทางราบนั้นน่าเบื่อ เลยพยายามเพิ่มกิมมิคเล็กๆ น้อยให้สเตจน่าสนใจ เช่นเนินเขาหน้าเส้นชัย เขาสูงชันระหว่างสเตจ หรือสเตจที่กระแสลมแรง เป็นทางวิบาก ทั้งหมดนี้ตัดลดทอนโอกาสสปรินเตอร์ลงไปเยอะ ทำให้สปรินเตอร์หลายคนเลือกลงแกรนด์ทัวร์แค่รายการเดียวต่อปี

แต่ก่อนคาเวนดิชและไกรเปิลลงทั้ง Giro และ TDF ส่วนใหญ่จะแข่ง Giro ไม่จบเพื่อเก็บฟอร์มไว้ลง TDF แต่ก็มักจะชนะสเตจกันคนละ 2-3 สเตจ เดี๋ยวนี้ทั้งคู่ต้องเลือกว่าจะลงอะไร เพราะอายุมากขึ้น ความสด ความทนก็ไม่มากเหมือนแต่ก่อนแล้ว คำถามคือ ปี 2016 กับทีม Dimension Data นี้เขาจะเป็นยังไงบ้าง ?

2016 ปีชงหรือปีรุ่ง?

  • พูดถึงคู่แข่งก่อน ว่ากันตามสถิติแบบปีต่อปีแล้ว เมื่อคาเวนดิชต้องสปรินต์สู้กับคิทเทล เขาแพ้เกือบทุกครั้ง ใช่ครับ เกือบทุกครั้ง! ลองดูรูปข้างล่างนี้ เป็นการเปรียบเทียบเวลาที่คาเวนดิชต้องเจอคิทเทลในการสปรินต์แบบตัวต่อตัว จากปี 2012-2014 ใครชนะเยอะกว่ากัน?
  • นั่นแปลว่าคิทเทลน่าจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับคาเวนดิช คิทเทลสปรินต์ได้เร็วกว่าแบบไม่ต้องสงสัย แต่ปี 2016 ทั้งคู่อาจจะกลับมาอยู่ในเลเวลใกล้ๆ กัน คิทเทลต้องทำงานกับขบวนลีดเอาท์ใหม่ ในขณะที่คาเวนดิชได้ลีดเอาท์ชุด HTC-Highroad กลับมาอยู่ด้วยกันเกือบครบ (Eisel, Renshaw, EBH, Siutsou) ส่วนไกรเปิล น่าจะสูสีกับคาเวนดิชเรื่องความเร็ว แต่จะได้เปรียบคนอื่นตรงที่มีขบวนลีดเอาท์ที่เป๊ะที่สุดใน peloton ตอนนี้
  • อายุอาจจะไม่มีผลมากนักกับคาเวนดิช ปกติสปรินเตอร์จะมีแรงระเบิดพลังน้อยลงตามวัย สปีดปลายจะตกลงแบบเห็นได้ชัด คาเวนดิชยืนยันว่าวัตต์เขายังไม่ตก และเขาได้เปรียบนักปั่นคนอื่นตรงที่ เป็นคนอ่านเกมเก่ง มองไลน์ได้เฉียบคม อัตราเร่งสูง และท่าสปรินต์แอโร่กว่าเพื่อน ถ้าว่ากันวัตต์ต่อวัตต์ คาเวนดิชไม่น่าจะสู้คิทเทลและไกรเปิลได้ แต่เมื่อเอาทักษะทุกอย่างมารวมกันแล้ว อายุที่เพิ่มขึ้นคงไม่มีผลต่อการสปรินต์ของเขาเท่าไร

โดยรวมแล้ว น่าจะเป็นอีกปีที่ดีสำหรับคาเวนดิชครับ แต่มันหมดสมัยที่สปรินเตอร์จะชนะแกรนด์ทัวร์ที่ละ 5-6 สเตจแล้วหละ เป็นความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับจากหลายๆ ปัจจัย สมัยก่อนคาเวนดิชทำได้ เพราะว่ากันตามตรงแล้วไม่มีทีมไหนที่ทุ่มเทให้การสปรินต์เหมือนกับ HTC (เป็นทีมที่ไม่มีม GC Rider!) และให้ความสำคัญกับการสร้างขบวนหัวลากชั้นยอดก่อนที่ใครจะทำ ตอนนั้นคิทเทลก็ยังเป็น junior rider อยู่เลย ส่วนไกรเปิลก็ยังไม่แยกวงมาอยู่ Lotto

ถึงกระนั้นคาเวนดิชก็เป็นคนที่ไม่ควรจะพนันลงฝั่งตรงข้ามครับ อายุมากขึ้น แต่ประสบการณ์ก็มากตาม ยังคงเส้นคงวากับยอดชัยชนะทุกปี ถึงแม้คุณภาพชัยชนะจะดรอปลงบ้าง ปัญหาใหญ่ของเขาคือคิทเทล ส่วนไกรเปิลนั้นเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่น่าจะชนะกันได้ไม่ยาก สิ่งที่น่าจับตาดูคือ เขาจะฟิตอินกับ Dimension Data ได้ดีแค่ไหน และอดีตผู้ช่วยของเขาจะยังมีใครที่พร้อมจะถวายหัวลีดเอาท์ให้เขาในวันที่ทุกคนอายุมากขึ้นและอยากมีผลงานส่วนตัวกันมากขึ้นด้วย?

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *