ชิม ช้อป ใช้ ที่ชิโกกุ: พาทัวร์สถานที่ท่องเที่ยวรอบเกาะสวรรค์ของนักปั่น

บทความที่แล้วเราพาทุกคนไปตะลุยปั่นรอบเกาะชิโกกุ คราวนี้ก็ถึงเวลา Off Season เก็บจักรยาน แขวนรองเท้าคลีท สวมผ้าใบแล้วมาเที่ยวไปรอบๆ เกาะชิโกกุพร้อมๆ กันครับ

เกาะชิโกกุนั้นแม้ว่าจะเป็นเกาะที่เล็กที่สุดในบรรดา 4 เกาะของญี่ปุ่น แต่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ได้เกือบ 100% ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะล้วนถูกสร้างขึ้นล้วนสอดคล้องกับรูปแบบดั้งเดิมของธรรมชาติและวิถีชีวิต ซึ่งด้วยความสงบสุขอันแสนจะเรียบง่ายนี้ไม่เรียกร้องการโปรโมตให้เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่กลับกลายเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเลือกที่จะมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ อาบป่า กินปลา มาปั่น ขยันแช่ออนเซ็น

1. ชิม

เรื่องกินคือเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะหลังจากปั่นกันเสร็จใหม่ๆ ย่อมหิวกันเป็นพิเศษแน่นอน ซึ่งของดีของเด็ดของเกาะชิโกกุนั่นก็คือ ปลาดิบ นั่นเอง

เนื่องจากเกาะชิโกกุล้อมรอบไปด้วยทะเล และเมืองสำคัญๆ ของเกาะล้วนเป็นเมืองท่าที่บรรดาชาวประมงใช้เป็นที่ลงปลาด้วย บรรดาร้านอาหารต่างๆ จะรีบไปจับจองปลาที่สดใหม่จากตลาดปลา ก่อนนำมาแล่เป็นปลาดิบหรือซาซิมิมาเสิร์ฟต่อหน้าคุณ

หนึ่งในเมืองท่าที่ชาวประมงจะขนปลาขึ้นฝั่งทุกวัน

ซึ่งเมนูปลานี้มีให้เลือกหลากหลายชนิด หลากหลายกรรมวิธีการทำอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ดังนั้นแต่ละเมืองก็จะมีรสชาติที่แตกต่างกันไปนั่นเอง

ตัวอย่างการทำซาซิมิปลาคัตซึโอะ เริ่มต้นจากการโรยเกลือ (Salt Bae ก็มา)
จากนั้นเอาไปเผาด้วยไฟอันร้อนแรงจากฟาง
ก่อนจะได้เป็นซาซิมิปลาคัตซึโอะแบบสุกนอกสดใน

ถัดจากปลาก็จะมาเป็นของหนักขึ้นมาหน่อย นั่นคือราเมง จริงๆ แล้วราเมงนี่อาจดูเหมือนๆ กันทั่วญี่ปุ่น แต่ราเมงของที่นี่ก็จะมีความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ในส่วนของน้ำซุป ลักษณะของเส้นที่ทำขึ้นมาเอง

และเนื่องจากเมืองในเกาะชิโกกุนั้นสิ่งก่อสร้างเน้นเป็นแนวราบ ดังนั้นคุณจะเห็นร้านราเมงตั้งอยู่แบบ Stand Alone พร้อมที่จอดรถอันกว้างใหญ่ ซึ่งยั่วยวนใจให้จอดจักรยานเดินเข้าร้านซัดราเมงซักถ้วยก่อนออกมาปั่นต่อ

ปั่นจักรยานมาเหนื่อยๆ ซัดราเมงสักถ้วยก็คงจะดี

บรรดาอาหารเส้นยังไม่จบเพียงเท่านั้น นอกเหนือจากราเมง ยังมีอุด้งซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของเมืองคะงะวะอีกด้วย โดยนอกจากอุด้งที่เราสามารถซื้อทานเป็นถ้วยๆ แล้ว ที่นี่ยังมีแป้งอุด้งแบบแบ่งขายให้กลับไปทำกินเองที่บ้าน

ร้านที่เรามาลองทำและชิมอุด้ง มีหลายรายการมาถ่ายทำอุด้งของที่นี่ครับ

ครั้งนี้ผมเองได้มีโอกาสสวมบทเชฟทำอุด้งทานเองเช่นกัน ซอยเส้นออกมาดูขี้เหร่มากแต่พอนำไปต้มกับซุปแล้วอร่อยจนหลงตัวเองได้พักนึงเลย

ดูมีไดนามิกส์เพราะไม่เท่ากันสักเส้น

แม้หน้าตาดูไม่จืดแต่รถชาติไม่จืดนะ แถมมีประกาศณียบัตรรับรองการทำอุด้งด้วย

รสชาติได้เรื่องอยู่นะ

ซึ่งแป้งอุด้งเองยังแบ่งคลาสเป็นแบบธรรมดา และแบบพรีเมี่ยม สามารถหาซื้อได้ที่นี่ที่เดียวครับ

เขาว่ากินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่ ดังนั้นกรุณาแบ่งท้องไว้สำหรับของว่างหน่อย สำหรับของว่างที่เป็นจุดขายของเกาะชิโกกุเลย นั่นคือ ส้ม (Mikan)

ส้มสด ได้กินครั้งแรกตอนปั่นพอดี สดชื่นมากๆ ครับ ส่วนวิวด้านหลังคือภูเขาส้มทั้งเขาเลย

ส้มที่นี่เป็นส้มไร้เมล็ด หวานอมเปรี้ยวนิดๆ ทานง่ายและเป็นของที่พร้อมแปรรูป ซึ่งความหมายของคำว่าแปรรูปคือ ผู้คนที่นี่พร้อมแปรรูปผลส้มปกติให้กลายเป็นน้ำส้ม ไอติมส้ม เค้กส้ม ส้มแห้ง ไปจนถึงกาแฟรสส้ม ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นทำออกมาได้น่าสนใจ

น้ำส้มที่หาดื่มได้ทั่วไปในเกาะชิโกกุ

ส้มที่นี่โด่งดังมากถึงขนาดมีมาสคอตน้องมิคาน เป็นมาสคอตประจำเมืองอิมาบาริและของที่ระลึกเกี่ยวกับส้มเยอะมาก Recommend ให้ลองชิมครับ

หากคุณเป็นสายกาแฟ ที่นี่มีบริการกาแฟให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งนอกเหนือจากรสชาติแล้วยังมีโลเคชั่นที่เป็นที่สุดของการดื่มกาแฟ มีทั้งแบบที่อยู่ในเมืองและอยู่ริมถนนที่สามารถใช้พักเบรคระหว่างปั่นได้เลย

บาริสต้าแห่งร้านกาแฟในเมืองมัตสึยามะ
เด็กน้อยกินขนมชมวิวสวน
แวะพักกันหน่อยที่ Ocha Kuri Cafe ร้านกาแฟวิวหัวมุมแม่น้ำชิมันโตะสุดอลังการ ปล. Factor O2 ในรูปทำสีมานะ
แม่น้ำชิมันโตะจากร้านกาแฟ

 

2. ช้อป

หนังท้องตึงแล้วก็ถึงเวลาเดินย่อยกันเสียหน่อยครับ ในแต่ละเมืองจะมีถนนคนเดินที่บริหารพื้นที่โดยภาครัฐ มีการจัดแบ่งโซนต่างๆ ให้เลือกช้อปอย่างสะดวก

ถนนคนเดิน ที่มีอยู่เกือบทุกเมือง หน้าตาคล้ายๆ กันเพราะบริหารจัดการโดยรัฐ

หนึ่งในเมืองที่เราได้กลับไปอีกครั้งนั่นคือเมืองอิมาบาริ จังหวัดเอะฮิเมะ ซึ่งเป็นเมืองมีชื่อเสียงด้านเส้นทางปั่นจักรยานชิมานามิ ดังนั้นย่อมมีของที่ระลึกเกี่ยวกับการปั่นจักรยานให้เลือกช้อปด้วย

ร้านขายของฝาก Shimanami Picnic จักรยานยังใช้อยู่ ไม่ขายนะครับ
หน้าร้านเป็นจุดชมวิวคู่กับสะพาน Kurushima-Kaikyo ยาว 4.1 กิโลเมตร

นอกจากมาสคอตน้องมิคานแล้ว ยังมีมาสคอตอีกตัวชื่อน้องบาริซัง โดยบาริ มาจากชื่อเมืองอิมาบารินั่นเอง

โดนตกด้วยผ้าขนหนูน้องบาริ

อีกสิ่งนึงที่น่าสนใจคือร้านจักรยาน จากที่กวาดสายตาดูร้านจักรยานรายทางถือว่าค่อนข้างเยอะ โดยมีให้เลือกทั้งแบบจักรยาน City Bike ไปจนถึงจักรยาน Super Bike รวมถึงมีบริการให้เช่าจักรยานที่สะดวกมากๆ ดังนั้นหากมาปั่นจักรยานที่นี่แล้วรู้สึกว่ามันไม่เร็วไม่เบา รูดบัตรซื้อคันใหม่ขนกลับไทยได้นะครับ

 

3. ใช้

การปั่นจักรยานนั้นสัมพันธ์กับการเดินทางและการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดังนั้นคงจะดีกว่าหากเราตั้งเป้าหมายว่าเราจะปั่นจักรยานไปยังจุดท่องเที่ยวใดบ้าง จะได้ไม่เผลอแวะทานของระหว่างทางจนไปไม่ถึงที่หมายได้ทันเวลา

สถานที่แรกที่เราได้แวะไปเที่ยวก่อนที่จะเริ่มปั่นก็คือสวนสาธารณะโกโตฮิกิ (Kotohiki) จังหวัดคะงะวะ สวนนี้มีจุดชมวิวทะเลพร้อมกับประติมากรรมจากทรายขนาดใหญ่ เซนิกาตะ (Zenigata) ซึ่งจะเห็นได้ก็ต่อเมื่ออยู่บนที่สูงเท่านั้น

ป้ายอักษรทรงรีขนาดใหญ่มาก

ประติมากรรมนี้ถูกก่อสร้างขึ้นภายในคืนเดียว (ในปี ค.ศ.1633) เพื่อต้อนรับเจ้าเมือง Ikoma Takatoshi ที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้ และทุกๆ ปีอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นจะร่วมมือกันซ่อมแซมประติมากรรมทรายให้มีสภาพสวยงามดังเดิม

อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดโคชิ คือรูปปั้นซะกะโมะโตะ เรียวมะ (Sakamoto Ryoma) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของญี่ปุ่น เป็นซามูไรซึ่งมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคนั้น และยังเป็นผู้นำความทันสมัยมาสู่ประเทศ แต่ความทันสมัยเกินยุคนั้นกลับกลายเป็นภัย เมื่อตัวเขาเองถูกลอบสังหารเมื่อปี ค.ศ. 1867

รูปปั้นสำริดซะกะโมะโตะ เรียวมะ

รูปปั้นสำริดของซะกะโมะโตะ เรียวมะ สังเกตว่าใส่รองเท้าบูทอันล้ำสมัยในยุคนั้นแทนที่จะเป็นรองเท้าเกะตะ (รองเท้าเกี๊ยะของบ้านเรา) และมือที่สอดอยู่ใต้ชายเสื้อนั้นยังคงเป็นปริศนาว่าเขาถือหรือซ่อนอะไรไว้อยู่

นอกเหนือจากรูปปั้น สถานที่ดังกล่าวยังมีชายหาด, ศาลเจ้า, พิพิธภัณฑ์ รวมถึงสวนสัตว์ให้เข้าชมด้วย

ทางเดินลงไปชายหาด

ปราสาทอุวะจิมะ ปราสาทเก่าแก่อายุกว่า 400 ปีของจังหวัดเอะฮิเมะ เป็นปราสาทที่ดั้งเดิมรายล้อมไปด้วยน้ำทะเล เป็นดั่งป้อมปราการของเมือง ก่อนที่ความเจริญของเมืองจะเติบโตมาล้อมรอบตัวปราสาท (ไม่ใช่ตระกูลอุจิวะจากนารุโตะนะ 5555 😂)

ปราสาทสามชั้นอุวะจิมะ

ซึ่งตัวปราสาทแห่งนี้แตกต่างจากปราสาทแห่งอื่น เพราะไม่มีช่องสำหรับหย่อนหิน ยิงธนู หรือออกแบบมาเพื่อสู้รบกับข้าศึก แต่กลับถูกตกแต่งภายนอกอย่างสวยงามแทน เนื่องจากถูกสร้างขึ้นในสมัยที่บ้านเมืองสงบสุขนั่นเอง

เน้นความสวยงาม ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่

แต่ใช่ว่าปราสาทแห่งนี้จะไร้พิษสงป้องกันตัวเอง ด้วยการออกแบบกำแพงหินล้อมปราสาทอย่างแยบยลด้วยรูปแบบห้าเหลี่ยมด้านไม่เท่า ซึ่งหากมองเผินๆ ภายนอกดูเหมือนกำแพงหินมีเพียงสี่ด้าน ทำให้หากตัวปราสาทถูกข้าศึกล้อม จะถูกล้อมไว้ได้มากที่สุดเพียงสี่ด้านเท่านั้น เหลือไว้หนึ่งด้านสำหรับการหลบหนี

หากเจ้าเมืองมองออกมานอกหน้าต่างคงเห็นวิวประมาณนี้สินะ

ชิมานามิ กับสะพานอันลือชื่อทั้ง 7 เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ปั่นที่ดีที่สุด 1 ใน 7 ของโลก ตั้งอยู่ในจังหวัดเอะฮิเมะ โดยเราสามารถขึ้นไปดูสะพานที่จุดชมวิวหรือจะปั่นไปกลางสะพานเพื่อดูวิวก็ได้

เป็นสะพานเดียวกับที่ใช้ปั่นในงาน Shimanami Kaido เมื่อปีที่แล้ว

สำหรับที่ท่องเที่ยวสุดท้าย คุณอาจเลือกที่จะมาใช้เงินกับตัวเมืองมัตสึยามะ จังหวัดเอะฮิเมะ ซึ่งมีร้านรวงให้เลือกซื้อของอย่างจุใจ รวมถึงมีรถไฟเก่าแก่ (Tram) ที่ยังคงให้บริการอยู่

รถไฟพลังไอน้ำ หนึ่งในไฮไลท์ของเมืองมัตสึยามะ
หน้าสถานีรถไฟ Dogo Onsen มีสตาร์บัคที่ออกแบบมาให้กลมกลืนกับเมือง

และไฮไลท์เด็ดของเมืองมัตสึยามะก็คือโรงอาบน้ำโดโกะออนเซ็น (Dogo Onsen) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามออนเซ็นที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น​ ซึ่งเปิดบริการให้กับบุคคลทั่วไปด้วย แต่หากคิวอาบน้ำโดโกะออนเซ็นยาวเกินไป คุณสามารถเลือกใช้บริการออนเซ็นอื่นใกล้ๆ กันได้

โรงอาบน้ำโดโกะออนเซ็น ผูกพันกับชาวเมืองมัตสึยามะมาอย่างยาวนาน

แม้กล่าวไปข้างต้นจะเป็นเพียงแค่สถานที่แนะนำให้มาชิม ช้อป ใช้ แต่ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ชิโกกุพร้อมจะคอยให้บริการ ทั้งร้านรวงรายทาง ผู้คนที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น รวมถึงธรรมชาติที่บำบัดชีวิตให้กลับมาสดชื่นขึ้นใหม่อีกครั้ง

ดังนั้นหากมีโอกาสได้ไปเยือน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งให้ทุกท่านปั่นอย่างสนุก ใช้เงินให้คุ้มค่า ใช้เวลาให้คุ้มกับที่มาถึงญี่ปุ่น แน่นอนว่าการเดินทางมาปั่นย่อมมีค่าใช้จ่ายทั้งตัวเงินและเวลา ทำให้หลายคนลังเลที่จะออกเดินทางตามสิ่งที่ฝัน แต่เชื่อเถอะ สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป คุณจะจำไม่ได้หรอกว่าเสียเงินไปเท่าไหร่ แต่ทริปญี่ปุ่นจะอยู่ในใจตลอดไป

เริ่มทำในสิ่งที่ฝันกันเถอะครับ

ขอขอบคุณ TSUNAGURU ที่ชวนเรามาสำรวจเส้นทางปั่นและสถานที่ท่องเที่ยวในชิโกกุ ถ้าสนใจอยากได้รายะเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกาะนี้ ตามไปค้นเพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์นี้ ครับ

* * *

By จุติพงศ์ ภูสุมาศ

ใช้ กับตันทีมปั่นฝัน ใช้ชีวิตควบคู่กับการปั่นตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน สนใจในทุกด้านของเครื่องจักรสองล้อพลังเท้า!