Bike Safety: 12 ข้อกฏหมายจักรยานที่นักปั่นควรทราบ

“เฮ้ย มาปั่นบนถนนได้ไงวะ? ขวางรถคนอื่นรู้มั้ยเนี่ย? ไปๆ กลับบ้านไปเลย เป็นจักรยานมีสิทธิอะไรมาขี่บนถนนใหญ่”

เรื่องนี้จำจนวันตายครับ มันเป็นเรื่องจริงที่ผมโดนมอเตอร์ไซค์ขับปาดหน้าแล้วยืนชี้หน้าด่าให้เลิกปั่นจักรยานบนถนนจนเกือบจะได้มีเรื่องกัน สถานที่เกิดเหตุคือใกล้ๆ ตึก Thaipbs บนถนนวิภาวดี จำได้ขึ้นใจ ไอ้เราก็งงว่ามันผิดตรงไหน เพราะไม่ได้ปั่นขวางทางวิ่งรถ ปั่นชิดซ้ายขอบถนนธรรมดา จะว่าปั่นเร็วรึก็แค่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง…

ไม่รู้คนอื่นเคยเจอเรื่องราวแบบนี้หรือเปล่า แต่ผมว่ามีไม่น้อยที่ผู้ใช้ถนน ทั้งนักปั่นเอง ผู้ใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังไม่เข้าใจถึงสิทธิของจักรยาน สิ่งที่ดีที่สุดที่คนปั่นจะทำได้ก็คือต้องเรียนรู้สิทธิของตัวเองครับ

 

กฏหมายจักรยานมีด้วยหรือ?

ถึงการปั่นจักรยานจะเป็นอะไรที่เพิ่งมาฮิตกันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่กฏหมายเกี่ยวกับการใช้จักรยานที่จริงมีมานานเป็นร้อยปีทีเดียวครับ ในงานวิจัยเกี่ยวกับกฏหมายจักรยานของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (ลิงก์) ที่ทำให้ สสส. เมื่อปี 2546 บอกไว้ว่าเรามีกฏหมายเกี่ยวกับจักรยานโดยตรงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 (100 กว่าปี!) ในชื่อว่าพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พุทธศักราช 2460

ในสมัยนั้นผู้ปั่นจักรยานจะต้องจดทะเบียนทำใบขับขี่และต้องผ่านการทดสอบเหมือนเวลาเราไปทำใบขับขี่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์สมัยนี้ด้วย แต่ พรบ. นี้ก็ยกเลิกไป เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ล่าสุดกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับนักปั่นตอนนี้ก็คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

พรบ. ตัวนี้มีส่วนครอบคลุมกฏการใช้รถจักรยานสองล้อ กฏิกา มารยาทการใช้จักรยานบนถนน และหลายๆ ประเด็นที่เราควรทราบครับ เราจะพูดถึงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการปั่นจักรยานโดยตรงครับ

1. จักรยานคืออะไร?

จากมาตรา 4 พรบ. จราจรทางบกปี 2522 คำนิยามของจักรยานคือ “รถที่เดินด้วยกำลังของผู้ขับที่มิใช่เป็นการลากเข็น”

2. แล้วจักรยานไฟฟ้าหละ?

มาตรา 4 บอกว่า จักรยาน 2 ล้อที่เดินด้วยกำลังไฟฟ้าหรือพลังงานอื่นๆ มีสถานะเป็นรถจักรยานยนต์ เพราะต้องปฏิบัติตามกฏจราจรเช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ และถ้ามีเครื่องยนต์ปริมาตรกระบอกสูบเกิน 50 cc. ก็ต้องนำไปจดทะเบียนทะเบียนและทำประกันภัยด้วย

3. มีคนซ้อนจักรยานผิดกฏหมายหรือเปล่า?

มาตรา 18 ใน พรบ. ระบุว่า “รถจักรยานสองล้อ ให้บรรทุกของอย่างเดียวได้ไม่เกิน 30 กิโลกรัม” นั่นหมายความว่า ตามกฏหมายแล้วจักรยานบรรทุกคนไม่ได้ครับ แต่แบกของได้ 30 กิโลกรัม ว่ากันตามชีวิตจริงคงไม่มีใครจับถ้าเราจะให้เพื่อนนั่งซ้อนท้าย แต่เมื่อเกิดเรื่องหรืออุบัติเหตุขึ้นมา ข้อนี้ต้องพึงระวังไว้

คุณอาจจะคิดว่าจักรยานนี่จะจอดตรงไหนก็ได้ แต่จริงๆ กฏหมายก็มีข้อห้ามเรื่องนี้ไว้ชัดเจนครับ มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ (รวมถึงผู้ใชัจักรยานด้วย) จอดยานพาหนะไว้ 15 ข้อ มีอะไรบ้าง?

  • บนทางเท้า
  • บนสะพานหรือในอุโมงค์
  • ในทางร่วมทางแยก หรือระยะ 10 เมตรจากทางร่วมทางแยก
  • ในทางข้าม หรือระยะ 3 เมตรจากทางข้าม
  • ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ
  • ในระยะสามเมตรจากท่อดับเพลิง
  • ในระยะสิบเมตรจากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร
  • ในระยะสิบห้าเมตรจากทางรถไฟผ่าน
  • ห้ามจอดซ้อนกันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว
  • ตรงปากทางเข้าออกอาคารหรือทางเดินรถ หรือในระยะ 5 เมตรจากปากทางเดินรถ
  • ระหว่างเขตปลอดภัยกับของทาง หรือในระยะ 10 เมตรนับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง
  • ในที่คับขัน (!)
  • ในระยะ 15 เมตรก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง และเลยเครื่องหมายไปอีกสามเมตร
  • ในระยะ 3 เมตรจากตู้ไปรษณีย์
  • ในลักษณะกีดขวางทางจราจร

แต่ละข้อค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว คงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม

falcon 1 (1 of 1)-4

5. ขี่จักรยานยังไงถึงเรียกว่าผิดกฏหมาย?

ในหมวดนี้กฏหมายก็ครอบคลุมเช่นกันครับ จริงๆ เป็นกฏห้ามที่ใช้กับผู้ขับขี่รถทุกชนิดแต่นั่นก็รวมถึงนักปั่นด้วย ข้อห้ามมี 8 ข้อ จากมาตรา 43

  • เมื่อหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ (เช่นบาดเจ็บ เหนื่อยล้า ง่วงนอน….)
  • เมื่อเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น (ถึงจะไม่โดนจับเป่าเช็คแอลกอฮอล์ แต่เมาก็ไม่ควรปั่นนะครับ)
  • ในลักษณะกีดขวางจราจร (เช่นกินเลน คร่อมเลน ขวางทางรถเร็ว)
  • โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
  • ในลักษณะที่ผิดวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านในด้านหนึ่งหรือทั้งสองได้พอแก่ความปลอดภัย
  • บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร (!)
  • โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนผู้อื่น

6. ต้องติดอุปกรณ์อะไรบ้าง?

ว่ากันตามกฏหมาย มาตรา 80 ผู้ใช้จักรยานในทางเดินรถยนต์ต้องมีอุปกรณ์ 4 อย่างครับ

  • กระดิ่ง: ที่ให้เสียงได้ยินในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร
  • เครื่องห้ามล้อ (เบรค): ที่ใช้การได้ดี สามารถหยุดจักรยานได้ทันที
  • ไฟหน้าแสงขาว: ต้องส่องเห็นพื้นทางได้อย่างน้อย 15 เมตร และสว่างพอที่ผู้ขับเลนตรงข้ามมองเห็นด้วย
  • ไฟท้ายแสงแดง: ที่ให้แสงสว่างตรงไปข้างหลัง หรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดงแทน

มาตรา 81 เพิ่มเติมว่าติดไฟอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องเปิดไฟหน้าให้รถที่ขับสวนทางมาเห็นชัดด้วย

7. จักรยานปั่นได้เร็วสุดกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง?

เชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบันไม่มีกฏหมายบังคับความเร็วสูงสุดของจักรยานครับ เพราะกำหนดความเร็วใน พรบ. ไม่ได้รวมจักรยานสองล้อ แต่ก็ใช่ว่าเราจะซิ่งได้นะครับ (ว่ากันตามความจริง ถ้าไม่ใช่ทางลงเขาจักรยานก็ปั่นกันไม่เกิน 40–45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องเป็นระดับนักกีฬาถึงจะปั่นได้เร็วขนาดนั้น)

อย่างไรก็ดี มีกฏที่บังคับว่าผู้ใช้จักรยานไม่ควรปั่นในลักษณะที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตหรือทรัพย์สิน เพราะจะเป็นความผิดทางกฏหมายจราจรนั่นเองครับ

 

8. ประสบอุบัติเหตุต้องทำยังไง?

ผู้ขับขี่จักรยานก็มีความรับผิดชอบไม่ต่างจากผู้ใช้ยานพาหนะอื่นๆ ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายผิด ก่อความเสียหายให้กับผู้อื่นครับ มาตรา 78 ระบุว่าเราต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ดี

ช่วยเหลือเสร็จแล้วก็ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่พนักงานตำรวจ พร้อมแจ้งตัวตน ชื่อ ที่อยู่ และเลขทะเบียนรถของคู่กรณีด้วย ถ้าเราหนีจากที่เกิดเหตุ เราจะตกเป็นฝ่ายผิดทันที และเจ้าหน้าที่มีสิทธิยึดจักรยานคันก่อเหตุด้วย ถ้ายึดแล้วเราไม่ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ จักรยานคันนั้นจะถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้กระทำความผิด และตกเป็นของรัฐ!

“ถ้าขับขี่รถ(ทุกชนิดรวมทั้งจักรยาน)ในทางแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย ในกรณีที่ผู้ขับขี่หลบหนีไป หรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตน ว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในหกเดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐ”

 

9. ต้องใส่หมวกกันน๊อคหรือเปล่า?

ถึง DT จะเตือนให้ทุกคนใส่หมวกกันน๊อคก่อนออกปั่นทุกครั้ง แต่ในทางกฏหมาย ไม่ใส่หมวกจักรยานถือว่าไม่ผิดครับ กฏหมายจะบังคับเฉพาะผู้ขับขี่จักรยานยนต์เท่านั้น แต่ถึงจะไม่ผิดกฏหมายก็ต้องเซฟตัวเองครับ ใส่เถอะ!

falcon 1 (1 of 1)-7
ปั่นแถวคู่ได้ แต่ควรดูสภาพถนนและสภาพจราจรประกอบด้วย

 

10. สิ่งที่นักปั่นไม่ควรทำ 7 ประการ

ในข้อ 5 ข้างต้นที่พูดถึงเรื่องข้อห้าม 8 ข้อ มาตรานั้นจะพูดถึงผู้ใช้รถทุกประเภท แต่ในมาตรา 83 นี้จะพูดถึงลักษณะท่าทางการปั่นสำหรับผู้ขับขี่จักรยานโดยเฉพาะ มีอะไรบ้าง?

  • ขับโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว
  • ขับโดยไม่จับคันบังคับรถ (ไม่ควรขับปล่อยมือ!)
  • ขับขนานกันเกินสองคัน เว้นแต่ในทางที่จัดไว้สำหรับจักรยาน (ตีคู่ ตั้งขบวนได้ แต่ไม่เกินสองคัน)
  • ขับโดยนั่งบนที่อื่นอันมิใช่อานที่จัดไว้เป็นที่นั่งตามปกติ (ปั่นโดยไม่นั่งบนอาน ว่าแต่ถ้ายืนปั่นจะผิดไหมนะ?)
  • ขับโดยบรรทุกบุคคลอื่น (ห้ามปั่นซ้อนท้าย)
  • บรรทุกหรือถือสิ่งของ หีบห่อใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางรถ หรือเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
  • เกาะหรือพ่วงรถอื่นที่กำลังแล่นอยู่ (ข้อนี้ชัดเลยครับ สำหรับคนที่ชอบจี้มอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์)

 

11. สัญญาณมือสำหรับนักปั่น

เคยเห็นเพจจักรยานไทยหลายๆ เพจได้แชร์ลักษณะการใช้สัญญาณมือจากเว็บจักรยานต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วของไทยก็มีเหมือนกันครับ และต่างกับของต่างประเทศด้วย ควรจะเรียนรู้กันไว้

ของเรามีระบุไว้เป็นกฏหมายเลยว่าต้องปฏิบัติยังไงบ้าง มาตรา 37 เขาพูดถึงเรื่องการให้สัญญาณด้วยมือและแขนตามนี้ ลองดูภาพและวิดีโอประกอบครับ

  • ลดความเร็ว: ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ และโบกมือขึ้นลงหลายครั้ง
  • หยุดรถ: ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ ยกแขนขวาท่อนล่างตั้งฉากกับแขนท่อนบนและตั้งฝ่ามือขึ้น
  • ให้รถคันอื่นแซง: ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ และโบกมือไปข้างหน้าหลายครั้ง
  • เลี้ยวขวาหรือเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวา: ให้ยื่นแขนขวาไปนอกรถเสมอไหล่
  • เลี้ยวซ้ายหรือเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางซ้าย:ให้ยื่นแขนขวาออกไปนอกรถเสมอไหล่ และงอข้อมือชูขึ้นโบกไปทางซ้ายหลายครั้ง

 

12. นักปั่นจะต้องปฏิบัติตัวยังไงบนท้องถนน?

ข้อนี้สำคัญที่สุด ใน พรบ. แยกไว้หลายมาตรา แต่เรารวมมาให้ตามนี้ครับ

  • ปั่นในทางจักรยานเมื่อมีทางจักรยานให้ปั่น: (มาตรา 79 ทางใดที่ได้จัดไว้สำหรับรถจักรยาน ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องขับในทางนั้น)
  • ปั่นชิดฝั่งซ้ายของถนนตลอดเวลา: (มาตรา 82 ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องขับให้ชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ ไหล่ทาง หรือทางที่จัดทำไว้สำหรับรถจักรยานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องขับขี่รถจักรยานให้ชิดช่องเดินรถประจำทางนั้น)

กฏหมายสำหรับผู้ขับขี่จักรยานอาจจะไม่รัดกุมมาก เมื่อเทียบกับยานพาหนะประเภทอื่นๆ และมีหลายข้อที่อาจจะจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับชีวิตจริง แต่โดยรวมแล้วถือว่ากฏหมายไทยอธิบายสิทธิและข้อปฏิบัติสำหรับผู้ขับขี่จักรยานไว้ชัดเจน

อย่างน้อยอ่านเรื่องนี้จบแล้วเราก็รู้หน้าที่ของเราในฐานะผู้ร่วมใช้ถนนคนหนึ่งครับ อย่างที่เขาบอก “ความไม่รู้กฏหมาย จะอ้างเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้” เพราะไม่งั้น ทุกคนก็จะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายกันหมด เพื่อให้พ้นผิด ถ้ามีประโยชน์อย่าลืมฝากแชร์ให้เพื่อนๆ นักปั่นอ่านกันครับ~

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!