Bike Spot: Condor Super Acciao

คอลัมน์ Bike Spot วันนี้ DT พาไปชมจักรยาน “เหล็ก”​ สไตล์แข่งขันรุ่นใหม่ของ Condor Cycles บริษัทจักรยานเก่าแก่จากอังกฤษกันครับ

Condor Cycles

ด้วยอายุกว่า 65 ปี Condor (คอนดอร์) เป็นหนึ่งในยี่ห้อจักรยานทีเก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ เชื่อว่าแฟนๆ จักรยานที่เคยไปลอนดอนน่าจะเคยเห็นจักรยาน Condor ตามท้องถนนหรือเคยเข้าไปเยี่ยมชมร้านเขาที่ถนน Gray’s Inn Road แน่ๆ จักรยาน Condor นั้นมีหลาย range ตั้งแต่รถแม่บ้านยันเสือหมอบที่แข่งกันในหมู่มืออาชีพ แต่จุดเด่นที่ทำให้ Condor ไม่เหมือนใครเลยก็คือจักรยานทุกคันของเขาทำด้วยมือในโรงงานที่อิตาลี ทั้งรุ่นเหล็ก อลูมินัมและคาร์บอน ไม่ได้ทำในโรงไต้หวันหรือจีนเหมือนยี่ห้ออื่นๆ

แน่นอนว่าเรื่อง Know-how จักรยานคาร์บอนนั้น อิตาลีอาจจะยังไม่ทันเอเชียครับ แต่สำหรับรถเหล็กที่เป็นจุดเด่นของ Condor นั้นเนื้องาน handmade ไม่แพ้ใครแน่ๆ และที่สำคัญจักรยาน Condor ส่วนใหญ่ ราคาไม่สูงจนเกินไป ผมชอบตรงที่ Condor ยังยึดมั่นกับปรัชญาการสร้างจักรยานแบบ Craftmanship ที่เขาเชื่อเรื่องจิตวิญญาณของจักรยานแต่ละคันที่ออกมาจากมือช่างแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมดเหมือพิมพ์ออกมาจากแม่พิมพ์เดียวกัน

Condor เป็นสปอนเซอร์หลักให้กับทีม Rapha-Condor-JLT ทีมระดับ Continental ดิวิชันสามจากประเทศอังกฤษครับ เป็นทีมเดียวที่โปรบางคนอย่าง Kristian House ยังเลือกใช้จักรยานเหล็กแทนคาร์บอน

ถึงแม้ว่าตลาดจักรยานสมัยนี้จะมุ่งไปที่เฟรมคาร์บอนกันหมดแล้ว (และราคาเฟรมคาร์บอนก็ถูกลงเรื่อยๆ) แต่รถเหล็กก็ยังมีข้อดีของมันอยู่ คือฟีลการปั่นที่นิ่มนวล แต่ก็ยังรักษาความ stiffness ได้ดี ปัญหาคือ เฟรมเหล็กส่วนใหญ่ไม่สามารถขึ้นรูปท่อได้อย่างอิสระเหมือนคาร์บอนครับ ทำให้ขาดฟีเจอร์เด่นๆ อย่างกระโหลกขนาด Oversized หรือท่อคอแบบ tapered ซึ่งเป็นจุดเด่นของเฟรมคาร์บอนช่วยทั้งเรื่อง stiffness และการบังคับรถ เฟรมเหล็กในตลาดแทบทั้งหมดจะเป็นทรงท่อกลมมาตรฐาน สไตล์คลาสสิค

Condor Super Acciao

SuperAcciao-riding

แต่ Condor เขาคิดว่า ทำไมรถเหล็กมันจะทำให้แข่งได้ดีเหมือนเฟรมคาร์บอนสมัยใหม่ไม่ได้ละ โจทย์ของ Condor คืออยากทำจักรยานเหล็กที่แข่งได้ดีในสนามแข่งประเภทไครทีเรียม (แข่งเป็นลูปในเมือง – ระยะทางไม่ไกล เข้าโค้งเยอะ ออกตัวบ่อย และชนล้มกันบ่อย)​ ซึ่งนิยมแข่งกันมากในอังกฤษครับ สุดท้ายออกมาเป็น Condor Super Acciao ที่ทาง Condor พยายามใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ ในเฟรมคาร์บอนเข้าไปในเฟรมเหล็ก เช่นใช้ตะเกียบคาร์บอนเพื่อลดแรงกระแทกและลดน้ำหนัก ทำกระโหลก oversized และท่อคอแบบ Tapered รีดท่อให้บางและเชื่อมท่อแบบ Tig Welding เพื่อลดน้ำหนัก ท้ายสุด การแข่งแบบไครทีเรียมนั้นมักจะมีอุบัตเหตุชนกันได้บ่อยๆ เฟรมเหล็กจึงได้เปรียบเฟรมคาร์บอนเพราะซ่อมแซมได้ง่าย เวลาชนอย่างมากก็แค่บุบ แต่คาร์บอนนั้นอาจจะแตกหรือร้าวในจุดที่เรามองไม่เห็นได้ครับ

Condor1

แน่นอนว่าน้ำหนักเฟรมเหล็กก็จะมากกว่าเฟรมคาร์บอนอยู่แล้ว แต่การแข่งไครทีเรียมที่ไม่มีภูเขาหรือเนินให้ปีนเลยนั้น น้ำหนักก็ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญอะไร และที่สำคัญมันค่อนข้างเบากว่ารถเหล็กทั่วๆ ไปพอสมควร เฟรมหนักประมาณ 1800 กรัม ก็หนักกว่าคาร์บอนตัวล่างอยู่ร่าว 600 กรัมครับ

สเน่ห์ของเจ้า Super Acciaio ตัวนี้ที่ผมชอบเป็นพิเศษ และเลือกหยิบมาลงในคอลัมน์ Bike Spot ก็เพราะแนวคิดการผสมผสานระหว่างรถเหล็กสไตล์คลาสสิค ดูไม่หวือหวาไฮเทค เรียบง่ายไร้กาลเวลา ไม่ตกรุ่น แต่ก็ยังมีสมรรถภาพดีพอจะเอาไปใช้แข่งขันได้ ซึ่งเป็นอะไรที่เจ้าอื่นเขาไม่ทำกัน! น่าสนใจทีเดียวครับ

Spec

  • Fork: Columbus Grammy slim full carbon, tapered
  • Frame: Custom triple butted steel by Condor and Columbus
  • Colours: black, neon red, grey & team issue
  • Tapered head tube
  • BB30 bottom bracket shell
  • Developed with riders from Rapha Condor JLT over the last four seasons
  • Click here for frame geometry
  • Sizes: 46, 49, 52, 55, 58, 61cm
  • Weight: 1800g (52cm frame, painted)
  • ราคา 1299 ปอนด์​ ประมาณ​ 52,000 บาท
  • จำหน่ายผ่านเว็บ Condor
สีทีม
สีทีม

Condor4

Condor3

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *