รีวิว: รองเท้า Bont Riot

รองเท้าปั่นที่อบให้เข้ากับรูปเท้าได้ ใช้พื้นไฟเบอร์กลาสผสมคาร์บอนในราคาไม่ถึง 6,000 บาท? Bont จัดให้

คุณอาจจะเคยเห็นรองเท้า Bont ประปรายในกลุ่มนักปั่นอาชีพ เช่นบนเท้าของ Sir Bradley Wiggins แต่เชื่อว่าไม่ใช่รองเท้าที่เห็นได้ทั่วไปในเมืองไทยแน่ๆ แบรนด์นี้ยังถือว่าไม่แพร่หลายเท่าแบรนด์รองเท้าอื่นๆ อย่าง Fizik, Bontrager, Shimano หรือ SIDI นั่นก็เพราะเพิ่งจะมีตัวแทนอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อปีที่แล้วนี่เอง และอีกเหตุผลก็คือที่ผ่านมา แบรนด์ออสเตรเลียรายนี้แทบไม่เคยผลิตรองเท้าปั่นราคาถูกเลย เพราะเน้นกลุ่มนักกีฬาและกลุ่ม performance เป็นหลัก Bont Riot เป็นโมเดลแรกที่หันมาจับตลาด performance ระดับเริ่มต้นแต่ยังคงเอกลักษณ์ประสิทธิภาพดีไว้อยู่

DT ได้ Bont Riot มาทดสอบนานพอสมควร มาดูกันว่าจะประสิทธิภาพดีเกินราคาอย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า?

 

ก่อนปั่น: รองเท้าอบได้

จุดเด่นที่สุดของ Bont Riot คือเป็นรองเท้าที่ผู้ใช้สามารถอบพื้นรองเท้าให้เข้ากับรูปเท้าได้ ซึ่งปกติฟีเจอร์นี้แทบไม่ได้เห็นในรองเท้ารุ่นเริ่มต้นครับ ถามว่าจะอบรองเท้าไปทำไม? ต้องเข้าใจว่าไม่มีรูปทรงเท้าของใครที่เหมือนกัน 100% การอบโครงรองเท้าจะช่วยให้รองเท้าเข้ารูปกับสรีระเท้าของเราพอดี โครงรองเท้า Bont สามารถอบเพื่อเปลี่ยนรูปได้ทั้งชิ้น ไม่ใช่แค่บางจุดเหมือนรองเท้าคู่แข่งบางรุ่น รองเท้าที่อบได้จะให้ความรู้สึกว่ามันเข้ากับรูปเท้าของคุณจริงๆ

Bont Riot (1 of 3)
อบผิดวิธี หรือตั้งอุณหภูมิสูงเกินกำหนด ระวังรองเท้าไหม้ และหลุดประกันนะครัช!

วิธีการอบนั้นไม่ยากอะไรครับ อุ่นเตาอบไฟฟ้าให้ได้อุณหภูมิคงที่ Bont แนะนำที่ 70 องศาเซลเซียส ถ้าตั้งร้อนกว่านี้แล้วรองเท้าไหม้ Bont ไม่รับประกัน (ลองดูวิดีโอการอบจาก Bont) จากนั้นจับรองเท้าทั้งสองข้างใส่เข้าไปในเตาอบ ทิ้งไว้เป็นเวลา 20 นาที เมื่อรองเท้าได้รับความร้อน เนื้อเรซิ่นในโครงรองเท้าจะอ่อนตัวทำให้โครงรองเท้าสามารถเปลี่ยนรูปได้ เมื่อครบ 20 นาทีแล้วก็เอารองเท้าออกจากตู้ รอให้มันเย็นนิดนึง เอามือจับดูพออุ่นๆ ว่าใส่ได้ (ใส่ถุงเท้าด้วย เดี๋ยวเท้าลวก!) ใส่รองเท้า รัดสายให้พอดีแล้วยืนกดทับ ถ้ารองเท้ารู้สึกแคบไปให้เอาไขควงขนาดพอดีกับจุดที่อยากจะขยาย ยัดเข้าไปในจุดที่คุณคิดว่าแคบเผื่อทางให้โครงรองเท้ากว้างขึ้น

ถ้าการอบครั้งแรกยังไม่พอดี คุณสามารถอบกี่ครั้งก็ได้ หรือถ้าไม่สะดวกจะไม่อบ ใส่อย่างที่เขาขายมาเลยก็ได้เหมือนกัน

 

การออกแบบ

นอกจากจะอบได้แล้ว Bont ใช้พื้นรองเท้าที่เป็นส่วนผสมระหว่างไฟเบอร์กลาสและคาร์บอนไฟเบอร์ ผสมกับเรซิ่นสูตรพิเศษของ Bont เอง เหตุผลที่ต้องผสมไฟเบอร์กลาส ไม่ใช้พื้นคาร์บอน 100% นั้นก็เพื่อลดต้นทุน แต่อย่าคิดว่ามันจะไม่สติฟตอบสนองแรงกด แทบทุกสำนักรีวิว (และ DT เอง) ยืนยันว่าคุณหารองเท้าที่สติฟกว่านี้ได้ยากครับ (เรื่อง performance เรามาว่ากันต่ออีกทีข้างล่าง)

Bont Riot (2 of 2)-2
Bont Riot มีสองสีคือดำล้วน และขาว-ดำ ทูโทน มีเวอร์ชันไตรกีฬาด้วย

Stack height หรือความสูงของพื้นรองเท้าสูงแค่ 4.8mm ซึ่งถือว่าบางกว่ารองเท้าในระดับราคาเดียวกันเกือบทุกรุ่น

ด้านบนของรองเท้าทำด้วยวัสดุหนังเทียม ไมโครไฟเบอร์ มีรูระบายอากาศค่อนข้างเยอะ ใช้ระบบ Rachet ในการรัด ผสมกับสายรัดส่วนหน้าแค่ชิ้นเดียวต่อข้าง เห็นมีจุดรัดเท้าน้อยๆ แค่นี้แต่เวลาใส่จริงต้องบอกว่าเหลือเฟือครับ รัดแน่นพอดีไม่รู้สึกหลวม หนังด้านบนดูคุณภาพโอเค ไม่หรูหราแต่ก็พอดีกับราคา และดูทนทานกว่ารองเท้าคู่แข่งบางรุ่นที่ราคาใกล้กัน

ด้านในรองเท้าบุด้วยฟองน้ำค่อนข้างหนา ตัววัสดุที่ใช้บุมีความแข็งและหยาบกว่ารองเท้ารุ่นท๊อปเล็กน้อย แต่ก็รับได้ในราคาระดับนี้

โครงรองเท้า Bont Riot จะต่างกับรองเท้าอื่นๆ ที่คุณเคยใส่แน่นอนครับ รองเท้าอื่นใส่เข้าไปแล้วอาจจะรู้สึกเหมือนใส่รองเท้าหนังธรรมดา แต่สำหรับ Bont Riot โครงรองเท้าจะเป็นทรงคล้ายๆ “เรือ” คือมันจะให้ความรู้สึกว่ากำลัง “อุ้ม​”​ เท้าของเราทั้งหมดอยู่ เพราะโครงนั้นไม่ได้แบนแต่สูงขึ้นมาระดับที่หุ้มทรงเท้าเราได้เล็กน้อย

ด้วยที่พื้นไม่ได้ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ 100% เหมือนรุ่น Vaypor+ (ที่แพงกว่าเท่านึง) ทำให้น้ำหนักรองเท้าอาจจะมากสักหน่อย น้ำหนักเวอร์ชันที่ DT ทดสอบ ไซส์ 43 หน้ากว้างอยู่ที่ 280 กรัมต่อข้าง น้ำหนักอาจจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อย เพราะเป็นรองเท้าแฮนด์เมด

รองเท้ามีให้เลือกทั้งเวอร์ชันหน้ากว้างและธรรมดา ไซส์มีตั้งแต่เบอร์ 36-50 และมีครึ่งไซส์ (.5) ให้เลือกด้วย

 

หลังปั่น: มันสติฟมาก

Bont Riot ใส่ได้ค่อนข้างสบาย แต่จะขาดฟีลนุ่มแบบ luxury ในรองเท้าไฮเอนด์​ ถ้าคุณไม่เคยใส่ Bont คุณอาจจะปละหลาดใจในความ “แข็ง” ของมัน นอกจากพื้นจะแข็งมากๆ แล้ว (เป็นเรื่องดีสำหรับรองเท้าจักรยานครับ) ส่วนบนก็แข็งมากเช่นกัน ฟองน้ำที่บุให้ความสบายนั้นให้ตัวได้ไม่มาก ถ้าไม่ชินกับรองเท้าแข็งอาจจะรู้สึกว่าใส่ไม่สบายในช่วงแรก

ตัว Rachet ที่ใช้รัดนั้นดูทนทานดี สายรัดก็ถือว่าโอเค แข็งแรง และเป็นรองเท้าที่ใส่ง่ายเพราะมีตัวรัดแค่สองจุดในแต่ละข้างเท่านั้น

Bont Riot (1 of 1)

รองเท้าปั่นที่ดีต้องสติฟ นั่นคือพื้นรองเท้าไม่ควรจะ “ให้ตัว” ได้มาก เพราะจะทำให้เราศูนย์เสียแรงกดลูกบันได เหมือนกับเฟรมจักรยานนั่นหละครับ ถ้าเฟรม “ย้วย” ไม่สติฟ ก็เหมือนเราเสียแรงปั่นไปเปล่าๆ ถึง Riot จะเป็นรุ่นเริ่มต้น แต่บอกได้เลยว่านี่คือรองเท้าที่สติฟที่สุดที่ผมเคยลองมา สติฟยิ่งกว่า Rapha Climber Shoes ที่ใช้พื้น Easton SLXII พื้นตัวท๊อปของ Giro เสียอีก นี่ขนาดไม่ใช่พื้นฟูลคาร์บอน! เรื่องประสิทธิภาพการปั่นหายห่วงครับ กดเท่าไรมาเท่านั้น ไม่มีการสูญเสียแรงแน่นอน

ความสติฟนี่เห็นชัดมากเวลาออกสปรินต์หรือกดลูกบันไดขึ้นเขา กับตอนที่ใส่บันได ปกติผมใช้บันได Speedplay เวลาจะล็อกรองเท้าเข้ากับบันได คุณต้องกดรองเท้าลงไปตรงๆ รองเท้า Bont ยัดคลีทให้ติดกับบันไดได้ง่ายมาก เทียบกับพื้น Giro ของ Rapha ซึ่งสะท้อนว่าพื้น Bont นั้นแข็งไม่ให้ตัวครับ

รองเท้า Bont มีพื้นรองเท้าแบบ anatomical คือออกแบบให้เข้ากับสรีระเท้าของคนส่วนใหญ่ทำให้เวลาที่เราออกแรงเรารู้สึกว่าเท้าเรากำลังส่งแรงแบบเต็มทั้งเท้า ไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อรวมกับรูปทรงที่เข้ากับเท้าเราจากการอบ ทำให้ผู้ใส่ออกแรงได้เต็มเท้า (หรือเต็มตีน ขอโทษถ้าไม่สุภาพ แต่สื่อความหมายชัดเจนกว่านะ!)

รองเท้าระบายความร้อนได้ดี ใส่แล้วไม่รู้สึกว่ามันอบอ้าวหรือกักอากาศครับ น้ำหนักโอเค แน่นอนว่าไม่เบาหวิวเหมือนรุ่นท๊อปแต่ก็ไม่หนักจนรู้สึกเป็นภาระ

 

จุดอ่อน

ความสติฟไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่เราพิจารณาประสิทธิภาพของรองเท้าครับ รองเท้าที่สติฟมากก็ใช้ว่าจะใส่ดีเสมอไป สำหรับ Bont Riot จุดที่ปรับปรุงได้คือส่วนที่เป็นฟองน้ำบุด้านในรองเท้า ซึ่งสากและไม่นิ่มมาก ถ้านิ่มกว่านี้สักนิดน่าจะทำให้ใส่สบายขึ้น

รองเท้า Bont ทุกรุ่นนั้นให้ตัวน้อยมาก รองเท้ายี่ห้ออื่นๆ อาจจะเน้นความสติฟบริเวณพื้นรองเท้า แต่สำหรับ Bont หนังส่วนบนก็สติฟ! ข้อดีคือมันทำให้เราส่งแรงจากเท้าได้เต็มที่ทุกจังหวะการควงขา ตั้งแต่กด ไส ลาก ดึง (โดยเฉพาะจังหวะดึง รองเท้าที่หนังด้านบนให้ตัวได้เยอะ จะทำให้เราเสียแรงไปนิดหน่อย) แต่ข้อเสียก็คืออาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้สบายมากครับ ถ้าคุณไม่ชินกับการปั่นรองเท้าแข็งๆ เป็นเวลานาน อาจจะรู้สึกเจ็บได้ (ผมไม่ชอบใส่คู่นี้เกิน 150 กิโล)

Bont Riot มีให้เลือกแบบหน้ากว้างและแบบปกติ (wide & normal) สำหรับทุกไซส์ ผมเน้นว่าควรลองก่อนซื้อ เพราะถ้าซื้อมาผิดไซส์ แคบไป ความแข็งของรองเท้าจะบีบให้คุณเจ็บใส่ไม่ได้แน่นอน

ท้ายสุด เรื่องความทนทาน พื้นรองเท้าไฟเบอร์กลาสเป็นรอยขูดขีดง่าย ต้องระวัง รูปที่เห็นข้างล่างนี้ผ่านการใช้งานมาประมาณ 2 เดือน ระยะทางราวๆ พันกว่ากิโลเมตรครับ

สรุป

ความสติฟแบบมหาโหดของมันทำให้ Riot ไม่น่าจะเหมาะกับคนที่อยากจะปั่นสบาย แต่เทียบประสิทธิภาพต่อราคาแล้ว Bont Riot เป็นรองเท้าระดับเริ่มต้นที่หาคู่แข่งได้ยาก ความสติฟจัดอยู่ในระดับรองเท้ารุ่นท๊อป และอบปรับให้เข้ากับสรีระเท้าของเราได้ พูดอย่างง่ายๆ คือ Riot ให้ประสิทธิภาพการส่งถ่ายพลังจากเท้าสู่บันได แลกกับจุดแข็งด้านอื่น เช่นความเนี้ยบของงานและความสบายในการสวมใส่ ซึ่งน่าจะเหมาะกับนักปั่นที่อยากจะรีด performance ทุกเม็ดแต่ยอมรับได้ถึงจุดอ่อนด้านอื่นครับ

◆◆◆

ราคา: 5,200 บาท
เว็บไซต์: Bont Official
ตัวแทน: Bont Shoes Thailand

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *