คำถามยอดฮิตที่สุดที่ DT เจอคงไม่พ้นเรื่องวัสดุเฟรมจักรยานครับ เฟรมคาร์บอนดีกว่าอลูมิเนียมมั้ย? ดีกว่ายังไง ดีกว่าสามเท่าตามราคามันเลยหรือเปล่า? แล้วเฟรมโครโมลีและไทเทเนียมหละ? ยังคุ้มค่าที่จะซื้อหรือเปล่า แล้ว “ฟีลลิ่ง” การปั่นของทั้ง 4 วัสดุนี้มันต่างกันยังไงบ้าง?
ก่อนจะเริ่มเจาะลึกกัน ต้องบอกก่อนว่า วัสดุทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวมาสามารถผลิตเฟรมจักรยานคุณภาพสูงได้ทั้งสิ้นครับ เพราะงั้นการตัดสินใจเลือกเฟรมของคุณควรจะมาจากการใช้งานเป็นหลัก เช่นถ้าคุณเป็นสายแต่งรถเบา รีดเค้นเพอร์ฟอร์มานซ์และแอโรไดนามิกสุดๆ คงไม่มีวัสดุไหนสู้คาร์บอนได้เพราะมีน้ำหนักเบา แต่ถ้าคุณมองเรื่องความทนทานแข็งแรงเป็นหลัก วัสดุจำพวกโลหะก็น่าจะตอบโจทย์การใช้งานได้ดีกว่า
DT เองได้มีโอกาสทดสอบจักรยานมาหลายคัน ทั้งอลูมิเนียมและคาร์บอน รุ่นเริ่มต้นและรุ่นราคาสูง วันนี้จะเลยลองมาสรุปกันจากประสบการณ์ครับว่าวัสดุสำหรับทำเฟรมจักรยานแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียต่างกันยังไง และอะไรเหมาะกับคุณที่สุด มาดูกันทีละตัวครับ
1. อลูมิเนียม
อลูมิเนียมเป็นวัสดุที่ใช้ผลิตจักรยานมากที่สุดในโลก ตั้งแต่รุ่นที่ถูกที่สุดไปจนถึงรุ่นไฮเอนด์ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะจุดเด่นที่สุดของอลูคือมีค่าความแข็งแรงต่อน้ำหนักดีมากๆ สามารถผลิตเฟรมที่มีน้ำหนักเบาแต่ตอบสนองแรงการปั่นได้ดี และมีราคาไม่สูงนั่นเอง
ราคาไม่สูง
เฟรมจักรยานรุ่นเริ่มต้นปัจจุบันล้วนทำจากอลูมิเนียมทั้งหมดและคุณภาพก็ดีขึ้นทุกปีๆ ตามเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงรูปร่างหน้าตาที่ทำได้เรียบเนียน มีการลบรอยเชื่อม เทียบประสิทธิภาพต่อเงินที่จ่ายแล้ว ไม่มีวัสดุทำจักรยานไหนในโลกที่ให้ความคุ้มค่าเท่าอลูมิเนียมในตอนนี้ครับ
ปั่นสบายหรือเปล่า?
เฟรมอลูมิเนียมมักจะขึ้นชื่อเรื่องความสะท้านสะเทือน นั่นคือโดยคุณสมบัติของตัววัสดุแล้วไม่สามารถซับและกระจายแรงสะเทือนได้ดีวัสดุที่เรียงตัวแบบเส้นใยอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ แต่ถ้าพูดตามประสบการณ์การใช้งานจริง
DT คิดว่าเฟรมอลูคุณภาพดีสมัยนี้มาไกลมากแล้วและไม่สะเทือนอย่างที่คิด เฟรมอย่าง Cannondale CAAD 12, และ BMC ALR01 ให้คาแรคเตอร์ที่นิ่มกว่ารถอลูสมัยก่อนๆ มาก และยิ่งถ้าใช้ร่วมกับยางหน้ากว้าง 24–25mm ใช้แฮนด์ / หลักอานคาร์บอน ก็น่าจะประกอบเป็นรถที่ปั่นสบายไม่สะท้านตัวในราคาที่ไม่สูงมากได้ครับ
ทนทาน
จุดเด่นของเฟรมที่ทำจากโลหะคือ มันสามารถบุบหรือคดได้ แต่มันจะไม่แตกหรือเปราะร้าวอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ แน่นอนว่าหากเจออุบัติเหตุหนักๆ ที่ทำให้คาร์บอนแตกได้ เฟรมอลูก็คงพังเหมือนกัน
แต่ในแง่ของการใช้งานในชีวิตประจำวันที่อาจจะมีการชน ล้ม กระแทกเบาๆ เฟรมอลูก็ยังให้ความอุ่นใจกับผู้ใช้มากกว่า เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมนักปั่นไครทีเรียมทั่วโลกยังนิยมใช้เฟรมอลู เพราะเป็นการแข่งที่เสี่ยงล้มกว่าปกติ เวลาต้องเปลี่ยนจักรยานก็ไม่ต้องจ่ายเยอะเหมือนใช้เฟรมคาร์บอนนั่นเอง
อลูตัวท็อปหรือคาร์บอนตัวล่าง?
อีกหนึ่งคำถามยอดฮิต ถ้างบใกล้เคียงกันจะเลือกเฟรมอลูรุ่นสูงๆ หรือเฟรมคาร์บอนรุ่นเริ่มต้นดี? ต้องบอกว่าเฟรมอลูตัวท็อปหลายคันน้ำหนักใกล้เคียงหรือเบากว่าเฟรมคาร์บอนรุ่นเริ่มต้นเสียอีก และบางคันก็ให้ประสิทธิภาพดีกว่า ทั้งเรื่องการตอบสนองแรงและการกระจายแรงสะเทือน (เฟรมทำจากคาร์บอนใช่ว่าจะมีคาแรคเตอร์เหมือนกันหมด เฟรมคาร์บอนแข็งทื่อสะท้าน ไร้สุนทรีย์ก็มีมาก)
แต่ก็แน่นอนว่าเฟรมคาร์บอนราคาประหยัดที่คุณภาพสูงก็มีให้เลือกอีกไม่น้อยครับ โดยเฉพาะสมัยนี้ที่มีแบรนด์จากเอเชียเข้ามาตีตลาดเยอะ ข้อนี้คงต้องดูเป็นรุ่นๆ คันๆ ไป เพราะมีความต่างมากเกินกว่าจะฟันธงสรุปได้ แต่อยากให้ดูเรื่องการใช้งานเป็นหลักมากกว่า
ตัวเลือกที่น่ากลัวในเคสนี้คือ พวกเฟรมคาร์บอนตัวรองท็อปหรือตัวท็อปมือสอง ที่อาจจะตกรุ่นได้ไม่นานแต่มีราคาดีมาก และสภาพดี สำหรับคนงบไม่มาก และไม่กังวลเรื่องอุปกรณ์มือสอง ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี
ข้อจำกัด
ถึง DT จะบอกว่าเฟรมอลูมิเนียมรุ่นใหม่ๆ จะซับแรงสะเทือนได้ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นทุกคันครับ คาแรคเตอร์หลักๆ ของเฟรมอลูก็ยังเป็นเรื่องของความสะท้านที่ยังทำได้ไม่ดีเท่าเฟรมคาร์บอน
สองคือเรื่องอัตราเร่ง การตอบสนองแรงกด เมื่อเทียบกับเฟรมคาร์บอนคุณภาพสูงแล้ว จะมีจังหวะหน่วงกว่าเล็กน้อย ไม่ทันใจติดเท้านัก ตรงนี้อาจจะแก้ได้ด้วยการเลือกอะไหล่และล้อเบาๆ บ้าง แต่ก็ไม่ได้ช่วยทั้งหมด
2. คาร์บอนไฟเบอร์
ถ้าบอกว่าอลูมิเนียมมีค่าความแข็งแรงต่อน้ำหนักดีมากแล้ว คาร์บอนนั้นดียิ่งขึ้นไปอีกครับ หมายความว่า ในการสร้างเฟรมจักรยานขึ้นมาหนึ่งชิ้น คุณไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณวัสดุจำนวนมาก เพื่อให้ได้ค่าความแข็งแรงเทียบเท่ากับวัสดุอื่นๆ เลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเฟรมแข่งขันระดับท็อป ทั้งเสือหมอบ เสือภูเขา จักรยานลู่ และไทม์ไทรอัลถึงทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งหมด
เฟรมคาร์บอนที่เบาที่สุดสมัยนี้น้ำหนักลงไปที่ 650–700 กรัมเท่านั้น แต่ก็ยังใช้แข่งได้ในระดับอาชีพบนเส้นทางสุดโหดปีละหลายพันหลายหมื่นกิโลเมตร แม้กระทั่งสนามทางวิบากที่ต้องเจอหินสุดสะเทือนก็ยังแข็งแรงไม่แตกพัง (ถ้าไม่ล้ม)
เฟรมคาร์บอนแข็งแรงหรือเปล่า? DT เคยเขียนบทความเจาะลึก (มาก) เกี่ยวกับเรื่องความแข็งแรงของเฟรมคาร์บอนไฟเบอร์ไปแล้ว แนะนำให้อ่านก่อนในโพสต์นี้ครั
เพราะงั้นตรงนี้คงจะอธิบายสั้นๆ ก็พอ ประเด็นหลักเรื่องความแข็งแรงของเฟรมคาร์บอนไฟเบอร์คือ มันแข็งแรงจริง แต่มันจะแข็งแรงเฉพาะในทิศทางที่มันออกแบบมาให้รับแรงเท่านั้น (directional) ทิศทางที่มันไม่ได้ออกแบบมาให้รับ เช่นจากทางด้านข้าง ก็มีโอกาสแตกหักได้ง่ายถ้าเจอแรงกระแทกที่สูงระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน เฟรมโลหะนั้นมีคุณสมบัติแบบ isotropic นั่นคือคุณสมบัติการรับและกระจายแรงของมันจะเหมือนกันทุกด้าน ก็เลยทนทานต่อแรงกระแทกในทิศทางที่มันไม่ได้ออกแบบมาให้รับโดยเฉพาะ กว่าเฟรมคาร์บอน
จริงๆ คุณสามารถออกแบบชั้นคาร์บอนให้มีคุณสมบัติเหมือนโลหะ หรือที่เรียกว่า quasi-isotropic ได้ และมันก็จะมีความแข็งแรงเทียบเท่าหรือมากกว่าโลหะเสียอีก แต่มันก็จะหนักกว่าและแพงกว่าด้วย
ในการใช้งานทั่วไป ถ้าคุณไม่ประมาทเลินเล่อจริงๆ หรือสุดวิสัยจริงๆ ก็ไม่ต้องกังวลว่ามันจะแตกหักง่ายขนาดนั้นครับ
ดัดแปลงรูปร่างได้ตามใจนึก
อีกเหตุผลที่แบรนด์จักรยานหันมาใช้คาร์บอนไฟเบอร์ในการผลิตเฟรมคุณภาพสูงก็เพราะว่าคุณสามารถสร้างเฟรมเป็นรูปร่างอะไรก็ได้ ไม่ถูกจำกัดด้วยรูปทรงท่อเหมือนเฟรมโลหะที่ออกแบบท่อได้ไม่กี่รูปทรง โดยยังคงน้ำหนักเบาและประสิทธิภาพการถ่ายแรงที่ดีไว้ได้
เป็นเหตุผลเดียวกับที่ชิ้นส่วนอากาศยานและรถสูตร 1 ใช้คาร์บอนไฟเบอร์เป็นส่วนใหญ่ เพราะนอกจากจะเบาแล้วยังดัดแปลงรูปทรงให้ลู่ลมได้ง่ายด้วย
ยกตัวอย่างเช่นเฟรมแอโรไดนามิกที่ทำมาเพื่อแหวกอากาศอย่างเสือหมอบแอร์โรรุ่นใหม่ๆ เช่น Trek Madone 9, Specialized Venge VIAS และเฟรมไทม์ไทรอัลที่มีรูปทรงท่อขนาดอ้วนใหญ่ เป็นทรงแอโร ลองนึกถ้าเราใช้โลหะมาทำเฟรมทรงแบบนี้มันคงหนักจนไม่อยากขี่ครับ แต่เพราะมันทำจากคาร์บอนมันเลยเบาแค่กิโลกรัมเดียวหรือเบากว่าด้วยซ้ำ
สร้างคาแรคเตอร์รถได้ตามต้องการ
เวทมนตร์ของคาร์บอนไฟเบอร์อยู่ที่การวางเรียงชั้นเนื้อคาร์บอน ซึ่งผู้ผลิตสามารถออกแบบให้มันสติฟ ตอบสนองแรงได้ในส่วนที่ควรจะสติฟ (เช่นกระโหลก เชนสเตย์ และท่อคอ) แต่ก็สามารถออกแบบให้ส่วนที่ควรจะซับแรงสะเทือนได้ดีอย่างตะเกียบ และซีทสเตย์ ให้ตัวได้มากกว่าส่วนอื่นๆ
มันเลยเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมเฟรมที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์เหมือนกัน กลับมีคาแรคเตอร์การตอบสนองแรง การควบคุม ความสบายต่างกันได้โดยสิ้นเชิง คันนึงอาจจะสติฟมาก แต่ก็สะท้านสะเทือนมาก บางคันอาจจะทื่อๆ ไม่มีชีวิตชีวา บางคันอาจจะได้ฟีลพุ่งทันใจ แต่กลับไม่ไหลต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้อยู่ที่การออกแบบและชั้นเชิงของผู้ผลิตเฟรมทั้งสิ้น แบรนด์ไหนทุ่มทุนวิจัย พัฒนาทดสอบมากกว่า ก็ย่อมมีโอกาสผลิตรถที่มีฟีลลิ่งการปั่นเหนือชั้นกว่าด้วยเช่นกัน
แบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Bianchi และ Trek รวมความสามารถในการซับแรงสะเทือนแต่ก็ยังคงความสติฟตอบสนองแรงกระทืบลูกบันไดได้เหมาะเจาะ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เหนือกว่าคู่แข่ง เช่นเนื้ออีลาสโตเมอร์ CV ของ Bianchi หรือกลไกในการซับแรงสะเทือน ISOSpeed Decoupler ของ Trek
ราคาอาจจะไม่เป็นมิตร
เล่าไปเล่ามาดูแล้วเฟรมคาร์บอนจะมีครบทุกอย่าง ทั้งเรื่องน้ำหนักเบา ความสบาย ความสติฟ รูปทรงลู่ลม แล้วมีเหตุผลอะไรที่เราต้องซื้อเฟรมจากวัสดุประเภทอื่นด้วย?
ปัญหาหลักคือราคาครับ เฟรมคาร์บอนที่รวมเทคโนโลยีไว้ครบๆ มักจะมีราคาสูง จำพวกเฟรมระดับแข่งขันที่มืออาชีพใช้ ถ้าราคาลดลงมา คุณสมบัติไฮเทคต่างๆ ก็อาจจะลดลงมาด้วยเช่นกัน น้ำหนักเพิ่มขึ้น เฟรมไม่พุ่งเท่า ก็เหมือนกับอลูมิเนียม ที่มีทั้งรุ่นท็อป รุ่นกลาง และรุ่นล่าง รอยต่อราคาระหว่างเฟรมอลูตัวท็อปและเฟรมคาร์บอนตัวล่างจึงเป็นตัวเลือกที่ยากจะฟันธงว่าอันไหนดีกว่ากันครับ
อีกเหตุผลก็คือความทนทาน อย่างที่บอกไปแล้ว เฟรมคาร์บอนอาจจะมีความเสี่ยงและโอกาสเสียหายได้มากกว่าเฟรมโลหะนั่นเองครับ
ฟีลลิ่งหลักๆ ของเฟรมคาร์บอนคุณภาพดี: จะกระจายแรงสะท้านดี ทำให้ไม่เมื่อยล้าเวลาปั่น น้ำหนักเบา ถ้าเป็นเฟรมที่สติฟจะกดเหยียบบันไดแล้วพุ่งทันใจมาก เฟรมที่ออกแบบให้ลู่ลมก็สามารถคงความเร็วสูงๆ ได้โดยใช้พลังน้อยกว่า