ถ้าใครติดตามข่าวใน Cyclingnews หรือ Velonews คุณอาจจะเห็นข่าวที่ว่าทีม Dimension-Data กำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบากเพราะมีแนวโน้มว่าจะหลุดจากดิวิชัน 1 ซึ่งก็มีผลเสียต่อทั้งนักปั่นและสปอนเซอร์พอสมควร
เรื่องของการขึ้นหรือลงดิวิชันในการแข่งขันจักรยานอาชีพเป็นเรื่องน่าปวดหัวเล็กน้อย เพราะมันไม่ได้ใช้ระบบเหมือนกีฬาอื่นๆ ที่เข้าใจได้ง่ายครับ เลยอยากจะขออธิบายสักนิดนึงถึงระบบดิวิชันของวงการจักรยานและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทีมดิวิชัน 1 ในปีหน้า
เรื่องของเรื่องคือ ปีนี้ทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) นั้นมีแผนจะลดจำนวนทีมระดับดิวิชัน 1 จากทั้งหมด 18 ทีมให้เหลือเพียง 17 ทีมในปี 2017 และมีแผนจะขอลดเหลือ 16 ทีมในปี 2018 (Velonews) โดยผลที่เกิดขึ้นคือ ทีมระดับดิวิชัน 2 (UCI Pro Continental) จะมีโอกาสถูกเลือกให้ลงแข่งสนามระดับดิวิชัน 1 มากขึ้น ขณะเดียวกัน โปรทีมดิวิชัน 1 ปัจจุบันก็เสี่ยงต่อการถูกลดดิวิชันเช่นกัน
ในฤดูกาลนี้ ทีมดิวิชัน 1 มีทั้งหมด 18 ทีม, มีสองทีมที่จะยุบตัวลงไป นั่นคือ Tinkoff และ IAM Cycling แต่ขณะเดียวกันก็จะมีทีมใหม่ที่อยากขึ้นดิวิชัน 1 สองทีม นั่นคือ Bahrain-Merida ของวินเชนโซ นิบาลี และ Bora-Hansgrohe ของปีเตอร์ ซากาน นั่นหมายความว่ามี 18 ทีมที่อยากได้ไลเซนส์ดิวิชัน 1 แต่กฏใหม่นั้นระบุให้มีได้แค่ 17 ทีมเท่านั้น
หนึ่งในทีมดิวิชัน 1 ตอนนี้จะต้องหลุดไปอยู่ดิวิชัน 2
และจากสภาพการณ์ปัจจุบัน ทีมนั้นในตอนนี้คือ Dimension-Data ของมาร์ค คาเวนดิช
ทำยังไงถึงจะได้เข้าแข่งดิวิชัน 1?
คุณอาจจะคิดว่าจะเป็นทีมดิวิชัน 1 ได้นั้นก็คงเหมือนลีกกีฬายุโรปอื่นๆ ที่มีการเก็บคะแนนเลื่อนขึ้นเลื่อนลงดิวิชันตามผลงานของทีม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้นสำหรับกีฬาจักรยานอาชีพครับ
ทีมจักรยานอาชีพจะเข้าสู่ดิวิชันใดๆ ได้ต้องได้รับไลเซนส์หรือใบอนุญาตลงแข่งจากทาง UCI ซึ่งมีกฏเกณฑ์ 4 ข้อในการพิจารณาว่าทีมสมควรจะได้รับไลเซนส์หรือเปล่า
- Administration หรือการจัดการทีม
- Financial หรือการเงินของทีม
- Ethical หรือจริยธรรมของทีม
- Sporting หรือผลการแข่งขันและคะแนนสะสมของทีม
Sporting criteria ในข้อสุดท้ายนั้นนับคะแนนจากนักปั่นของทีม 5 คนที่คะแนนดีที่สุดนำมารวมกัน แล้วเทียบกับทีมอื่นๆ (แต่ละสนามที่นักปั่นลงแข่งจะมีคะแนนสะสม เรียก UCI Point)
คะแนนปัจจุบัน (22 กันยายน) เป็นแบบนี้ครับ
แต่ละสนามที่นักปั่นลงแข่งก็มีเวทคะแนนไม่เท่ากัน สนามระดับ Monument อย่างแกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการ สนามคลาสสิคอย่าง Paris-Roubaix และ Tour of Flanders ก็จะมีคะแนนมากกว่าสนามแข่งสัปดาห์เดียวเป็นต้น ส่วนแบ่งคะแนนปัจจุบันลองดูตามตารางนี้
โดยปกติแล้วเกณฑ์ 3 ข้อแรก ทีมไม่ค่อยมีปัญหา เพราะถ้าไม่ติดว่าโดนจับโด้ป หรือสปอนเซอร์หายไปจนไม่มีสถานะการเงินที่มั่นคงพอจะจ่ายค่าตัวทีม แทบทุกทีมก็จะผ่านเกณฑ์สบายๆ แต่ข้อสุดท้ายที่เป็นคะแนนสะสมนั้น UCI มีกฏว่า 16 ทีมแรกในตารางจะผ่านเกณฑ์อัตโนมัติ แต่ 2 ทีมที่เหลือจะถูกพิจารณาควบคู่กับทีมใหม่ที่อยากจะขึ้นมาเป็นดิวิชัน 1 ซึ่งตอนนี้คือ Bahrain-Merida และ Bora-Hansgrohe
ถึงตรงนี้คุณอาจจะสงสัยว่า แล้วทีมใหม่ที่ยังไม่เคยลงแข่งอะไรเลย เขาจะเอาแต้มจากไหนมาคำนวนหละ?
คำตอบคือ เอาแต้มสะสมของนักปั่นที่ทีมเซ็นสัญญาเข้าทีมในฤดูกาล 2017 นั่นแหละครับ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วตอนนี้ทั้ง Bora และ Bahrain มีคะแนนสะสมรวมมากกว่า Dimension-Data แค่ซากานคนเดียวนั้นมีคะแนน UCI รวมมากกว่าคะแนนของนักปั่น Dimension-Data 5 คนรวมกันเกือบสองเท่า นิบาลีคนเดียวก็มีคะแนนพอๆ Dimension-Data ทั้งทีม นี่ยังไม่รวมคะแนนจากนักปั่นอย่าง ยูกิยะ อาราชิโร่ (Lampre), เลโอโพลด์ โคนิก (Sky), ราฟาล ไมย์ก้า (Tinkoff) และยอน อิซาร์เกอร์เร (Movistar) ที่จะเข้าไปสมทบทั้งสองทีมอีก
แต่คาเวนดิชนะตั้ง 4 สเตจใน Tour de France?
ถ้าไม่นับ Sky คุณอาจจะพูดได้ว่า Dimension-Data คือทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดในตูร์เดอฟรองซ์ปีนี้ ด้วยผลงาน 5 แชมป์สเตจโดยมาร์ค คาเวนดิช (x4) และสตีฟ คัมมิงส์ (x1) ซึ่งก็น่าจะได้คะแนนเยอะพอสมควร? แต่จริงๆ แล้วไม่เยอะเลยครับ ทีมอาจจะชนะเยอะจริงใน Tour de France และรายการระดับดิวิชัน 1 อื่นๆ อีกเล็กน้อย แต่ผลงานส่วนใหญ่ของทีมกลับอยู่ในสนามดิวิชันรอง (HC category) เล่น Tour of Qatar, Tour de Langkawi, Tour of Britain แม้แต่คาเวนดิชเอง ชัยชนะส่วนใหญ่ในปีนี้ก็อยู่ในสนามเล็กอย่าง Tour de Romandie, Criterium du Dauphine และ Dubai เป็นต้น
คะแนน UCI WorldTour Point จะนับก็ต่อเมื่อทีมทำผลงานหรืออันดับได้ดีในสนามระดับดิวิชัน 1 เท่านั้น ซึ่งทีมไม่ได้มีศักยภาพพอจะทำตรงนี้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะสมาชิกของทีมกว่าครึ่งเป็นนักปั่นรุ่นใหม่จากแอฟริกา ที่ยังขาดประสบการณ์จะคว้าตำแหน่งดีๆ ในรายการต่างๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดดึงดูดและเป้าหมายของทีมที่อยากจะให้โอกาสนักปั่นจากทวีปที่ด้อยโอกาส
กลายเป็นว่าจุดแข็งที่ดึงดูดสปอนเซอร์ให้มาสนับสนุนเป้าหมายดีๆ ของทีมกลายเป็นจุดอ่อนไปเสียอย่างนั้น สปอนเซอร์ระดับ Deloitte, Cervelo, ENVE และ Dimension Data เองก็คงไม่ได้แฮปปี้นักถ้าทีมจะหล่นดิวิชัน
ทางฝ่ายบริหารของทีมก็ออกมาบอกว่า ทีมจะไม่ยอมหล่นดิวิชันและจะยื่นอุทธรณ์การตัดสินของ UCI ผ่านทางศาลกีฬาโลกเพื่อรักษาไว้ซึ่งไลเซนส์ดิวิชัน 1 (Cyclingtips)
ทางเดียวที่ทีมจะรอดจากการถูกปัดตกดิวิชันอย่างถูกต้องตามกฏก็คือเก็บคะแนนในสนาม WorldTour ที่เหลืออยู่ให้ได้มากที่สุด ใน Eneco Tour และ Giro d’ Lombardia เช่นเดียวกัน ถ้า Dimension-Data ทำแต้มแซงทีมรองบ๊วยอย่าง Giant-Alpecin ได้ ทีม Giant ก็ต้องเจอปัญหาเดียวกับ Dimension-Data ว่าจะทำยังไงกับสปอนเซอร์และนักปั่นในทีมที่อาจจะหลุดไปอยู่ดิวิชันสอง
เดือนนี้จะเป็นเดือนตัดสินครับ
ตกดิวิชันอาจจะไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงทีม DD จะตกดิวิชัน ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องบัดซบสำหรับนักปั่นและสปอนเซอร์ เพราะด้วยดาราระดับคาเวนดิช, คัมมิงส์, และบอสซันฮาเก็นในทีม การันตีได้เลยว่า DD จะถูกเชิญให้ลงแข่งในสนามใหญ่แทบทุกรายการที่ทีมอยากจะไปลง ไม่ว่าจะเป็นรายการคลาสสิค รายการสเตจเรซ หรือแกรนด์ทัวร์ที่ใหญ่ที่สุดของปี โดยที่ทีมไม่ต้องกังวลรับแรงกดดันเรื่องการเก็บคะแนนตลอดทั้งฤดูกาล และจำนวนสนามแข่งที่ต้องลงในดิวิชัน 2 ก็ไม่มากเท่าดิวิชัน 1 ด้วย ประหยัดทั้งตังก์ และบุคลากรครับ
เอาจริงๆ ทีม Direct Energie ของโทมัส โฟแคลร์และไบรอัน โคคอร์ดก็อยู่ด้วยวิธีนี้ Direct-Energie เป็นทีมฝรั่งเศสที่ผลงานดีที่สุดในดิวิชันสอง และเป้าหมายเดียวของสปอนเซอร์ทีมก็คือได้ลงแข่งตูร์เดอฟรองซ์ เมื่อเป็นทีมฝีเท้าดีและเป็นทีมของชาติผู้จัดแข่ง ก็เป็นการการันตี 100% เลยว่ายังไงก็ตาม Direct Energie ต้องได้ลงตูร์และรายการอื่นๆ ที่ ASO จัดทุกปีอย่างแน่นอน แถมไม่ต้องจ้างนักปั่นราคาแพงมาเป็นกัปตันทีมเพื่อเก็บแต้มด้วย
ด้วยเป้าหมายของ DD ที่อยากจะเป็นทีมปั้นนักปั่นแอฟริกัน การเป็นทีมดิวิชันสองก็อาจจะไม่แย่เสมอไปครับ ถ้าสปอนเซอร์เขาโอเคน่ะนะ
เกมนี้จะจบยังไงคงต้องรอดูกันช่วงปลายปีหละครับ
อ่านเพิ่มเติม: Inrng, Velonews, Cyclingtips
* * *