Felt อาจจะไม่ใช่จักรยานที่เป็นที่นิยมนักในประเทศไทย (เพิ่งจะมีตัวแทนจำหน่ายรายใหม่) แต่ก็เป็นหนึ่งในผู้บกเบิกเรื่องการสร้างจักรยานแอโรไดนามิกเป็นรายแรกๆ ของโลก สำหรับปี 2017 Felt เบนเข็มไปที่เฟรมแข่งขันที่น้ำหนักเบาและตอบสนองแรงดีเป็นพิเศษ เปิดตัวซีรีย์ Felt FR ที่เฟรมตัวท็อปน้ำหนักเพียง 685 กรัมเท่านั้น และเป็นการเปิดตัวแบบยกไลน์อัปที่มีให้เลือกตั้งแต่รุ่นท็อปราคาสูงไปจนถึงรุ่นเฟรมอลูมิเนียมที่จับต้องได้
มันมีอะไรใหม่ แตกต่างจากซีรีย์ F รุ่นเก่ายังไง มาดูกันครับ
Overview
ปกติแล้ว Felt แบ่งไลน์อัปเสือหมอบเป็นสามรุ่น:
- Felt F Series เฟรมน้ำหนักเบาเน้นประสิทธิภาพในการไต่เขาและความคล่องตัว
- Felt AR Series เฟรมเสือหมอบแอโร
- Felt Z Series ที่เน้นเรื่องความสบายในการปั่น
สำหรับปี 2017, Felt ตัดไลน์ F ออก อัปเดตมาเป็น FR (และตัดไลน์ Z เปลี่ยนเป็น VR)
ซึ่งทาง Felt อ้างว่าน้ำหนักเฟรมเซ็ตซีรีย์ FR เบาลงกว่าเดิม 5%, ความสติฟส่วนหน้ารถเพิ่มขึ้น 4% และช่วงหลังสติฟขึ้นถึง 30% และซับแรงสะเทือนได้ดีกว่ารุ่นก่อน ช่วยเรื่องความมั่นใจในการบังคับควบคุม ท้ายสุดรองรับดิสก์เบรคด้วย
Frame Design
เช่นเดียวกับเสือหมอบที่เน้นเรื่องการตอบสนองแรงมากกว่าแอโรไดนามิก Felt FR ใช้ท่อทรงกลม และหันมาใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ออกแบบการเรียงชั้นคาร์บอนและขนาดท่อตามแต่ละไซส์ เพื่อให้เฟรมทุกขนาดที่ผลิตออกมามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ((แนวคิดเดียวกับ Rider First Engineerd ของ Specialized และ Propotional Tubing ของ Storck)) ท่อทุกส่วนออกแบบมาเพื่อลดน้ำหนักแต่มีความสติฟขึ้นกว่าเดิม
ด้วยดีไซน์ที่ออกแบบให้ท่อมีขนาดพอดีกับไซส์ของรถทำให้ Felt เปลี่ยนขนาดของตะเกียบด้วยเช่นกัน ในเฟรมไซส์ 43/47cm จะใช้ตะเกียบตรงขนาด 1 1/8″, ไซส์ 51,54 cm ใช้ตะเกียบ tapered ขนาด 1 1/8-to-1 1/4″ ส่วนไซส์ใหญ่สุด 56, 58 ,61cm ใช้ขนาด 1 1/8-to-1 1/2″
บริเวณกระโหลกเปลี่ยนจาก BB30 Press-Fit มาเป็น BB386 Evo ที่มีความกว้างกว่าเดิม 18mm กระโหลกที่กว้างขึ้นทำให้เชนสเตย์และท่อนั่งให้กว้างขึ้นด้วย
มิติรถ
ในด้านมิติรถ Felt ยังคงใช้องศาแบบเดียวกับ F-Series ที่ปิดตัวไป แต่เพิ่ม stack ขึ้นถึง 19mm จากที่เจอปัญหานักปั่นส่วนใหญ่ใช้รถ F-Series ไม่ได้เพราะองศาก้มต้ำเกิน (องศาของ F-Series ในแต่ละไซส์นั้นต่ำกว่า Trek Madone H1 หรือ Specialized Tarmac เสียอีก
เป้าหมายของ Felt คือทำให้นักปั่นธรรมดาที่ไม่ใช่นักแข่งสามารถเซ็ตรถ FR-Series เพื่อใช้งานจริงได้เช่นกัน แต่ใครที่ชอบองศาก้มต่ำก็อาจจะเลือกใช้สเต็ม -17 องศาแทน Felt บาลานซ์ท่อคอที่ยาวขึ้นด้วยการออกแบบให้ช่วงหน้ารถสติฟกว่าเดิม
685g
Felt อ้างว่าเฟรมรุ่นท็อป FR FRD ที่ใช้เนื้อคาร์บอน TexTreme มีน้ำหนักเพียง 685g และตะเกียบที่มาด้วยหนักเพียง 285g รวมแล้วเฟรมเซ็ต (ไม่รวมฮาร์ดแวร์อื่นๆ) อยู่ที่ 970 กรัมเท่านั้น
เบรคหลังใต้กระโหลก?
เช่นเดียวกับเฟรม AR, Felt FR วางตำแหน่งเบรคแบบ Direct Mount ไว้ใต้กระโหลก ต่างกับเสือหมอบทั่วๆ ไปที่วางไว้บริเวณซีทสเตย์
Felt อ้างว่าการวางเบรคไว้ใต้กระโหลกยึดไว้ตรงเชนสเตย์นั้นไม่ใช่เพื่อความสวยงามหรือความลู่ลม แต่เพื่อประสิทธิภาพของรถล้วนๆ เพราะเชนสเตย์เป็นส่วนที่หนาแน่นและแข็งแรงมากที่สุดส่วนหนึ่งในจักรยานอยู่แล้ว ก็ยึดเบรคได้โดยไม่ต้องเพิ่มชั้นเนื้อคาร์บอนเข้าไปเสริมเหมือนดีไซน์ปกติที่วางเบรคไว้ตรงซีทสเตย์ ช่วยลดน้ำหนักลงเล็กน้อย
เมื่อไม่มีเบรคไปขวางตรงซีทสเตย์แล้ว Felt อ้างว่าเปิดโอกาสให้ทีมออกแบบซีทสเตย์ให้ทำงานได้ดีกว่าเดิม ลดขนาดของซีทเสตย์ลงเพื่อให้ซับแรงสะเทือนดีขึ้นและทำให้รองรับยางได้กว้างถึง 28mm ด้วย
อย่างไรก็ดี การวางเบรคไว้ใต้กระโหลกก็เป็นปัญหาสำหรับนักปั่นหลายคนในการใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับตั้งเบรค การทำความสะอาด และยังเสี่ยงต่ออาการล้อสีกับขอบเบรคมากกว่าการวางเบรคไว้ด้านบนด้วย
แน่นอนถ้าผู้ใช้เลือกโมเดลดิสก์เบรคก็คงไม่เจอกับปัญหานี้ครับ Felt FR มีตัวเลือกเวอร์ชันดิสก์เบรคที่รองรับมาตรฐาน Flat-mount และใช้แกน thru-axles ขนาด 12mm (FR อลูใช้แกนปลด quick-release ธรรมดา)
Extras
Spec
ซีรีย์ FR จะมีให้เลือกทั้งเวอร์ชันอลูมิเนียมและคาร์บอน ตั้งแต่ระดับราคา 799 USD (ประมาณ 28,000 บาท) ไปจนถึง 9,499 USD (330,000 บาท)
เฟรมเซ็ตมีให้เลือกเฉพาะรุ่นคาร์บอนไฟเบอร์ มีเฟรมสองรุ่นคือ FR FRD (3,499 USD ~ 120,000 บาท) ที่น้ำหนัก 685g และรุ่นรองลงมาเป็น FR1 (1,999 USD ~ 70,000 บาท)
รุ่นอลูมิเนียมจะเริ่มจำหน่ายในต่างประเทศเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนคาร์บอนจะตามมาทีหลังภายในปีเดียวกัน ดูสเป็คอะไหล่ รุ่นและราคาต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ Felt โดยตรงครับ
Official Site: Feltbicycles.com