โด้ปล่ามาแรง: ก๊าซซีนอน!

เรื่องของวิทยาศาสตร์และการเค้นประสิทธิภาพของนักกีฬานั้นพัฒนากันไม่หยุดไม่ยั้งจริงๆ ครับ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบว่าก๊าซซีนอน (Xenon) นั้นเป็นสารกระตุ้นประสิทธิภาพชั้นยอดและอาจจะถูกกฏหมายเสียด้วย

[separator type=”double”]

Xenon 101

สำหรับคนที่ลืมวิชาเคมีส่งคืนครูมัธยมไปหมดแล้ว ซีนอนคือธาตุเคมีที่มีลักษณะเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับธาตุนีออนและฮีเลียมและเป็นก๊าซที่ไม่ทำปฏิกิริยากับธาตุอื่นๆ ถึงแม้จะไม่มีประโยชน์ในเชิงเคมีสักเท่าไร แต่ในเชิงชีววิทยาแล้วมันอาจจะเป็นก๊าซที่พลิกวงการเลยทีเดียว เพราะว่าก๊าซซีนอนช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนที่นักปั่นรู้จักเป็นอย่างดีครับ มันคือฮอร์โมน Erythropoentin หรือ EPO นั่นเอง

โด้ปขั้นเทพ

เว็บไซต์ The Economist รายงานว่าประเทศรัสเซียเริ่มใช้ก๊าสซีนอนในทางทหารมาสักพักหนึ่งแล้ว ผลงานวิจัยจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานว่าถ้าใช้ก่อนการแข่งขันกีฬา ก๊าซซีนอนจะช่วยกระตุ้นความกระปรี้กระเปร่าและลดอาการนอนไม่หลับ หากใช้หลังการแข่งขันก็จะช่วยให้ร่างกายพักฟื้นได้อย่างรวดเร็ว นอกจากจะช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมน EPO แล้ว ซีนอนยังช่วยเร่งการสร้างฮอร์โมนประเภทอื่นๆ ด้วยซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุปอดและหัวใจ ลดอาการกล้ามเนื้อเมื่อยล้า เพิ่มปริมาณเทสโทสเทอโรนและช่วยให้นักกีฬาอารมณ์แจ่มใสเบิกบาน All in One จริงๆ!

Pure Xenon for sale! หาซื้อไม่ยากด้วยนะ Alibaba ก็มีขาย

มหาวิทยาลัย Imperial College จากอังกฤษทดลองจับหนูขังไว้ในห้องที่มีสัดส่วนก๊าซซีนอน 70% และอ๊อกซิเจน 30% และพบว่าวันรุ่งขึ้นปริมาณฮอร์โมน EPO ในหนูเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ในขณะที่มหาวิทยาลัย Xiaoqiang Ding ในประเทศจีนพบว่าปริมาณ EPO ที่เพิ่มขึ้นอยู่ได้นานถึง 48 ชั่วโมงเทียบกับหนูที่ถูกขังไว้ในห้องที่อ๊อกซิเจนน้อย (คล้ายการเก็บตัวบนภูเขาสูงของนักปั่น) ปริมาณ EPO ที่เพิ่มอยู่ได้แค่สองชั่วโมงเท่านั้น

วิธีการใช้ก็ไม่ยากอะไร กระทรวงกลาโหมแนะนำให้ใช้ในอัตราส่วน 50:50 (Xenon:Oxygen) โดยการสูดดม 2-3 นาทีก่อนนอน ก๊าซจะมีผล 48-72 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นอยากให้ได้ผลดีก็ใช้ซ้ำทุกๆ 3 วัน ออกผลได้นานกว่าวิธีการกระตุ้น EPO ทั่วๆ ไปอย่างไปเข้าค่ายเก็บตัวบนภูเขาสูง

ณ เวลานี้ทาง WADA หรือองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะออกกฏห้ามการใช้ก๊าซซีนอนหรือเปล่า ตามกฏของ WADA แล้วสารใดๆ จะเข้าข่ายสารต้องห้ามได้ก็ต่อเมื่อ: 1. เพิ่มความสามารถทางกายภาพ 2. มีอันตรายต่อร่างกายผู้ใช้ 3. ละเมิดสปิริตการแข่งขัน

สรุป

ปัญหาของการโด้ปซีนอนก็คือจะมีวิธีตรวจการใช้ได้อย่างไร? แอดมินคิดว่ายังไงมันก็เป็นการละเมิดกฏข้อ 2 ในหมวด M1 ของ WADA ที่ว่า “สารใดๆ ที่ช่วยกระตุ้นหรือเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งอ๊อกซิเจนในร่างกายถือเป็นสารต้องห้าม”

Artificially enhancing the uptake, transport or delivery of oxygen… (อ้างอิง: Wada)

ถามว่าโกงมั้ย ก็น่าจะถือว่าโกงเพราะเป็นการเพิ่มความสามารถทางการกีฬาทางอ้อมไม่ต่างกับการใช้สารกระตุ้นอย่างเสตียรอยด์หรือฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต แต่การตรวจจับก็ไม่น่าจะยากครับเพราะ Biological Passport ที่ใช้บันทึกสภาพร่างกายของนักกีฬารวมถึงผลเลือดน่าจะบอกได้ชัดเจนว่าระดับเลือด อ๊อกซิเจน และค่า Hematocrit ของนักกีฬาเปลี่ยนไปอย่างไม่เป็นธรรมชาติหรือเปล่า

อย่างไรก็ดีก่อนที่จะโดนจับแอดมินคิดว่าคงมีนักกีฬาหลายๆ คนในหลายๆ ประเภทกีฬาเริ่มใช้ซีนอนกันบ้างแล้ว ผู้ผลิตและจำหน่ายก๊าซซีนอนในรัสเซียบอกว่าหนึ่งในผลงานของบริษัทคือช่วย “เตรียมความพร้อม” นักกีฬาโอลิมปิกรัสเซียในปี 2004 และปี 2006!

Source: The Economist

Published
Categorized as Racing

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

6 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *