ในประเทศไทย จักรยาน Scott ค่อนข้างจะโด่งดังในฝั่งเสือภูเขา แต่ในฝั่งจักรยานถนน (Road Bike) กลับไม่ค่อยจะดังสักเท่าไร ซึ่งทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วก็เป็นแบรนด์ที่ทำรถดีๆ ออกมาต่อเนื่องหลายสิบปี และอยู่ในวงการแข่งขันระดับแถวหน้ามาตลอด
ช่วงเดือนกรกฏาคมปีที่แล้วที่แบรนด์จักรยานเสือหมอบแข่งกันเปิดตัวจักรยานระดับเรือธงรุ่นใหม่ๆ ออกมาลงสนาม Tour de France ผมมองว่า Scott ทำรถออกมาได้เฉียบสุดเทียบกับแบรนด์อื่นๆ กับซีรีย์ Scott Addict RC เจเนอเรชันใหม่ ซึ่งเป็นเสือหมอบแข่งขันแบบ all around แต่มากับรูปทรงกึ่งแอโร พร้อมระบบดิสก์เบรก และที่น่าสนใจที่สุดคือซ่อนสายหมดจดทั้งคัน ตั้งแต่รุ่นท็อปสุด ไปจนถึงรุ่นที่ถูกที่สุดในไลน์อัป
หลังจากขลุกตัวอยู่กับ Specialized Tarmac SL6 กับ Chapter 2 RERE มาพอสมควรแล้ว บวกกับปีนี้ที่รถใหม่ๆ คงใหม่เปิดตัวกันเร็วๆ นี้เพราะติด COVID-19 กันหมด พอเช็คราคา Scott Addict RC30 แล้วดูพอรับไหว เป็นจักรยาน completed bike มาเลยในราคาที่ถ้าซื้อแบรนด์ดังอื่นๆ คงได้แค่เฟรม บวกกับความคันอยากลอง Scott มานานแล้ว เลยได้เป็น Addict RC30 มาครับ
เฟรมและตะเกียบ
Addict RC30 คันนี้ผมสั่งไซส์ S มา ซึ่งกับคนความสูง 165cm แล้วอาจจะงงว่าทำไมไม่ขี่ XS?
ตอนที่ผมใช้ Tarmac SL6 ก็ใช้ไซส์ 52cm เช่นกัน จริงๆ คือผมขี่ได้ทั้งสองไซส์ครับ แค่เปลี่ยนความยาวสเต็มเอา โดยส่วนตัวแล้วชอบรถไซส์ใหญ่มากกว่าเล็ก เพราะ
1. ไม่ชอบหน้าตารถทรงที่ทำซีทสเตย์แบบดรอป (เหมือน Tarmac และ Addict) ในไซส์เล็กมากๆ ผมว่ามันดูไม่สมส่วนเพราะสามเหลี่ยมหลังในไซส์ XS มันจะดูเล็กมากๆ
2. รถไซส์ XS หลายๆ ยี่ห้อมีระยะ trail ที่ผมไม่ชอบเท่าไร พอมาใช้ S หรือ 52cm ก็ใช้คู่กับสเต็มขนาด 90mm ก็ขี่ได้สบายๆ ครับ
อธิบายเรื่องไซส์ไปแล้ว มาดูรายละเอียดตัวเฟรมกันบ้าง เฟรม Addict RC ตัวนี้เป็นการออกแบบ Addict ใหม่หมดจด ซึ่งฟีเจอร์หลักๆ คือความลู่ลมที่มากกว่าเดิม Scott เคลมว่าเฟรมเซ็ต Addict RC ตัวใหม่เร็วกว่าตัวก่อน 6 วัตต์ ที่ความเร็ว 45kph
ช่วงท่อล่าง ท่อคอ ท่อนั่ง และหลักอาน เปลี่ยนรูปทรงให้เป็นทรง aerofoil คล้ายๆ กับที่ใช้ใน Scott Foil (เสือหมอบแอโร) และ Scott Plasma (จักรยาน time trial) โดยที่เพิ่มความสติฟฟ์ขึ้นอีก 14.5%
คุณอาจจะสงสัยว่ารูปทรงท่อที่แอโรขึ้น (ยาวขึ้น) น่าจะทำให้สติฟฟ์ได้ยากขึ้น แต่ทำไม Scott ทำได้ เขาเคลมว่า มันมาจาก 1. ดีไซน์การเรียงชั้นคาร์บอนใหม่ และ 2. การเพิ่มความกว้างช่วงท่อที่ส่งผลต่อการตอบสนองแรงทั้งหมด
โดยเฉพาะในบริเวณที่ท่อเชื่อมกันเช่นตรงท่อคอ (เชื่อมท่อล่างและท่อนอน), เส้นผ่าศูนย์กลางตะเกียบที่กว้างขึ้น และบริเวณกะโหลกก็ขยายให้กว้างเท่าที่กะโหลก BB86 จะกว้างได้ ทำให้จุดเชื่อมท่อนั่ง ท่อล่าง และเชนสเตย์มีจุดเชื่อมกันกว้างขึ้นส่งถ่ายแรงได้ดีขึ้น เพราะงั้นถึงมันจะเป็นท่อทรงกึ่งแอโร แต่ไม่ใช่รถแอโรเต็มตัวแน่นอนครับ ถ้าจะให้เทียบกับสัดส่วนท่อต่างๆ ของ Scott Addict RC นั้นอ้วนกว่า Specialized Tarmac SL6 พอสมควรเลย
สำหรับช่วงหลังของรถ ก็แน่นอนว่าเป็นดีไซน์แบบดรอปซีทสเตย์ซึ่งเหมือนกับที่ทุกเจ้าเคลม คือช่วยเพิ่มความสบาย เพราะช่วงหลักอานสามารถให้ตัวในแนว หน้า-หลังได้มากขึ้น และลู่ลมกว่าเดิมเล็กน้อย
Scott เองเคลมว่า Addict RC รุ่นใหม่นั้นมีค่า compliance หรือพูดง่ายๆ คือความสามารถในการซับแรงสะเทือนเท่าๆ กับ Scott Foil ซึ่งเป็นเสือหมอบแอโร แต่เอาจริงๆ Scott Foil ก็เป็นเสือหมอบที่นิ่มสบายคันหนึ่งเลยครับ โดยเฉพาะในบรรดาเสือหมอบแอโรด้วยกันเอง ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแมธธิว เฮย์แมนถึงขี่ Foil จนได้แชมป์ Paris-Roubaix ในปี 2016!
กระบวนการผลิตแบบใหม่
ตามเทรนด์เสือหมอบเจเนอเรชันนี้ที่ใช้ระบบดิสก์เบรกและเพิ่มความแอโร สิ่งหนึ่งที่ตามมาแน่ๆ ด้วยกันเลยก็คือน้ำหนักที่มากขึ้น ซึ่ง Scott Addict RC เจนใหม่ก็หนีไม่พ้นกฏข้อนี้ครับ
ทีนี้ถ้าคุณไปอ่านรีวิว Addict RC ตัวใหม่ในต่างประเทศคุณอาจจะสับสนเรื่องน้ำหนัก หรืออาจจะงงว่าทำไมรถเรามันหนักว่าที่เคลมเป็นร้อยกรัม ต้องธิบายอย่างนี้ครับ Scott Addict RC เจนนี้มีสองเกรด มี Scott Addict RC Ultimate หรือรุ่นที่ทีมใช้แข่งซึ่งใช้คาร์บอน HMX SL ในขณะที่ Addict RC ตัวอื่นๆ ทั้งหมด (ตั้งแต่ RC Pro ลงมา) ใช้คาร์บอน HMX ธรรมดา แต่ในบทความหรือวิดีโอเปิดตัวของสื่อต่างประเทศ เขาโฟกัสกันที่ตัว RC Ultimate ทั้งหมด
- เฟรม Addict RC Ultimate ในไซส์ 54cm เฟรมหนัก 850 กรัม (เทียบกับเจนก่อนซึ่งหนัก 810 กรัม)
- เฟรม Addict RC Pro, RC10, 20, 30 ในไซส์ 54cm หนักประมาณ 920 กรัม (ไซส์ 52cm ของผมหนัก 902 กรัม)
รวมๆ แล้วก็คือเฟรม Addict RC นี่จะหนักเกือบๆ เท่าเสือหมอบแอโรเลยทีเดียวที่ปกติจะอยู่กันประมาณ 920-970 กรัม ทั้งนี้จะดูที่น้ำหนักอย่างเดียวก็คงไม่ได้บอกรายละเอียดทุกอย่างครับ เพราะถึงเฟรมจะหนักสักหน่อยแต่ Scott ปรับจูนน้ำหนักและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หลายด้านที่ทำให้เสือหมอบคันนี้ออกมาน่าสนใจ
เริ่มจากกระบวนการผลิตใหม่ที่ Scott เคลมว่าลดปริมาณชิ้นคาร์บอนที่ใช้ผลิตเฟรมลงกว่าครึ่ง โดยดีไซน์ใหม่ช่วยให้เรียงคาร์บอนออกมาได้โดยลดส่วนที่ชิ้นคาร์บอนซ้อนทับกัน ที่ทำให้เพิ่มน้ำหนักกับปริมาณวัสดุโดยเปล่าประโยชน์ เป็นกระบวนการผลิตเดียวที่ใช้กับเฟรมเสือภูเขา Scott Spark RC และ Scale RC
บริเวณรัดหลักอาน แทนที่จะใช้ internal seatclamp ที่เราเห็นในรถแอโรรุ่นใหม่ๆ Scott กลับใช้เป็นแหวนรัดหลักอานแทนซึ่งโดยรวมแล้วน้ำหนักเบากว่า (ตัวรัดหลักอานหนักแค่ 16 กรัม ถ้าใช้ระบบ internal seatclamp ที่ต้องมี wedge จะหนักกว่านี้) ผลพลอยได้ก็คือทำให้ผลิตหลักอานที่น้ำหนักเบากว่าเดิมด้วยถึงจะเป็นหลักอานทรงแอโรก็ตาม หลักอานของ Scott Addict RC หนักประมาณ 140 กรัม เบากว่าหลักอานใน Scott Foil เกือบ 60 กรัมเลยทีเดียว
นอกจากหลักอานแล้ว จุดยึดดิสก์เบรกก็น่าสนใจครับ เพราะ Scott บอกว่าตัดน้ำหนักออกไปได้เกือบ 20 กรัมจากที่ทำจุดยึดปั้มดิสก์เบรกให้ฝังเข้าไปในเฟรมเลย ไม่ต้องใชแผ่นตัวยึดที่ปกติจะยึดอยู่หลังตะเกียบ เป็นดีไซน์เดียวกับที่เราเห็นใน BMC SLR01 ซึ่งตรงนี้ Scott ให้ฝาปิดมาประกบตรงตะเกียบอีกทีเพื่อซ่อนจุดยึด
เราเคยอธิบายเรื่องประโยชน์ของยางหน้ากว้างที่ใช้กับล้อขอบอ้วนไปแล้ว เรื่องความสบายที่มากขึ้น (เพราะใช้แรงดันลมยางน้อยลง) และ rolling resistance ที่ต่ำลงทำให้ขี่ได้เร็วขึ้นด้วยการออกแรงเท่าเดิม
Scott เน้นย้ำเรื่องยาง 28mm เป็นพิเศษเพราะจักรยาน Addict RC ทุกคันมากับยางขนาด 28mm เลย! อย่างตัวที่ติดรถมาเป็นยาง Schwalbe One Race Guard 28mm ครับ
เป็นอะไรที่น่าสนใจดีเหมือนกันเพราะว่ารถแข่งส่วนใหญ่มากับยาง 25mm หรือ 26mm เพิ่งเคยเห็น 28mm นี่แหละ (ส่วนตัวผมว่า 28mm กว้างไปหน่อยสำหรับรถแข่ง โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้ไปลงทางขรุขระมากนัก และมันทำให้ฟีลรถไม่ซิ่งเท่าไร)
Geometry
เฟรมออกแบบใหม่ geometry ก็มาใหม่ด้วย หลักๆ แล้ว Scott ปรับให้กะโหลกเตี้ยลงกว่าเดิม ท่อคอสั้นลง เชนสเตย์ยาวขึ้นเล็กน้อย และตะเกียบสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อให้ได้รถที่ฟีลดีกว่าเดิมหรืออะไรแบบนั้นครับ แต่ทำเพื่อให้รองรับการใช้ยางขนาด 28mm โดยที่ยังคงฟีลลิงการควบคุมที่คล่องตัวตามสไตล์รถแข่งแบบ all around ดูจากระยะ tire clearance แล้วน่าจะใส่ยาง 30mm ได้ไม่ยาก สำหรับคนที่อยากจะเอาลงทางขรุขระ
โดยรวมแล้ว geometry ถือว่าดุครับ ต้องเช็คให้ดีก่อน เพราะ Addict RC มากับแฮนด์และสเต็มแบบ integrated ถึงแฮนด์และสเต็มจะถอดแยกชิ้นได้ แต่ไม่สามารถใช้ยี่ห้ออื่นๆ ที่มีขายทั่วไปในตลาดได้ จากที่มันออกแบบมาให้ซ่อนสายทั้งหมด ต้องใช้ของ Scott เอง
เฟรมมีให้เลือก 8 ไซส์ไล่จาก 47, 49, 52, 52, 54, 56, 58, และ 61
แนะนำว่าไปเช็ค geometry ที่เว็บไซต์โดยตรงเพื่อความชัวร์ครับ ที่ลิงก์นี้
ชุดขับ
Addict RC30 มากับชุดขับ Shimano Ultegra 8070 ไม่ใช่ชุดขับไฟฟ้า แต่มากับดิสก์เบรกไฮดรอลิกแบบเต็มชุด ไม่มีกั๊กขาจาน เฟือง โซ่ที่หลายๆ แบรนด์มักใช้รุ่นรองๆ ลงไปครับ ฮู้ด Ultegra ถึงจะเป็นแบบไฮดรอลิกดิสก์ก็ปรับดีไซน์ใหม่ให้ขนาดกระชับลงมาก แทบไม่ต่างจากตัวริมเบรกเลย เอาจริงๆ แล้วไซส์มันเท่าๆ กับฮู้ด SRAM Red eTap AXS ที่ผมใช้อยู่ในอีกคันเลยด้วยซ้ำ
จานหน้าให้มาเป็นขนาด 52/36t ส่วนเฟืองเป็น 11-30t เป็นคอมโบที่ขี่สนุกครับ ไม่ต้องห่วงเกียร์ไม่พอทั้งทางราบและทางเขา ถ้าไม่ชันจริงๆ ก็คงไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้เฟือง 11-32t
ส่วนใบดิสก์เบรกให้ขนาด 160mm มา ใหญ่เหลือใช้ สายแต่งเบาอาจจะลองเปลี่ยนดิสก์หลังเป็น 140mm
Cockpit
จุดเด่นที่สุดของ Addict RC เจนใหม่ก็คือแฮนด์และเสต็มที่ซ่อนสายทุกรุ่น เฉพาะรุ่น RC Pro และ RC Ultimate จะได้ชุดแฮนด์สเต็มคาร์บอนแบบชิ้นเดียว Syncross Creston iC SL แต่ในรุ่น RC10, 20, 30 จะได้เป็นแฮนด์ Syncross Creston 2.0 และสเต็มอลูมิเนียม Syncross RR iC
Scott ใช้ซางขนาด 1 1/4” เหมือนในจักรยาน Giant และ Canyon จุดสำคัญคือตัวสเต็มนี้เดินสายง่ายครับ ใช้วิธีเดินสายจากแฮนด์ทะลุมาผ่านช่วงบนของสเต็ม (ซึ่งมีฝาแม่เหล็กปิดอีกที ไม่ต้องกลัวตกหล่นเพราะแม่เหล็กดูดแรงมาก)
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าแฮนด์และเสต็มชุดนี้หนักมากครับ แฮนด์ (42mm) หนัก 327 กรัม และสเต็ม (100mm) หนัก 267 กรัม (!!) แฮนด์สเต็มรวมกันหนักเกือบ 600 กรัมแล้ว เพราะงั้นถ้าใครอยากไล่เบา ทางเดียวที่จะเบากว่านี้ได้คือต้องใช้แฮนด์สเต็มแบบชิ้นเดียว Syncross Creston iC SL ที่บอกไปข้างต้น ซึ่งหนักประมาณ 295 กรัม เพราะมันใช้แฮนด์และสเต็มยี่ห้ออื่นไม่ได้
เบาะ
แทบทุกแบรนด์เดี๋ยวนี้เน้นทำอะไหล่ด้วยตัวเอง Scott เองก็เช่นกันครับภายใต้ชื่อแบรนด์ Syncross สำหรับเบาะที่ให้มานี่สีเตะตาเป็นพิเศษ แมทช์กับยางชวาเบ้ เบาะเป็นรุ่น Belcarra Regular 2.0 ซึ่ง Scott เคลมว่าเหมาะกับคนปั่นที่ร่างกายอาจจะไม่ยืดหยุ่นมากนัก ท่าปั่นไม่ก้มต่ำเหมือนนักแข่ง ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งในการนั่งย้ายไปอยู่ช่วงกลางถึงท้ายเบาะมากกว่า
เบาะตัวนี้พัฒนาร่วมกับ Gebiomized จากเยอรมนี ที่เชี่ยวชาญเรื่องเบาะจักรยานเป็นพิเศษ หลายๆ คนน่าจะเคยได้ใช้ระบบฟิตติ้งแบบ pressure mapping จากเจ้านี้แล้วถ้าเคยทำฟิตติ้งครับ
ตัวรางเบาะเป็นโครโมลี ส่วนฐานเบาะเป็นไฟเบอร์กลาสผสมไนลอน น้ำหนักรวม 240 กรัม
ฟีลลิงเป็นยังไงคงรีวิวไม่ได้ แต่ดูจากรูปทรงแล้วน่าจะปั่นไม่ยากครับ ปกติผมใช้ Specialized S-Works Power Arc มาลองตัวนี้ก็ขี่ได้ไม่ได้รู้สึกติดขัดเท่าไรครับ แต่เวลานั่งปลายเบาะจะไม่ค่อยชินเท่าไร
ล้อ
ล้อที่ติดรถก็เป็นของ Syncross เช่นกันในรุ่น RP2.0 เป็นล้ออลูมิเนียม ซี่ล้อ 28 ซี่ทั้งหน้าและหลัง ไม่ได้หวือหวาอะไร ถือว่าพอใช้งานได้ แต่ถ้าใครอยากลดน้ำหนัก หรือรีดประสิทธิภาพเฟรมให้เต็มที่ ล้อคู่นี่ต้องไปก่อนเลยครับ เพราะหนักเกือบ 1.8 กิโลกรัม 😂 อย่างไรก็ดีด้วยความทนและน้ำหนักตัวของมันก็ทำให้ไม่ต้องห่วงการใช้งานมากล่ะครับ อีกอย่างพอเป็นดิสก์เบรกแล้วเขาก็รมขอบล้อเป็นสีดำมาหมดเลย ดูไกลๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นล้ออลูมิเนียม สวยไปอีกแบบ
สรุป
โดยรวมแล้วค่อนข้างพอใจกับรายละเอียดต่างๆ ของ Addict RC30 ครับ งานสีทำได้เนี้ยบมาก Scott ใส่ใจรายละเอียดหลายๆ จุดอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ราคาที่ 145,800 บาท ก็สมเหตุสมผลกับเสือหมอบดิสก์กึ่งแอโรที่ซ่อนสายทั้งหมด ที่มากับชุดขับ Ultegra และยางที่ดีพอแบบไม่ต้องซื้อเปลี่ยนใหม่
แน่นอนว่าไม่ใช่จักรยานราคาถูกเลย แต่เมื่อเทียบกับหลายๆ ยี่ห้อที่ราคานี้อาจจะได้แค่เฟรมก็ถือว่า Scott วางตลาดได้ดีครับ
น้ำหนักทั้งคันออกมาที่ 7.95 กิโลกรัม ไม่รวมขากระติก บันได และเมาท์ยึดคอมพิวเตอร์ เพราะงั้นประกอบปั่นจริงก็น่าจะไปจบที่แปดโลต้นๆ ครับ
อย่างไรก็ดี ถ้ามองว่าเป็นรถที่จะโตไปกับเราใช้ไปอีก 3-4 ปี ก็มีหลายจุดที่ให้เราอัปเกรดได้ ซึ่งตอนนี้ผมเองรอชุดแฮนด์และสเต็ม Syncross Creston iC SL ตัวคาร์บอนอยู่ แล้วกะว่าจะย้ายอะไหล่จาก Chapter 2 มาลง ถึงตรงนั้นคงได้ลองรีดความสามารถรถแบบเต็มที่จริงๆ แต่ระหว่างนี้ก็จะลองปั่นไปก่อน แล้วจะมารีวิวเร็วๆ นี้ครับ
* * *