เศรษฐกิจโลกกับโปรทีม…

รูปข้างบนนี้เป็นกราฟอัตราการว่างงานในยุโรป ​ซึ่งปัจจุบันประเทศสเปนมีอัตราสูงสุดถึง 27% มีคนว่างงานกว่าหกล้านคน ฝรั่งเศสและอิตาลีประเทศเพื่อนบ้านก็กำลังประสบปัญหาคล้ายๆ กัน แน่นอนว่าการแข่งขันจักรยานสนามต่างๆ

และการตั้งโปรทีมไม่ได้ใช้เงินจำนวนน้อยๆ ตอนนี้พิษเศรษฐกิจยุโรปกำลังส่งผลกระทบการการแข่งขันจักรยานทั้งทางตรงและทางอ้อม วันนี้เรามาดูเรื่องเงินๆ ทองๆ ในวงการจักรยานกันครับ คิดว่าหลายๆ คนน่าจะสนใจที่มาที่ไปของสปอนเซอร์และการแข่งขันรายการต่างๆ เรื่องวงในที่เราอาจจะไม่ได้เห็นในสื่อทั่วไป

โปรทีมและเม็ดเงินจากสปอนเซอร์

ถ้าเราดูรายชื่อโปรทีมในระดับดิวิชัน 1 UCI Pro Tour ทั้ง 19 ทีมจะพบว่าแทบทุกทีมนั้นสปอนเซอร์โดยมหาเศรษฐีหรือรัฐบาลประเทศต่างๆ แทบจะไม่มีทีมไหนที่ได้เงินสนับสนุนจากภาคธุรกิจเลย ไม่ว่าจะเป็น Astana (รัฐบาลคาซัคสถาน), BMC (มหาเศรษฐี Andy Rhiis), Orica-GreenEdge (เศรษฐี Chemicals), Blanco (ธนาคาร Rabobank), Katusha (เจ้าพ่อน้ำมันรัสเซีย), Radioshack-Leopard (ร้านเชนเครื่องใช้ไฟฟ้า), Saxo-Tinkoff (เจ้าพ่อธนาคารออนไลน์) ส่วน OPQS และ Sky มีฝ่ายธุรกิจสนับสนุนแต่ตัวตั้งตัวตีก็เป็นมหาเศรษฐีอย่าง James Murdoch เจ้าของ Sky ธุรกิจเคเบิลทีวีที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ ซึ่งเขาชอบการแข่งขันจักรยานเป็นการส่วนตัว ทีมอย่าง Garmin-Sharp ที่ดูเหมือนทั้งสองบริษัทจะเป็นคนอัดฉีด แต่จริงๆ แล้วก็มีผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง Doug Ellis เป็นคนชักจูงให้ Garmin + Sharp เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักครับ

Zdenek Bakala มหาเศรษฐีเจ้าของทีม Omega Pharma-Quickstep หนึ่งในไม่กี่ทีมที่ทุนหนาพอจะซื้อตัว Mark Cavendish ได้
Zdenek Bakala มหาเศรษฐีเจ้าของทีม Omega Pharma-Quickstep หนึ่งในไม่กี่ทีมที่ทุนหนาพอจะซื้อตัว Mark Cavendish ได้

ปัจจุบันทีม Blanco ยังไม่มีสปอนเซอร์ ถ้าหาผู้สนับสนุนไม่ได้ก่อนสิ้นปีก็ต้องยุบทีม ส่วน Vacansoleil กำลังพิจารณาถอนตัว ส่วน Radioshack ก็มีข่าวลือว่าจะหยุดสนับสนุนทีมเช่นกัน ในวงการจักรยานนั้นสปอนเซอร์หมุนเวียนเปลี่ยนไปมาเป็นเรื่องธรรมดา บ้างก็อยู่นาน บ้างก็ถอนตัวตามสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจ แต่ข่าวฉาวอย่างเรื่องโด้ปปิ้งของ Lance Armstrong และทีมอื่นๆ ที่เป็นประเด็นหลักในปีที่แล้วก็ทำให้สปอนเซอร์หลายๆ เจ้าหยุดอัดฉีด (Rabobank/ HTC) และธุรกิจอื่นๆ ที่สนใจก็ถอนตัวออกไปเพราะไม่อยากเสียภาพพจน์บริษัท

ปัญหาหลักอีกอย่างก็คือการแข่งขันจักรยานนั้นไม่มี Business model ที่เอื้อประโยชน์ให้ทีมและสปอนเซอร์สักเท่าไร และไม่การันตีความอยู่รอดของทีม ทำให้เราได้เห็นชื่อทีมเปลี่ยนไปตลอดเมื่อสปอนเซอร์เขาถอนตัว หรือโดนยุบไปบ้างก็มี นักปั่นคนไหนอยู่ทีมที่ต้องโดนยุบก็ซวยครับ ต้องหาบ้านใหม่ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าไม่ใช่นักปั่นที่มีชื่อเสียงหรือเป็นที่ต้องการตัว อย่างที่บอกในข้างต้น โปรทีมส่วนใหญ่อาศัยเงินสนับสนุนจากเศรษฐี ถ้าวันหนึ่งเศรษฐีเหล่านี้คิดจะเลิก หรือเบื่อแล้ว นักกีฬาก็ตกงาน ซึ่งไม่ใช่โครงสร้างที่มั่นคงสำหรับคนประกอบอาชีพ อย่าลืมว่าทีมๆ หนึ่งไม่ได้มีแค่นักกีฬายี่สิบกว่าคน แต่มีซัพพอร์ทสตาฟ ผู้จัดการ แพทย์ประจำทีม ช่าง คนขับรถ และอีกหลายๆ ตำแหน่ง

ลองเปรียบเทียบกับกีฬาอื่นๆ อย่างฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ใช้รายได้จากค่าสมาชิกคลับเป็นหลักจะเห็นได้ชัดเลยว่าเขามีความมั่นคงทางด้านการเงินมากกว่าจักรยานแข่งเยอะ ไม่ต้องพึ่งเศรษฐีใจดีเสมอไป และนักกีฬาก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตกงานด้วยครับ

 

รายการแข่งล้มหายตายจาก

ในปีนี้มีรายการแข่งเก่าแก่สนามเล็กๆ ในยุโรป หลายรายการต้องยกเลิกการแข่งแบบถาวร การจัดการแข่งขันกีฬาก็ต้องมีสปอนเซอร์เป็นคนอัดฉีดเงินทุนในการจัดสนาม จ้างสตาฟใช่ไหมครับ? แน่นอนเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี สปอนเซอร์หลายๆ เจ้าก็อยากจะประหยัดเงิน หรือเอาไปใช้ทำอย่างอื่นที่ให้ผลงอกงามมากกว่ามาสนับสนุนรายการแข่งเล็กๆ ที่ไม่ได้ให้ประโยชน์เจ้าของธุรกิจสักเท่าไร โดยมากแล้วผู้สนับสนุนรายการแข่งเล็กๆ มักจะเป็นเจ้าของธุรกิจท้องที่ หรือรัฐบาลเล็กๆ ประจำเมือง/แคว้นที่อยากสร้างจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการจัดแข่งจักรยานครับ แต่เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ รายการแข่งจึงเป็นเหยื่อเบอร์หนึ่งในการตัดงบประมาณ ถามเด็กอนุบาลก็รู้ว่าเราควรให้เงินสนับสนุนดูแลการศึกษาและคมนาคมท้องถิ่นมากกว่าเอาเงินไปจัดแข่งจักรยาน

Tour of the Basque Country ในสเปน สนามเก่าแก่ เส้นทางสวย แต่เงินน้อย...
Tour of the Basque Country ในสเปน สนามเก่าแก่ เส้นทางสวย แต่เงินน้อย…

ยกตัวอย่าง Tour di Limousin ในฝรั่งเศสซึ่งปรกติจ่ายค่าจ้างตำรวจท้องที่ให้ดูแลนักแข่งและเส้นทางแค่ชั่วโมงละราวๆ 120 บาท แต่รัฐบาลฝรั่งเศสมีแผนเพิ่มค่าดูแลการแข่งเป็นชั่วโมงละเกือบ 600 บาท ซึ่งถ้านับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการแข่งหลายๆ วันแล้วอาจจะมากถึง 320,000 บาททีเดียว รายการแข่งใหญ่ๆ อย่าง Tour de France และ Paris-Roubaix คงไม่มีปัญหาจ่ายค่าจ้างตำรวจเพราะทุนหนา สปอนเซอร์เยอะ แต่รายการเล็กๆ คงไม่สามารถรับค่าใช้จ่ายได้ครับ

 

ไม่มีข่าวดีบ้างเลยหรือ?

ฟังดูเหมือนเราจะไม่ได้ดูการแข่งจักรยานแล้ว? แต่ไม่หรอกครับ ที่ว่าคนตกงานเยอะในยุโรปหรือเศรษฐกิจจะแน่ขนาดไหน ยุโรปก็ยังเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างแข็งแรงกว่าประเทศโลกที่สาม ว่ากันจริงๆ แล้วตารางแข่งจักรยานตลอดทั้งปีนั้นมีมากมายหลายร้อยรายการ ดูกันแทบไม่ทัน และยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่อังกฤษก็กำลังจะจัด Tour ใหม่อีกรายการ ในขณะที่ Norway จัดเพิ่มอีกสอง ทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติเองก็มีเม็ดเงินสนับสนุนมากพอที่จะใช้สร้างรายการแข่งใหม่ๆ อย่าง Tour of Beijing ซึ่ง UCI เป็นคนจ่ายเองทั้งหมด ในปี 2010 UCI ใช้เงินสำรองในบัญชี ProTour Reserve Fund กว่า 30,000 ยูโร ช่วยต่ออายุรายการ GP de Plouay และในปี 2012 สื่อก็คาดว่า UCI ช่วยสนับสนุน Tour of the Basque Country ไปไม่น้อย

ที่มา: UCI Financial Report 2010
ที่มา: UCI Financial Report 2010

อย่าลืมว่ารายการแข่งในตะวันออกกลางอย่าง Tour of Turkey, Tour of Oman, Tour of Qatar นั้นพึ่งจะเริ่มจัดกันมาไม่ครบสิบปีด้วยซ้ำไป รายการเหล่านี้สนับสนุนโดยเศรษฐีน้ำมันที่อยากจะโปรโมตประเทศโดยใช้กีฬาต่างๆ ทั้งเทนนิส ฟุตบอล และจักรยานเป็นสื่อหลักครับ ล่าสุดกำลังจะมี Tour of Azerbaijan และ Tour of Dubai ที่จะถมทะเลเป็นภูเขาให้นักปั่นได้ปีนกันด้วย

 

สรุป

แน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ รายการแข่งและสปอนเซอร์ก็ต้องล้มหายตายจากกันไปเป็นธรรมดาครับ ไม่มีใครร่ำรวยค้ำฟ้า เพราะจัดการแข่งแต่ละสนามใช้เงินไม่น้อย และเม็ดเงินที่ตั้งทีมจักรยานนั้นอยู่ที่่ราวๆ 4-8 ล้านยูโร (150-300 ล้านบาท) เป็นอย่างน้อย ทีมร่ำรวยอย่าง Sky มีเงินอัดฉีดถึงปีละ 16 ล้านปอนด์​ (ราว 700 ล้านบาท!) แต่ผมเชื่อว่าถึงแม้กีฬาจักรยานถนนจะไม่ได้โด่งดังและเป็นที่นิยมเหมือนฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส… แต่มันคงไม่หายไปไหนแน่นอน ทุกครั้งที่วงการจักรยานเจอวิกฤติมันก็ฟื้นตัวกลับมารุ่งเรืองได้ทุกครั้ง เราผ่านข่าวฉาวการโด้ปมาหลายต่อหลายครั้งทั้งสมัย Festina, Landis, Puerto, US Postal… แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่สนใจจะสนับสนุนและหาทางเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอยู่อย่างกลุ่ม Change Cycling Now ที่มีโต้โผเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการ Jonathan Vaughters, Paul Kimmage, และ Greg Lemond

จักรยานแข่งในภูมิภาคอื่นๆ นอกยุโรปก็บูมขึ้นมากโดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่ผู้บริโภคกำลังซื้อสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เริ่มสนใจกีฬาที่ต้นทุนสูงอย่างเสือหมอบ และเริ่มดูการแข่งขันกันมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เราเข้าถึงการแข่งขันระดับโปรได้สะดวกขึ้นครับ เจ้าของกิจการในเอเชียหลายๆ เจ้าก็อัดฉีดโปรทีมท้องถิ่นกันเต็มที่ น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับวงการเสือหมอบในอนาคตครับ

Reference: UCI Reserve Fund PDF

Published
Categorized as Racing

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

9 comments

  1. แปลมาเต็มๆแบบนี้ ควรใส่ reference ต้นฉบับด้วยนะครับ ;)

    1. ขอบคุณที่แจ้งครับ ปรกติก็ใส่ทุกอันถ้าแปล เมื่อวานรีบจริงๆ ตอนนี้เรียบร้อยแล้วครับ

    1. มีทีมชาติ แต่ไม่มีพวกเทรดทีมอย่างที่เขาแข่งกันในยุโรปครับ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *