ทำไมคนไทยถึงเรียกยาง Tubular ว่ายางฮาล์ฟ!?

เชื่อว่าทุกคนที่เคยใช้หรือรู้จักยางประเภท Tubular น่าจะสงสัยว่าทำไมเราถึงเรียกมันว่า “ยางฮาล์ฟ” คือตั้งแต่เข้าวงการมาก็ได้ยินคำนี้ใช้กันจนติดปากไปแล้ว แต่เมื่อไปถามชาวต่างชาติว่ายูรู้จักยางฮาล์ฟหรือเปล่า ฝรั่งถึงกับงงครับ ก็เลยกลายเป็นข้อสงสัยที่ติดค้างคาใจมาตลอด จนเมื่อวันก่อน DT ไปสอบถามเพื่อนๆ ในกรุ๊ป Facebook Ducking Tiger Cycle Club จนได้คำตอบที่น่าสนใจมากๆ จากอาจารย์หมอหนก (หรือยูเซอร์ Lucifer จาก thaimtb) ขอยกที่อาจารย์เขียนไว้มาทั้งหมดข้างล่างนี้;

 

ยางฮาล์ฟ ชื่อนี้มาจากไหน

by Kanoksak AnytimeLucifer

ถ้าคุณกำลังปั่นจักรยานกับฝรั่ง แล้วจู่ๆเจ้ายางtubular ที่แสนแพงของคุณก็ดันรั่ว แล้วเจ้ากรรมที่คุณไม่มีอะไรเลยที่อุดรูนั้นได้ คุณก็เลยไปถามฝรั่งที่คุณปั่นด้วยว่า
“Can you help me?”
“My half tyre was punctured.”

คุณเชื่อผมเหอะ เจ้าฝรั่งคนนั้นจะต้อง”งง” แบบชนิดที่ว่าจะมี ง.งู2 ตัวไขว้กันไปมาในหัวอย่างแน่นอน เพราะฝรั่งมันรู้จักแต่ยาง tubular เท่านั้นแหละ แล้วไอ้ยางครึ่งเส้นของคุณเนี่ย มันก็ยังเต็มเส้นอยู่นี่หว่า จะมาเหลือครึ่งเส้นได้ยังไง

เชดดดดโด้ นี่แปลว่า ยางฮาล์ฟนี่คือคำศัพท์บัญญัติของคนไทยหละสิเนี่ย
แม่นแล้ว น่องเอยยยยยยย คนไทยตั้งชื่อนี้ขึ้นมาเอง
เรื่องเฮฮาของคนขี้สงสัยก็คือ ทำไม? มันถึงถูกเรียกว่ายางฮาล์ฟ

บางคนก็บอกว่า เพราะโครงสร้างของมันกระมัง ที่เย็บยางนอกม้วนหุ้มยางใน เหมือนกึ่งยางไม่มียางใน บางคนก็บอกว่า เพราะเคยเห็นฝรั่งมันสามารถพับเหลือครึ่งวงแล้วสะพายไหล่ปั่นไปแข่งด้วยได้ กับอีกหลายสมมติฐานฮาๆ ที่จริงๆแล้วก็ยังไม่มีใครในปัจจุบันที่เข้าใจที่มา

เราก็ต้องสืบประวัติศาสตร์กันหน่อย ว่ามันเริ่มเรียกมาแต่เมื่อไหร่

แหล่งข้อมูลจึงต้องแก่กว่าอายุการปั่นจักรยานของผมอย่างแน่นอน เพราะผมรู้จักชื่อ”ยางฮาล์ฟ”มาตั้งแต่ราวๆปี 2540 จากหนังสือ จักรยานเพื่อสุขภาพ ของนายแพทย์กฤษดา บานชื่น อาจารย์หมอกฤษดาท่านเขียนหนังสือเล่มนี้มานานแล้ว เล่มที่ผมซื้อก็ไม่ใช่ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกซะด้วย ในหนังสือเล่มนั้นมีการพูดถึงยางฮาล์ฟโดยอจ.กฤษดาท่านก็ยังไม่สามารถระบุที่มาของชื่อนี้ได้อย่างแน่ชัด

งั้นต้องเจาะไปหานักปั่นจักรยานที่คลุกคลีอยู่ในวงการ ถามใครหละ ก็ต้องถามอดีตทีมชาติสิครับ
คุณปรีดา จุลละมณฑลเหรอ ??? ต้องจุดธูปถามกันหละครับ ท่านไปสุขคตินานแล้ว ผมคงต้องหานักปั่นท่านอื่นที่ผมรู้จัก

แวบหนึ่ง ผมก็นึกถึง อาจารย์.ปราจิน รุ่งโรจน์ หรือ โค้ช P’ ในอดีตท่านเป็นนักกีฬาทีมชาติ ปัจจุบันท่านก็ยังเป็นโค้ช เป็นผู้ฝึกสอนจักรยานที่โรงเรียนกีฬากรุงเทพ ถึงจะอายุเลยวัยเกษียณแล้ว แต่อจ.ก็ยังแรงแบบหนุ่มๆสะอื้นก็แล้วกันหละ

ว่าแล้วก็ส่ง message ไปถามกันเลย
อจ.ปราจินบอกว่า เป็นการเรียกต่อๆกันมาจากคนในสมาคมสมัยก่อน และนักจักรยานทีมชาติไทยเรียกล้อแข่งว่า “ล้อฮาล์ฟ” ฉะนั้นยางที่ใส่แข่งก็เลยเรียกว่า “ยางฮาล์ฟ”

Wheels (11 of 26)

ผมก็เลยสงสัยว่า งั้นก็ต้องเป็นล้อยี่ห้อฮาล์ฟหละดิ ว่าแล้วก็ค้นดูใน google ก็ไม่มีล้อยี่ห้อนี้เลย

ฮ่า ฮ่า เปล่า ล้อฮาล์ฟ มันเพี้ยนมาจาก ล้อฮับ ก็ต้องเข้าใจนะว่าในยุคนั้น ระดับการศึกษาในบ้านเราโดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าในปัจจุบันมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า มู่เลย์ แต่รับรองได้ว่าถ้าเปิดดิคชั่นนารี่ ยังไงก็หาไม่เจอ เพราะภาษาอังกฤษมันคือ Pulley ครับเรียกเพี้ยนกันมาน่าจะมากกว่า 50 ปีอย่างแน่นอน ตอนเด็กๆผมก็เคยได้ยินแบบนี้

แล้วล้อฮับมันมีที่มายังไง ส่วนหนึ่งก็มาจากพื้นฐานภาษาอังกฤษของคนไทยในสมัยนั้นไม่ได้ดีเหมือนกับปัจจุบัน การเรียกชื่อบางทีก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของศัพท์เริ่มต้น

ล้อจักรยานประกอบด้วย hub หรือ ดุม , Spokes หรือ ซี่ล้อ และ Rim หรือ ขอบล้อ รวมกันเป็นล้อ เรียกว่า Wheel

คราวนี้คงจะเริ่มคลายความงงหละ คนไทยไปเรียก wheel ว่า ล้อฮับ ทั้งๆที่ Hub เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของ Wheel

จาก Hub กลายเป็นล้อฮับ และ กลายเป็นล้อฮาล์ฟ
ยางที่ใส่บนล้อฮาล์ฟก็เลยเรียกว่ายางฮาล์ฟ

จากนั้นก็มโนกันไปถึงที่มาของคำว่า Half ว่ามันมาจากไหน ใครเลยจะคิดว่ามันมาจาก Hub ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับยางเลย

อจ.ปราจินท่านบอกว่า ยุคนั้น ห้ามเถียงโค้ชนะครับ โค้ชเรียกอะไรก็ต้องเรียกตามโค้ช ต่อให้เข้าใจที่มา เข้าใจความหมายจริงๆก็ไม่มีใครกล้่าไปเถียงหรอก เรียกไง ก็เรียกตามๆกัน

น่าจะพอหายสงสัยกันได้ระดับหนึ่งนะครับ คำบางคำมันก็มีที่มา! คล้ายๆ กับคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่คนไทยสมัยก่อนออกเสียงเพี้ยนไป แต่ก็ยังใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นคำที่มีเอกลักษณ์ติดปากคนไทยไป ไม่ว่ามันจะมีความหมายถูกต้อง หรือถูกหลักไวยากรณ์ก็ตาม

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *