GCN X DT: 10 วิธีเพิ่มความลู่ลมในการปั่นอย่างง่ายๆ

เส้นทางการปั่นจักรยานส่วนใหญ่ในบ้านเรามักจะเป็นทางเรียบที่รับลมได้เต็มที่ หมายความว่าเราจะปั่นได้ไวขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าลมสวนที่กระทบหน้าเรานั้นแรงขนาดไหน ถ้าแรงมากก็ต้องออกแรงมาก แต่ถ้าโชคดีมีลมส่งท้ายก็ไปได้ไวมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเพิ่มความแอโร่ไดนามิคให้รถเสือหมอบและนักปั่นลู่ลมมากขึ้นย่อมประหยัดแรง ช่อง Global Cycling Network ใน youtube เขามีเทคนิคมาแนะนำครับ บางอันก็ขำดี บางอันก็ทำได้จริง มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. โกนขนหน้าแข้ง

นักปั่นจักรยานกับขนหน้าแข้งเป็นของแสลงกัน หลายคนเชื่อว่าหน้าแข้งเรียบๆ ช่วยเพิ่มความลู่ลมได้ดีขึ้น เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงทางวิทยาศาสตร์กันมานานกว่าร้อยปี และเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งสำหรับนักปั่นครับ ผลการวิจัยในปี 1987 พบว่าหน้าแข้งเกลี้ยงๆ ช่วยประหยัดเวลาได้ 0.6% หรือ 5 วินาทีในการปั่น Time Trial ระยะทาง 40 กิโลเมตรที่ความเร็ว 37 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดว่าไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ!? แต่จะช่วยประหยัดได้ขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าขนหน้าแข้งคุณดกหรือเปล่า

โปรชอบโกนขนหน้าแข้งเพราะเวลานวดตัวจะสบายและไม่เจ็บ ปรกติเวลาแข่งเสร็จโปรจะต้องให้หมอนวดประจำทีมบีบคลายกล้ามเนื้อให้ ถ้าขนหน้าแข้ง และขนแขนยาวมันก็จะนวดลำบากและบางทีขนมันก็ดึงหนังไปด้วย ไม่สบายตัว

“Absolutely. It’s the number one reason I shave. I can’t imagine the pain of getting a full massage with hairy legs. I also think some of best massage techniques don’t involve much oil, so that makes having no hair even more important.” Horgan-Kobelski 

และสำคัญที่สุดสำหรับทั้งโปรและสามัญชนอย่างเรา หน้าแข้งเกลี้ยงๆ ช่วยให้ทำแผลได้ง่ายขึ้นครับ เป็นนักปั่นยังไงก็ต้องมีแผลจากการล้มหรือชนเข้าสักวัน เวลาติดพลาสเตอร์บนขนดกๆ แล้วดึงออกนี่เจ็บไม่น้อย แถมถ้าแผลขรุขระมีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกติดอยู่ ถ้าเราขนดกก็จะล้างแผลได้ลำบากครับ

 

2. ติด clip-on แอโร่บาร์

ติดแอโร่บาร์ช่วยให้ร่างกายเราอยู่ในตำแหน่งที่ลู่ลมที่สุดคล้ายๆ กับการปั่นจักรยาน time trial อาจจะช่วยให้ประหยัดแรงหากต้องออกปั่นไกลๆ ครับ อย่างไรก็ดี ถ้าไม่ได้แข่งขันหรือซีเรียสจนเกินไป บางทีแอโร่บาร์ก็เกะกะพอสมควรและก็มีน้ำหนักไม่น้อย คนที่พยายามแต่งรถเบาๆ คงไม่ชอบสักเท่าไร

 

3. จับแฮนด์ให้ถูกวิธี

aero position
คนส่วนใหญ่มักจะวางมือบนฮู้ดเสียมากกว่าบนดรอป เพราะปรกติแล้วจับฮู้ดจะสบายกว่าแต่การจับฮู้ดและดรอปแบบแขนเหยียดๆ ก็มีข้อเสียคือแขนเราจะเหยียดรงและเพิ่มแรงต้านลม ถ้าอยากเพิ่มความแอโร่ลองจับฮู้ดโดยการพับแขนให้ได้ 90 องศาหรือใกล้เคียง (เหมือนในภาพข้างบน) จะช่วยดึงตำแหน่งตัวเราลง มุดหลบลมได้ดีกว่า

 

4. เวลาปั่นอย่ากางแขนกางขา

no flap arms

บางคนชอบกางเข่าเวลาปั่น อาจจะเพราะเซ็ตรถมาไม่ดีหรือปั่นไม่ถนัด เข่ากาง แขนกางก็จะดักลมไว้ทำให้เรามีแรงต้านลมมากขึ้นและเปลืองพลังงานมากขึ้น ถ้าคิดว่าตำแหน่งที่นั่งปั่นอยู่ยังไม่เข้าที่และไม่สบายตัว แนะนำให้ลองหาช่างฟิตติ้ง หรืออาจจะสอบถามเพื่อนที่มีความรู้ดู ในความเห็นแอดมิน การฟิิตติ้งรถเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเวลาซื้อจักรยาน เพราะเราจะสนุกกับการขี่หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรานั่งปั่นได้สบายหรือเปล่า จะซื้อล้อขอบสูงราคาครึ่งแสน หรือเฟรมหมอบแอโร่มาใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรถ้าท่านั่งเราไม่สบาย นอกจากจะทำให้บาดเจ็บได้ง่าย ไม่แอโร่แล้ว ระยะยาวอาจจะทำให้เข่า แขน หลัง คอ เสื่อมเอาง่ายๆ ด้วย การฟิตติ้งนั้นลงทุนครั้งเดียว สบายไปทั้งชีวิตครับ

 

5-6-7. ใส่ Overshoes + Skinsuit + ถุงมือแอโร่

overshoes
ของสามอย่างนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับนักปั่นสามัญชนเท่าไร Overshoes คือถุงคลุมรองเท้า ที่นักปั่น time trial ชอบใส่กันเพราะถ้าเราสังเกตดูรองเท้าจักรยานมีทั้งสายรัด ทั้งคลีท พูนๆ นูนๆ เต็มไปหมด ขวางทางลม แต่ลำพังปั่นธรรมดารองเท้าเปลือยๆ อากาศบ้านเราก็ร้อนจะแย่อยู่แล้ว ถ้าต้องใส่ถุงคลุมอีกคงเหม็นน่าดู ส่วน skinsuit ก็ไม่มีกระเป๋าหลังครับ จะใส่ของจำเป็นก็ไม่ได้ ถุงมือแอโร่ก็เหมือนกัน ปรกติถ้าปั่นกลางแดดก็เห็นหลายคนใส่ปลอกแขนอยู่แล้วถือว่าทดแทนกันได้ เอาเป็นว่าถ้าไม่ได้แข่งขันอย่างจริงจังสามข้อนี้ก็ไม่จำเป็นนะจ๊ะ

 

8. ติดขวดน้ำไว้ที่ท่อนั่ง

bottle

ผลวิจัยบอกว่าการวางขวดน้ำไว้ที่ท่องนั่ง (seat tube) ช่วยลดแรงต้านลมได้ดีกว่าการติดไว้ที่ท่อล่าง (down tube) แต่ข้อเสียก็อาจจะทำให้หยิบกระติกน้ำได้ลำบากขึ้นครับ ข้อนี้ดูทำได้ไม่ยากและไม่เสียกะตังค์ด้วย เอาไปใช้กันได้

 

9. ติดเบอร์ผู้เข้าแข่งขันให้เรียบๆ

flappy number

ข้อนี้สำหรับนักแข่ง ผลวิจัยบอกอีกเช่นกันว่าเบอร์นักแข่งที่ติดอยู่ท้ายเสื้อ ถ้ามันติดไม่แน่นสนิทดี ปลิวไปปลิวมา จะเป็นตัวดักลมชั้นดี ทำให้เราเปลืองพลังในการปั่น ให้เอาเข็มกลัดติดไว้ให้แนบเนื้อดีๆ อย่าให้มันปลิวไปมา

 

10. ใส่หมวกแอโร่

ผลวิจัย (อีกแล้ว) บอกว่าหมวกแอโร่ ช่วยประหยัดแรงต้านได้มากกว่าล้อแอโร่ถึงสี่เท่า แถมราคาถูกกว่าล้ออีกด้วย อย่างไรก็ดี หมวกแอโร่อาจจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไรในสภาพอากาศร้อนๆ เหมือนบ้านเราครับ ยิ่งถ้าต้องปั่นนานๆ ไกลๆ แล้วอาจจะพาลหงุดหงิดเอาเสียง่ายๆ

 

สรุป

วิดีโอที่ได้ดูกันวันนี้บอกทริคที่มีประโยชน์ไว้หลายข้อในการเพิ่มความแอโร่ ลดแรงต้านลม ประหยัดพลังงานในการปั่น แต่หลายๆ อย่างก็ไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเรา บางอย่างก็ต้องเสียเงินเพิ่มเช่นแอโร่บาร์ overshoes หมวกแอโร่ ส่วนตัวแล้วแอดมินคิดว่าจัดการกับท่านั่งของเราน่าจะคุ้มที่สุด เพราะไม่ว่าเราจะใส่อุปกรณ์ไฮเทคลู่ลมแบบไหนก็ตาม ร่างกายของเราต่างหากที่เป็นตัวขวางลมก้อนใหญ่ที่สุด ถ้าจัดท่านั่งปั่นให้สบายและลู่ลมได้กว่าปรกติก็จะส่งผลให้เห็นมากที่สุดครับ แค่ก้มจับดรอปเราก็ได้ความเร็วเพิ่มมาฟรีๆ แล้ว 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แถมถ้านั่งได้สบายปั่นแบบแอโร่ได้นานๆ ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ บริการฟิตติ้งรถส่วนใหญ่ก็ราคาไม่แพงมาก ยังไงก็ถูกกว่าซื้ออุปกรณ์ใหม่ครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

9 comments

  1. ผมเคยลองใส่หมวกแบบไม่มีช่องระบายอากาศเหมือนเอาหัวไปอบไว้เลยครับ

  2. ผมสงสัยเรื่องกระติกน้ำครับ
    ถ้าติดใต้เบาะด้านหลังนักปั่น อย่าง Profile Desing
    มันน่าจะช่วยเพิ่มความแอโร่มากกว่าไม่ใช่หลอครับ
    เพราะว่าเวลาปั่นตัวเราก็ผ่านลมไปแล้วขวดน้ำก็มีตัวเราบังไว้อีกที
    หรือว่าปั่นแล้วขึ้นโยกขวดน้ำมันจะร่วงครับ

    1. ใช่ครับแต่คิดว่าขากระติกแบบติดไว้ด้านหลังไม่อนุญาติให้ติดในการแข่งขันจักรยานทางเรียบนะครับ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *