ดู Giro ยังไงให้รู้สนุก? 11 กฏควรรู้ก่อนดู Giro d’Italia

การรับชมแข่งขันจักรยานอาชีพออกจะเป็นเรื่องปวดหัวนิดนึงครับสำหรับมือใหม่ โดยเฉพาะการแข่งแบบหลายวันต่อกันที่เราเรียกว่าสเตจเรซ​ ยิ่งในสนามใหญ่ระดับแกรนด์ทัวร์ที่แข่ง 21 วันเหมือนใน Giro d’Italia ที่เริ่มแข่งกันตอนนี้ ยิ่งมีรางวัลยิบย่อยเยอะมาก และมีเสื้อผู้นำหลายตัว วันนี้จะมาดูกันว่ามันมีรางวัลประเภทไหนบ้างและแบ่งแต้มให้คะแนนกันยังไงครับ

เสื้อผู้นำในการแข่งขัน

ถึงแม้ว่าผู้ชนะรายการจะมีคนเดียว นั่นคือคนที่ใช้เวลาน้อยที่สุด (เร็วที่สุด) จากการแข่งขันรวมกันทุกสเตจ แต่ก็ยังมีรางวัลย่อยๆ ให้นักปั่นที่โดดเด่นในด้านอื่นด้วย อันดับแรกเรามาดูเสื้อผู้นำแต่ละตัวกันก่อนครับ เสื้อผู้นำนั้นมีให้คนที่ทำคะแนนหรือเวลานำคู่แข่งในหมวดต่างๆ ที่แข่งขันกัน ซึ่งผู้นำจะได้เสื้อสีพิเศษไปสมใส่ ไม่เหมือนเสื้อทีม เวลาชมจะได้รู้ว่าใครเป็นคนนำประเภทนั้นๆ

 

1. เสื้อชมพู Maglia Rosa สำหรับผู้นำเวลารวม

เสื้อชมพูเป็นเสื้อที่ทรงเกียรติที่สุดใน Giro d’Italia เทียบได้กับเสื้อเหลืองใน Tour de France ครับ มันคือเสื้อสำหรับคนที่นำอันดับเวลารวมในปัจจุบัน และคนที่ได้เสื้อตัวนี้ในวันสุดท้าย (สเตจ 21) ก็คือผู้ชนะรายการ สีชมพูนี้มาจากสี นสพ. La Gazetta dello Sport หรือผู้ก่อตั้งสนามนี้เมื่อร้อยปีก่อนนั่นเอง

ผู้ที่เข้าเส้นชัยและจุดสปรินต์กลางสเตจ 3 คนแรก จะได้เวลาพิเศษ หรือที่เราเรียกว่า ‘Time Bonus’ มาช่วยหักลบเวลารวมที่เขาทำได้

  • อันดับ 1-2-3 ของแต่ละสเตจจะได้ time bonus 10-6-4 วินาทีตามลำดับ
  • อันดับ 1-2-3 ที่จุดสปรินต์กลางสเตจ (IS) จะได้ time bonus 3-2-1 วินาทีตามลำดับ

เช่นสมมติแข่งกันมา 10 สเตจ ใช้เวลารวม 30:15:10 ชั่วโมง ถ้าสมมตินักปั่นคนหนึ่งเข้าเส้นชัยในสเตจ 11 เป็นคนแรก โดยสเตจนั้นใช้เวลารวม 4 ชั่วโมงตรงเป๊ะ เวลารวมใหม่เขาก็จะเป็น 34:15:00 ชั่วโมงครับ นั่นคือได้ bonus หักลบออกไป 10 วินาทีนั่นเอง

ถ้านักปั่นได้เวลารวมเท่ากัน คนที่ใส่เสื้อผู้นำคือคนที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ถ้าเวลารวมเท่ากันจนถึงสเตจสุดท้าย ผู้ชนะคือคนที่ทำเวลาระดับเสี้ยววินาทีได้เร็วกว่า และถ้าเวลารวมทั้งหมดยังเท่ากันอีก (แทบจะเป็นไปไม่ได้)​ ผู้ชนะจะมาจากการหาอันดับการเข้าเส้นชัยของทุกสเตจรวมกัน และถ้านั่นยังเท่ากันอีกก็จะวัดผู้ชนะจากลำดับการเข้าเส้นชัยในสเตจสุดท้ายครับ

ถ้าผู้นำเวลารวมนำคะแนนประเภทอื่นที่มีเสื้อผู้นำให้ใส่ด้วย เขาต้องใส่เสื้อสีชมพู เพราะมียศสูงสุดในบรรดาเสื้อผู้นำทั้งหมดในรายการนี้ เสื้อผู้นำอีกตัวที่เขาครองจะให้นักปั่นที่ได้อันดับสองในหมวดนั้นใส่

เช่น สมมติ ไนโร คินทานา เป็นผู้นำเวลารวม และเป็นผู้นำหมวดเจ้าภูเขาด้วย เขาต้องใส่เสื้อชมพู และให้เสื้อเจ้าภูเขากับนักปั่นที่ได้คะแนนเจ้าภูเขาเป็นอันดับสอง ​ณ​ เวลานั้น

 

 

2. เสื้อบานเย็น Maglia Ciclamino สำหรับผู้นำคะแนนรวม (สปรินเตอร์)

รางวัลหมวดนี้เราเรียกว่าผู้นำคะแนนรวม แต่จริงๆ แล้วการเก็บคะแนนในสนาม Giro นั้นจะเอื้อไปทางสปรินเตอร์มากกว่าครับ คล้ายๆ กับเสื้อเขียวใน Tour de France วัดผลจาก “คะแนนรวม”​ ที่นักปั่นสะสมในแต่ละสเตจ แล้วคะแนนนี้มาจากไหน? จะมาจากลำดับการเข้าสเตจและจุดสปรินต์กลางสเตจในแต่ละวัน โดยให้น้ำหนักคะแนนสเตจทางราบมากกว่าสเตจภูเขา สปรินเตอร์เลยมีโอกาสคว้ารางวัลนี้มากกว่านักปั่นสไตล์อื่น

เสื้อ Maglia Ciclamino นี่เป็นรางวัลที่หายไป 6 ปีครับ (เขาเปลี่ยนไปใช้เสื้อสีแดง ในชื่อ Maglia Rosso) อยู่พักนึง แต่ตอนนี้เอากลับมาใหม่ สปอนเซอร์โดยบริษัทิ Segafredo Zanetti ที่คอกาแฟรู้จักกันดี คนที่ได้รางวัลนี้เยอะที่สุดคือฟรานเชสโก้ โมแซร์และกิวเซปเป้ ซาโรนนี่

เบรคดาวน์คะแนนจะเป็นตามนี้

  • Category A+B: (สเตจทางราบ มีสเตจ 1, 2, 3, 5, 6, 7, 12, 13) ให้คะแนนนักปั่น 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย 50-35-25-18-14-12-10-8-7-6-5-4-3-2-1 แต้มตามลำดับ ที่จุดสปรินต์กลางสเตจให้ 8 คนแรก 20-12-8-6-4-3-2-1 ตามลำดับ
  • Category C: (สเตจมีเนินเขาเล็กน้อย มีสเตจ 8, 14, 15, 17) ให้คะแนนนักปั่น 10 คนแรกที่เข้าเส้นชัย 25-18-12-8-6-5-4-3-2-1 แต้มตามลำดับ ที่จุดสปรินต์กลางสเตจให้ 5 คนแรก 10-6-3-2-1 ตามลำดับ
  • Category D: (สเตจ 4, 9, 11, 16, 18, 19, 20) ให้คะแนนนักปั่น 10 คนแรกที่เข้าเส้นชัย 15-12-9-7-6-5-4-3-2-1 แต้มตามลำดับ ที่จุดสปรินต์กลางสเตจให้ 5 คนแรก 8-4-1 แต้มตามลำดับ
  • Category E: สเตจ Time Trial ในสเตจ 10 และ 21 ไม่มีคะแนนให้นักแข่ง
  • ถ้านักแข่งสองคนมีคะแนนเท่ากัน ผู้ชนะเสื้อตัวนี้จะวัดจากคนที่ลำดับดีกว่าในจุดสปรินต์กลางสเตจในแต่ละวัน ถ้าคะแนนรวมสุดท้ายเท่ากัน ผู้ชนะคือคนที่อันดับเวลารวมดีกว่า

3. เสื้อน้ำเงิน Maglia Azzurra สำหรับผู้นำคะแนนเจ้าภูเขา

เปรียบได้กับเสื้อ Polka dot ในตูร์เดอฟรองซ์ เสื้อสีน้ำเงินตัวนี้จะให้กับนักปั่นที่ทำคะแนนภูเขารวมได้เยอะที่สุด ภูเขาที่ยากกว่าก็จะได้คะแนนเยอะกว่า โดยความยากของภูเขาแต่ละลูกจะแบ่งเป็น category เช่นเดียวกับรางวัลในหมวดคะแนนรวมครับ ภูเขาในรายการนี้มีทั้งหมด 5 หมวดและแบ่งคะแนนตามนี้

  • Category 4 จำนวน 9 ลูก: นักปั่น 3 คนแรกที่ถึงยอดก่อนจะได้คะแนน 3-2-1 แต้มตามลำดับ
  • Category 3 จำนวน 9 ลูก: นักปั่น 4 คนแรกที่ถึงยอดก่อนจะได้คะแนน 7-4-2-1 แต้มตามลำดับ
  • Category 2 จำนวน 12 ลูก:  นักปั่น 6 คนแรกที่ถึงยอดก่อนจะได้คะแนน 15-8-6-4-2-1  แต้มตามลำดับ
  • Category 1 จำนวน 10 ลูก: นักปั่น 8 คนแรกที่ถึงยอดก่อนจะได้คะแนน 35-18-12-9-6-4-2-1 ตามลำดับ
  • CC / Cima Coppi จุดสูงสุดของการแข่งขัน Giro d’Italia: สำหรับปีนี้คือบนยอดเขา Passo del Stelvio ในสเตจ 16 มีคะแนนพิเศษให้ นักปั่น 9 คนแรกที่ถึงยอดก่อน จะได้ 45-30-20-14-10-6-4-2-1 แต้ม ตามลำดับ
  • ถ้านักแข่งสองคนมีคะแนนเท่ากัน จะมอบเสื้อผู้นำให้กับคนที่ลำดับดีกว่าในภูเขา Category 1 และถ้ายังเท่ากันก็จะดูจากลำดับการถึงยอดเขา Category 2, 3, 4 ไปเรื่อยๆ

 

4. เสื้อขาว Maglia Bianca สำหรับผู้นำเวลารวมที่อายุต่ำกว่า 25 ปี

เสื้อตัวนี้มอบให้นักปั่นที่ทำเวลารวมได้ดีที่สุดในแต่ละสเตจ แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีอายุต่ำกว่า 25 ปี ถ้าสมมติเป็นผู้นำเวลารวมของรายการด้วย ก็จะได้ครองเสื้อทั้งชมพูและขาวครับ ถ้าไม่นำเวลารวม แต่ทำเวลารวมดีกว่านักปั่นที่อายุอยู่ในเกณฑ์ทั้งหมด ก็จะได้เสื้อนี้ไปครอง นับอายุจากคนที่เกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 1992 เกณฑ์การนับคะแนนจะเหมือนเสื้อชมพูทั้งหมด

 

แล้วรางวัลอื่นๆ มีอะไรบ้าง?

นอกจากรางวัลเสื้อผู้นำทั้งสี่ตัวแล้ว เรายังมีรางวัลอื่นๆ มอบให้นักปั่นที่มีความโดดเด่นในด้านอื่นด้วย ตามนี้

5. รางวัล Intermediate Sprint Classification

รางวัลนี้เป็นคะแนนรวมที่แยกกับรางวัลเจ้าความเร็วครับ (เสื้อบานเย็น) นักปั่น 5 คนแรกที่ผ่านจุดสปรินต์กลางสเตจก่อนจะได้คะแนน 10,6,3,2,1 แต้มตามลำดับ ใครทำคะแนนรวมได้มากสุดก็จะได้เป็นผู้ชนะในหมวดนี้ซึ่งมีเงินรางวัลให้ 8,000-6,000,4000,2000,1000 ยูโรตามลำดับ ผู้ชนะในแต่ละวันได้เงิน 500-400-300-200-100 ยูโร ตามลำดับ

รางวัลนี้น่าจะตั้งใจมอบให้นักปั่นที่อาจจะไม่มีทีมซัพพอร์ทในการคว้าแชมป์สเตจ หรือเป็นสปรินเตอร์ตัวจี๊ด ก็เปิดโอกาสให้เบรคอเวย์และนักปั่นจากทีมเล็กได้มีผลงานกันครับ โดยที่คะแนนจะไม่คำนึงถึงโปรไฟล์ของแต่ละสเตจ ทุกสเตจได้คะแนนเท่ากันหมด ถ้าแต้มเท่ากัน คนที่อันดับ GC ดีกว่าจะเป็นผู้ชนะ

 

6. รางวัล Breakaway ยอดเยี่ยม

รางวัลนี้ให้กับนักปั่นที่ใช้เวลาอยู่หน้ากลุ่มห่างจากเปโลตองรวมเยอะที่สุดในการแข่งขัน จะนับก็ต่อเมื่อกลุ่มที่นักปั่นคนนั้นอยู่ต้องอยู่ห่างจากเปโลตองอย่างน้อย 5 กิโลเมตร และต้องมีนักปั่นในกลุ่มน้อยกว่า 10 คน ถ้าคะแนนเท่ากันจะให้คนที่อันดับ GC ดีกว่าชนะ คนที่ชนะในแต่ละวันจะได้เงินรางวันวันละ 250 ยูโร และผู้ชนะเวลา breakway รวมทั้งหมดจะได้เงินรางวัล 5,000 ยูโร

 

7. รางวัลนักปั่นใจสู้ (Fighting spirit)

เป็นรางวัลที่ให้นักปั่นที่ทำอันดับในแต่ละสเตจรวมกันได้ดีที่สุด โดยให้เป็นคะแนนครับ

  • ที่เส้นชัยในแต่ละวันให้ 6 คนแรก 6,5,4,3,2,1 แต้มตามลำดับ
  • ที่จุดสปรินต์กลางสเตจในแต่ละวันให้ 5 คนแรก 5,4,3,2,1 แต้มตามลำดับ
  • ที่ยอดเขาให้คะแนนตาม Category ข Cat. 1 c]t Cima Coppi: 4, 3, 2, 1. Cat 2: 3, 2, 1. Cat 3: 2, 1. Cat 4: 1. ตามลำดับ คนที่ชนะคือคนที่ได้แต้มรวมเยอะที่สุด นั่นคือเป็นรางวัลที่มอบให้คนที่พยายามจบในแต่ละสเตจด้วยอันดับที่ดีที่สุดนั่นเอง

 

8. รางวัล Winning Team และ Super Team

นอกจากรางวัลแบบรายบุคคลแล้วยังมีรางวัลมอบให้ทีมยอดเยี่ยมด้วย

  • รางวัล Winning Team คิดจากการรวมเวลาของนักปั่น 3 คนในทีมที่อันดับเวลารวมดีที่สุด ถ้าเวลาเท่ากันหลายทีม ผู้นำจะเป็นคนที่เวลารวมในสเตจก่อนๆ ต่ำกว่า ถ้าทีมเหลือนักปั่นไม่ถึงสามคนจะถูกตัดออกจากการแข่งขันหมวดนี้
  • รางวัล Super Team มอบให้นักปั่น 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย (แยกจากคะแนนประเภทอื่นๆ) ถ้านักปั่นทีมเดียวกันอยู่ใน Top 15 ในวันนั้นมากกว่าหนึ่งคน คะแนนจะเอามาบวกกัน คะแนนนี้จะสะสมทุกวัน โดยที่เส้นชัยจะให้ 50, 35, 25, 18, 14, 12, 10, 8, 7, 6, 5, 4, 3, 2, 1 แต้มสำหรับ 15 คนแรก และที่จุดสปรินต์กลางสเตจจะให้ 8, 5, 3, 2, 1 สำหรับ 5 คนแรก
  • เมื่อได้คะแนนในแต่ละวันแล้วจะเอาคะแนนของแต่ละทีมมาเทียบกันเพื่อจัดลำดับ

 

9. รางวัล Fair Play

อาจจะแปลรางวัลหมวดนี้ว่า รางวัลความประพฤติดีครับ เพราะทีมที่ชนะหมวดนี้คือทีมที่มีคะแนนในหมวด Fairplay ต่ำสุด ถ้าคะแนนเยอะแสดงว่าทำผิดเยอะ ! คะแนนนี้คิดจาก 6 เรื่อง

  • ถ้าถูกกรรมการตักเตือน โดนตัด 0.5 แต้ม
  • ถ้าถูกปรับเงิน ทุกๆ 10 สวิสฟรังก์จะคิดเป็น 1 แต้ม
  • ถ้าถูกตัดเวลา ทุกๆ 1 วินาทีจะคิดเป็น 1 แต้ม
  • ถ้าถูกทำโทษให้ลดอันดับเวลารวม เช่นอาจจะมาจากการโกง การแอบเกาะรถเซอร์วิส จะถูกเพิ่ม 100 แต้มต่อครั้ง
  • ถ้าถูกไล่ออกจากการแข่งขันจะโดนเพิ่ม 1000 แต้มต่อครั้ง
  • ถ้าถูกจับโด้ปจะโดนเพิ่ม 2000 แต้มต่อครั้ง

 

การตักเตือนของกรรมการครอบคลุมหลายเรื่อง เช่นเกาะรถเซอร์วิส ดูดรถเซอร์วิสของทีม สปรินต์ปาดหน้าจนเป็นอันตรายต่อคู่แข่ง หรือกระทั่งการชกต่อยผู้ชมข้างทาง

 

10. ถ้าปั่นช้าจะโดนออกจากการแข่งขันหรือเปล่า? (Time cuts)

กฏการแข่งขัน Giro นั้นนักปั่นทุกคนต้องเข้าเส้นชัยในแต่ละสเตจถึงจะลงแข่งวันต่อไปได้ อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้ปล่อยให้ขี่ทั้งวันครับ จะมีช่วงตัดเวลา (time cut) ถ้าเข้าหลังเวลานี้จะโดนปรับไม่ให้ลงแข่งวันต่อไป โดยเวลาจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากเวลาที่คนแรกเข้าเส้นชัย คำนวนโดยความยากง่ายของเส้นทางในแต่ละสเตจ ซึ่งจะดูสภาพเส้นทางและสภาพอากาศเป็นหลัก

การแข่งปีนี้แบ่งสเตจออกเป็น 5 แบบ

  • Category a: Flat (ทางราบ)
  • Category b: Medium (มีเนินชันเล็กน้อย)
  • Category c: Hard (มีเนินชันและภูเขาเยอะ)
  • Category d: High mountain stages (สเตจภูเขาสูงชัน)
  • Category e: Time trials (สเตจ time trial)

 

เดดไลน์ในแต่ละวันจะคิดจากสูตรข้างล่างนี้

A category (stages 3, 7, 12, 13): นับจากเวลาผู้ชนะแล้วเพิ่มให้:

  • 7% ถ้าความเร็วเฉลี่ยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 kph
  • 8% ถ้าความเร็วเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 40-50kph
  • 10% ถ้าความเร็วเฉลี่ยสูงเกิน 45kph

B category (stages 1, 2, 5 and 6): นับจากเวลาผู้ชนะแล้วเพิ่มให้:

  • 9% ถ้าความเร็วเฉลี่ยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 37 kph
  • 10% ถ้าความเร็วเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 37-41 kph
  • 11% ถ้าความเร็วเฉลี่ยสูงเกิน 41kph

C category (stages 8, 14, 15, 17): นับจากเวลาผู้ชนะแล้วเพิ่มให้:

  • 11% ถ้าความเร็วเฉลี่ยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 kph
  • 12% ถ้าความเร็วเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 35-39 kph
  • 13% ถ้าความเร็วเฉลี่ยสูงเกิน 39kph

D category สำหรับสเตจที่ระยะทางเกิน 150 กิโลเมตร (stages 4, 11, 16, 19, 20), นับจากเวลาผู้ชนะแล้วเพิ่มให้:

  • 16% ถ้าความเร็วเฉลี่ยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 kph
  • 17% ถ้าความเร็วเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 30-34 kph
  • 18% ถ้าความเร็วเฉลี่ยสูงเกิน 34kph

D category สำหรับสเตจที่ระยะทางเกินไม่เกิน 150 กิโลเมตร (stages 9 และ 18), นับจากเวลาผู้ชนะแล้วเพิ่มให้:

E category (สเตจ time trial) นับจากเวลาของผู้ชนะแล้วเพิ่มให้ 30%

ทั้งนี้ผู้จัดสามารถเพิ่มเวลาตัดตัวได้ถ้ามีเหตุเหนือความคาดหมาย เช่นอากาศแย่และอุบัติเหตุ ให้เพิ่มได้สูงสุด 25% ของเวลาผู้ชนะสเตจ

 

11. เงินรางวัล

  • ผู้ชนะรายการ (GC) ได้เงิน 115,668 ยูโร หรือประมาณ 4,400,000 บาท
  • รางวัลโบนัสสำหรับผู้ชนะอันดับหนึ่ง 90,000 ยูโร (3.4 ล้านบาท) อันดับสอง 50,000 ยูโร (1.9 ล้านบาท)​ อันดับสาม 20,000 ยูโร (760,000 บาท) และ 1,500 ยูโร (57,000 บาท) สำหรับอันดับ 4-10
  • แชมป์สเตจแต่ละวันได้เงิน 11,000 ยูโร (420,000 บาท) และมีเงินรางวัลให้ตั้งแต่อันดับ 1-20
  • ผู้ชนะคะแนนรวม (เสื้อสีบานเย็น) ได้เงิน 10,000 ยูโร
  • ผู้ชนะคะแนนเจ้าภูเขารวม (เสื้อสีน้ำเงิน) ได้เงิน 5,000 ยูโร
  • ผู้ชนะ Best Young Rider (เสื้อสีขาว) ได้เงิน 10,000 ยูโร
  • ผู้ครองเสื้อชมพูได้เงินวันละ 1,000 ยูโร (38,000 บาท) และ 500 ยูโร (19,000 บาท) สำหรับเสื้อผู้นำสีอื่น
  • ผู้นำคะแนน Intermediate Sprint ได้วันละ 500 ยูโร ถ้าชนะคะแนนรวมได้ 8,000 ยูโร
  • ผู้ชนะประเภท Breakway แต่ละวันได้ 250 ยูโร ถ้าชนะ overall ได้ 5,000 ยูโร
  • ผู้นำคะแนน Fighting Spirit ได้วันละ 300 ยูโร ถ้าชนะ overall ได้ 4,000 ยูโร
  • ทีมนำคะแนน Winning Team ได้วันละ 500 ยูโร ถ้าชนะ overall ได้ 5,000 ยูโร
  • ทีมนำคะแนน Super Team ได้วันละ 500 ยูโร ถ้าชนะ overall ได้ 5,000 ยูโร

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *