ใครจะชนะ 2016 Paris-Nice?

Paris-Nice คือรายการแข่งหลายวัน (สเตจเรซ) ระดับ WorldTour ในยุโรปรายการแรกของปี สนามนี้มีชื่อเล่นว่า “Mini Tour de France” ที่แข่งกัน 8 วันติดต่อกัน และมีเส้นทางหลากหลายสำหรับนักปั่นทุกสไตล์ แต่มักจะตัดสินกันด้วยสเตจภูเขาและ Time Trial ครับ

ปีนี้เป็นปีที่ 74 แล้วสำหรับ Paris-Nice ซึ่งจัดว่าเป็นรายการที่เก่าแก่และทรงเกียรติมากที่สุดรายการหนึ่งในฝรั่งเศส แน่นอนว่าดึงดูดตัวเต็งที่น่าสนใจมาทั้งนักไต่เขาและสปรินเตอร์ และมีถ่ายทอดสดทุกวันทางช่อง Eurosport (ชมผ่าน DT Live) การันตีได้เลยว่าสัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์จะเต็มอิ่มไปด้วยการแข่งขันระดับมืออาชีพที่จะทำให้คุณอยากออกไปปั่นทุกวันครับ

 

2016 Paris-Nice (ฝรั่งเศส)

วันที่: 6 มีนาคม
ถ่ายทอดสด:
 19:30-21:00 (ลิงก์)
รายชื่อนักแข่ง: Startlist
นักปั่นที่น่าจับตา: พอร์ท + เดนนิส (BMC), คอนทาดอร์ (Tinkoff),  โทมัส (Sky), คอสต้า (Lampre), กาโลแพน (Lotto-Soudal), บาร์เดต์ (AG2R), ซานเชซ (Astana), ดูโมลาน (Giant), ชเล็ค (Trek), คริสทอฟ + สปิแลค (Katusha), จิลแบร์ (BMC), โบเน็น + เทิร์ปสตร้า (Etixx), แมธธิวส์ (GreenEdge), โรลองด์ (Direct Energie), บูฮานี (Cofidis)
Official: Website

 

เส้นทาง

PNC16_generik_v4

รายการนี้มีชื่อเล่นว่า “Race to the Sun” นั่นก็เพราะ การแข่งขันเริ่มจากทางตอนเหนือของฝรั่งเศสใกล้ๆ กรุงปารีสผ่ากลางประเทศมาทางตอนใต้จบที่เมือง Nice และเส้นทางผ่านภูมิประเทศหลายรูปแบบ ผ่านแม่น้ำ Loire และ Rhone (ทางสวยน่าชม) ซึ่งช่วงสเตจแรกๆ นั้นกระแสลมแรง และปีนี้ในสเตจ 1 ผู้จัดแทรงทางกรวดเข้ามาด้วย (ฟีลเดียวกับ Strade Bianche)

สเตจกลางและท้ายเต็มไปด้วยภูเขา เริ่มจากสเตจ 3 ที่จบบนยอดเนินสุดชัน Mont Brouilly และสเตจ 5 ปีนขึ้น Mont Ventoux อันโด่งดัง สเตจ 6 ผ่านเขา Madonne d’Utelle ที่ยาวถึง 15 กิโลเมตรและความชันเฉลี่ย 5-6% สเตจสุดท้ายที่จบที่เมือง Nice ก็ไม่ได้เรียบง่ายเพราะเป็นทางโรลลิ่งไปจนถึงเส้นชัย ลองดูรูปโปรไฟล์แต่ละสเตจข้างล่างนี้ครับ

pn prolouge
Stage 0: Prolouge Time Trial สั้นๆ มีเนินเล็กน้อยที่หน้าเส้นชัย คงเป็นการดวลกันระหว่างเดนนิส พอร์ท และดูโมลาน
pn stage 1
Stage 1: ทางราบที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็น เพราะช่วง 25 กิโลเมตรสุดท้ายเป็นทางลูกรังและถนนแคบมาก น่าสนุกครับ ลองดูรูปข้างล่าง
pm stage 1 gravel
จะปั่นกันยังไงหละเนี่ย
pn stage 2
สเตจ 2: เรียบง่ายไม่หวือหวาสำหรับสปรินเตอร์

 

pn stage 3
สเตจ 3 นี่ก็โหดใช่เล่น ภูเขาระดับ category 3 เรียงร้อยกันหลายลูกต่อกันทั้งเส้นทาง แถมจบบนยอดเขาสั้นๆ สูง 480 เมตร ยาว 3 กิโลเมตรและชันเฉลี่ยถึง 7.7%!
pn stage 4
Stage 4: หลังจากเจอสเตจโหดๆ ต่อกันสามวัน วันนี้เส้นทางเรียบง่ายให้สปรินเตอร์ได้ออกโรงบ้าง
pn stage 5
Stage 5: แต่เหมือนตบหัวแล้วลูบหลัง เพราะสเตจ 5 นี่นักปั่นต้องขึ้น Mont Ventoux เส้นทางนั้นขึ้นไม่ถึงยอด และไม่ได้อยู่ที่เส้นชัยแต่ก็จัดว่ายากเอาเรื่อง สปรินเตอร์จะลงเขามาสปรินต์ทันมั้ย หรือจะเป็นโอกาสของเบรคอเวย์?
pn stage 6
Stage 6: Queen Stage หรือสเตจที่ยากที่สุดของรายการ จบบนยอดเขาสูงชันซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ใช้ตัดสินผู้ชนะ overall
pn stage 7
สเตจสุดท้าย เหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่เลยครับ มีเขาระดับ cat 1-2-3 กระจายทั้งสเตจ และเส้นชัยอยู่ตีนเขา ก็น่าจะได้เห็นการท้าชิงเวลากันเฮือกสุดท้ายของบรรดาตัวเต็ง และเบรคอเวย์ที่อยากจะเสี่ยงดวงคว้าแชมป์สเตจ Down to the Wire แน่นอน

ทุกสเตจมี time bonus ให้ผู้ชนะ 10-6-4 วินาทีสำหรับอันดับ 1-2-3 ของสเตจ และ 3-2-1 วินาที สำหรับสามอันดับแรกที่ผ่านจุดสปรินต์กลางสเตจ

 

ใครจะชนะ?

อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ (Tinkoff): เป็นนักปั่นคนเดียวในรายการนี้ที่เคยได้แชมป์แกรนด์ทัวร์ และดูจะฟอร์มดีหลังจากที่ได้แชมป์สเตจใน Volta Algave เส้นทางภูเขารายการนี้ที่มีกระจายตลอดทั้งสเตจ โดยเฉพาะในสเตจ 6 ที่เขายาวถึง 15 กิโลเมตรดูเหมาะกับสไตล์การโจมตีของคอนทาดอร์ด้วย สเตจ TT วันแรกก็สั้น ไม่น่าจะกินเวลาเขาได้มาก และมีราฟาล ไมย์ก้ามาเป็นผู้ช่วย

ริชีย์ พอร์ท (BMC): พอร์ทเป็นแชมป์เก่าปี 2015 แต่ปีนี้ดูจะฟอร์มตกไปช่วงที่แข่งโอมานนิดนึง กระนั้นก็เป็นคนที่ประมาทไม่ได้ และมีผู้ช่วยฝีเท้าดีอย่างโรฮาน เดนนิสและฟิลลิป จิลแบร์ จับตาดูฟอร์มพอร์ทในสเตจภูเขา

ทอม ดูโมลาน (Giant-Alpecin): ปีนี้เป้าหมายของดูโมลานคือเหรียญทองโอลิมปิก Time Trial ถึงเขาจะโชว์ฟอร์มการเป็นนักปั่น GC ในช่วงปลายปีที่แล้ว เพราะงั้นรายการนี้น่าสนใจครับว่าเขาจะรับมือยังไง และฟอร์มไต่เขายังจะดีเหมือนปีก่อนมั้ย สเตจแรกเขาน่าจะได้เปรียบชิงเวลาคอนทาดอร์ได้ในการแข่ง Prolouge และเขาลูกสุดท้ายในสเตจ 6 ที่ยาว 15 กิโลนั้นน่าจะเหมาะกับสไตล์การลากนิ่งๆ รักษาเพซของตัวเองไว้ได้ดี แต่ถ้าเจอทีมอื่นกระตุกบ่อยๆ ก็อาจจะมีอ่วมเหมือนกัน มีลุ้นโพเดี้ยม แต่มีนักไต่เขาที่เก่งกว่าหลายคน

เกอเรนท์ โทมัส (Sky): เริ่มผันตัวมาเป็นสเตจเรซเซอร์เต็มตัว จากที่แต่ก่อนโฟกัสกับการแข่งคลาสสิค (จริงๆ ผมโคตรเสียดาย เพราะโทมัสน่าจะขี่คลาสสิคได้น่าลุ้นแชมป์กว่าสเตจเรซ ผมไม่คิดว่าเขาไต่เขาได้ดีอย่างฟรูมหรือพอร์ท แต่ก็นั่นแหละ ตัวเขาเองบอกว่าการเป็นแชมป์ตูร์มันมีความหมายกว่าการเป็นแชมป์คลาสสิค…) อย่างไรก็ดี ปีนี้เขาฟอร์มดีมากครับ ชนะ Volta ao Algarve – สนามที่คอนทาดอร์ลงแข่งด้วย ด้วยการรักษาเวลารวมได้ดีมากทุกสเตจเลย ลงรายการนี้เขามีผู้ช่วยระดับ A Class จาก Sky ทั้งเอนาว, เนียเว และโรช รายการนี้อาจจะเป็นตัวชี้วีดว่าเมื่อเขาต้องเจอนักไต่เขาระดับบอสแล้วจะรับมือไหวหรือเปล่าเมื่อไม่มีฟรูมมาคุมเกม

โรเมน บาร์เดต์ (AG2R):  เอซนักไต่เขาชาวฝรั่งเศสจาก AG2R เริ่มผลงานดีขึ้นทุกปี ปีนี้เขาจบเป็นอันดับสองใน Tour of Oman น่าจะเสียเวลาจากสเตจแรก Prolouge เพราะไม่ใช่นักปั่น TT ที่แข็งเท่าไร แต่รายการนี้เป็นสนามที่ประเทศของเขาและเขาแทบทุกลูกเขาเคยลองมาหมดแล้ว ก็จะมีความได้เปรียบตรงนี้ ลูกทีมที่เอามาด้วยก็ดูแข็งแรงใช้ได้ (อเล็กซิส วิลเลอร์มอซ ที่ได้แชมป์สเตจตูร์ปีที่แล้ว และมีอเล็กซิส กูชาร์ อีกคนที่เกือบจะติดโพเดี้ยม Omloop)

นอกจากบาร์เดต์แล้ว เอซเจ้าถิ่นยังมีปิแอร์ โรลองด์ (Cannondale), โทนี่ กาโลแพน (Lotto-Soudal) สองคนนี้ก็น่าดู ปีที่แล้วกาโลแพนคว้าเสื้อเหลืองในสเตจรองสุดท้าย แต่ก็เสื้อหลุดให้พอร์ทในที่สุด แพ้ไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนโรลองด์เองก็ฟอร์มขึ้นๆ ลงๆ ลูกผีลูกคนมาตลอด ปีนี้ย้ายทีมมาใหม่แล้วน่าสนใจเหมือนกันเพราะกุนซือทีม Cannondale บอกว่าเขาซ้อมแบบ old school มาตลอด ซึ่งทีมเชื่อว่ายังสามารถรีดเค้นความสามารถโรลองด์ออกมาได้อีกเยอะมาก จะจริงหรือเปล่าเดี๋ยวรู้กัน

รูย คอสต้า (Lampre) จัดว่าเป็นม้ามืดที่เงียบไปพักใหญ่ แต่ปีนี้ฟอร์มกลับมาโอเค ได้ที่ 5 ใน Tour of Oman

ทาง Katusha มากับไซมอน สปิแลค และอิลเนอร์ ซาคาริน คนแรกที่จะประมาทไม่ได้เพราะเป็น specialist รายการสเตจเรซสั้นๆ แบบนี้โดยเฉพาะ ส่วนซาคารินปีที่แล้วเซอร์ไพรส์ชนะ Tour de Romandie และปีนี้จะเป็นผู้นำทีมใน Giro d’Italia ก็น่าดูเหมือนกันว่าจะเป็นแค่ one hit wonder หรือเป็นเอซ GC คนใหม่ของทีมได้จริง

อิออน อิซาเกอร์เร (Movistar): ปีนี้ Movistar ไม่ได้ส่งเอซของทีมมา แต่เปิดโอกาสให้นักปั่น GC ลูกหม้อของทีมได้ลองของบ้าง อิซาร์เกอเรชนะ Tour of Poland เมื่อปีที่แล้ว และติโพเดี้ยมสเตจเรซรายการระดับกลางมาบ้าง และล่าสุดเป็นรองโทมัสใน Volta ao Algarve ได้อันดับสอง ซึ่งดีกว่าคอนทาดอร์ เพราะงั้นรายการที่ภูเขาเยอะๆ แบบนี้ก็น่าดูครับ มากับทีมนักไต่เขาที่ช่วยคินทานาคว้าแชมป์จิโร่ด้วย

ส่วนม้ามืดมีดคนอื่นๆ ก็มี ไซมอน เยทส์ (OGE), และหลุยส์ ลีออน ซานเชซ (Astana)

สปรินเตอร์ก็มากันหลายคน: ไกรเปิล (Lotto), คิทเทล (Giant), โบเน็น (Etixx), คริสทอฟ (Katusha), เดอแมร์ (FDJ), บูฮานี (Cofidis) และแมธธิวส์ (GreenEdge) จะได้ประลองฟอร์มกันเต็มที่อีกครั้ง เป็นตัวคั่นจังหวะเกมไต่เขาได้ดี แต่คงไม่ได้มีโอกาสมากนักเพราะเส้นชัยปีนี้ส่วนใหญ่เป็นทางเนินหรือขึ้นเขาซะเกือบหมดครับ

หมอดู​ DT: คอนทาดอร์ที่ 1, พอร์ทหรือโทมัสที่ 2, บาร์เดต์ที่ 3

จะทายแม่นหรือเปล่าอีกหนึ่งสัปดาห์มาดูกัน!

ถ่ายทอดสดมีทุกวันที่ Duckingtiger.com/live ครับ เช็คเวลาและตารางแข่งได้ตามลิงก์เลย

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *