พรีวิว: 2017 Omloop Het Nieuwsblad

ในปฏิทินการแข่งอาชีพ ถ้าเราไปถามโปรว่าสนามเปิดฤดูกาล “จริงๆ” คือรายการไหน ส่วนใหญ่จะตอบว่ามันคือวันนี้ครับ นั่นคือ Omloop Het Nieuwsblad รายการแข่งคลาสสิคแบบวันเดียวจบในประเทศเบลเยียม เส้นทางแบบถนนหินผสมเนินชันร่วมสองร้อยกิโลเมตร และปีนี้ได้ยกระดับเป็นสนามแข่งระดับสูงสุด UCI WorldTour นั่นคือโปรทีมดิวิชัน 1 ก็มาลงกันครบๆ ด้วย

 

ถ่ายทอดสดช่องทางไหน?

ถ่ายทอดสดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 19:30-23:00 เช็คลิงก์ถ่ายทอดสดแบบ Live Streaming ที่ Duckingtiger.com/live

 

รายการนี้สนุกยังไง?

Omloop จัดว่าเป็น Season Opener สนามเปิดซีซันรายการคลาสสิคที่จะไปจบใน Paris-Roubaix ช่วงต้นเดือนเมษายนครับ เรามาแข่งกันในประเทศที่เป็นถิ่นของการแข่งจักรยานจริงๆ เส้นทางสนุกตื่นเต้นเร้าใจ ไม่น่าเบื่อเหมือนสนามในทะเลทรายที่มักจะไปจบกันด้วยการสปรินต์แถมมีแต่ทรายกับลม ไม่มีผู้ชม ไม่มีวัฒนธรรมการปั่นเหมือนในยุโรป สำคัญสุดรายการนี้แทคติคเยอะ เกมจบแบลุ้นกันแบบตกเก้าอี้มาหลายปีต่อกันแล้ว เช่น:

2016: เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC) vs ปีเตอร์ ซากาน (Tinkoff)

2015: ก็เด็ดไม่แพ้กันครับ และเป็นแมทช์ที่หลายๆ คนน่าจะจำไปอีกนาน เมื่อเอียน สแตนนาร์ด (Sky) เชือดเอซจาก Etixx-Quickstep 4 คน (4 รุม 1)

 

ชื่อรายการออกเสียงว่ายังไงนะ ?

“ออม-ลูป-เฮ็ท-นูวส์-บลัด” – คำว่า Omloop แปลว่าเซอร์กิตหรือสนามแข่ง ส่วน Het Nieuwsblad เป็นชื่อหนังสือพิมพ์ของเบลเยียม รวมๆ แล้วก็คือสนามแข่งจักรยานที่จัดโดย นสพ นี้นั่นเอง

 

เส้นทางหละ?

omloop 2017 route

 

สนามนี้เริ่มที่เมือง Ghent และจบที่เมืองเดียวกัน ระยะทาง 198 กิโลเมตร หลายๆ คนชอบเรียกว่า Mini Tour of Flanders เพราะถ้าสังเกจจากโปรไฟล์หยักฟันปลาด้านบน จะเห็นว่ามันเป็นเนินครับ และเนินพวกนี้ส่วนใหญ่ใช้ร่วมกันหลายรายการตั้งแต่สนามเล็กอย่าง Omloop ไปจนถึง Tour of Flanders ซึ่งก็เหมาะเหม็งสำหรับพวกตัวเต็งจะมาซ้อมเก็บประสบการณ์ก่อนแข่งรายการใหญ่สุดๆ ประจำปีอย่าง Flanders นั่นเอง

การที่มีเนินเยอะๆ แบบนี้ก็ทำให้พลวัตรเกมค่อนข้างคาดเดาได้ยาก จะไม่มีแนวหัวลากเรียงแถวเหมือนสนามในทะเลทรายมาแข่งสปรินต์หน้าเส้นกันแน่นอน ส่วนมากจะจบด้วยกลุ่มตัวเต็งไม่กี่คนที่กระชากหนีกลุ่มเปโลตองออกมาวัดฝีเท้าและแก้เกมกันหน้าเส้นชัย ถ้าลากสปรินเตอร์อย่างซากานมาด้วย คนอื่นจะทำยังไง? ถ้าเจอสายแข็งหนีเดี่ยว กลุ่มไหนจะไล่ตาม?

เนินที่เราเห็นกันนั้น ส่วนใหญ่ยาวในระยะ 90-500 เมตร แต่ชันนรก เนินอย่าง Taaienberg ยาวแค่ 90 เมตร แต่ชันสูงสุดถึง 19% และเป็นถนนหินทางขรุขระซะด้วย

 

ต้องเป็นนักปั่นแบบไหนถึงจะชนะรายการนี้?

รายการแบบนี้กลุ่มตัวเต็งจะเป็นนักปั่นที่เราเรียกว่า “สายคลาสสิค” พวกนี้จะต่างกับดาวดังที่เราเห็นหน้ากันบ่อยๆ ตัวใหญ่ น้ำหนักเยอะ ไม่เพรียวบางเหมือนนักไต่เขา สปรินต์อาจจะไม่จี๊ดจ๊าดเท่าเพียวสปรินเตอร์ จุดดเด่นที่สุดคือความอึด และแรงช้างศาลที่สามารถระเบิดขึ้นเนินสั้นๆ ชันๆ ฉีกห่างคู่แข่งได้ในเวลาอันรวดเร็ว

คนที่ปั่นได้ดีร่างกายจะคุ้นชินกับทางถนนหิน ไม่เกร็ง ไม่กระดอน ปั่นได้สมูท ดูดีมีออร่า นักปั่นคลาสสิคชื่อดังก็เช่น ทอม โบเน็น (Quickstep Floors) เฟเบียน แคนเชอลารา (รีไทร์แล้ว) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี คนที่จะได้แชมป์รายการนี้มักจะต้องคำสาปครับ คือจะไม่ค่อยชนะสนามคลาสสิคใหญ่ๆ ที่เป็นผลงานที่จะติดตัวเขาไปอีกนานจริงๆ (พวก Flanders / Roubaix) คนสุดท้ายที่ชนะ Omloop และชนะ Roubaix ด้วยคือโยฮาน มิวเซลล์ในปี 2000 นั่นมัน 17 ปีมาแล้ว! จะบอกว่า Peak too soon ก็ไม่ผิดนัก อาการเดียวกับคนที่อยากได้แชมป์ตูร์แล้วไปลงจิโรด้วยนั่นเอง คือกรอบเสียฟอร์มก่อนถึงสนามใหญ่

 

แล้วใครน่าเชียร์?

การเดาแชมป์สนามคลาสสิคก็ไม่ต่างอะไรกับการหาเข็มในกองฟางครับ สนามแข่งวันเดียวมีตัวแปรที่คาดเดาได้ยากเยอะ ทั้งฟอร์มนักปั่น อุบัติเหตุ สภาพอากาศ รูปเกม แต่ก็พอจะเดาได้ว่าตัวเต็งที่น่าจะติด Top 10 นั้นมีใครบ้าง มาดูกันว่ามีคนไหนน่าลุ้น เช็ครายชื่อนักปั่นจาก > ลิงก์นี้ <

แชมป์เก่า: เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC) 

สองปีที่ผ่านมา GVA อัปฟอร์มตัวเองขึ้นเยอะทีเดียว จากนักปั่นที่ “เฉียด” แชมป์ตลอดทุกรายการ กลายเป็นแชมป์โอลิมปิกเหรีญยทอง และเคยสปรินต์เชือดปีเตอร์ ซากานมาแล้วสองครั้ง รวมถึงตอนที่เขาได้แชมป์ Omloop ปีที่แล้วด้วย แต่เอาจริงๆ แล้วเรายังไม่ค่อยเห็นฟอร์มของ GVA เท่าไรในปีนี้ แต่เขาก็มีประสบการณ์และมีลูกทีมที่รู้งานครับ

 

แชมป์เยอะที่สุด: ฟิลลิป จิลแบร์ (Quickstep Floors) และเอียน สแตนนาร์ด (Sky)

ทั้งสองคนเคยได้แชมป์มาแล้วคนละสองครั้ง และรายการนี้คนที่ได้แชมป์เยอะที่สุดทำได้แค่ 3 ครั้งเท่านั้น เพราะงั้นหากคนใดคนหนึ่งชนะปีนี้ เขาก็จะได้ขึ้นทำเนียบเจ้าของแชมป์ Omloop ที่เยอะที่สุดครับ สแตนนาร์ดน่าจะเป็นหัวหน้าทีม Sky แต่มีออพชันแพลน B นั่นคือ  ลุค โรว์ เด็กปั้นสายคลาสสิคคนใหม่ของทีม ส่วนจิลแบร์ปีนี้ย้ายมาอยู่กับทีม Quickstep ที่ลูกทีมแทบทุกคนมีสิทธิลุ้นแชมป์

 

ทีมโหด: Quickstep Floors

ขึ้นชื่อว่าเป็นทีมที่เจนสนามคลาสสิคที่สุดในเปโลตอง ทีมนี้มีตัวเลือกเยอะ นอกจากจิลแบร์ที่บอกข้างบนแล้วก็ยังมีทอม โบเน็นตัวเก๋าของทีม ปีนี้โบเน็น ฟอร์มโอเค และเป็นปีสุดท้ายของเขาแล้วครับเพราะจะรีไทร์หลัง Paris-Roubaix – นั่นหมายความว่าโบเน็นจะแข่งอีกแค่เดือนกว่าเท่านั้น! รายการนี้เป็นเสมือนผีหลอกหลอนเขาเพราะเป็นสนามคลาสสิคที่เขายังไม่เคยชนะ รายการอื่นนี่กวาดมาหมดแล้ว

ลูกทีมอีก 6 คน (ไม่นับจิลแบร์) นี่ก็สายแข็งครับ ถ้าหลุดเบรคอเวย์คือทีมอื่นมีหนาว – มีทั้งชเน็ค สตีบาร์, นิกี้ เทิร์ปสตร้า (แชมป์ Roubaix), แมทเทโอ เทรนติน (สปรินเตอร์และเบรคอเวย์แชมป์สเตจตูร์-จิโร), อิลโย ไคเซอร์ (แชมป์สเตจ Giro)

 

แชมป์โลก: ปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe) 

จัดว่าเป็นตัวอันตรายที่สุดในบรรดานักปั่นรายการนี้ สปรินต์ก็ดีกว่าเพื่อน หนีเดี่ยวก็ได้ ถ้ากลุ่มหนีแพคซากานมาด้วยก็ต้องคิดให้ตกว่าจะกำจัดเขายังไง เป็นคนที่ไม่ว่ายังไงก็น่าจะติด Top 5 หรืออย่างขี้เหร่ Top 10 ครับ ช่วงต้นปีนี้ได้แชมป์ใน Tour Down Under เกือบจะทุบคาเล็บ ยวน (Orica-Scott) ได้หลายสเตจ ทั้งๆ ที่เพิ่งออกจาก off-season

 

ยักษ์นอร์เวย์: อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha) 

เจนสนามคลาสสิคอยู่แล้วกับผลงานอดีตแชมป์ Milan-Sanremo และ Tour of Flanders – อัดเนินได้ดี สปรินต์กินขาด แต่ไม่ถนัดแนวเบรคอเวย์ มีตัวช่วยเป็นสายโหดอย่างโทนี มาร์ติน ซึ่งก็เริ่มสนใจสนามคลาสสิคแล้วด้วย ใครจะรู้ถ้ามาร์ตินหนีเดี่ยวได้เผลอๆ อาจจะได้แชมป์รายการครับ

 

ม้ามืด

มีหลายคนครับที่อาจจะยังไม่ดังเหมือนนักปั่นที่กล่าวถึงข้างบนแต่ก็เริ่มมีผลงานดีๆ ในรายการคลาสสิคบ้างแล้ว จับตามอง เซป ฟานมาร์ค (Cannondale-Drapac) (แชมป์เก่าหนึ่งสมัย), เยอเก็น โรแลนท์, ทีช เบนูท(Lotto-Soudal), ลาร์ส บอม (LottoNL-Jumbo), เอ็ดเวิร์ด เทิร์นส, และแยสเปอร์ สตอยเว็น (Trek-Segafredo)

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *