รีวิว TDF สเตจ 10: ลมมา อนาคตดับ

เกิดอะไรขึ้นในสเตจ 10?

สเตจ 10 เป็นวันที่วุ่นวายที่สุดวันหนึ่งใน Tour de France ปีนี้และอาจจะเป็นวันที่นักปั่นตัวเต็งหลายคนต้องถอดใจกับการจะคว้าแชมป์รายการ เมื่อกลุ่มตัวเต็ง GC หลายคนเสียเวลาหลุดกลุ่มไปหลายนาที

ก่อนจะไปถึงเกม GC ผู้ชนะสเตจเองก็เป็นเซอร์ไพรส์ไม่แพ้กัน เวาท์ แวน อาร์ท (Jumbo-Visma) อดีตแชมป์โลกไซโคลครอสวัย 24 ปี จากเบลเยียม สปรินต์เอาชนะเอเลีย วิวิอานี (Decueninck-Quickstep) และคาเล็บ ยวน (Lotto-Soudal) เป็นชัยชนะสเตจครั้งที่ 4 ของทีมในสนามนี้ 

แต่ความดุเดือดของเกมเริ่มจากที่ช่วง 60 กิโลเมตรสุดท้าย เมื่อเปโลตองปั่นผ่านทุ่งโลงที่มีกระแสลมพัดแรงจากด้านข้าง ทีม EF Education First ขึ้นมากระชากกลุ่มแต่แผ่วแรงไป จนทีม INEOS, Quickstep และ Bora-Hansgrohe ขึ้นมาเร่งความเร็วจนกลุ่มเปโลตองขาดหลายช่วง

ตัวเต็งแชมป์รายการหลายคนไม่สามารถตามกลุ่มหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็น ริชีย์ พอร์ท (Trek-Segafredo), ทิบอต์ พินอท์ (Groupama-FDJ), ยาค็อบ ฟูลก์แซง (Astana), และริกโอเบอร์โต้ อูราน (EF Education First) ซึ่งกลุ่มนี้เสียเวลาให้กลุ่มหน้าสุดที่มีโทมัส, เบอร์นาล, คินทานา, อลาฟิลลิป, อดัม เยทส์, เอนริค แมส, แดน มาร์ติน, โรมัน บาเดต์ และสตีเฟน เคราซ์เวก  +1:40 นาที

มิเคล แลนด้า (Movistar) โชคไม่ดีโดนวาร์เรน บากิลล์ (Arkea-Samsic) เกี่ยวล้ม จนหลุดกลุ่มและกลับเข้ากลุ่มหน้าไม่ทันเช่นกัน เสียเวลา +2:09 นาที

และเป็นวันที่หวานปนขมสำหรับ Jumbo-Visma เพราะทีมเองก็เสียตัวเต็ง GC ดาวรุ่ง จอร์จ เบนเน็ตที่เริ่มสเตจด้วยอันดับ 4 ในตารางเวลารวม แต่หลุดกลุ่มยาว เข้าเส้นชัยหลังกลุ่มหน้าสุดถึง 9:04 นาที

ชัยชนะของแวน อาร์ท มาจากที่เอซสปรินเตอร์ของทีม Jumbo-Visma ดีแลน โกรนเวเก็นหลุดกลุ่มหน้าเช่นกัน ถึงทีมจะไม่มีลีดเอาท์ให้แวน อาร์ทเหมือนอย่าง  Quickstep และ Sunweb แต่ แวน อาร์ทก็ปิดงานได้สมบูรณ์แบบ ถึงแม้จะเป็นการลงแข่ง Tour de France ในชีวิตของเขา

วิดีโอไฮไลท์

ผลการแข่งขัน

DT Race Note

1. ปีของ Jumbo-Visma: ทุกๆ ปีใน Tour de France เราจะได้เห็น 1-2 ทีมที่ผูกขาดการแข่งขัน ปกติแล้วมักจะเป็นทีมที่มีสปรินเตอร์ที่ฟอร์มดีที่สุด กวาดแชมป์ทีละหลายสเตจ แต่ปีนี้ต่างออกไป ทีม Jumbo-Visma เป็นทีมที่มีชัยชนะเยอะที่สุดถึง 4 สเตจ แต่ชัยชนะแต่ละสเตจนั้นมาจากนักปั่นคนละคนทั้งหมด! ไมค์ ทิวนิสเซ็น คว้าแชมป์สเตจ 1, ทีมชนะสเตจ TTT ในสเตจ 2, ดีแลน โกรนเวเก็นชนะสเตจ 6 และล่าสุดแวน อาร์ทชนะสเตจ 10 ไม่บ่อยที่เราจะเห็นทีมที่มีนักปั่นที่เก่งพอจะได้แชมป์สเตจหลายๆ คนแบบนี้

ถึงทีมจะไม่ได้อันโพเดี้ยม overall (ซึ่งเรายังไม่รู้) แต่การได้แชมป์สี่สเตจก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดแล้วเมื่อทีมส่วนใหญ่มีเป้าหมายแค่ขอชนะสักสเตจเดียว

และที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือชัยชนะของ แวน อาร์ท ด้วยวัยแค่ 24 ปี แวน อาร์ทโชว์ความสามารถแบบรอบด้าน ในมิติที่เราไม่ได้เห็นบ่อยๆ ในการแข่งขันจักรยานอาชีพที่นักปั่นมักมีความสามารถเฉพาะทาง กลับกัน ปีนี้แวน อาร์ทชนะทั้งสเตจ Time Trial และสปรินต์ชนะเพียวสปรินเตอร์ในสนาม Criterium du Dauphine เมื่อเดือนก่อน

ในสเตจ 10 เมื่อคืนนี้ เขาชนะสปรินเตอร์ชื่อดังทั้ง ปีเตอร์ ซากาน, ไมเคิล แมธธิวส์, เอเลีย วิวิอานี, แมทเทโอ เทรนติน และคาเล็บ ยวน รุ่นพี่ของแวน อาร์ททุกคนที่มีผลงานในแกรนด์ทัวร์มาแล้วทั้งนั้น เป็นนักปั่นที่น่าจับตามองไม่แพ้แมธธิว แวน เดอ โพลล์ ในอนาคตว่าเขาจะชนะอะไรได้อีกบ้าง เขาให้สัมภาษณ์หลังแข่ง:

“ผมไม่อยากเชื่อ ผมไม่รู้ว่าผมทำได้ยังไง ที่ชนะสปรินเตอร์ทุกคนในรายการ มันเกินความคาดหมายจริงๆ ครับ”

“ช่วงสุดท้ายวันนี้มันวุ่นวายมาก ผมอยู่หน้ากลุ่มคอยดูแลเคราซ์เวก น่าเสียดายว่าดีแลน (โกรนเวเก็น) มาไม่ทันกลุ่มเรา ทีมเลยอนุญาตให้ผมลองสปรินต์ได้ จากสเตจก่อนๆ ผมรู้ว่าถ้าผมจะทำความเร็วสูงๆ ให้สู้คนอื่นได้ ผมต้องเปิดสปรินต์ก่อนคนอื่น ผมออกสปรินต์ตั้งแต่ 250 เมตรสุดท้าย วิวิอานีขึ้นมาตีข้างแต่ผมยื้อได้ สปรินต์แบบนี้ เซนติเมตรเดียวก็มีความหมาย”

 

2. ตัวเต็งทำยังไงต่อดี 

สเตจวันนี้เปลี่ยนลำดับเวลารวมเยอะพอสมควร ทิบอต์ พินอท์ (FDJ) ที่ได้อันดับสามก่อนเริ่มสเตจ ตกลงมาอยู่อันดับ 11 ซึ่งถือว่าไม่แย่เท่าไรเทียบกับคนอื่นๆ อย่างริกโอเบอร์โต้ อูราน (EF Education First) เวลาหลุดไป +3:18 นาที ริชีย์ พอร์ท (Trek-Segafredo) หลุดไป +3:59 นาที ยาค็อบ ฟูลก์แซง (Astana) ที่ +3:22 นาที

จริงว่าทั้งหมดนี้เป็นเวลาที่เทียบกับจูเลียน อลาฟิลลิป (Quickstep) ที่นำเวลารวมตอนนี้ แต่ถ้าเรานับเทียบกับเวลาของแชมป์เก่าเกอเรนท์ โทมัสที่ยืนอันดับสอง ทั้งสี่คนก็ยังตามโทมัสร่วมสองนาทีกว่า ซึ่งเป็นระยะห่างที่ไม่ง่ายเลยที่จะทำเวลาแซงคืน ยิ่งเราได้เห็นฟอร์มของทีม Ineos ในสเตจที่แข็งแกร่งกว่าทีมอื่นๆ แบบเห็นได้ชัดด้วย

Movistar เสียศูนย์ไปพอสมควรเมื่อมิเคล แลนด้าหลุดกลุ่ม ทำให้แผนตัวเต็ง 2 คนไม่น่าจะเวิร์กแล้ว แลนด้าอยู่ที่อันดับ 21 ที่ +4:15 นาที ซึ่งยังไม่ถึงสเตจ Time Trial (สเตจ 12) ที่มีแนวโน้มจะเสียเวลาเพิ่มให้เกอเรนท์ โทมัสอีกพอสมควร

สำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่หลุดกลุ่ม หลายคนเป็นนักปั่นดาวรุ่งหน้าใหม่ เช่นเอนริค แมส (Quickstep) อันดับสอง Vuelta ปีที่แล้ว, เอมมานูเอล บุคแมน (Bora-Hansgrohe) ก็เป็นนักไต่เขาฟอร์มดี, อดัม เยทส์ (Mitchelton-Scott) และแดน มาร์ติน (UAE) ก็น่าจะพอมีบทบาทในสเตจภูเขาในสัปดาห์ท้ายๆ กลุ่มนี้ยังพอมีหวังท้าชิงแชมป์รายการหรืออันดับโพเดียม แต่สำหรับ 4 คนแรกที่หลุดกลุ่มไปน่าจะไล่ทำเวลาคืนยากพอสมควร

ฟูลก์แซงให้สัมภาษณ์หลังแข่ง: “ผมอยู่ผิดที่ ผิดเวลา ตอนกลุ่มจะขาดผมยังรับน้ำจากทีมอยู่ข้างถนน จังหวะนั้นมันตามไม่ทันแล้ว”​

เช่นเดียวกันกับริชีย์ พอร์ท: “ผมเป็นคนสุดท้ายในกลุ่มสองที่ข้ามไปกลุ่มแรกไม่สำเร็จ ผมไม่ถนัดเกมแบบนี้เลย มันน่าผิดหวังครับ แต่การแข่งขันยังไม่จบ ยังมีกลุ่ม GC อีกหลายคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับผม เพราะงั้นเกมต่อจากนี้มันเป็นหน้าที่พวกเราที่จะต้องโจมตีชิงเวลาคืน”

 

3. INEOS: “ก็พวกเราแข่งน่าเบื่อไม่ใช่เหรอ”

นอกจากทีม Jumbo-Visma แล้ว ทีมที่ได้กำไรเยอะที่สุดจากสเตจเมื่อคืนนี้ก็คือ INEOS ที่นอกจากจะเป็นคนกระทุ้งจนกลุ่มขาดแล้ว ยังพาหัวหน้าทีมทั้งสองคนทำเวลาห่างคู่แข่งได้หลายนาทีด้วย จิอันนี มอสคอน หัวลากคนสำคัญของทีมบอกว่า

“ทุกคนรู้ว่าจะมีลมข้างแรง ทีมเราเลยอยู่หน้ากลุ่มตลอดเวลา อย่างที่เราทำกันเป็นปกตินั่นแหละ แล้วเราอยู่ในจังหวะที่มันใช่พอดี ที่ Quickstep เริ่มเร่งขบวน สำหรับผมเวลาแค่ไม่กี่วินาทีที่เรานำคู่แข่งได้มันก็สำคัญ 1:40 นาทีที่เราทำได้วันนี้มันไม่น้อยเลยนะครับ”

ส่วนเกอเรนท์ โทมัส แชมป์เก่าก็ดูจะพอใจกับผลงานของทีมเป็นพิเศษ​

“ผลงานวันนี้ใช้ได้เลยนะครับ คือวันแบบนี้คุณต้องพร้อมตลอดเวลา ก็เห็นหลายคนชอบบอกว่าทีมเราแข่งน่าเบื่อไม่ใช่หรือ?”

“หลายๆ ทีมอยู่ผิดที่นะ แค่อยู่ผิดที่ก็เสียไปนาทีกว่า เรารู้ว่าช่วงสุดท้ายมันจะเครียด มันจะเร็ว และกลุ่มอาจจะขาดตอน เราพยายามตัดกลุ่มทีแรกแต่ปัจจัยแวดล้อมมันไม่ได้ EF ก็ลองเหมือนกัน แต่พอ Quickstep ลองบ้างมันลงตัวพอดี เราก็เร่งตามเขาเลย”

“ตอนนั้นทีมเราอยู่หน้ากลุ่มเกือบทุกคน ขาดไปแค่สองคน ทุกทีมที่อยู่กลุ่มหน้าก็ช่วยกันหมด เรารู้เลยว่าด้วยความเร็วขนาดนี้กลุ่มข้างหลังต้องเร่งสุดชีวิต ไม่งั้นไม่มีทางทัน ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ทันจริงๆ มันเลยทำให้เราทำเวลาห่างได้ขนาดนี้”​

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!