รีวิว TDF สเตจ 21: เบอร์นาลเป็นแชมป์รายการ, คาเล็บ ยวนชนะสเตจสุดท้าย

สเตจสุดท้ายของ Tour de France 2019 จบลงด้วยชัยชนะของคาเล็บ ยวน (Lotto-Soudal) ที่สปรินต์ได้แชมป์สเตจ เอาชนะดีแลน โกรนเวเก็น (Jumbo-Visma) และนิคโคโล โบนิฟาซิโอ้ (Direct Energie) ส่วนอีแกน เบอร์นาล (Team Ineos) ผู้นำเวลารวมเข้าเส้นชัยอย่างปลอดภัย กลายเป็นแชมป์ Tour de France ชาวโคลอมเบียคนแรกของโลก

ชัยชนะครั้งนี้เป็นแชมป์ Tour de France ครั้งที่  7 ของทีม Ineos (Sky) ในระยะเวลา 8 และเป็นนักปั่นคนที่ 4 ของทีม รองจาก แบรดลีย์ วิกกินส์, คริส ฟรูม และเกอเรนท์ โทมัส ที่ได้แชมป์รายการนี้

เกอเรนท์ โทมัส แชมป์เก่าปี 2018 คว้าอันดับสองที่เวลารวม +1:11 นาที และสตีเฟน เคราซ์เวก (Jumbo-Visma) อันดับสามที่ +1:31 นาที

ชัยชนะในสเตจ 21 ทำให้คาเล็บ ยวนเป็นสปรินเตอร์ที่มียอดชัยชนะเยอะที่สุดใน Tour de France ปีนี้ รวมทั้งหมดสามสเตจ โดยที่เป็นการลงแข่ง Tour de France ครั้งแรกของเขาด้วย

สำหรับสเตจสุดท้ายก็เป็นไปอย่างเรียบง่ายในช่วง 70 กิโลเมตรแรกที่เปโลตองเคลื่อนตัวช้าๆ เข้าเมือง เฉลิมฉลองชัยชนะและการแข่งขันจนจบของผู้เข้าแข่งขันที่เหลือ 155 คนในรายการ (จากทั้งหมด 176 คน)

Photo: ASO

เช่นเดียวกับ  Tour de France ทุกๆ ปี เบรกอเวย์หลายคนพยายามชิงหนีกลุ่ม แต่ก็ไม่มีทีมไหนหนีได้สำเร็จ เมื่อทีมสปรินเตอร์เร่งความเร็ววางตำแหน่งให้หัวหน้าทีมสปรินต์ที่เส้นชัย 2 กิโลเมตรสุดท้าย เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (CCC) ออกฉีกหนีกลุ่มเปโลตองจนทิ้งระยะได้เล็กน้อย แต่ก็ถูกขบวนของทีม Deceuninck-QuickStep รวบที่หนึ่งกิโลเมตรหน้าเส้นชัย แต่กัปตันทีม Quickstep เอเลีย วิวิอานี หลุดขบวนไปอยู่ข้างท้าย

Photo: ASO

250 เมตรสุดท้ายเอ็ดวาลด์ บอสซัน ฮาเก็น (Dimension Data) ชิงสปรินต์เป็นคนแรกเมื่อเห็นว่าไม่มีทีมไหนลีดเอาท์ให้สปรินเตอร์ได้สำเร็จ คาเล็บ ยวนและโกรนเวเก็น แหวกกลุ่มขึ้นมาจากทางขวาและซ้าย และเป็นยวนที่เร่งความเร็วได้ดีกว่า เอาชนะโกรนเวเก็นได้สำเร็จ

Photo: ASO

สำหรับอีแกน เบอร์นาล ชัยชนะครั้งนี้มีความสำคัญระดับประวัติศาสตร์เพราะเขาเป็นชาวโคลอมเบียคนแรกของโลกที่ได้แชมป์  Tour de France นักปั่นโคลอมเบียหลายคนพยายามคว้าแชมป์รายการนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครทำได้สำเร็จจนถึงปี 2019

ก่อนหน้านี้มีริกโอเบอร์โต้ อูราน (EF Education First) ที่เคยคว้าอันดับสองในปี 2017 และไนโร คินทานา (Movistar) ในปี 2013

เบอร์นาลเป็นแชมป์ Tour de France ที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 110 ปี (ปีนี้เขาอายุ 22 ปี – ส่วนแชมป์ตูร์ที่อายุน้อยที่สุดคือ อองรี คอร์เน็ท ได้แชมป์ในปี 1904)​

Photo: ASO

ไม่ใช่แค่เสื้อเหลืองที่เบอร์นาลชนะ แต่เขายังเป็นผู้ชนะรางวัล Best Young Rider หรือนักปั่นที่อายุต่ำกว่า 25 ปีที่ทำเวลารวมดีที่สุด

ในประวัติศาสตร์การแข่งขันมีนักปั่นแค่ 4 คนที่ชนะเสื้อเหลืองและขาวพร้อมกันในปีเดียวกันคือ ลอเรนท์ ฟิญญอง, แยน อูลริค, อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ และแอนดี้ ชเล็ค

Photo: ASO

เกอเรนท์ โทมัสขึ้นโพเดียม Tour de France เป็นครั้งที่สอง เคราซ์เวกคว้าอันดับสาม และเป็นโพเดียมครั้งแรกใน Tour de France ของเขา

Photo: Bora-Hansgrohe

รางวัลที่ไม่ต้องการคำอธิบายมากนักเพราะแทบจะล็อกตัวแชมป์ตั้งแต่ครึ่งการแข่งขันแล้วก็คือเสื้อเขียว หรือผู้นำคะแนนรวม (Point Classification) ที่ปีนี้ปีเตอร์ ซากานชนะเป็นสมัยที่ 7 เป็นนักปั่นคนแรกของโลกที่ชนะรางวัลนี้ได้ถึง 7 สมัย ก่อนลงแข่ง

เขามีสถิติเทียบเท่าเอริค ซาเบล สปรินเตอร์ชาวเยอรมันที่ทำได้ 6 สมัย

Photo: ASO

ถึงจะหลุดฟอร์ม แข่งชิงแชมป์รายการไม่ได้ตามคาด แต่โรมัน บาเดต์ นักปั่นเจ้าถิ่นจากทีม AG2R ก็ยังได้รางวัลเจ้าภูเขาแทน จากที่ขยันออกโจมตีเก็บแต้มในช่วงสเตจภูเขาในสัปดาห์สุดท้าย พอให้ชาวฝรั่งเศสได้ชื้นใจ หลังจากที่จูเลียน อลาฟิลลิป (Quickstep) ไม่สามารถป้องกันเสื้อเหลืองได้ และตกไปอยู่อันดับห้า

ส่วนทีม Movistar คว้ารางวัล Team Classification หรือทีมที่มีเวลารวมดีที่สุดในการแข่งขันเป็นสมัยที่ 4 พร้อมส่งนักปั่น 3 คนขึ้นอันดับ Top 10 เวลารวม

มิเคล แลนด้าคว้าอันดับ 6 ที่ +4:23 นาที, ไนโร คินทานาอันดับ 8 ที่ +5:30 นาที และอเลฮานโดร วาวเวอเด้ แชมป์โลก อันดับ 9 ที่ +6:12 นาที

สำหรับยอดชัยชนะสเตจ ทีม Mitchelton-Scott และ Lotto-Soudal เป็นสองทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุด กวาดรางวัลไปคนละ 4 สเตจ Quickstep ชนะ 3 สเตจ, Bahrain-Merida ชนะ 2 สเตจ, Groupama-FDJ, Bora-Hansgrohe, และ Movistar ชนะทีมละ 1 สเตจ ยังมีอีกหลายทีมที่ไม่มีผลงานใดๆ กลับบ้านเลยหลังจบรายการนี้

รางวัลสุดท้ายอาจจะไม่ใช่เสื้อผู้นำ แต่ก็เป็นรางวัลที่เหมาะสมที่สุดเช่นกัน นั่นคือรางวัล Super Combativity Award หรือนักปั่นที่แข่งได้เร้าใจกรรมการและผู้ชมที่สุดในการแข่งขันปีนี้ ซึ่งแชมป์รางวัลนี้ก็เป็นจูเลียน อลาฟิลลิป ผู้ครองเสื้อเหลืองถึง 14 สเตจ และป้องกันเสื้อแบบทุ่มสุดชีวิตทุกๆ วัน โดยเฉพาะในสัปดาห์สุดท้ายที่โดนทีมอื่นโจมตีต่อเนื่อง

อลาฟิลลิปคว้าแชมป์สเตจถึงสองครั้ง ครั้งแรกสเตจ 3 และครั้งที่สองสเตจ 13 ที่เป็นการแข่งไทม์ไทรอัล

ถึงจะป้องกันเสื้อผู้นำได้ไม่สำเร็จ แต่อลาฟิลลิปก็จุดประกายความหวังให้ชาวฝรั่งเศสได้ฝันว่าแชมป์ Tour de France คนฝรั่งเศสคงไม่ไกลเกินเอื้อม

ผลการแข่งขัน

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!