ผลิตภัณฑ์ 5 อย่างที่ DT ประทับใจในปี 2017 – คูน

แต่ละปี Ducking Tiger มีโอกาสได้ทดสอบสินค้าจักรยานหลายอย่างด้วยกันครับ ส่วนมากเป็นจักรยานเสือหมอบราคาสูง แต่ก็ยังมีอุปกรณ์หลายชิ้นที่เราคิดว่า “ขาดไม่ได้” บ้างเป็นของชิ้นเล็กราคาไม่แพงที่หลายคนมองข้าม

ปีนี้เลยอยากจะรวบรวมผลิตภัณฑ์ 5 อย่างที่นักเขียนแต่ละคนคิดว่าขาดไม่ได้ และชื่นชอบเป็นพิเศษครับ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง


1. ขากระติกคาร์บอน Arundel Mandible

น้ำหนัก: 28 กรัม
ราคา: 2,100 บาท

ขากระติกเป็นของที่นักปั่นส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไร…จนกว่ามันจะเกิดปัญหา เช่นกระติกร่วงระหว่างปั่น ยัดกระติกไม่เข้ากรง ถอดกระติกยาก ขากระติกหัก (!)

เวลาเราเลือกขากระติกส่วนมากก็จะคิดไม่กี่อย่างคือ 1. ราคาเป็นยังไง 2. สวยถูกใจไหม 3. น้ำหนักโอเคหรือเปล่า

ขากระติกที่ทำจากพลาสติคหรืออลูมิเนียม จะหนักกว่าขากระติกคาร์บอน แต่ราคราถูกกว่า ขาพลาสติกส่วนใหญ่หนักประมาณ​ 50-70 ขาคาร์บอนน้ำหนักจะต่ำกว่าตั้งแต่ 30 กรัมลงไป จนเบาสุด 5 กรัมก็มี

แต่เช่นเดียวกับอะไหล่อื่นๆ ขากระติกที่ดีต้องมีได้สมดุลระหว่าง ราคา น้ำหนัก และความทนทานครับ

Arundel Mandible เป็นขากระติกที่ตอบโจทย์หลายอย่าง ไม่ได้แพงที่สุด เบาที่สุด แต่มันทนมาก และยึดกระติกได้แน่นโคตรๆ และถอดกระติกง่ายครับ คือจะลงทางวิบากกันดารแค่ไหน ก็ยังไม่เคยเจอปัญหาขวดกระเด็น

น้ำหนักที่ 28 กรัมต่อชิ้นและมีให้เลือกสามลาย – คาร์บอนเงา, คาร์บอนด้าน, คาร์บอน 3k เงา เข้ากับเฟรมได้แทบทุกลวดลายสีสัน และเลือกยึดขากระติกได้สองระดับความสูงด้วย (มีรูยึด 4 รู)

คนใช้ขากระติกคาร์บอนที่เบามากๆ ส่วนใหญ่ที่เจอคือ ขาหักระหว่างใช้งาน  แต่รุ่นนี้แข็งแรงทนรอยขีดข่วนดีด้วย สำหรับผมถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้ม เปลี่ยนจักรยานมาสามคันแล้วก็ยังใช้ได้ดีอยู่

 

Bimola ST 1 Helmet

น้ำหนัก: 270 กรัม
ราคา: 1,800 บาท

หมวกจักรยานเป็นของแพงครับ เชื่อว่าหลายคนเห็นตรงกัน หมวกรุ่นท็อปจากหลายๆ แบรนด์ราคาเป็นหมื่น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมาตรฐานการป้องกันนั้น ถ้าผ่านการทสดอบและได้รับรองมาตรฐานสากลมันก็ช่วยป้องกันศีรษะเราได้ไม่แพ้กัน

จุดที่ทำให้ต่างกันหลักๆ ก็คือหน้าตา แบรนด์ดิ้ง และดีไซน์ แต่ส่วนใหญ่แล้วใส่ได้สบายหัวไม่แพ้กัน มันเป็นสินค้าแฟชันโดยแท้ทรู

ด้วยความที่มันเป็นสินค้าราคาแพงและเป็นของที่เราถอดใส่บ่อย วางบ่อย หมวกกันน็อคก็จะเป็นรอยง่าย เลอะง่าย ซึ่งน่าเสียดาย

หมวกกันน็อคราคาไม่แพงก็อาจจะไม่ได้รับการออกแบบที่สวยดูดีเหมือนหมวกราคาแพง ปีนี้ผมเซอร์ไพรส์กับหมวก Bilmola แบรนด์หมวกกันน็อคมอเตอร์ไซค์ของคนไทยที่แตกไลน์มาทำหมวกจักรยานด้วย ซึ่งออกแบบมาดีทีเดียวครับ หน้าตาไม่เหมือนหมวกราคา 1,500-2,000 ทั่วๆ ไป ใช้วัสดุดี และ finishing ดีเกินราคา ผ่านมาตรฐานสากลทุกอย่าง

ถึงจะไม่มีของแถมอะไรในกล่อง เช่นฟองน้ำสำรองหรือถุงใส่หมวก แต่ราคาขนาดนี้ก็ได้ใจไปเต็มๆ มันกลายเป็นหมวกที่ผมคว้ามาใส่ซ้อมปั่นบ่อยที่สุด ไม่ต้องกังวลว่ามันจะเป็นรอย

 

3. ยาง Vittoria Corsa G+ 25mm

น้ำหนัก: 260 กรัม
ราคา: ประมาณ 1,800 บาท

เวลามีคนถามว่าถ้าจะอัปเกรดจักรยาน อัปอะไรก่อนดี คำตอบมาตรฐานของผมคือ “พี่ไปซื้อยางดีๆ คู่นึง!”

ยางจักรยานเป็นของที่หลายคนมองข้าม แต่มันเปลี่ยนคาแรคเคอร์และฟีลลิงรถเราได้หน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ โดยเฉพาะเวลาที่เราเปลี่ยนจากยางติดรถ (คอมพลีทไบค์) ไปเป็นยางแข่งขันประสิทธิภาพสูง

นอกจากจะเกาะถนนดีกว่าเดิม นิ่มนวลสบายก้นกว่าแล้ว ยังลดแรงเสียดทานประหยัดพลังเราได้เยอะมาก ยางที่หนืดที่สุดกับยางที่ไหลดีที่สุดเทียบกันแล้ว ยางแข่งประหยัดวัตต์เราได้ข้างละ 8-10 วัตต์เป็นอย่างน้อย

ที่สำคัญเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ต่อราคาแล้ว ยางจักรยานเป็นการอัปเกรดที่คุ้มค่าที่สุดที่เราจะจ่ายได้ครับ

Vittoria Corsa G+ นี่เป็นยาง “ใหม่” ของ Vittoria ที่ออกมาแทนซีรีย์ Corsa Evo จริงๆ ก็ออกมาหลายปีแล้ว แต่จากที่ใช้ยางแข่งมาทั้งหมด ผมชอบยาง Vittoria ที่สุด เพราะได้สมดุลระหว่าง ราคา ประสิทธิภาพ และความทนทานครับ

Vittoria อ้างว่า ยางรุ่นนี้มากับส่วนผสม กราฟีน ซึ่งเขาเคลมว่าช่วยหลายอย่างทั้งเพิ่มการเกาะถนน เพิ่มความทนทานรั่วยากขึ้น (รุ่นเก่ารั่วง่ายโคตรๆ) และช่วยลดแรงเสียดทานกับผิวถนนด้วย

การทำงานของกราฟีนคือ มันจะปรับสภาพตามน้ำหนักที่ยางได้รับ เช่นเวลาขี่ทางราบตรง ยางจะแข็งตัวที่สุดเพื่อให้ไปได้ไวที่สุด แต่ถ้ามีแรงกระทำกับมันมากเช่นเวลาเบรคเพื่อเข้าโค้ง ยางจะอ่อนตัวลงเพื่อให้เกาะถนนดีขึ้น

ส่วนทำได้ดีแค่ไหนนั้นคงไม่สามารถบอกได้ว่ามันทำได้อย่างที่โม้หรือเปล่า แต่เท่าที่ใช้ก็ไม่มีปัญหาครับ ทั้งถนนเปียก ถนนแห้ง ถนนขรุขระ ผ่านได้หมดสบายๆ

หลายคนบอกว่ายางรุ่นนี้กริปไม่ดีนักเมื่อเทียบกับ Continental แต่ส่วนตัวผมโอเคนะ ที่สำคัญคือการที่มันเป็นยางขอบแก้ว ใช้วัสดุโครงยางเป็น cotton ทำให้มันได้ฟีลที่นุ่มนวลมาก

ในด้าน rolling resistance ก็ทำได้ดี ไม่ได้เร็วที่สุด แต่ก็อยู่หัวตารางครับ ถ้าใครชอบเร็ว เขามีตัว Corsa Speed ซึ่งเป็นยาง Time Trial ที่เร็วที่สุดในโลกตอนนี้ (แต่บางมากและรั่วง่ายมากเช่นกัน)

ซ้าย: ใหม่, ขวา: เก่า (ประมาณ 6,500 km)

ความทนทานก็ทำได้ดีระดับหนึ่ง ใช้ได้ประมาณ 6,500-7,000 กิโลเมตรก็เริ่มหมดสภาพ กริปแย่ลงและยางใหม่ให้ฟีลไหลกว่าครับ ส่วนตัวตั้งแต่ใช้มาสองปีกว่า เคยรั่วแค่สองครั้งเท่านั้น เพื่อนบางคนใช้รุ่นยางฮาฟรั่วบ่อย ผมว่ามันเป็นยางแข่งที่ทนใช้ได้นะเมื่อเทียบกับ Zipp และ Michellin

ราคาไม่ได้โดดจากคู่แข่งมากนัก แต่ก็ไม่ได้ถูกที่สุดในบรรดายางแข่ง (แพงกว่า GP4000s / Pirelli P Zero) แต่ยังถูกกว่า Specialized Turbo Cotton

ข้อเสียอย่างเดียวคือในบรรดายางแข่งแล้ว Vittoria Corsa G+ หนักมากครับ เส้นละ 260 กรัม สาย Weightweenies คงไม่พอใจเท่าไร

ถ้าใครชอบยางที่ไหลดี เกาะถนนโอเค และนิ่มนวล ไม่ไมด์เรื่องขอบสีแทน ตัวนี้ไม่น่าผิดหวังครับ

 

4. จุ๊บเติมลมทองเหลือง

ราคา: 20-50 บาท

สูบลมจักรยานแพงๆ ที่ว่าหัวจุ๊บดีๆ เสียบง่ายถอดง่ายเท่าที่เห็นมาก็พังแทบทุกอัน จุ๊บเติมลมทองเหลืองอันนี้ราคาแค่ 20-30 บาท หาซื้อได้ตามร้านจักรยานทั่วไป แต่มีคุณค่ามหาศาลครับ โดยเฉพาะกับคนปั่นเสือหมอบที่ปกติหัวเติมลมยางในจะเป็นแบบจุ๊บเล็ก (Presta Value) ซึ่งถ้าไม่ใช้สูบจักรยาน ส่วนใหญ่จะสูบไม่เข้าครับ

เวลายางรั่วกลางทางแล้วต้องพึ่งร้านมอเตอร์ไซค์ใกล้ๆ ให้ช่วยเติมลม พกหัวเติมลงทองเหลืองอันนี้ที่ใช้เปลี่ยนหัวเล็กเป็นหัวใหญ่ (Schrader) ก็จะใช้กับที่เติมลมได้ทุกรุ่นทั่วราชอาณาจักร

แล้วเวลาหัวสูบจักรยานที่บ้านเริ่มงอแง กดไม่เข้าบ้างเติมไม่เข้าบ้าง เอาหัวทองเหลืองเสียบแปลงเข้าไปเติมลมได้ปกติ เป็นของที่ควรมีติดตัวไว้ครับ

 

5. ไฟท้าย Moon Comet X Pro

น้ำหนัก: 46 กรัม
ราคา: 1,400 บาท

ไฟท้ายติดจักรยานเป็นของสำคัญที่ควรพกติดตัวทุกครั้ง ถึงแม้จะปั่นกลางวันก็ตามครับ เดี๋ยวนี้หลายๆ บริษัทจักรยานรณรงค์ให้เราเปิดไฟปั่นตอนกลางวันด้วย ถ้าไฟมีพวกโหมด Day Time Running Light ที่สว่างเป็นพิเศษก็จะช่วยให้รถมองเห็นเราได้ง่ายขึ้น อีกอย่างสำหรับคน กทม. Sky Lane เขาบังคับให้เราติดไฟท้ายทุกครั้งที่เข้าสนามครับ

ไฟ Moon Comet-X Pro ตัวนี้ผมซื้อมาใช้ได้ปีกว่าแล้ว ไฟสว่าง แบตทนมาก และมีโหมดไฟให้เลือกหลากหลายทีเดียว

Moon Comet ตัวนี้ใช้เทคโนโลยี Chips on board ช่วยให้วางไดโอดได้เป็นปริมาณมากในแผงวงจรเดียว ได้ไฟที่สว่างขึ้น บอดี้ทำจากอลูมิเนียม CNC ช่วยระบายความร้อนเวลาเปิดใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

แบตเตอรีเป็นลิเทีมโพลีเมอร์ Moon อ้างว่ามีระยะการใช้งานประมาณ 500 รอบชาร์จ เสียบชาร์จผ่านพอร์ท Micro USB และกันน้ำนิดหน่อย (มาตรฐาน IPX4) นั่นคือพอจะทนน้ำกระเด็นกระดอนหรือเวลาฝนตกได้ (ตรงสวิทช์เปิดปิด และพอร์ท USB มีจุกยางปิดได้หนาแน่น)​

ไฟ Moon Comet X-Pro มีไฟให้เลือก 7 โหมด (กดค้างเพื่อเปิด/ปิด กดปล่อยเพื่อเปลี่ยนโหมด)

โหมดที่สว่างสุดสว่าง 40 ลูเมน ซึ่งก็เห็นชัดได้ในระยะ 200-300 เมตร ไฟกระจายแสงได้ 77 องศา ซึ่งก็กว้างพอสำหรับการใช้งานทั่วไปครับ

แบตเตอรีทนระดับหนึ่ง โหมดเปิดค้างสว่างสุดอยู่ได้ประมาณ 90 นาที, ถ้าลดลงมาเป็น 25 / 15 ลูเมนก็จะทนประมาณ 2 และ 5 ชั่วโมงตามลำดับ แต่ปกติผมจะใช้โหมดกระพริบ ซึ่งแบตทนกว่าครับ โหมดกระพริบ 40 ลูเมนอยู่ได้ 7 ชั่วโมงกว่า ถ้าปั่นทุกวันวันละชั่วโมงนิดๆ นี่สัปดาห์นึงแทบไม่ต้องชาร์จเลย ชาร์จครั้งนึงให้เต็มใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง

ถ้าใครจะใช้ตอนกลางวัน Comet Pro X มีโหมด Day Time Running Light ด้วย สว่าง 80 ลูเมนเลยทีเดียว แต่กินแบตเยอะ

ตัวรัดหลักอานออกจากกล่องมามีเมาท์สองแบบ แบบแป้น + O-Ring ใช้ได้กับทุกหลักอาน หรือแบบรางยึดใต้เบาะซึ่งก็สะดวกดีครับ

ขนาดรวมๆ เล็กกระทัดรัดไม่ทำให้รถเสียทรงมาก ราคากลางๆ รวมๆ แล้วจัดว่าคุ้มค่าน่าคบมาก

ไฟ Moon รุ่นแรกๆ ปัญหาเยอะ แบตไม่ทน เลยไม่ค่อยชอบเท่าไร แต่เป็นบริษัทที่พัฒนาผลิตพัณฑ์ได้เร็วครับ ตัวนี้ Highly recommended

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!