6 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ The Hour Record

คืนวันพรุ่งนี้แฟนๆ จักรยานทั่วโลกจะได้รับชมถ่ายทอดสดความพยายามของเยนส์ โว้กในการทำลายสถิติ Hour Record ซึ่งจะเป็นการปั่นจักรยานครั้งสุดท้ายของเยนส์ในฐานะนักจักรยานอาชีพ สื่อต่างประเทศต่างโหมประโคมข่าวเป็นกระแสกันอย่างล้นหลาม แต่ถามว่า The Hour Record มันสำคัญยังไง? สนุกตรงไหน? ท้าทายนักปั่นแค่ไหน? วันนี้ DT จะมาไขข้อข้องใจกันครับ

1. The Hour Record คืออะไร?

ถ้าว่ากันตามกฏสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) Hour Record คือการปั่นให้ได้ระยะทางไกลมากที่สุดในหนึ่งชั่วโมงภายใต้กฏข้อบังคับของ UCI ที่จะระบุถึงอุปกรณ์ที่อนุญาตให้นักปั่นใช้ได้ ณ​ เวลาที่เริ่มทำลายสถิติ นักปั่นจะต้องใช้จักรยานลู่ หรือจักรยานที่ถูกต้องตามเกณฑ์ของสนามแข่งจักรยานลู่ ในการปั่นจะไม่มีการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้นจากผู้อื่น เมื่อเริ่มปล่อยตัวแล้ว ต้องปั่นทำลายสถิติระยะทางที่ดีที่สุดในขณะนั้นให้ได้ ถึงจะได้รับการบันทึกเป็นสถิติใหม่

โจทย์ของเยนส์คือปั่นให้ได้ระยะทางที่มากกว่า 49.7 กิโลเมตรในหนึ่งชั่วโมง ซึ่ง อองเดร โซเซงก้า นักปั่นชาวเช็กทำไวได้ในปี 2005

สถานที่ทำสถิติคือ Suisse Velodrome ที่เมืองเกรนเชน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (DT note: เวโลโดรมนี้สร้างโดยเงินทุนของแอนดี้ รีส์ เจ้าของบริษัท BMC และตั้งอยู่หน้าสำนักงานใหญ่ของ BMC ด้วย)

2. แต่ Hour Record มันมีหลายประเภท?

เนื่องด้วยความต่างของอุปกรณ์การแข่งในแต่ละยุคสมัยซึ่งมีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์สมัยใหม่ที่มีความแอโรลู่ลมมากกว่าสมัยก่อน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่นักปั่นจะทำระยะทางได้ดีกว่า เพื่อลดความยุ่งยากในการบังคับกฏทาง UCI จึงแบ่งประเภท Hour Record ออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ คือ Athelete’s Hour ซึ่งผู้ถือสถิติคือเอ็ดดี้ เมิร์กซ์ในปี 1972 (49.431 กิโลเมตร) ประเภทนี้นักปั่นจะต้องใช้จักรยานรูปทรงเดียวกับที่เมิร์กซ์ใช้ ไม่ใช่จักรยานแอโร และไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์แอโรใดๆ ทั้งสิ้น (วัดกันที่แรงคน อุปกรณ์เท่ากัน)

อีกประเภทคือ Best Human Effort ในหมวดหมู่นี้ผู้ท้าชิงสามารถใช้จักรยานและอุปกรณ์แอโรแบบไหนก็ได้ (นักปั่นต้องเก่ง แต่อุปกรณ์มีผลมาก) เจ้าของสถิติคือคริส บอร์ดแมน 56.375 กิโลเมตรในปี 1996 เป็นสถิติที่เขาช่วงชิงกับกราอีม โอบรี นักปั่นชาวสก๊อตครั้งแล้วครั้งเล่าจนได้ชื่อว่าช่วงปี 90s เป็นยุคทองของ Hour Record

อย่างไรก็ดี การแบ่งแยกประเภท Hour Record ทำให้นักปั่นเลิกสนใจที่จะทำลายสถิติ เพราะกฏยิบย่อยและข้อจำกัดในการเลือกใช้อุปกรณ์ ทำให้ UCI ตัดสินใจยกเลิก Hour Record ทั้งสองประเภท แล้วหันมาใช้กฏอุปกรณ์เดียวกับจักรยานลู่ ทำให้เยนส์หรือผู้ท้าชิงคนอื่นๆ สามารถใช้จักรยานแอโร สกินสูท และหมวกแอโรได้ และถึงแม้ประเภท Hour Record จะยุบรวมกันไปแล้ว เยนส์ก็ไม่จำเป็นต้องทำลายสถิติของบอร์ดแมน เพราะจักรยานของบอร์ดแมนผิดกฏ UCI ดังนั้น สถิติล่าสุดภายใต้กฏหมายที่ได้รับการรองรับจาก UCI ก็คือสถิติของโซเซงก้านั่นเองครับ (โซเซงก้าใช้จักรยานแบบเดียวกับเมิร์กซ์)

อธิบายแล้วอาจจะงง ดูรูปกันดีกว่า

คริส บอร์ดแมนกับจักรยานและท่าปั่นพิเศษ (ผิดกฏ UCI) ระยะทาง: 56.375 กิโลเมตร
คริส บอร์ดแมนกับจักรยานและท่าปั่นพิเศษ (ผิดกฏ UCI) ระยะทาง: 56.375 กิโลเมตร
จักรยานของโซเซงก้า (แบบเดียวกับเมิร์กซ์) ระยะทาง: 49.7 กิโลเมตร)
จักรยานของโซเซงก้า (แบบเดียวกับเมิร์กซ์) ระยะทาง: 49.7 กิโลเมตร)
จักรยานของเยนส์ที่จะใช้วันพรุ่งนี้
จักรยานของเยนส์ที่จะใช้วันพรุ่งนี้

3. Hour Record สำคัญไฉน?

ทำไมทุกคนถึงอยากดูเยนส์ทำลายสถิติชั่วโมง? ความพิเศษของ Hour Record คืออะไรลองคิดดูดีๆ ครับ มันคือการแข่งขันจักรยานประเภทเดียวที่นักปั่นสมัยนี้สามารถวัดฝีเท้าตัวเองเทียบกับนักปั่นระดับตำนานในยุคก่อนได้!

คุณอาจจะไม่ได้แข่งตูร์ เดอ ฟรองซ์กับเมิร์กซ์ แต่ถ้าคุณอยากรู้ว่าตัวเองเจ๋งกว่าเมิร์กซ์หรือเปล่า? Hour Record คือลานประลองที่เหมาะสมที่สุด (โอเค สถิติของเยนส์ในวันพรุ่งนี้อาจจะเทียบกับเมิร์กซ์ไม่ได้เพราะใช้อุปกรณ์คนละแบบ แต่ถ้าคุณเป็นสายเพียว อยากวัดกันตัว-ตัวแบบอุปกรณ์ไม่มีผล ก็ไม่มีใครห้ามไม่ให้ใช้จักรยานและท่าปั่นย้อนยุคแบบเมิร์กซ์นะ)

เขาจะทำสำเร็จหรือเปล่า? 18 กันยายน 22:15 เรารู้กัน!
เขาจะทำสำเร็จหรือเปล่า? 18 กันยายน 22:15 เรารู้กัน!

4. แล้วมันยากจริงหรือ?

เยนส์ต้องปั่นจักรยานรอบเวโลโดรมเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม ฟังดูง่าย? ผิดครับ การปั่นทำลายสถิติโลก ดูเผินๆ อาจจะเหมือนการปั่น Time Trial ธรรมดาๆ แต่ถ้าถามคนที่ปั่นในสนามลู่มาก่อนจะรู้ว่า ปั่นวนๆ รอบแทรคนั้นเหนื่อยกว่าปั่นบนทางราบมาก นอกจากจะต้องเจอแรงเหวี่ยง จังหวะ และความเร็วที่เปลี่ยนตามองศาโค้งแล้วนักปั่นยังต้องเร่ง เข้า และ ออกจากโค้ง ถึงสองครั้งใน 1 รอบสนามเพื่อให้ได้ความเร็วสูงสุด ในขณะที่การปั่น Time Trial เราสามารถรักษาความเร็วและจังหวะการปั่นต่อเนื่องได้ตลอดระยะทาง อีกอย่างคือการปั่นจักรยานลู่หมายความว่าคุณไม่สามารถพักฟรีขาได้เหมือนบนจักรยานถนน

ตรงนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนของนักปั่นที่ไม่เคยมีประสบการ์ณการแข่งสนามลู่อย่างเยนส์และแคนเชอลารา (ในขณะที่แบรดลีย์ วิกกินส์อาจจะได้เปรียบ ถ้าเขามาลองทำลายสถิติบ้าง) แต่เยนส์ซุ่มฝึกซ้อมโปรเจ็คนี้มาหลายสัปดาห์ ประกอบกับประสบการณ์การแข่งจักรยาน 17 ปีเต็ม จุดนี้ก็คงแก้กันได้ไม่ยาก

ในยุคก่อน เมิร์กซ์เคยบอกผู้สื่อข่าวหลังการทำลายสถิติได้สำเร็จในปี 1972 ว่า:

“ผมไม่อยากแม้จะกระทั่งกระพริบตา มันเครียด มันอาศัยสมาธิอย่างมหาศาล แค่คุณปั่นผิดจังหวะครั้งเดียวก็อาจจะหมายถึงความล้มเหลวได้เลย คุณต้องจดจ่อกับการปั่นอย่างสมบูรณ์แบบตลอด 1 ชั่วโมงเต็ม มันคือบททดสอบความเป็นนักปั่นขั้นสูงสุด ทั้งทางกายภาพและจิตใจ เป็นความพยายามที่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับการปั่นจักรยานประเภทไหนๆ เลย และผมจะไม่ทำมันอีกแล้ว”

เมิร์กซ์กับการทำลายสถิติในปี 1972 ที่เม็กซิโกซิตี้

ถามว่ามีผลต่อจิตใจขนาดไหน? กราอีม โอบรีที่ทุ่มชีวิตให้กับการทำลายสถิติ Hour Record แทบจะกลายเป็นคนบ้าเพราะความหมกมุ่นในการฝึกซ้อมและความโหดหินของมัน เขาสูญเสียอะไรในชีวิตไปมากมายให้กับสถิตินี้ ซึ่งเรื่องราวของโอบรีได้ถูกบันทึกไว้ในหนังเรื่อง The Flying Scotsman ครับ แนะนำให้ชม เป็นหนังจักรยานที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่งเลย

ใครที่ชื่นชอบสีหน้าของเยนส์เวลาต่อสู้กับความเจ็บปวด ประกอบเสียงตะโกน Shut Up Legs! ที่ทำให้เขาโด่งดัง พรุ่งนี้คงได้เห็นกันว่าเขาจะสนุกกับมันขนาดไหน

5. แล้วเยนส์จะทำได้หรือเปล่า?

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เยนส์น่าจะทำลายสถิติโซเซงก้าได้สบายๆ ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะจักรยาและอุปกรณ์ที่เขาใช้แอโรกว่าของโซเซงก้าหลายขุม ประกอบกับทักษะการเบรคอเวย์สู้กับเวลาของเยนส์ตลอด 17 ปีในฐานะนักปั่นอาชีพ (ปกติแล้วเยนส์ปั่น TT ได้ดีพอสมควร) คาดว่าเขาน่าจะทำได้อย่างน้อยๆ 50-51 กิโลเมตร

เทียบอย่างง่ายๆ ในรายการ Tour of California ปีนี้ เยนส์ปั่นด้วยความเร็ว 48.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสภาพสนามเปิด การปั่นในสนามลู่แบบปิดที่ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสลมและอุณหภูมิเป็นตัวแปรรบกวน เยนส์ก็น่าจะคุมกำลัง บริหารแรงได้ง่ายกว่ามาก

Tour de France - Stage 20

เดาได้เลยว่าหลังจากที่เยนส์ทำสถิติใหม่ได้ เราจะได้เห็นเอซ Time Trial หลายๆ คนมาร่วมผสมโรงกันแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อกฏต่างๆ ปรับไปใช้กฏเดียวกับสนามลู่แล้ว เฟเบียน แคนเชอลารายังดูท่าทีอยู่ แต่ก็บอกชัดเจนว่าเขาจะทำให้ได้ โทนี มาร์ติน, แบรดลีย์ วิกกินส์ ต่างบอกว่าอยากลองสักครั้งหนึ่งทั้งคู่ แม้แต่นักปั่นรุ่นใหม่ๆ อย่างเทย์เลอร์ ฟินนี่, โรฮาน เดนนิส และอเล็กซ์ ดาวเซ็ตต์ก็น่าติดตามครับ

วันพรุ่งนี้จะเป็นชั่วโมงสุดท้ายของเยนส์ เป็นคนแรกที่กลับมาปลุกกระแส Hour ในห้วงเวลาที่มันเกือบจะหายไปกับประวัติศาสตร์การแข่งขัน เยนส์จะทำสำเร็จหรือไม่เราคงต้องติดตาม แต่ผมเชื่อว่าคงไม่มีนักปั่นคนไหนจัดปาร์ตี้งานเกษียนได้เท่ห์เท่าเขาอีกแล้วหละ

เอาใจช่วยเยนส์กันครับ

6. วันเวลา ถ่ายทอดสด

เริ่มถ่ายทอดสด 22:15 เวลาไทย

UCI จะถ่ายทอดสดผ่านทาง Youtube ตลอดหนึ่งชั่วโมงที่ ลิงก์นี้

Eurosport ถ่ายทอดสดเช่นกัน ใช้ลิงก์เดียวกับที่หน้า www.duckingtiger.com/live

DT ไม่ได้บรรยายสดครับ ต้องขอโทษด้วย มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด คืนเดียวกัน >_<

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *