GCN X DT: ต้องเช็คอะไรบ้างก่อนส่งจักรยานเข้าร้านซ่อม ?

สวัสดีเช้าวันอังคารครับ เช้านี้มีวิดีโอจาก GCN มาฝากสำหรับมือใหม่ที่อาจจะพึ่งถอยเสือหมอบ แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงจักรยานส่วนตัวสักเท่าไร วิดีโอตัวนี้บอกคร่าวๆ ว่าเวลาเอาจักรยานเข้าไปเซอร์วิสที่ร้าน เขาควรจะเช็คอะไรให้เราบ้าง เวลาไปส่งรถจะได้บอกร้านได้คร่าวๆ แล้วร้านก็จะได้เช็คให้เราได้ละเอียดขึ้นด้วย บางร้านขี้เกียจทำข้ามๆ เราเป็นลูกค้าก็จะเสียเงินเปล่าครับ มาดูกันเป็นข้อๆ ดีกว่า

1. น้ำมันหยดโซ่และลมยาง

GCNchain

เรื่องเบสิคที่สุด เอารถเข้าร้านปุ๊บอย่างแรกที่ร้านควรเช็คให้ก็ไม่พ้นลมยาง และน้ำมันหล่อลื่นโซ่ อย่าลืมเติมลมยางให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัวเอง

ส่วนน้ำมันหล่อลื่นโซ่นั้นถ้าเป็นไปได้ก็ซื้อกลับมาใช้เองสักขวดครับ ราคาไม่เกิน 200-300 และอย่าลืมซื้อให้ถูกกับฤดูกาลจะช่วยยืดอายุการใช้งานโซ่ได้เยอะทีเดียว (มันจะบอกไว้ที่ข้างขวด) ทำไมต้องหล่อลื่นโซ่? ลองนึกถึงเหล็กที่มันเสียดสีกันระหว่างโซ่กับเฟืองโดยที่ไม่มีน้ำมันหล่อลื่น ถึงมันพอจะหมุนได้ แต่มันจะเสียดสีกันจนฟันเฟืองสึกหรอไปหมด ยิ่งเวลามีฝุ่นทรายเข้าไปติดอยู่ตามข้อต่างๆ จะยิ่งทำให้โซ่และเฟืองเสื่อมเร็วครับ

เวลาเติมน้ำมันหยดโซ่แล้วก็ควรหมุนจานให้น้ำมันมันเข้าไปทุกข้อของโซ่ เสร็จแล้วก็เช็ดออกจะได้ไม่เป็นแม่เหล็กดูดฝุ่นครับ

 

2. เช็คความปลอดภัย

GCN Rim

เช่นขอบล้อ เสื่อมไหม จะมีปัญหาเรื่องการเบรคหรือเปล่า เช็คสภาพยางเก่าเกินหรือยัง ยังเกาะถนนดีไหม ถ้าเป็นตะเกียบและเฟรมคาร์บอนก็ควรให้ช่างดูด้วยว่ามีรอยแตกหักเสียหายตรงไหนบ้าง บางทีชิ้นส่วนคาร์บอนอาจจะมีรอยร้าวได้โดยที่เราไม่รู้ตัวจากการใช้งานหรืออุบัติเหต นานๆ เช็คทีก็ดีเหมือนกันครับ ที่สำคัญอย่าลืมเช็คน๊อตต่างๆ ว่าแน่นหนาดีหรือเปล่า

 

3. Bearings

GCNHub

ในกรณีที่ส่งจักรยานเข้าล้าง อัด ฉีด maintenance แบบทั้งคัน จุดสำคัญที่ทุกร้านควรจะทำให้อยู่แล้วคือเช็คสภาพลูกปืนบริเวณกระโหลก (BB) ดุมล้อ (hub) และถ้วยคอ (headset) ดูว่าจารบียังมีพอหรือเปล่า ลูกปืนเริ่มเสื่อมหรือยัง? อย่าลืมจุดหมุนและชุดขับ ดูสภาพโซ่ ถ้าโซ่หย่อนยานเกินไปจะทำให้ทั้งเฟืองหลังและจานหน้าเสื่อมเร็วขึ้น กลายเป็นว่าแทนที่จะเปลี่ยนแค่โซ่ อาจจะได้เสียเงินทั้งค่าโซ่และเฟือง

 

4. สายเบรค สายเกียร์

GCNCable

จุดสำคัญที่หลายคนมองข้าม โดยเฉพาะในจักรยานที่ใช้เฟรมแบบซ่อนสาย อย่างสายเบรคที่ขาดจารบี จะทำให้ประสิทธิภาพการเบรคลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างน้อยๆ คุณจะรู้สึกเลยว่าเวลากำเบรคแล้วมันจะฝืดครับ จ่ายเงินแล้วก็ให้ร้านเช็คให้ด้วย หรือจะถอดมาทำเองก็ได้ ไม่ยากอะไร

 

5. เบรค

GCN Brakepad

อย่าลืมเช็คสภาพผ้าเบรค เช็ค (wear indicator) จุดที่บอกว่าผ้าเบรคสึกไปเท่าไรแล้ว ถ้าถึงเวลาต้องเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยนทันที ผ้าเบรคที่สึกแล้วจะขูดกับขอบล้อ และที่สำคัญทำให้เราเบรคไม่ค่อยอยู่ เป็นอันตราย

 

6. ล้อ

เช็คดูซี่ลวด มีหย่อน ตึง คด หรือเปล่า ถ้ามีปัญหาก็อย่าลืมให้ช่างตั้งให้ด้วย

 

7. ดรอปเอ้าท์

ข้อนี้ประสบการณ์ส่วนตัว ใครล้มบ่อย แล้วรู้สึกว่าเกียร์มันสับไม่ค่อยแม่น มีเคลื่อนมีพลาด ลองเช็คดูว่าดรอปเอ้าท์ตรงดีมั้ยนะครับ เวลาล้มดรอปเอ้าท์จะเบี้ยวก่อนเพื่อน บางทีมันเบี้ยวนิดเดียว มองแทบไม่เห็นก็ทำให้เกียร์ใช้งานได้ไม่ปรกติแล้ว แนะนำว่าควรซื้อดรอปเอ้าท์สำรองติดบ้านไว้สักชิ้นสองชิ้น เผื่อไปล้มเข้า ดรอปเบี้ยว จะได้ไม่ต้องคอยโทรสั่งตัวแทนจำหน่ายครับ

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

2 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *