การกลับของบิยาร์น รีส์

อาทิตย์ก่อนเราคุยกันเรื่องวิธีการซ้อมของผู้จัดการทีมจักรยาน INEOS ไปใช่มั้ยครับ ผมว่าเรื่องหนึ่งที่น่าเสียดายในวงการจักรยานอาชีพคือ แฟนๆ จักรยานเข้าไม่ถึงตัวผู้จัดการทีมสักเท่าไร ไม่เหมือนในฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆ ที่เราถกความสามารถของ ผจก กันได้เต็มที่

ปัญหามันก็เรื่องเดิมคือ pro cycling มันไม่มีถ่ายทอดสดที่ชมได้ง่ายๆ และเป็นกีฬาที่คนอยู่ข้างหลังไม่ออกมาข้างหน้าเท่าไร แต่จริงๆ แล้ว ผจก ทีมเหล่านี้นี่มีอิทธิพลกับนักปั่นและผลงานของทีมมากๆ ครับ ก็เหมือนทุกกีฬานั่นแหละ แต่พอเราเห็นผ่านสื่อแค่ตัวนักกีฬาและความสามารถของพวกเขา เราก็จะหยุดมองแค่ตรงนั้นมากกว่า นักปั่นที่ประสบความสำเร็จต้องมีคนหนุนหลังที่ดี การที่ทีมอย่าง Quickstep และ INEOS ทำให้เอซหลายคนในทีมร่วมงานกันได้อย่างสามัคคีก็เป็นเพราะคนเบื้องหลังอย่าง ผจก ทีมอย่างเดวิด เบรลส์ฟอร์ด (Ineos) และแพททริค เลอแฟร์ (Quickstep) นั่นเอง

รีส์และคอนทาดอร์

กลับเข้าประเด็นคนในข่าว บิยาร์น รีส์นี่ผมเชื่อว่าคนที่ติดตามวงการมาไม่นานคงไม่รู้จักเท่าไร แต่เป็นคนที่ทรงอิทธิพลมากๆ คนหนึ่งครับ นี่คืออดีตแชมป์ Tour de France ที่มีทั้งเรื่องฉาวและเรื่อง success พอๆ กัน รีส์เคยได้แชมป์ตูร์ในปี 1996 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของการโด๊ป และเจ้าตัวเองก็ไม่เคยปฏิเสธ รวมถึงปีที่เขาได้แชมป์ตูร์ด้วย

เขามีฉายาว่า “MR 60%” 60% ตรงนี้หมายถึงค่า hematocrit หรือค่าความเข้มของเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือด สำหรับนักปั่นเนี่ย hematocrit ยิ่งเข้มยิ่งได้เปรียบ เพราะมีอ็อกซิเจนในเลือดพร้อมให้ร่างกายสันดาปส่งไปกล้ามเนื้อต่างๆ ได้เต็มที่
แต่กฏโด้ปสมัยนั้นเขากันไว้ที่ 50% ใครเกิน 50% จัดว่าโด้ปและโดนปรับแพ้ แต่กฏที่หละหลวมก็ทำให้นักปั่นหลายคนข้ามเส้น 50% รีส์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่โด้ปเลือดแบบจัดเต็มไปจนถึง 60%

นักปั่นที่ประสบความสำเร็จ (จะโด้ปหรือไม่ก็ตาม) หลังรีไทร์แล้วก็มีบางคนที่มาเป็นโค้ชหรือผู้จัดการทีม แต่น้อยคนที่จะมีผลงานในการคุมดีเหมือนรีส์ ช่วงปลายปี 2000s ทีม CSC ที่เขาคุมขึ้นชื่อว่ายืนหนึ่งในสนามแกรนด์ทัวร์ เขาพานักปั่นสองคนในทีมคว้าแชมป์ตูร์ 2 ครั้งนั่นคือคาร์ลอส ซาสเตร้ (2008) และแอนดี้ ชเล็ค (2010) แถมด้วยแชมป์จิโรหนึ่งสมัยโดยอิวาน บาสโซ (2006)

ย้อนรอยดูว่าสมัยที่ hematocrit 60% นี่พวกขึ้นเขากันเร็วแค่ไหน

ผลงานสุดท้ายที่ทำให้เราเห็นว่าเขาเป็นนักกลยุทธ์ตัวยงก็คือระหว่างที่คุมทีม Saxo Bank – Tinkoff ที่เขาพาอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์คว้าแชมป์ Vuelta a Esapana 2012 กับสเตจ 17 ที่จบในเทือง Fuente De ซึ่งเป็นจุดพลิกของ Vuelta ปีนั้น และขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในการเดินเกมที่เฉียบที่สุดในสนามแกรนด์ทัวร์ในยุคนี้ รีส์ทำให้แฟนๆ เห็นว่า แข่งแกรนด์ทัวร์ไม่ต้องชนะกันบนภูเขาก็ได้

คอนทาดอร์มีเวลาตามผู้นำเวลารวม วาคิม รอดริเกซ (Katusha) อยู่พอสมควรและโอกาสชนะก็ดูริบหรี่เต็มที่ โรดริเกรซรับมือการโจมตีของคอนทาดอร์ได้ในทุกสเตจภูเขาและออกจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ

แต่วันนั้น สเตจ 17 ที่ไม่ใช่เส้นทางภูเขาสูงชัน ทีม Saxo Tinkoff ส่งคอนทาดอร์ไปไล่เข้ากลุ่มเบรกอเวย์ระหว่างทางขึ้นเขาสุดท้ายที่ 51 กิโลเมตรสุดท้าย ซึ่งในกลุ่มหนีมีเพื่อนร่วมทีม Saxo อยู่อีกหลายคน (เริ่มคุ้นแผนนี้แล้วใช่มั้ย)

เมื่อฆ่ากันบนเขาไม่ได้ ก็ต้องพลิกความคาดหมายคู่แข่ง ในช่วงทางราบระหว่างช่องเขา ทีม Saxo และ Astana ในเบรกอเวย์ผูกพันธมิตรชั่วคราว กลุ่มหนีเริ่มทำระยะห่างกับเปโลตองได้เรื่อยๆ จาก 20 วินาทีเพิ่มไปเป็นนาทีกว่า จนสุดท้ายคอนทาดอร์คว้าแชมป์สเตจ เข้าเส้นชัยก่อนรอดริเกซ +2:38 นาที ขึ้นเป็นผู้นำเวลารวมคนใหม่จนจบได้แชมป์รายการ เป็นแชมป์แกรนด์ทัวร์ครั้งสุดท้ายของคอนทาดอร์

แต่หลังจากที่โอเล็ก ทิงคอฟ เศรษฐีรัสเซียซื้อทีม Saxo Bank จากรีส์ (เขาเป็นทั้งผู้จัดการและเจ้าของทีมครับ) performance โดยรวมของทีมก็เริ่มตกลงเรื่อยๆ และคอนทาดอร์เองที่เชื่อใจในตัวรีส์ก็ไม่สามารถกลับมาคว้าแชมป์แกรนด์ทัวร์ได้อีก จากที่มีเรื่องกระท่อนกระแท่นกับโอเล็กอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทั้งคู่ยอมรับว่ามีผลต่อการแข่งพอสมควร

รีส์ถอยออกจากวงการโปรทัวร์ (โอเล็กไล่ออก) ไปทำทีม Virtu Cycling ระดับดิวิชัน 3 โดยร่วมมือกับลาร์ส ไซเออร์ คริสเต็นเซ็น เจ้าของ Saxo Bank ที่เคยสปอนเซอร์ทีมของเขาตอนอยู่ระดับโปรทัวร์นั่นเอง เป้าหมายคือปั้นนักปั่นเดนมาร์กเข้าสู่แถวหน้าของวงการแข่งขันให้ได้

แต่เมื่อคืนนี้ ดั๊ก ไรเดอร์ เจ้าของทีม NTT Pro Cycling ประกาศออกสื่อว่าเขาได้เซ็นสัญญากับรีส์ให้มาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ให้ NTT ครับ ทีม NTT หรืออดีต Dimension Data นั้นผลงานไม่ดีเอาเสียเลยตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักกีฬามีศักยภาพแต่ดูเรื่องการบริหารทีมและนักปั่นดูจะไม่ได้เรื่องเท่าไร

แต่สิ่งที่แปลกใจคือทำไมดั๊กถึงเลือกรีส์ และทำไมสปอนเซอร์ถึงยอม เพราะรีส์เป็นคนที่มีอดีตที่ไม่สวยเท่าไร การเป็น confessed doper นี่เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน เพราะสปอนเซอร์น้อยรายที่อยากจะทำงานร่วมกับคนเคยโด้ป แม้แต่ดั๊ก ไรเดอร์ เองก็เคยบอกว่าจะทำทีมที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอดีต doper เพราะผลงานของทีมในอนาคตก็จะถูกปรามาสและตั้งแง่ว่าแล้วรีสพาทีมโด้ปหรือเปล่าล่ะ?

เช่นเดียวกับสมัยที่ Sky / INEOS เคยประกาศว่าจะทำทีมแบบ zero tolerance คือไม่จ้างนักปั่น, โค้ช และแพทย์ประจำทีมที่เคยโด้ป แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ (ถึงคนเหล่านั้นจะไม่ได้โด้ปแล้วก็ตาม)

โอเล็ก ทิงคอฟกับรีส์ที่สุดท้ายไปด้วยกันไม่ได้

มันเป็นโจทย์ที่ยากมากๆ สำหรับวงการโปรครับ เพราะคนที่มีความสามารถและประสบการ์ณรู้นอกรู้ใน เข้าใจการแข่งขัน ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ต้องเคยเกี่ยวโยงกับการโด้ป จากทีในอดีตกฏการโด้ปไม่เข้มงวด และทุกทีมต้องผ่านเรื่องโด้ปมาก่อน จะมากน้อย จับได้หรือไม่ได้ก็สุดแล้วแต่

ผลลัพธ์ที่ได้คือบุคลากรอย่างรีส์ ที่เป็นยอดนักกลยุทธ์ อ่านเกมขาด คุมนักปั่นได้ดีและมีแพสชันกับวงการ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคนมีอดีต

ถ้าทีมปัจจุบันอยากได้คนเก่ง แต่สะอาดด้วยก็คงยากหน่อย เพราะคนใหม่ๆ ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในวงการยาวนานเหมือนรีส์ด้วย

แต่จ้างมาแล้วก็คือจ้างมาแล้ว ปีนี้ก็มาดูกันว่าทีม NTT ผลงานจะดีขึ้นมั้ย

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!