10 ปีที่แล้ว (2008) มีอะไรเกิดขึ้นในวงการจักรยาน? หลายคนอาจจะจำไม่ได้ แต่มันคือปีที่ Campagnolo เปิดตัวชุดขับ 10 speed อย่างเป็นทางการ และเป็นผู้ผลิตชุดขับเคลื่อนจักรยานเสือหมอบรายแรกที่จำหน่ายชุดเกียร์ 11 speed
10 ปีผ่านไป Campagnolo ก็ยังคงเป็นรายแรกในบรรดาผู้ผลิตชุดขับชั้นนำ ที่ชิงเปิดตัวชุดขับ 12 Speed ก่อนใครเพื่อนในซีรีย์ Campagnolo Record และ Super Record แบบ
รายละเอียดจะเป็นยังไงนั้นลองมาดูกันอย่างละเอียดในโพสต์นี้ครับ
1. ทำไมต้อง 12 Speed?
ต้องมีเกียร์เท่าไรถึงจะพอใช้? Campagnolo จะเพิ่มเกียร์ทำไมในเมื่อ 11 Speed ที่มีในกรุ๊ปปัจจุบันก็ใช้ไม่พอแล้ว? ต้องเปลี่ยนใหม่ยกชุดอีกแล้วสิ? เป็นคำถามที่อยู่ในใจหลายๆ คนแน่ๆ เมื่อเห็นข่าวกรุ๊ปเซ็ตใหม่ตัวนี้ แต่แท้จริงแล้วเขามีเหตุผลอะไรในการเพิ่มเป็น 12 (x2) เกียร์?
เหตุผลของ Campy หลักๆ เลยก็คือ นักปั่นสมัยนี้ใช้อัตราทดที่มีระยะห่างระหว่างเกียร์มากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ (ส่วนหนึ่งก็เพราะที่ Campy ค่อยๆ เพิ่มเกียร์มาทีละเจเนอเรชันนี่แหละ!) ปัจจุบันเราใช้เฟืองใหญ่ 11-29T, 11-30T, 11-32T หรือใหญ่กว่านั้นก็มี ซึ่งเขาก็เคลมว่า ถึงจะมีเกียร์ใช้มากขึ้น แต่มันทำให้เกิดระยะห่างระหว่างเกียร์มากเกินไป ทำให้เสียจังหวะและรอบขาเวลาเปลี่ยนเกียร์ในช่วงกลางๆ ของเฟือง วิธีแก้ก็คือเพิ่มจานที่เฟืองอีกหนึ่งใบให้มันสมดุลพอดี
“ด้วยเกียร์ 12 speed นักปั่นจะไม่เจอปัญหาเกียร์กระโดดอีกต่อไป เพราะงั้นไม่ว่าจะใช้เกียร์ไหนในเฟืองหรือจานหน้าก็จะได้จุดที่สมดุลดีที่สุดเสมอ, เพราะงั้นถึงเราจะเป็นนักปั่นธรรมดาๆ ก็สามารถใช้เกียร์ที่ซอยเฟืองละเอียดและสมูทเหมือนโปรสมัยก่อนที่ใช้กันแค่เฟือง 11-23” – โจชัว ริดเดิ้ล ผจก. ฝ่ายการสื่อสารของ Campagnolo กล่าว
2. ไม่ได้เพิ่มแค่เกียร์แต่ปรับใหม่ทั้งชุด
ชุดเกียร์ใหม่ของ Campagnolo ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพิ่มเกียร์ขึ้นมาหนึ่งเกียร์ในเฟืองหลัง และปรับระบบตีนผีสับจานใหม่อย่างเดียว แต่เป็นการรื้อออกแบบชุดเกียร์ในตระกูล Super Record และ Record แบบใหม่หมดจด มาทั้งฮู้ด ชิฟเตอร์ ริมเบรค ดิสก์เบรค สายเกียร์และสายเบรค รวมถึงล้อใหม่ด้วย
แต่คนที่รอเกียร์ไฟฟ้า 12 Speed นั้นคงต้องรอไปก่อนเพราะ Campy ยังไม่มีแพลนจะเปิดตัวชุดไฟฟ้า EPS 12 Speed ครับ
3. ตีนผีใหม่/ สับจานใหม่
เริ่มจากตีนผีคาร์บอนที่มากับดีไซน์ใหม่ ขนาดเล็กกระชับแต่ยาวกว่าเดิมโดยเฉพาะบริเวณขาตีนผี ลูกรอกตีนผีใช้ขนาด 12 ฟัน (จากเดิม 11 ฟัน) โดยลูกรอกตัวบนจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวล่างเล็กน้อยเพื่อให้เกียร์ขึ้นลงได้สมูทขึ้น
Campy กล่าวว่าดีไซน์ใหม่นี้จะช่วยให้โซ่อยู่ครอบเฟืองหลังได้มากขึ้น
ตีนผีตัวใหม่โครงขายาว 72.5mm และจะไม่มีรุ่นขาสั้นหรือขายาวให้เลือกอีกต่อไป เพราะตัวนี้ตัวเดียวใช้ได้กับทั้งเฟือง 11-29T และ 11-32T นอกจากนี้ยังรองรับการติดตั้งตีนผีแบบ direct mount เหมือนใน Shimano รุ่นใหม่ด้วย ซึ่งจะได้ขายึดตีนผีที่แข็งแรงกว่าเดิมและถอดเปลี่ยนล้อสะดวกขึ้น (แต่จะใช้ได้ก็ต้องรอให้เฟรมรุ่นใหม่ๆ ทำออกมารองรับก่อน)
สับจานด้านหน้าก็ปรับไม่น้อยเช่นกัน ในรุ่นนี้ Campy แยก cable arm ออกจากตัวโครงสับจานด้านนอก และปรับจุดหมุนสับจานเพื่อให้ได้เชนไลน์ตรงขึ้น
รุ่น Super Record จะใช้โครงสับจ้านที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วน Record จะใช้โลหะแทน
4. ขาจานดีไซน์ใหม่ สติฟฟ์ขึ้น
ขาจานใหม่ยังเป็นขาคาร์บอนเหมือนเดิม แต่ใช้วิธีการผลิตใหม่ซึ่ง Campy อ้างว่าตอบสนองแรงได้ดีกว่าเดิม และปรับโปรไฟล์ให้สมูทมีช่องว่างระหว่างจุดต่างๆ น้อยลงเพื่อแอโรไดนามิกที่ดีขึ้น
ขาจานยังใช้ระบบ Ultra-Torque ในการติดตั้ง มีให้เลือกสี่ขนาดเริ่มที่ 165, 170mm, 172.5mm และ 175mm
ส่วนใบจานนั้นก็ปรับใหม่เช่นกัน เคลือบผิวแบบ hard-anodized ให้ทนทานกว่าเดิม รูปทรงฟันมนกว่าเดิมเล็กน้อยในใบจานเล็กเพื่อให้สับจานได้เงียบกว่ารุ่นก่อน
เช่นเดียวกับ Shiamno, ขาจาน Campy เปลี่ยนใบจานได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนขนาดขาจาน ใบจานมีให้เลือกสามขนาด 53/39T, 52/36T และ 50/34T
แต่ที่ต้องระวังคือใบจานรุ่นใหม่จะใช้กับขาจานจากชุดขับรุ่น 11 Speed ไม่ได้
5. เบรคใหม่ทั้งดิสก์และริมเบรค
ริมเบรคใหม่ปรับหน้าตาให้สมูทและลู่ลม เลิกใช้ดีไซน์แบบ skeleton แล้ว Campy กล่าวว่ารูปทรงใหม่ดูเข้ากันกับเฟรมแอโรร่วมสมัยมากกว่า
ออปชันมีให้เลือกทั้งแบบ center mount และ direct mount รองรับยางหน้ากว้างสูงสุด 28mm ทั้งสองแบบ เบรค center mount เพิ่มชิ้นอลูมิเนียมบูสเตอร์เพื่อให้สติฟฟ์กว่ารุ่นก่อน โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเบรคหนักๆ
จุดหมุนยังใช้ระบบลูกปืนแบบเดียวกับเจเนอเรชันก่อนๆ และตอนนี้ระบบเบรคเป็น dual pivot ทั้งหน้าและหลังแล้ว
ส่วนระบบดิสก์เบรคนั้นดึงมาจากเบรค H11 Hydraulic ที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ยกเว้นฮู้ดชิฟเตอร์ที่รองรับเกียร์ 12 speed
6. เฟืองออกแบบใหม่หมด แต่ใช้กับล้อเก่าได้
เฟืองใหม่เพิ่มเกียร์มาอีกหนึ่งเกียร์แต่สำคัญสุดคือยังใช้กับล้อเก่าได้ทุกรุ่น
โครงสร้างเฟือง 12 speed ของ Campy ต่างจากเดิมเล็กน้อย เฟืองที่เล็กที่สุด 6 ใบเป็นแผ่นเหล็กแยกชิ้นกัน แต่เฟืองอีก 6 ใบ จะแบ่งออกเป็นสองก้อน ก้อนละ 3 เฟือง แต่ละก้อนทำจากก้อนโละหะชิ้นเดียว ช่วยเพิ่มความทนทานและลดน้ำหนักได้ดีกว่าดีไซน์ก่อนหน้า (แต่ก่อนใช้สไปเดอร์อลูมิเนียมเชื่อต่อใบเฟืองที่ทำจากเหล็กหรือไทเทเนียม) ส่วนสเปเซอร์ระหว่างใบเฟืองก็เปลี่ยนมาใช้อลูมิเนียมแทนพลาสติก
เฟือง 12 speed รุ่นใหม่นี้ยังใช้ได้กับโม่ 11 speed ในล้อที่มีวางขายในตลาดตอนนี้ นั่นก็เพราะใบเฟืองนั้นบางลงกว่าเดิมถึงจะมีเพิ่มขึ้น 1 เกียร์ก็ตาม ระยะห่างระหว่างใบเฟืองก็ชิดกันมากขึ้นด้วย
หมายความว่าชิ้นส่วนอื่นๆ ทั้งหมดในชุดขับ 11 speed จะไม่สามารถใช้กับกรุ๊ป 12 speed ใหม่ได้เลย
Campy ผลิตโซ่ใหม่ 12 speed เพื่อใช้กับเฟืองใหม่ด้วย ซึ่งถึงขนาดเพลตโซ่จะบางกว่าเดิมเล็กน้อยแต่ Campy ยืนยันว่าทนทานไม่แพ้รุ่นก่อนหน้า
7. ชิฟเตอร์ใหม่พร้อมสายเกียร์ที่ลื่นกว่าเดิม
ชิฟเตอร์ก็อัปเดตใหม่ด้วย แต่ยังคงฟังก์ชันการใช้งานคล้ายๆ เดิมครับ ชิฟเตอร์ Ergopower ของ Campy ที่เป็นดีไซน์แบบปัจจุบันนี้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 1992 แต่ก็ปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ มาเรื่อยๆ จนเวอร์ชันล่าสุดในกรุ๊ป 12 speed ได้เพิ่มการปรับระยะรีชสำหรับก้ามเบรคและชิฟเตอร์แล้ว
ด้านปลายของตัวก้ามเบรคก็เพิ่มความโค้งจากเดิมอีกเล็กน้อยเพื่อให้ใช้นิ้วเกี่ยวจับเบรคได้สะดวก
นอกจากนี้ยังปรับองศาต่างๆ ให้ผู้ใช้จับปุ่มเปลี่ยนเกียร์ได้สะดวกขึ้นจากตำแหน่งมือต่างๆ แต่ปุ่ม thumb shifter ไม่มีตำแหน่ง “ต่ำ” ให้เลือกใช้เหมือนในกรุ๊ป Potenza ซึ่งอาจจะมีปัญหาได้สำหรับคนที่มือเล็ก จะกดปุ่มเปลี่ยนเกียร์เวลามืออยู่แฮนด์ดรอปไม่ค่อยสะดวก
ระบบการเปลี่ยนเกียร์ต่อเนื่อง (เพิ่มเกียร์หนัก 5 เกียร์ติดต่อกัน, ขึ้นเกียร์เบา 3 เกียร์ติดต่อกัน) ยังคงมีให้ใช้
สายเกียร์ก็ปรับปรุงใหม่ ทั้งปลอกและตัวสายเองซึ่งเขาอ้างว่าลด friction จากเดิมเยอะมาก
9. Record vs Super Record
แล้วกรุ๊ป Record กับ Super Record ต่างกันยังไง?
กรุ๊ป Super Record ยังคงตำแหน่งกรุ๊ปเซ็ตไฮเอนด์ รุ่นที่แพงที่สุดของ Campagnolo อยู่ ความต่างหลักๆ ระหว่างสองรุ่นคือ Super Record จะใช้วัสดุที่น้ำหนักเบากว่าเช่นไทเทเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ รวมถึงใช้ลูกปืนเซรามิกแทนลูกปืนโลหะธรรมดาใน Record
กรุ๊ป Record (ริมเบรค) หนัก 2,213 กรัม
กรุ๊ป Super Record (ริมเบรค) หนัก 2,041 กรัม
10. ล้อ Bora ใหม่ที่ผ่านการทดสอบในอุโมงค์ลม
นอกจากจะมีกรุ๊ปเซ็ตใหม่สองรุ่นแล้ว Campy ยังเปิดตัวล้อคาร์บอนขอบสูง BORA WTO (Wind Tunnel Optimized) สองรุ่น – Bora 60 WTO และ Bora 77 WTO ทั้งคู่ผ่านการออกแบบและทดลองในอุโมงค์ลมจน Campy เคลมว่าเป็นล้อที่เร็วที่สุดในระดับความสูงนี้
ฟีเจอร์หลักๆ คือรองรับยาง Tubeless (แต่ไม่มีรุ่น tubular ให้เลือกซื้อ เพราะ Campy เคลมว่ายาง tubular นั้นช้ากว่ายางทิว์ปเลสและยางงัด) ปรับดีไซน์ดุมและซี่ล้อใหม่ให้แอโรลู่ลมกว่าเดิม
ทั้งนี้ทั้งนั้นล้อชุดนี้ไม่ได้มาแทน Bora One/ Ultra แต่ทำมาเสริมคอเลคชัน
เราพูดถึงล้อ Bora WTO อย่างละเอียดในโพสต์นี้ครับ
11. ราคาและวันวางจำหน่าย
ราคายังไม่ออกมาทุกรุ่น แต่เท่าที่เรามีข้อมูลตอนนี้คือ
Super Record (ริมเบรค) – 3,600 USD
Super Record (ดิสก์เบรค) – 3,200 USD
Record (ริมเบรค) – 2,175 USD
Record (ดิสก์เบรค) – 2,750 USD
เริ่มวางจำหน่ายประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ (ต่างประเทศ)
คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ ทางค่าย Shimano และ SRAM นั้นจะหันมาทำชุดขับ 12 speed ด้วยหรือเปล่า? สำหรับ Shimano เองคงอีกนานพอสมควรเพราะค่ายญีปุ่นเขาเพิ่งจะอัปเดตกรุ๊ปเซ็ตทั้ง Dura-Ace, Ultegra, และ 105 ไปในช่วงเวลาปีกว่าๆ ที่ผ่านมานี้เอง
ทาง SRAM เองอาจจะออกชุดขับ 12 speed เร็วกว่าเพราะเราไม่ได้เห็นอัปเดตชุดขับของทาง SRAM มาเกินสามปีแล้วครับ ยิ่งตอนนี้ที่แบรนด์ไปสนับสนุนทีม Aqua Blue Sport ที่ใช้จักรยานชุดขับแบบใบหน้าจานเดียว โอกาสที่เราจะได้เห็นเฟืองหลัง 12 speed เพื่อตอบโจทย์ระบบ 1x ยิ่งมีมากกว่าทางค่าย Shimano
ต่อจากนี้จะเป็นยังไงก็คงต้องติดตามกันต่อไปครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม: Campagnolo.com