Classics 101: สนามคลาสสิคคืออะไร?

ทำไมถึงเรียกสนามแข่งวันเดียวหลายๆ รายการว่าสนามคลาสสิค? แล้วรายการที่แข่งวันเดียวจบเราจะเรียกว่าคลาสสิคด้วยไหม? อะไรคือจุดเด่นของรายการแบบนี้? ช่วงนี้เป็นฤดูกาลแข่งขันสนามคลาสสิคอย่างเต็มตัวแล้ว แต่ DT เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้จักสนามแข่งประเภทนี้ดีเท่าไร วันนี้เราจะมาขยายความกันครับ

 

สิ่งที่เรียกว่าสนามคลาสสิค

ในแต่ละปี สนามใหญ่ๆ ที่เรานึกถึงมักจะเป็นรายการแกรนด์ทัวร์อย่าง Tour de France, Giro d’Italia, Vuelta a Espana หรืออย่างดีก็สนามชิงแชมป์โลก ที่แข่งชิงเสื้อสีรุ้งกัน สนามพวกนี้เป็นเสาหลักของวงการแข่งขันจักรยานอย่างปฏิเสธไม่ได้ครับ

แต่อีกมุมหนึ่ง ก็มีรายการแข่งขันที่เราเรียกว่า “สนามคลาสสิค” เป็นรายการแข่งขันแบบวันเดียวจบที่เก่าแก่พอๆ กับวงการแข่งขันจักรยานเลยทีเดียว

สนามพวกนี้เป็นอีกหนึ่งเสาหลักของวงการ ที่ทำให้เกมการแข่งขันครบรสชาติ ดูสนุก เพราะเกมตัดสินกันในวันเดียว ไม่มีโอกาสแก้ตัว มีเรื่องของสภาพอากาศหนาวเย็น กระแสลมแรง และเส้นทางวิบากเข้ามาเป็นอุปสรรคด้วย (ส่วนใหญ่แข่งกันในฤดูหนาว) บังคับให้เกมการแข่งขันต้องมีกลยุทธ์ซับซ้อนกว่าแค่ปั่นขึ้นให้ถึงยอดเขาเป็นคนแรกเหมือนในแกรนด์ทัวร์

 

คลาสสิครายการแรก?

ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ไปจะพบว่าสนามคลาสสิครายการแรกนั้นเริ่มมาร้อยกว่าปีแล้ว มันพัฒนามาจากงานแข่งสไตล์ใจเกินร้อยในยุโรปที่ใครๆ ก็ลงแข่งขันได้ สนาม “คลาสสิค” รายการแรกของโลกเป็น Liege-Bastogne-Liege (อ่าน: ลีเอจ-บาสโตง-ลีเอจ)​ ในเบลเยียม เริ่มแข่งในปี 1892 หรือเมื่อ 126 ปีที่แล้ว!

ความโด่งดังของลีเอจที่เส้นทางเต็มไปด้วยเนินชัน รวมระยะ elevation กว่า 5,000 เมตรและระยะทางรวม 250 กิโลเมตร ช่วยผุดสนามแข่งวันเดียวยากๆ อย่าง Paris-Roubaix ในปี 1896 ตามด้วย Il Lombardia และ Milan-San Remo ในอิตาลี ในปี 1905 และ 1907

จากนั้นเป็น Tour of Flanders อันโด่งดังในปี 1913 ทั้ง 5 รายการนี้เป็นต้นตำรับของสนามคลาสสิค และถูกเรียกรวมกันว่า “Monument”  คำนี้แปลเป็นไทยง่ายๆ ได้ว่า สนามแข่งที่เป็น “เสาหลัก” ของวงการจักรยาน และมีมาก่อน Tour de France จะเริ่มหลายปีทีเดียว

แต่ละรายการมีเอกลักษณ์และความท้าทายของตัวเอง เช่น San Remo จะเส้นทางยาวร่วม 300 กิโลเมตร, Roubaix มีเส้นทางถนนหินแบบที่รถยนต์วิ่งผ่านไม่ได้, Flanders ก็มีเนินชันเป็นสิบๆ ลูกบนถนนหิน เป็นต้น

 

คาแรคเตอร์ของสนามคลาสสิค

  • สนามคลาสสิคทุกรายการแข่งขันวันเดียวจบ
  • เส้นทางส่วนใหญ่ยาวเกิน 200 กิโลเมตร อุปสรรคขึ้นอยู่กับเส้นทางของแต่ละสนาม เช่นมีเนินต่อกันหลายสิบลูก มีเส้นทางวิบากต่อกันหลายสิบกิโลเมตร หรือมีระยะทางยาวมากๆ
  • แทบทุกรายการแข่งในช่วงฤดูหนาว/ใบไม้ผลิ ราวๆ เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
  • เกมเร็ว แรงและเด็ดขาด การตัดสินใจพลาดแค่วินาทีเดียวก็ทำให้แพ้ได้ง่ายๆ ต่างกับสเตจเรซที่เกมยืดกว่าและมีโอกาสแก้ตัวในวันต่อๆ ไป
  • ชมสนุก แต่ละทีมต้องอาศัยมากกว่าความแข็งแกร่ง ทีมเวิร์ก กลยุทธ์ โชค มีอิทธิพลต่อผลแพ้ชนะ เกมไม่ยืดเยื้อ ไม่ต้องรอชมติดต่อกันหลายวัน

แต่ทั้งนี้เราสามารถแบ่งรายการคลาสสิคได้เป็นสองแบบใหญ่ๆ ครับ

 

1. Cobbled Classics

สนามคลาสสิคที่มีเส้นทางเป็นถนนหินผสมในเส้นทาง ถนนหินพวกนี้จะเป็นก้อนอิฐบล็อก (cobble) ที่ใช้ปูเป็นเส้นทางคมนาคมของคนสมัยก่อน มีเนินชันเยอะ (ยกเว้น Roubaix ที่เป็นทางราบสนิท)

ทุกรายการยกเว้น Paris-Roubaix จะแข่งกันในประเทศเบลเยียม สนามพวกนี้ก็เช่น E3 Harelbeke, Gent-Wevelgem, Omloop Het Nieuwsblad รายการใหญ่สุดของ Cobbled Classics คือ Tour of Flanders และ Paris-Roubaix ใครได้แชมป์สองรายการนี้ก็เทียบได้กับได้แชมป์ Giro d’Italia / Tour de France

นักแข่งที่เก่งในสนามพวกนี้จะมีคาแรคเตอร์คล้ายๆ กันคือตัวใหญ่ อึดทนต่อสภาพอากาศและทางวิบาก สปรินต์ได้ดี ขึ้นเนินสั้นๆ ได้ไว เบรคอเวย์หนีคนเดียวได้

นักปั่นที่เชี่ยวชาญในเปโลตองตอนนี้ก็เช่น: เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC), ปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe), เซป ฟานมาร์ค (Cannondale), อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (UAE) ในอดีตก็เช่น เฟเบียน แคนเชอลารา และทอม โบเน็น

 

2. Ardennes Classics

อาร์เดนส์คลาสสิค เป็นสนามวันเดียวอีกประเภท เอกลักษณ์คือมีเนินชันเยอะมากตลอดเส้นทางแข่งขัน เนินพวกนี้จะสูงและชันกว่าในสนาม Cobbled Classics แต่ไม่สูงเท่าภูเขาในสเตจเรซ ความท้าทายคือการปีนเนินต่อเนื่องตลอดระยะทาง 200-250 กิโลเมตร เพราะงั้นคนที่ถนัดรายการอาร์เดนส์จะตัวเล็ก บางเพรียวกว่าใน Cobbled Classics บางครั้งพวกตัวเต็งแกรนด์ทัวร์ก็แข่งในรายการพวกนี้ได้ดีด้วย

นักปั่นที่ถนัดสนามแบบนี้เช่น ฟิลลิป จิลแบร์ (Quickstep), มิฮาล เควียทคอฟสกี้ (Sky), อเลฮานโดร วาวเวอเด้ (Movistar), ไมเคิล แมธธิวส์ (Sunweb)

 

สนาม “กึ่งคลาสสิค”​ คืออะไร?

นอกจากรายการระดับ Monuments แล้ว ก็ยังมีสนามสไตล์คลาสสิคที่เล็กกว่าอีกหลายรายการ ถึงจะไม่ได้มีศักดิ์ศรีเท่าการได้แชมป์ Monuments แต่สนาม “กึ่งคลาสสิค”​ พวกนี้ก็ใช้เค้นฟอร์มและดูเชิงคู่แข่งก่อนถึงสนามใหญ่ได้เป็นอย่างดีครับ สนามพวกนี้โปรเรียกว่า ‘semi-classics’ ส่วนใหญ่ไม่เก่าแก่เท่ารายการ Monuments

แล้วสนามพวกนี้มีอะไรบ้าง? ก็เช่น Omloop Het Nieuwsblad, Kuurne-Brussel-Kuurne, Le Samyn, Dwars Door Vlaanderen, E3 Harelbeke, Gent-Wevelgem, Amstel Gold, และ Flèche Wallonne เป็นต้น

ปีหลังๆ มานี้มีรายการสไตล์คลาสสิคที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาและเส้นทางก็ตื่นเต้นเร้าใจเช่นกัน แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เช่น Strade Bianche ในอิตาลี, Tro bro Leon ในบริททานี, GP Quebec และ GP Montreal ในแคนาดา และ Classica San Sebastian ในสเปน

ส่วนใหญ่แล้ว โปรที่ชนะในรายการใหญ่อย่าง Flanders/ Roubaix / Liege มักจะทำผลงานได้ดีในรายการ semi-classics ก่อนเสมอ เพราะรายการคลาสสิคหลายๆ รายการใช้เส้นทางร่วมกัน การได้ลองสนาม ลองเชิงคู่แข่งก่อนถึงรายการใหญ่ก็เป็นเรื่องจำเป็น

ทอม โบเน็นเคยกล่าวว่า “ถ้าคุณจะชนะ Tour of Flanders หรือ Paris-Roubaix คุณต้องลงแข่งอย่างน้อย 5-6 ครั้ง – 3-4 ครั้งแรกเพื่อคำความรู้จักเส้นทางและเก็บประสบการณ์ ครั้งที่ 4 หรือ 5 นั่นแหละที่คุณจะเข้าใจมันมากพอจะชนะได้”

 

ทำไมตัวเต็งแกรนด์ทัวร์ไม่ลงแข่งรายการคลาสสิค?

ก็มีหลายคนสงสัยว่า ทำไมนักปั่นอย่าง คริส ฟรูม (Sky), หรือไนโร คินทานา (Movistar) ไม่มาลงแข่งรายการคลาสสิคบ้าง? คำตอบง่ายๆ คือสนามพวกนี้ไม่เหมาะกับลักษณะกายภาพของพวกตัวเต็ง GC ครับ

การจะเป็นนักแข่งแกรนด์ทัวร์ที่ดีคือต้องไต่เขาเก่ง จะไต่เขาเก่งก็ต้องตัวผอมเพรียวบาง ลดน้ำหนักให้ได้มากที่สุด แต่การที่น้ำหนักตัวและไขมันน้อยก็หมายความว่าคุณจะไม่ทนต่อสภาพอากาศหนาว และไม่ทนต่อทางวิบากสะเทือน น้ำหนักตัวน้อยก็กระดอนง่าย เจ็บง่าย และเสียการทรงตัว

เพราะงั้นแล้วนักแข่ง GC จะไม่เปลืองตัวมาลงแข่งรายการคลาสสิค ช่วงเวลาเดียวกันที่มีสนามคลาสสิคก็มีสเตจเรซ อีกหลายรายการให้ลงครับ

DT ได้คุยกับแอนดี้ ชเล็ค อดีตแชมป์ Tour de France 2010 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ก็ถามเขาเหมือนกันว่าทำไมไม่ลงแข่งรายการคลาสสิคบ้าง เขาบอกทันทีเลยว่า ไม่มีลุ้นแน่นอน ร่างกายมันไม่ให้ ไม่คุ้มที่จะล้มเจ็บแล้วต้องพักแข่งหลายเดือน แต่ก็เป็นสนามที่เขาอยากลองแข่งมากที่สุดเหมือนกัน

ทั้งนี้ แกรนด์ทัวร์หลายๆ รายการก็เริ่มเอาเส้นทางคลาสสิคมาผสมในบางสเตจด้วย เพราะงั้นพวกตัวเต็ง GC ก็ต้องหัดขี่เส้นทางแบบนี้ให้ดีเหมือนกัน อย่างใน Tour 2014 คินทานาและคอนทาดอร์เสียเวลาไปหลายนาทีในสเตจที่ใช้ถนนร่วมกับ Paris-Roubaix เพราะไม่ถนัดทางแบบนี้ เปิดโอกาสให้วินเชนโซ นิบาลี (รูปบน) ทิ้งห่าง จนกลายเป็นระยะห่างที่ทำให้เขาได้แชมป์รายการในที่สุด

 

สนามคลาสสิครายการไหนน่าติดตามบ้าง?

สำหรับปี 2018 รายการคลาสสสิคที่เหลือจะมีตามนี้ครับ

25 มีน: Gent-Wevelgem
28 มีนา: Dwars Door Vlaanderen
1 เมษา: Tour of Flanders
8 เมษา: Paris-Roubaix
15 เมษา: Amstel Gold Race
18 เมษา: La Fleche Wallonne
22 เมษา: Liege-Bastogne-Liege
29 กรกฏา: Prudential Ride London Classics
4 สิงหา: Classica San Sebastian
7 กันยา: GP Quebec
9 กันยา: GP Montreal
30 กันยา: ชิงแชมป์โลกจักรยานถนน
13 ตุลาคม: Giro d’Lombardia

ติดตามชมถ่ายทอดสดทุกรายการได้ที่ duckingtiger.com/live

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!