Classics 101: สนามคลาสสิคมีรายการอะไรบ้าง?

คำว่า คลาสสิค โดยทั่ว ๆ ไปแล้วหมายถึง “สิ่งที่กาลเวลาพิสูจน์ว่าทรงคุณค่า” ยกตัวอย่างเช่น ละครเวที The Sound Of Music หรือภาพยนตร์ Titanic เป็นต้น สังเกตว่าโดยนิยามแล้วจะต้องมีองค์ประกอบสองประการ คือ “ต้องเก่า” และ “ต้องเก๋า” (ทรงคุณค่า)

ในทางการแข่งจักรยาน คำนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อหมายถึงรายการแข่งจำนวนหนึ่งที่ทั้ง “เก่า” และ “เก๋า” เป็นรายการแข่งที่ทรงคุณค่า ชนะยาก ทำให้ผู้ชนะถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของวงการ นักแข่งทั้งหน้าเก่าและใหม่ก็มุ่งหมายจะคว้าชัยในสนามเหล่านี้ แฟน ๆ ก็ตั้งหน้าตั้งตารอชมการแข่งขันกันอย่างกระตือรือร้น และพื้นที่ที่การแข่งขันวิ่งผ่านถูกเปลี่ยนให้เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่และชื่นมื่น

ปัญหาที่สำคัญของ “สนามคลาสสิค” คือจริง ๆ แล้วมันไม่มีนิยามตายตัวครับ ไม่มีใครกำหนดไว้ว่า “เก่า” นี่ต้องเกิดก่อนปี ค.ศ. ใด และคำว่า “เก๋า/ทรงคุณค่า” นี่วัดจากอะไร ทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) เองก็ไม่เคยเข้ามานิยามและตีกรอบสนามคลาสสิคให้แน่ชัด

ดังนั้นรายชื่อสนามคลาสสิคที่ครบถ้วนและถูกต้องจึงไม่มีอยู่จริง แน่นอนล่ะ คงไม่มีใครเถียงกันว่า Tour of Flanders นี่นับเป็นสนามคลาสสิคมั้ย แต่อย่าง Omloop Het Nieuwsblad ล่ะ เป็นคลาสสิคหรือเปล่า บางคนก็ว่าเป็น บางคนก็ว่าเป็นแค่เซมิคลาสสิค คือเก่าแหละแต่ยังไม่เก๋าพอ แล้วสนาม Hamburg Cyclassics นี่มีคนรู้จักแค่ไหนกันเชียว

แล้วในบรรดา “สนามคลาสสิค” ก็มีแยกย่อยไปอีก เป็น Spring Classics, Cobbled Classics, Ardennes Classics สับสนไปหมด

◆ ⬥ ◆

วันนี้ DT จะมาแบ่งประเภทสนามคลาสสิคให้เห็นภาพกันมากขึ้นครับ จากที่กล่าวไปข้างต้น รายชื่อในแผนภาพนี้ก็คงไม่ครบถ้วนทั้ง 100% เพราะมันไม่มีนิยามชัดเจน อย่างไรก็ดี เราจะอธิบายโดยอิงค่านิยมที่คนส่วนใหญ่ยึดถือกันเป็นหลัก

classics

ความหมายของสนามคลาสสิค

เริ่มจากคำว่า “คลาสสิค” ก่อน คือนอกจากต้องเก่าและเก๋าแล้ว ยังมีคุณสมบัติร่วมกันอีก 1 อย่าง คือเป็นการแข่งวันเดียวจบ (one-day races) ซึ่งตรงข้ามกับการแข่งขันแบบสเตจเรซ (stage races) ที่แข่งกันหลาย ๆ วันแล้วเอาผลลัพธ์มาบวกรวมกัน

นั่นหมายความว่าสนามคลาสสิคเป็นของผู้ที่กล้าจะเสี่ยง ผู้ที่แข่งแกร่งที่สุดของวันนั้น เส้นทางนั้นเท่านั้น ไม่มีโอกาสแก้ตัว ไม่ชนะก็รอไปอีก 1 ปีเต็ม ๆ มันเป็นสเน่ห์ที่ดึงดูดผู้ชมได้อย่างดี อย่างที่ฮีโร่ชาวเบลเยี่ยม ฟิลลิป จิลแบร์ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสาร Rouleur ว่า “[การแข่งสเตจเรซ]มันไม่ได้แข่งเพื่อชนะนะคุณสังเกตไหม คุณแข่งเพื่อไม่ให้แพ้มากกว่า มันไม่เหมือนกันเลย คุณอาจจะทำเหมือนคริส ฟรูมในตูร์ฯปี 2017 ก็ได้ คือคุณชนะรายการโดยไม่ชนะสักสเตจหนึ่ง […] มันสนุกตรงไหนกัน?”

ถ้าเทียบว่าสเตจเรซคือภาพยนตร์ซีรีย์ดังที่ฉายกันเป็นซีซั่น สนามคลาสสิคก็คงเหมือนภาพยนตร์แอคชั่น บู้เลือดสาด ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ และจบใน 90-120 นาที

แล้วเราจะแบ่งประเภทเส้นทางคลาสสิคได้ยังไงบ้าง?

a.) แบ่งตามฤดูกาล

ในบรรดาสนามคลาสสิค ก็จะถูกแบ่งย่อยได้ตามฤดูกาลที่มันจัด คือฤดูใบไม้ผลิ (Spring Classics) ฤดูร้อน (Summer Classics) และฤดูใบไม้ร่วง (Autumn Classics) อย่างไรก็ดี ในบรรดา 3 ฤดูที่กล่าวมา Spring Classics นั้นมีชื่อเสียงมากกว่าอีกสองฤดูมาก ๆ เพราะในฤดูร้อน ความสนใจจะไปอยู่กับแกรนด์ทัวร์เสียมากกว่า ส่วนในฤดูใบไม้ร่วง คนก็เริ่มเอียนจักรยานกันแล้วหลังจากดูกันมาตลอดปี ในบทความนี้จะพูดถึง Spring Classics เป็นหลัก

สเน่ห์ของ Spring Classics คือการแข่งถูกจัดขึ้นในช่วงที่อากาศหนาวยังพ้นไปไม่เสร็จดี อากาศแถบยุโรปตอนเหนือยังหนาวยะเยือก ประมาณ 0-10 องศาเซลเซียส ฟ้าครึ้ม ฝนยังตกประปราย ว่าง่าย ๆ คือไม่ใช่อากาศที่น่าปั่นจักรยานเลย (Milan-San Remo ปี 2013 หิมะตกหนักจนผู้จัดต้องยกเลิกถนนข้ามช่องเขาบางส่วน แล้วเอานักแข่งขึ้นรถบัสข้ามไปอีกฝั่งเพื่อแข่งต่อด้วยซ้ำ) การปั่นจักรยานท่ามกลางธรรมชาติที่ทรหดนี้ดึงดูดคนได้ดีเพราะการแข่งมันดูยิ่งใหญ่

Spring Classics นั้นประกอบด้วย Milan-San Remo + Cobbled Classics + Ardennes Classics ซึ่งจะอธิบายต่อไป

 

b.) แบ่งตามสภาพเส้นทาง

การจำแนกแบบที่สองเราแบ่งตามเส้นทางครับ แบบแรกเรียก Cobbled Classics คือมีช่วงเส้นทางการแข่งที่เป็นถนนหิน จนเป็นเอกลักษณ์ของสนามประเภทนี้ อีกแบบเรียก Ardennes Classics คือเส้นทางมีเนินชันที่อยู่ในแคว้นอาเดนส์ในเบลเยียม

 

Cobbled Classics

คือสนามที่มีบางส่วนของเส้นทางเป็นถนนที่ปูพื้นด้วยอิฐก้อน (Cobble) รายการพวกนี้มักจัดอยู่แถวตอนเหนือของภูมิภาคฟลานเดอรส์ในประเทศเบลเยี่ยม และทางตอนเหนือของฝรั่งเศส โดยมีรายการหลัก ๆ อยู่ 4 รายการคือ E3 Harelbeke, Gent-Wevelgem, Tour of Flanders, และ Paris-Roubaix ซึ่งถือเป็นสนามถนนหินที่ทรงคุณค่าที่สุด

เวลานับสถิตินักแข่งเพื่อเข้าหอประวัติศาสตร์ว่า “ใครเป็นนักแข่งคลาสสิคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” (คำตอบ: ทอม โบเนน) ก็จะนับกันเฉพาะจำนวนครั้งที่ชนะ 4 สนามนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึง Cobbled classic “season” (ฤดูกาล) เรามักเหมารวมสนามเล็ก ๆ ที่เก่า ก็มีถนนหิน แต่ไม่เก๋าเท่า เข้าไปด้วย สนามพวกนี้ก็เช่น Omloop Het Nieuwsblad, Kuurne-Brussels-Kuurne, Dwars dor Vlaanderen, Nokere Koerse, Le Samyn, ฯลฯ เป็นต้น

สนามเล็ก ๆ พวกนี้ก็จะถูกจัดขึ้นแซม ๆ อยู่กับสนามใหญ่นี่แหละ ทำให้แฟน ๆ มีการแข่งให้ติดตามชมต่อเนื่องไม่ขาดสาย โดยสนามแรกที่เปิดฉาก Cobbled classic season คือ Omloop Het Nieuwsblad ซึ่งจัดวันเสาร์ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และสนามที่ปิดฉากคือ Paris-Roubaix ซึ่งจัดวันอาทิตย์ต้นเดือนเมษายน ดังนั้น Cobbled classic season จึงกินระยะเวลาประมาณเดือนครึ่งนั่นเอง โดยมี Milan-San Remo สนามคลาสสิคที่เส้นทางยาวไกลที่สุดของวงการ (แต่ไม่มีถนนหิน แค่จัดช่วงเวลาเดียวกัน) แทรกกลางอยู่ 3 สัปดาห์หลังจาก Omloop Het Nieuwsblad

สังเกตว่าในแผนภาพ กลุ่มสนาม Cobbled Classics จะใช้เส้นประล้อมรอบ เพราะไม่มีนิยามชัดเจน พูดกันบางครั้งก็หมายถึงแค่ 4 สนามหลัก บางครั้งก็รวมเอาสนามเล็ก ๆ เข้าไปด้วย

 

Ardennes Classics

หลังจากปิดฉาก Cobbled Classics ปุ๊บ อีกกลุ่มรายการที่ก็ “คลาสสิค” เหมือนกัน คือเก่าและทรงคุณค่าเหมือนกัน ก็ตามมาในวันอาทิตย์ถัดจาก Paris-Roubaix ทันที เราเรียกกลุ่มรายการนี้ว่า Ardennes Classics (อาเดนส์ คลาสสิค) ซึ่งเป็นชื่อของป่าอาเดนส์ในทางตอนใต้ของเบลเยี่ยม สภาพภูมิประเทศแถวนี้เต็มไปด้วยหุบเขาและสันเขาเตี้ย ๆ สลับกันไปมาจำนวนมาก ทำให้เส้นทางการแข่งจักรยานแถวนี้เป็นทางแบบ “โรลลิ่ง” ทั้งหมด

ถึงแม้จะชื่อว่า “คลาสสิค” เหมือนกับ Cobbled Classics แต่ความเหมือนกันมีแค่ความเก่าและทรงคุณค่าเท่านั้น แต่เส้นทางและตัวเต็งไม่เหมือน Cobbled Classics เลย กล่าวคือ Ardennes Classics ไม่มีถนนหินแล้ว มีแต่เนิน เนิน เนิน แล้วก็เนิน เป็นเนินสั้น ๆ ที่โปรปั่นจบใน 1-3 นาที แล้วทำซ้ำไป 10-20 ครั้ง ทำให้ตัวเต็งเปลี่ยนจากนักแข่งตัวหนา ๆ กำลังบิดสูง ๆ มาเป็นพวกนักระเบิดเขาตัวจี๊ด ๆ แทน ในยุคปัจจุบันก็เช่น ฟิลลิป จิลแบร์, จูเลียน อลาฟิลลิป, แดน มาร์ติน, และ อเลฮานโดร วาลเวอเด้ เป็นต้น

Ardennes Classics นั้นมีนิยามชัดเจน คือประกอบด้วย 3 รายการเท่านั้น เริ่มจาก Amstel Gold Race ซึ่งจัดวันอาทิตย์ สัปดาห์เดียวหลัง Paris-Roubaix แล้วต่อด้วย La Flèche Wallone วันพุธ และ Liège-Bastogne-Liège วันอาทิตย์อีกที แล้วจึงเป็นการปิดฤดูกาล Spring Classics โดยสมบูรณ์ สังเกตว่าในแผนภาพจะใช้เส้นทึบล้อมรอบ Ardennes Classics ไว้เพราะมีนิยามชัดเจน

 

c.) แบ่งตามเกียรติยศ

ท้ายที่สุดนี้ ในบรรดาสนามคลาสสิคทั้งหมด มีอยู่ 5 สนามที่ได้รับเลือกและมีนิยามชัดเจนว่าทรงคุณค่าที่สุด ทรงเกียรติที่สุด เราเรียกมันว่า Monuments หรือ “เสาหลัก” (ของวงการแข่งขันจักรยานอาชีพ) โดย 4 ใน 5 สนามก็อยู่ใน Spring Classics นี่แหละ ได้แก่ Milan-San Remo, Tour of Flanders, Paris-Roubaix, และ Liège-Bastogne-Liège

Giro d’Lombardia

ส่วนเสาหลักสนามสุดท้ายเป็นส่วนหนึ่งของ Autumn Classics (สนามคลาสสิคฤดูใบไม้ร่วง) คือ Giro di Lombardia ในภูมิภาคลอมบาร์ดี้ของอิตาลี รายการนี้เป็นของนักไต่เขาสายบริสุทธิ์ทั้งหลาย เพราะต้องข้ามภูเขาลูกใหญ่ ๆ หลายลูก elevation gain ตลอดสนามประมาณ 4,000-5,000 เมตร ผู้ชนะในอดีตก็เช่น วินเชนโซ นิบาลี, เอสเตบาน ชาเวซ, แดน มาร์ติน, และโยอาคิม รอดริเกซ เป็นต้น

 

สรุป

จักรยานถนนเป็นจักรยานที่แข่งกันมายาวนานเป็นร้อยปีในหลายประเทศของยุโรป ทีมและนักแข่งต้องเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อแข่งขัน และแต่ละชาติก็แย่งกันสร้างรายการแข่งเพื่อดึงดูดคนเข้ามาในพื้นที่ของตน ไม่มีลักษณะเป็นลีกหรือทัวร์นาเมนต์ชัดเจนแบบฟุตบอล ไม่มีใครที่เป็นเจ้าของลีกที่กุมบังเหียนทั้งหมดแต่ผู้เดียว จึงเป็นเหตุให้รายการแข่งต่าง ๆ ไม่มีแบบแผนชัดเจน อยู่กระจัดกระจาย และเข้าใจยาก

เราก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยอธิบายให้ผู้อ่าน DT ของเราเห็นภาพรวมของการแข่งสนามคลาสสิคมากขึ้นนะครับ

◆ ⬥ ◆

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott