From Past to Present: จากรุ่นสู่รุ่น จากกลไกสู่ไฟฟ้า

Editor’s Note: บทความนี้เขียนโดยคุณ Gong Changrien, contributor ที่มาช่วย DT เขียนบทความเจ๋งๆ บ่อยๆ ครับ 

กว่าที่จะมีวันนี้วันที่ชุดขับต่างๆมีรุ่นให้เลือกมากมายหลากหลาย ทั้งยี่ห้อ, จำนวนเฟือง, ระบบที่เป็นกลไกและไฟฟ้า การพัฒนาและวิวัฒนาการของสิ่งเหล่านี้ผ่านการเวลามาอย่างยาวนาน แก้ไขส่วนผิดพลาด เพิ่มเติมส่วนที่ขาด การทำให้ระบบการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น หรือ แม้แต่ปรับแต่งเพื่อให้มีความสัมพันธ์กับผู้ขี่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน วันนี้เราจะมาย้อนอดีตกันว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ค่ายต่างๆชุดขับต่างๆ ได้ถูกพัฒนามามากมายเพียงใด อดีตที่น่าสนใจที่ทำให้เราได้ใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในทุกวันนี้…

stage_3-9e47dccb2e2fbf8dd30b2cfc7de0d985

จุดเริ่ม…เมื่อมีการแข่งขันจักรยาน

ในช่วงยุคแรกเริ่มของการแข่งขันจักรยานทางไกล รถทุกคันล้วนไม่มีเกียร์ เพราะเป็นการพัฒนามาจากจักรยานสำหรับแข่งในเวโลโดรม เพียงแต่มีลักษณะขององศาเฟรมที่แตกต่างกันไป ฐานล้อยาวกว่า ลักษณะเฟรมที่ทำให้ขี่สบายกว่า แต่ทุกอย่างย่อมมีจุดเริ่มต้น การเริ่มต้นพัฒนาเกิดขึ้นจากชุดเกียร์ 3 สปีดของ Super Champion จากประเทศอังกฤษ และถึงแม้จะไม่ได้รับความนิยม และการพัฒนาต่อยอดจากจุดนั้นเท่าที่ควรจะเป็น แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นของการมาของกรุ๊ปเซ็ต และ คอมโพเนนท์จากยี่ห้อต่างๆ รวมถึงอีกหนึ่งยี่ห้ออย่างที่เราทราบกันดีว่าการมาของยี่ห้อนี้ทำให้เกิดการพัฒนามากมายและเกิดเป็นความแพร่หลาย รวมถึงความนิยมในการใช้แข่งขันก็คือ Campagnolo จากอิตาลี

stage_2-fd161ccc5e7d2808de62a405e6217747

การปฏิวัติวงการจักรยานของทูลิโอ คัมปัญโญโล

ทูลิโอเริ่มต้นจากนักปั่นสมัครเล่นคนนึงในยุคต้นของจักรยาน เค้าไม่มีผลงานการแข่งขันอันโดดเด่น รวมถึงการประสบปัญหาเวลาแข่งขันเช่นนักปั่นคนอื่นๆ แต่นั่นก็เองจากการเป็นนักแข่งทูลิโอจึงเห็นข้อบกพร่องของจักรยานที่ใช้อยู่และกลายมาเป็นผู้พัฒนา และคิดค้นสิ่งต่างๆมากมาย

“แกนปลด” จุดเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ เป็นหนึ่งในสิทธิบัตรกว่าร้อยรายการภายใต้ชื่อของ Campagnolo เกิดจากการที่ในระหว่างแข่งขันตัวเค้าเองไม่สามารถถอดน็อตล้อเพื่อสลับเฟืองท้ายได้ ในที่สุดแกนปลดก็ออกสู่ท้องตลาดในปี 1933 และยังเป็นอุปกรณ์พื้นฐานมาจนถึงทุกวันนี้ใน

แกนปลดชิ้นแรก นวัตกรรมจากคัมปัญโญโล
แกนปลดชิ้นแรก นวัตกรรมจากคัมปัญโญโล

ขณะที่การต่อยอดก็ยังมีต่อมาในปีถัดมากับชุดดุมแกนปลดพร้อมชุดเกียร์ที่มีแท่งสไลด์สำหรับเปลี่ยนเกียร์ในชื่อ Cambio “CAMPAGNOLO” และพัฒนาต่อมาเป็นชื่อใหม่ว่า Cambio Corsa ในภายหลังโดยมีสองรุ่นคือ แกนสั้น และ แกนยาวให้เลือกใช้ และชุดเกียร์นี้ก็เป็นตัวสร้างชื่อตัวแรกให้กับ Campagnolo ในการแข่งขันหลังจากได้แชมป์ในปี 1948 ที่ Gino Bartali ชนะโดยใช้ชุดเกียร์ Corsa 1001 หรือก็คือ Cambio Corsa รวมทั้ง ฟอสโต คอปปิในสนามแข่ง Paris-Roubaix ที่ใช้ชุดเกียร์ Paris-Roubaix 1002 ซึ่งก็คือตัวที่มีพื้นฐานจาก Cambio Corsa เช่นเดียวกัน

Campagnolo Record - "กรุ๊ปเซ็ต" จักรยานชุดแรกในโลกที่ออกวางตลาดในปี 1956
Campagnolo Record “กรุ๊ปเซ็ต” จักรยานชุดแรกในโลกที่ออกวางตลาดในปี 1956

แล้วทำไมถึงไม่ทำชุดเกียร์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแกนโยกอย่างเดิมๆล่ะ?

คำถามนั้นเกิดขึ้นกับทูลิโอว่าทำไมจึงไม่ทำชุดเกียร์ที่ลดภาระของโซ่ ลดความเสียดทานจากชุดลูกรอก และการเสียดสีจากตัวเปลี่ยนเกียร์ รวมทั้งการทำให้ชุดเกียร์ที่ง่ายต่อการใช้งานของนักปั่นที่มากกว่า นั่นจึงเป็นที่มาของการที่ชุดเกียร์ใช้สายสลิง ตีนผีหลังสำหรับเปลี่ยนอัตราทด รวมถึงมีชุดเปลี่ยนเกียร์ที่ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น “Gran Sport” ชุดเกียร์ที่เป็นสายสลิงจึงได้เกิดขึ้นมาในปี 1950

และนั่นเองเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการจักรยาน Campagnolo ยังเดินหน้าพัฒนาชุดขับต่างๆออกมาหลังจากนั้น มีการทำรุ่นที่ถูกลง หรือ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น อย่างชุดขับสำหรับ Cyclo-Cross หรือ Track จนกระทั่งในปี 1956 Campagnolo Record ก็ได้ถูกเผยต่อสายตาสาธารณะชน ที่มาพร้อมเกียร์ 6 สปีด และการพัฒนาใหม่ในหลายๆส่วน ซึ่งหลังจากนั้นก็ยังพัฒนาต่อมาเป็นรุ่นต่างๆอย่าง Nuovo Record, Record Corsa รวมทั้ง Super Record ซึ่งแน่นอน จากการพัฒนาในครั้งนี้ ย่อมไม่ได้มีบริษัทเดียวที่จะกินส่วนแบ่งทางการตลาด บริษัทยักษ์ใหญ่จากทางญี่ปุ่นก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ และนั่นจริงเป็นที่มาของ Dura-Ace ในปี 1972 

da2

Shimano กับการพัฒนาแบบขั้นบันได

ถ้าการที่ Campagnolo มีการพัฒนาหลายๆรุ่นพร้อมๆกัน Shimano ก็ดูจะได้เปรียบกว่าจากการที่พัฒนากรุ๊ปเซ็ทรหัส 700 หรือในชื่อ Dura-Ace เพียงรุ่นเดียว แล้วพัฒนาต่อเนื่อง ส่วนรุ่นอื่นก็รับเทคโนโลยีตามขั้นบันไดลงมา โดยผลักเทคโนโลยีเก่าไล่ลงไปหารุ่นที่ต่ำกว่า หลังจากการเปิดตัวในปี 1972 ก็ยังไม่สามารถตีตลาดได้มีความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ จนกระทั่งในปี 1984 ที่ Shimano พัฒนาระบะบ SIS หรือ Shimano Indexing System นั่นเป็นจุดที่ทำให้ Shimano เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมาแม้จะมีจุดผิดพลาดบ้างเล็กๆน้อย หลังจากนั้น Shimano ยังพัฒนา Dura-Ace อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการพัฒนาเพิ่ม ก็ดันเทคโนโลยีเก่าลงไปหารุ่นรองเพราะ shimano ไม่ต้องการให้คนที่ใช้กรุ๊ปในรุ่นเก่าต้องถูกตัดทิ้งในเรื่องอะไหล่ไป ฉะนั้นจึงยังมีอยู่แต่ลงไปอยู่ในตัวรองลงไปอย่าง 600 (Ultegra) และรองลงไปอีกอย่าง 500 (105)

1975 Shimano Dura-Ace

และถ้าจุดเปลี่ยนในวงการจักรยานของ Campagnolo คือ แกนปลดและ Groupset แน่นอนว่า Shimano ก็คือ SIS และที่สำคัญที่สุดคือ STI (Shimano Total Integration) หรือ มือตบที่เรารู้จักเป็นอย่างดี ระบบ STI ถูกนำมาใช้ในปี 1990 โดยพัฒนามาจาก ระบบ Rapidfire ของเสือภูเขาอีกที และการพัฒนามือตบนี่เองที่ทำให้ผู้มาก่อนอย่าง Campagnolo มีการสั่นคลอน ต้องไปจับมือร่วมกับ Sachs (ภายหลังถูกเข้าซื้อโดย Sram ในปี 1997) เพื่อพัฒนามือตบ ErgoPower ออกมาแข่งขันในปี 1992 หลังจากเพลี่ยงพล้ำไปแล้วในช่วงเวลานั้น โดยทั้งสองแตกต่างกันที่กลไกการดึงสลิง และ การใช้งานนิดหน่อยในส่วนของปุ่มและแกนโยกต่างๆที่นำมาใช้งาน

shi vs cam
Shimano หลักๆจะใช้แค่ 2 ก้าน คือ main lever จะใช้ สำหรับเบรคและการขึ้นเฟืองใหญ่(หรือจานใหญ่) ไว้ด้วยกัน และ release lever สำหรับการลงมาที่เฟืองเล็ก(หรือจานเล็ก)  Campagnolo จะแยกปุ่มและก้านสับเกียร์/เบรค ออกจากกัน ถ้าต้องการเปลี่ยนเกียร์ขึ้นเฟืองใหญ่และจานใหญ่ จะใช้ก้านหลังเบรค ในขณะที่เปลี่ยนเกียร์ลงเฟืองเล็กและจานเล็ก ใช้ก้านบริเวณนิ้วโป้ง

ซึ่งจากวันนี้มาจนถึงวันนี้ทุกกลไกยังทำงานเหมือนเดิมเพิ่มเติมไปที่จำนวนอัตราเฟืองทดที่มากขึ้น มาจนถึงในช่วงเวลาหนึ่งที่เกิดคำถามว่าแล้วจะพัฒนายังไงต่อไป การเปลี่ยนเกียร์ที่แม่นยำมากขึ้น ทำงานได้ไวขึ้น กรุ๊ปเซ็ทไฟฟ้าคือทางออก

EPS module

Electronic Groupset, พลิกโฉมหน้าใหม่ของวงการจักรยาน

ผมจะขอย้อนไปถึงกรุ๊ปเซ็ทไฟฟ้า ที่ใช้งานจริงในการแข่งขัน จริงๆแล้วมีมาตั้งแต่ยุค 90’s จากบริษัทในฝรั่งเศส ที่ทำล้อและชิ้นส่วนต่างๆสำหรับจักรยานที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ใช่แล้วครับ “Mavic”

Mavic เริ่มพัฒนาตีนผีไฟฟ้าในปี 1992 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ Campagnolo เริ่มพัฒนาชุดขับไฟฟ้าตัวแรกเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาต่อยอดมาในยุคปัจจุบัน Mavic Zap คือชื่อของชุดเกียร์ไฟฟ้าที่ Mavic ทำออกมา โดยในปี 1994 และ 1997 ชุดเกียร์ชุดนี้ยังสามารถพา Chris Boardman ได้แชมป์ Prologue ของ Tour de France ได้โดยไม่มีข้อบกพร่องใดๆ หรือถ้ามีก็เป็นเพียงขอบกพร่องเล็กๆน้อยๆที่ชุดเกียร์ปกติก็พึงจะเกิดได้ และถึงแม้จะไม่มีการทำขายในท้องตลาด ในปี 1999 Mavic ยังคงพัฒนาชุดเกียร์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยการปรับปรุงจาก Zap มาเป็น Mektronic ซึ่งหลักๆที่พัฒนาไปก็คือ การเป็นชุดเกียร์ไร้สายที่ใช้สัญญาณวิทยุในการนำคำสั่ง

การทำงานของชุดเกียร์ไฟฟ้า Mavic Zap รุ่นปี 1992

แต่ในครั้งนี้ Mektronic ไม่สามารถจะทำให้ดีได้เหมือน Zap สัญญาณมีความหน่วงกว่าสั่งให้เกียร์เปลี่ยน บางครั้งชุดเกียร์ไม่ตอบสนอง นั่นจึงเป็นครั้งสุดท้ายที่ Mavic ได้ทำชุดเกียร์ไฟฟ้าเพราะหลังจากนั้นก็เลิกไป และเป็นการมาแทนของผู้ที่พัฒนาต่อยอดจาก Mavic ในครั้งนี้ Shimano Di2 และ Campagnolo EPS ที่มาทีหลังพยายามกลบจุดด้อยต่างๆจากที่อุปกรณ์ไฟฟ้าพึงจะเกิดได้ แม้จะยังไม่หมดจดโดยปราศจากข้อบกพร่อง แต่ก็ยังต้องถือว่าน้อยมาก ซึ่งทั้งสองค่ายต่างก็ยังใช้การส่งสัญญาณโดยผ่านสายไฟ เพราะคงที่และเสถียรกว่า และถึงแม้ตอนนี้ Sram จะพัฒนาชุดเกียร์ไฟฟ้าแบบไร้สายออกมาล่าสุดที่ได้เห็นใน Tour of California กับทีม Bissel แต่ก็คาดว่า Sram อาจยังต้องพัฒนาอีกซักระยะถึงจะสามารถทำเป็นตัวที่ขายจริงได้

Prototype SRAM Red ไร้สาย
Prototype SRAM Red ไร้สาย

สรุป

ทิศทางของชุดเกียร์ต่างๆในอนาคต เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะออกมาในทางไหน แต่เชื่อว่าการพัฒนาต่างๆจะไม่หยุดนิ่ง การทำงานของระบบเกียร์ การใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่ระบบไร้สาย ก็จะเข้ามามีบทบาทในการผลิตของแต่ละค่าย เพราะจากวันนั้นจนถึงวันนี้แต่ละค่ายไม่เคยหยุดการพัฒนาเลยแม้แต่น้อย อาจจะมีถูกมีผิดแต่ก็เป็นก้าวที่ผ่านการพัฒนามาจนมีปัจจุบันที่แต่ละค่ายมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป การมุ่งเน้นไปสู่ชัยชนะในการแข่งขัน ย่อมส่งผลดีการผู้ใช้งานในท้องตลาดที่จะได้รับของที่ผ่านการพัฒนาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Reference: Campagnolo, Velobase, Velo-Retro, Theracingbicycle, Sheldonbrown, Worldofbikes, Cyclesmith, Bikerecyclery, Bicyclingaustralia

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *