เติมลมจักรยานเท่าไรถึงจะดีที่สุด? เป็นคำถามที่นักปั่นทุกคนสงสัยมาตลอด แต่เชื่อไหมครับว่าคำถามง่ายๆ ข้อนี้เป็นหนึ่งในคำถามเกี่ยวกับอุปกรณ์จักรยานที่ตอบได้ยากที่สุด
นั่นก็เพราะว่าแรงดันลมจักรยานที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมากๆ มากจนยากจะหาเกณฑ์หรือสูตรที่เหมาะสมที่ทุกคนจะใช้สูตรเดียวกันได้
แล้วอะไรที่มีปัจจัยต่อแรงดันลมที่ดีที่สุดสำหรับการใช้งานของเราบ้าง?
- ความเร็วที่ปั่น
- น้ำหนักรวมของระบบ (ตัวเราและอุปกรณ์ทั้งหมด)
- ความกว้างของยางที่ใช้ (แบบวัดจริง ไม่ใช่ที่บอกไว้ข้างแก้มยาง)
- ความกว้างของล้อ
- สภาพถนน
- ขนาดล้อ
- ประเภทการปั่น (เสือภูเขา เสือหมอบ TT Cyclocross Gravel)
คุณอาจจะสงสัยว่าทำไมจะต้องละเอียดขนาดนี้กับอีแค่การเติมลมยาง? แต่ลมยางที่เหมาะสมจะทำให้เราได้ประสบการณ์การปั่นที่ดีที่สุด ทั้งเรื่องความเร็วและความสบายครับ ยางคือสิ่งแรกบนจักรยานที่สัมผัสพื้นถนน ต่อให้ใช้รถดีขนาดไหนถ้าเติมลมยางไม่เหมาะสมก็ทำให้ประสบการณ์การปั่นแย่ลงได้ทันที
ที่ผ่านมาเราใช้วิธีกะเกณฑ์แบบคร่าวๆ หรือใช้สูตรต่างๆ เพื่อคำนวนลมยาง หรือดีหน่อยก็ใช้เครื่องคิดเลขคำนวนลมยาง (มี Mavic ที่ทำแอปออกมา) แต่ส่วนใหญ่มักรวมปัจจัยแวดล้อมมาคำนวนไม่ครบ ทำให้ได้ค่าที่ยังไม่แม่นยำนัก
ความซับซ้อนของการคำนวนลมยางนี้ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม DT ไม่เคยเขียนถึงเรื่องนี้สักที 😂
ล่าสุด Silca ผู้ผลิตสูบจักรยานเก่าแก่ ที่นำโดย Josh Poertner อดีตวิศวกร ZIPP และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแรงดันลมจักรยานแถวหน้าของวงการ (เขาเป็นที่ปรึกษาเรื่องลมยางให้กับโปรทีมหลายๆ ทีม) ทำโปรแกรมคำนวนลมยางที่ละเอียดกว่าโปรแกรมของเจ้าอื่นๆ ครับ โดยนำปัจจัยทั้งหมดที่ผมกล่าวถึงข้างบนนี้มาให้เรากรอกข้อมูล แล้วจะหาค่าลมที่เหมาะสมของทั้งล้อหน้าและหลังให้อัตโนมัติ
ลองเข้าไปใช้กันได้ที่ 👉 ลิงก์นี้
เมื่อเข้าไปแล้วก็จะเจอหน้าตาเว็บแบบนี้ครับ
สำหรับคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ แต่ละช่องหมายความตามนี้
- Total System Weight: น้ำหนักของเรา + จักรยาน + อุปกรณ์อื่นๆ ทั้งหมด (ชุด หมวก แว่น รองเท้า กระติกน้ำ etc เอาน้ำหนักแบบตอนพร้อมปั่นเลย)
- Surface Condition: เลือกพื้นผิวที่เราจะปั่น
- Measured Tire Width: ความกว้างด้านนอกของยางในจุดที่กว้างที่สุด (ใช้เวอร์เนียร์ช่วยวัดจะง่ายที่สุด) เพราะว่าความกว้างยางที่เขียนไว้ข้างขอบยางมักไม่ตรงครับ ขึ้นอยู่กับล้อที่เราใส่ด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ยางกว้างกว่าหรือแคบกว่าเลขที่เขียนไว้ตรงขอบยาง
- Wheel Diameter: ขนาดล้อ
- Average Speed: ความเร็วเฉลี่ยที่ใช้ในการปั่น
- Weight Distribution (Front/Rear): การกระจายน้ำหนักลมยาง (ขึ้นอยู่กับประเภทการปั่น)
สภาพถนนเลือกตามภาพนี้
กรอกเสร็จแล้วก็กดปุ่ม calculate ข้างล่างครับ ผมยกตัวอย่างของผมเอง
น้ำหนักรวม: 73kg
สภาพถนน: Worn pavement
ความกว้างขอบยาง: 27mm (ยาง vittoria 25mm แต่วัดตอนขึ้นล้อได้ 26.9mm)
ขนาดล้อ: 700c
ความเร็ว: ความเร็วปั่นกลุ่ม เร็วปานกลาง
การกระจายน้ำหนัก: Road Bike (หน้า 48% หลัง 52%)
เป็นการจำลองการปั่นบนถนนธรรมดาใน กรุงเทพและปริมณฑล
สุดท้ายได้ค่าออกมาเป็นล้อหลัง 81.5 PSI และล้อหน้า 79.5 PSI ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่ผมใช้เองตอนนี้ครับ
แต่ถ้าลองเลือกพื้นผิวแบบดีสุดๆ เลยหละ (New Pavement ในโปรแกรมคำนวน) ก็เช่นไปปั่นที่ Happy and Health Bike Lane ค่าใหม่ที่ได้ออกมานั้นก็เป็นแรงดันลมที่สูงกว่าครับ:
ล้อหน้า: 86 PSI ล้อหลัง 84 PSI
Josh Poertner ได้อธิบายอย่างสั้นๆ ว่าทำไมเวลาพื้นผิวเรียบถึงต้องใช้แรงดันลมสูงกว่า: เวลาเราปั่นจักรยานถ้าพื้นผิวไม่เรียบนักและเราเติมลมแรงดันสูง สิ่งที่เกิดขึ้นคืออาการกระดอนระดับไมโคร (micro vibration) ก็คือความรู้สึกที่เราปั่นแล้วมันสั่นสะเทือนมือนิดๆ นั่นหละครับ ไม่ได้สมูทเรียบไปเสียทีเดียว
การกระดอนแบบนี้ ต่อให้ล้อและยางมันจะไม่ลอยจากพื้นแต่ก็ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงาน นั่นคือมีแรงต้านการหมุนเพิ่มขึ้น (rolling resistance) แปลเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายก็คือเราปั่นได้ช้าลงด้วยแรงเท่าเดิมครับ (ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักจะจินตนาการไปเองว่านี่คือความรู้สึกว่าล้อมันวิ่ง “เร็ว” แข็ง = เร็ว ซึ่งผิดครับ)
แต่ถ้าเราลดแรงดันลมยางลงเล็กน้อย ยางก็จะแทรคไปกับพื้นถนนโดยไม่เกิดการกระดอน ก็ทำให้เราไม่เสียความเร็วโดยไม่จำเป็นนั่นเอง
ถ้าเราปั่นในทางที่เรียบสนิท เหมือนถนนใหม่ๆ ที่ไม่สึกหรอ มีหลุมบ่อน้อยมาก ล้อและยางก็จะกระดอนได้ยาก และปกติแล้วถ้าล้อไม่กระดอน ลมยางที่แข็งกว่าจะไปได้เร็วกว่าครับ ดูกราฟข้างล่างประกอบ:
แกน x คือแรงดันลม (Psi) แกน y คือ CRR หรือค่าสัมประสิทธิแรงต้านการหมุน (ยิ่ง CRR น้อยจะยิ่งเร็ว)
ทีนี้บนกราฟมีข้อมูลสี่เส้น
- สีน้ำเงินคือข้อมูลการทดสอบแรงต้านการหมุนบนลูกกลิ้งเรียบๆ ซึ่งไม่สะท้อนการปั่นบนชีวิตจริงที่ถนนมีหลุมบ่อ ถนนที่ดูเรียบก็ไม่ได้เรียบสนิทเหมือนพื้นแก้ว สังเกตว่ายิ่งแรงดันสูงค่า CRR ยิ่งต่ำ ซึ่งเป็นทฤษฏีเก่าที่ถูกลบล้างแล้ว (ที่ทำให้คนเชื่อว่าเติมลมยางให้สูงที่สุดที่ยางรองรับได้นั่นหละครับ และหลายคนก็ยังเชื่ออยู่ 😂)
- สีเขียวคือค่า crr บนพื้นถนนลาดยางใหม่: สังเกตว่าพอแรงดันลมสูงเกิน 110 psi แทนที่ค่า CRR จะต่ำลง แต่กลับกระโดดสูงขึ้น นี่คือ break point ครับ นั่นก็เพราะเมื่อแรงดันลมสูงเกินไป ล้อและยางจะเกิด micro vibration (ถนนไม่ได้เรียบสนิทเหมือนตาเห็น)
- สีเหลืองคือค่า crr บนถนนลาดยางแบบที่สภาพไม่ดีนัก break point ลดลงมาเหลือแค่ราว 100 psi ยืนยันว่าถ้าทางไม่ดี เราไม่ควรเติมแรงดันลมสูงนัก
- สีแดงคือคือถนนลาดยางที่ยังบดไม่เสร็จ เทียบได้กับพวกตัวลูกระนาดแบบถี่ๆ ที่ใช้เตือนให้รถยนต์ลดความเร็วก่อนเข้าโค้งอันตราย breakpoint ลดต่ำลงไปเหลือแค่ 62psi ถ้าสูงกว่านี้รถจะยิ่งกระดอนและยิ่งเสียแรง
จากกราฟนี้อาจจะสงสัยว่า อ้าวก็ยังเติมลม 100+ psi อยู่เลยนี่ ไม่เห็นต่ำเหมือนที่โปรแกรม Silca คำนวนให้ แต่กราฟนี้ไม่ได้คำนวนปัจจัยอื่นๆ ในการปั่นจริงเหมือนในโปรแกรมครับ เขาใช้เพื่อพิสูจน์ทฤษฏี ว่าแรงดันลมสูงไม่ได้ทำให้ปั่นเร็วขึ้น (เหมือนในข้อมูลเส้นสีน้ำเงิน) แต่จริงๆ แล้วกลับช้าลงในการใช้งานบนถนนจริง
คำอธิบายเรื่อง micro vibration เพิ่มเติม
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ต้องใช้แรงดันลมสูง?
- น้ำหนักรวม คน/จักรยาน: ยิ่งมากแรงดันต้องสูงขึ้น
- ความกว้างยาง: ยางแคบใช้แรงดันสูงกว่ายางหน้ากว้าง
- สภาพถนน: ถนนเรียบใช้แรงดันสูงกว่าถนนขรุขระ
- ความเร็ว: ความเร็วเฉลี่ยสูง จะใช้แรงดันลมสูงกว่านิดหน่อย
แต่ทั้งหมดนี้ ให้โปรแกรมคำนวนให้จะแม่นกว่าครับ ลองไปใช้กันดูนะครับ