เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะให้เกิดอุบัติเหตระหว่างปั่น ไม่ว่าจะล้มหรือชนก็ดี แต่บางครั้งมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ แต่เราจะเช็คสภาพจักรยานของเราหลังอุบัติเหตได้อย่างไรลองดูวิดีโอตัวนี้ของ GCN ครับ (พร้อมคำแปล DT)
1. เช็คล้อ
ล้อจักรยานเป็นส่วนที่มีโอกาสปะทะกับสิ่งรอบข้างได้ง่ายที่สุด เพราะมันคือส่วนด้านหน้าสุดของจักรยาน และมีโอกาสที่จะเสียหายในอุบัติเหตได้ง่าย วิธีเช็คอย่างง่ายๆ ขั้นแรกคือ ยกจักรยานขึ้นแล้วลองหมุนล้อดูว่ายังตรงดีอยู่หรือเปล่า ขอบล้อไม่ควรจะเบี้ยวไปติดกับขอบเบรคทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถ้าล้อไม่หมุนหรือติดขัด เช็คก้ามเบรคดูด้วยว่าเบี้ยวเข้าด้านในจนไปหยุดล้อไว้หรือเปล่า บางทีเบรคก็เบี้ยวได้ เวลาล้อติดก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าล้อมีปัญหาครับ
2. เช็คมือเกียร์
มือเกียร์ก็มีโอกาสปะทะได้ง่ายไม่แพ้ล้อ เพราะมันเป็นส่วนที่อยู่หน้าสุดของรถเหมือนกัน ปกติถ้าคุณล้มหรือชน มือเกียร์อาจจะเบี้ยวเข้าด้านใน ไม่ต้องตกใจ มันไม่ได้หักงอครับ บิดดันมันกลับมาก็เข้าที่ได้แล้ว เพราะมันด้านในมันสวมไว้กับแฮนด์เฉยๆ แต่ถ้ามันไม่ขยับก็แสดงว่าขันน๊อตยึดมาค่อนข้างแน่น ก็เปิดฮู้ดขันคลายน๊อตนิดนึงก่อนก็น่าจะเซ็ตกลับเข้าที่ได้แล้ว เมื่อเข้าที่แล้วอย่าลืมลองเปลี่ยนเกียร์และเบรคดูด้วย ก่อนที่จะออกปั่นครับ
3. เช็คแฮนด์
ปกติแฮนด์จะเป็นส่วนที่ค่อนข้างแข็งแรง แต่ก็มีโอกาสเสียหายได้เหมือนกัน ลองกดและบีบ เพื่อเช็คดูว่ามัน flex มากกว่าเดิมหรือเปล่า หรือมีเสียงแปลกๆ ขยับแปลกๆ ไหม? ถ้าเป็นแฮนด์คาร์บอน บางทีหากร้าวอาจจะมองไม่เห็นเพราะผ้าพันแฮนด์ปิดทับอยู่ ถ้าเป็นอุบัติเหตที่กระแทกหนักจริงๆ ก็ควรเช็คดูหลังกลับถึงบ้านด้วยครับ อย่าลืมเช็คสเต็มว่าเบี้ยวหรือเปล่า ถ้ามีเครื่องมือพกก็ขันปรับให้มันตรงเหมือนเดิม
4. เช็คอานและหลักอาน
อีกส่วนที่มีโอกาสเบี้ยวและงอจากการกระแทก ลองดูสภาพหลักอาน รางยึดและเบาะ อานเป็นจุดที่รับน้ำหนักตัวเราเยอะที่สุด ถ้ามีความเสียหาย แล้วจำเป็นต้องปั่นต่อก็อาจจะเป็นอันตรายได้ครับ
5. เช็คตีนผี เฟือง จานหน้า
ปัญหาเบอร์หนึ่งสำหรับการล้ม (โดยเฉพาะการล้มด้านขวา) คือดรอปเอาท์ที่ยึดตีนผีมีโอกาศงองุ้มเข้าด้านใน เป็นเรื่องธรรมดาครับ เพราะว่าดรอปเอาท์จะให้ตัวได้อยู่แล้ว ไม่ใช่ส่วนที่แข็งมาก เพื่อที่เวลาล้ม ตีนผี (ที่แพงกว่า) จะได้ไม่เสียหาย น้ำหนักแรงกระแทกจะตกไปอยู่ที่ดรอปเอาท์แทน ซึ่งก็ซื้อเปลี่ยนได้ง่าย ถ้าดรอปเอาท์เบี้ยว เวลาเราใช้เกียร์เบาสุด (เฟืองบนสุด – ขาตีนผีจะเข้าไปติดกับซี่ล้อหลัง) เพราะฉะนั้นเวลาปั่นต่อก็อย่าใช้เกียร์บน เพื่อเซฟทั้งตีนผีและล้อสุดแพงของเรา
เวลาดรอปเอาท์เบี้ยวเราจะเปลี่ยนเกียร์ได้ไม่สมบูรณ์แบบ มีตกบ้าง เกินบ้าง ปีนเฟือง ไม่ลงล๊อกเกียร์บ้าง แก้ไขด้วยการเอาไปให้ร้านดัด หรือเปลี่ยนใหม่เลย เป็นของที่ควรซื้อสำรองติดเก็บบ้านไว้ครับ
6. เช็คเฟรม
กรณีที่เฟรมคาร์บอนมีรอยแตกร้าว ทางที่ดีที่สุดคือหยุดปั่นเลย จะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะเราไม่รู้ว่าถ้าขึ้นไปปั่นต่อออกแรงแล้วความเสียหายมันจะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ยิ่งถ้าเฟรมร้าวเยอะ ก็มีสิทธิแตกหักระหว่างปั่นได้เลย ถ้าแผลไม่ใหญ่มาก ไปปั่นซ้ำมันอาจจะใหญ่กว่าเดิมจนซ่อมยากครับ (รอยร้าวเฟรมคาร์บอนซ่อมได้ – แต่ต้องดูเป็นกรณีไป)
วิธีเช็ค เริ่มจากตะเกียบหน้า รอยต่อระหว่างเฟรมกับตะเกียบ ท่อล่าง ท่อบน (ที่อาจจะโดนแฮนด์ปัดไปกระแทก) ตะเกียบหลัง หางหลัง ถ้ามองไม่เห็นแผลเลย แต่กังวล ก็ควรเอาไปให้ร้านดู แผลเฟรมของแอดมิน ตอนแรกก็มองไม่เห็น (ชนประสานงากับจักรยานคันอื่น) แต่พอไปถึงร้านก็งานเข้าเลยครับ “ร้าว ต้องซ่อม” ฟังแล้วใจหายไปตกอยู่ตาตุ่ม แต่เพราะมันอยู่ในส่วนที่ไม่ได้รับน้ำหนักหรือแรงกดมาก (แผลอยู่ตรงท่อนอน ใกล้ๆ จุดยึดหลักอาน) พอซ่อมพันคาร์บอนใหม่แล้ว ก็แข็งแรงกว่าเดิม ในไทยมีร้านที่ซ่อมได้อยู่หลายร้าน
สิ่งสำคัญที่สุดคือเช็คตัวเราก่อน ถ้าตัวคนไม่เจ็บมาก ก็ตั้งสติให้ดีแล้วค่อยๆ ดูจักรยานทีละส่วน ถ้ามีเพื่อนหรือคนมากประสบการณ์อยู่ด้วยก็ให้เขาช่วยเช็คก่อนที่จะออกปั่น ไม่ให้ปัญหามันลามหนักกว่าเดิม