พรีวิว: Hour Record ยก 2: Matthias Brandle

คืนนี้เวลา 1:00-2:00 จะเป็นการแข่งทำลายสถิติ Hour Record ครั้งที่สองในปีนี้ เจ้าของสถิติโลกคนปัจจุบันคือเยนส์ โว้ก ที่ทำระยะทางไว้ 51.115 กิโลเมตรในวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา

ลิงก์ถ่ายทอดสด: UCI Youtube

สำหรับผู้ท้าชิงคนล่าสุดเป็นชายหนุ่มวัย 24 ปี สังกัดทีมอาชีพ IAM Cycling และเป็นแชมป์ Time Trial ออสเตรียหลายสมัย เขาคือแมทธิอัส แบรนเดิล โพสต์นี้เราจะมาทำความรู้จักผู้ท้าชิงและสนามแข่งกันครับ

ใครคือแมทธิอัส แบรนเดิล?

brandle hour record 2ได้ยินชื่อแล้วอาจจะงงๆ ว่าเขาเป็นใคร แน่นอนว่าไม่ใช่นักปั่นระดับโลกอย่างเยนส์ โว้ก แต่ก็เป็นคนที่ฝีเท้าดีใช้ได้ครับ แบรนเดิลเป็นชาวออสเตรีย เริ่มปั่นจักรยานจริงจังครั้งแรกตั้งแต่อายุ 12 ปี

หลังจากที่เรียนจบวิทยาลัยเทคนิคแล้ว แบรนเดิลเริ่มเข้าสู่วงการจักรยานถนนอาชีพ ไต่เต้าจากทีมดิวิชัน 3 จนทีมที่เขาสังกัด (Footon-Servetto) ได้รับเชิญให้เข้าแข่ง Giro d’Italia ในปี 2010 แบรนเดิลจบการแข่งด้วยอันดับ 90 ตามหลังผู้ชนะ อิวาน บาซโซ ราวสามชั่วโมง

แบรนเดิลเริ่มทำผลงานได้เตะตา และย้ายสู่ทีมที่มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2011 เขาเป็นโดเมสติกให้กับทีม Geox-TMC คอยหนุนฮวน โฮเซ่ โคโบ ในสนาม Vuelta a Espana จนโคโบชนะคริส ฟรูม คว้าแชมป์รายการได้ในที่สุด

ที่ผ่านมาเขาทำผลงานใหญ่ได้หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นแชมป์จ้าวความเร็วใน Tour de Romandie (2011) และรางวัลจ้าวภูเขาใน Tour de l’Ain (2013) ในปี 2014 ผลงานใหญ่ของเขาคือการเบรคอเวย์จนคว้าแชมป์สเตจได้สองครั้งในรายการ Tour of Britain และครองแชมป์ Time Trial ออสเตรียได้เป็นสมัยที่ 3

52 กิโลเมตร

คือเป้าหมายของแบรนเดิลในคืนนี้ เป็นระยะทางที่มากกว่าที่เยนส์ โว้กทำไว้ 885 เมตร การทำลายสถิตของเยนส์ และแบรนเดิ้ลอยู่ภายใต้กฏ UCI ใหม่ที่อนุญาตให้ใช้จักรยานประเภทเดียวกับจักรยานที่ใช้แข่งในสนามลู่ได้

พูดง่ายๆ เขาต้องปั่นให้ได้ความเร็ว 52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ดีแบรนเดิลไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวฝึกซ้อมและทดสอบเหมือนกับเยนส์ที่ลองทำมาตั้งแต่ช่วงต้นปี แบรนเดิลได้แรงบันดาลใจจากความพยายามของเยนส์ในวันที่เขาทำลายสถิติได้สำเร็จ ซึ่งหมายความว่าแบรนเดิลมีเวลาเตรียมตัวแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น

ถึงทั้งสองคนจะทำสถิติในสวิตเซอร์แลนด์เหมือนกัน แต่เวโลโดรมที่แบรนเดิลเลือกใช้นั้นอยู่ในเมืองเกรนเชน ซึ่งมีระยะทางต่อรอบสั้นกว่าเวลโดรมที่เยนส์ใช้ 50 เมตร (200 vs 250 เมตร) หลายๆ คนให้ความเห็นว่าสนามที่แบรนเดิลใช้จะยากกว่าเล็กน้อยเนื่องจากต้องปั่นเป็นจำนวนหลายรอบกว่า สิ่งที่ตามมาคืออาการเหนื่อยล้าจากแรงเหวี่ยงหนีศูนย์

แบรนเดิลต้องปั่นให้ได้ 256 รอบถึงจะได้ 52 กิโลเมตร ถ้าเขาปั่นในแทรคที่ยาว 250 เมตร เขาจะปั่นแค่เพียง 205 รอบ ซึ่งหมายความว่าเขาต้องเข้าโค้งมากขึ้น102 ครั้ง เมื่อรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่าแบรนเดิลไม่ใช่นักปั่นสนามลู่มาก่อน โอกาสที่จะเสียระยะทางจากการเลือกไลน์โค้งผิดก็มีมากขึ้นพอสมคววรครับ แบรนเดิลและทีมได้ลองทดสอบทั้งสองเวโลโดรมแล้ว และตัวเขาเองกลับชอบแทรคสั้นๆ มากกว่า

เขาจะใช้จานหน้าขนาด 55 ฟัน และเฟืองหลัง 13 ฟัน หนักกว่าเกียร์ที่เยนส์ใช้เล็กน้อย เรื่องจักรยานนั้นขึ้นชื่อเรื่องความแอโรอยู่แล้ว เฟรมเป็นของ Scott รุ่น Plasma ซึ่งเป็นเฟรม Time Trial ที่ทีมใช้แข่งแต่ดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับกฏการแข่งขันในสนามลู่ เฟรมรุ่นนี้ออกแบบโดยไซมอน สมาร์ท นักอากาศพลศาสตร์ชื่อดังที่ออกแบบเฟรม Giant Trinity และล้อ ENVE SES นั่นเอง

Make or Break?

แบรนเดิลจะทำได้หรือเปล่านั้นเป็นเรื่องที่บอกยากพอสมควรครับ ข้อได้เปรียบของเขาเทียบกับเยนส์คืออายุน้อยกว่าเกือบยี่สิบปี เรื่องฟอร์มและความสดก็น่าจะดีกว่าเยนส์ใช้ได้ แต่เราไม่รู้ว่าฟอร์มล่าสุดตอนนี้ของเขาเป็นยังไง ถึงจะใช้จักรยานสไตล์ Team Pursuit สมัยใหม่ การคงความเร็วให้ได้ 52 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นเวลา 60 นาทีไม่ใช่เรื่องง่าย ปั่นบนทางราบยังง่ายกว่าเพราะไม่ต้องเหนื่อยกับแรงเหวี่ยงและการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงครับ

เยนส์ได้เปรียบเพราะเขาเริ่มทำเป็นคนแรก สถิติที่โซเซงก้าทำไว้ด้วยจักรยานสไตล์เมิร์กซ์ (ไม่มีอุปกรณ์แอโร) จึงไม่ยากเท่าที่ควร คืนนี้ถ้าใครนอนดึก อย่าลืมติดตามกัน ลิงก์ถ่ายทอดสดที่

1. Official Youtube UCI
2. ผ่านทาง Duckingtiger.com/live เพื่อแชทคุยกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่เข้ามาชมพร้อมกันครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *