พรีวิว: Omloop / KBK 2018 สนามคลาสสิคแรกของปี!

ในหนึ่งฤดูกาลแข่งขันจักรยานตั้งแต่ต้นปีถึงท้ายปี จริงว่ามีการแข่งขันกันทุกสัปดาห์ แต่จะมีช่วงเวลาแค่สองเดือนระหว่างมีนาคม-เมษายน ที่จะมีซีรีย์การแข่งสุดพิเศษที่เราเรียกว่า “สนามคลาสสิค”​ ที่มีเอกลักษณ์ต่างจากสนามอื่นๆ ตลอดทั้งปีครับ

เหตุผลที่เรียกว่าสนามคลาสสิคก็เพราะ สนามแข่งเหล่านี้จัดแข่งมาเกินห้าสิบปี บางรายการร้อยกว่าปี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการแข่งขันไปแล้ว สนามคลาสสิคเกือบทุกรายการเป็นการแข่งแบบวันเดียวจบ แข่งกันในประเทศเบลเยียม หรือฝรั่งเศสทางตอนเหนือ บนเส้นทางไกลเกิน 200 กิโลเมตร และมีถนนหินกับเนินชันเป็นอุปสรรคสำคัญในรายการ

สุดสัปดาห์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของซีรีย์สนามคลาสสิค เปิดด้วยรายการ Omloop Het Nieuwsblad ในวันเสาร์ที่ 24 กุมภา และ Kuurne-Brussel-Kuurne ในวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภา เป็นรายการที่ไม่ควรพลาดครับ เรามาดูรายละเอียดเส้นทาง ตารางถ่ายทอดสด และตัวเต็งที่น่าจับตามองกัน

 

กำหนดการถ่ายทอดสด

Omloop: 24 กุมภา 21:30-23:00
KBK: 25 กุมภา 20:30-23:00
ลิงก์ถ่ายทอดสด: Duckingtiger.com/live

รายชื่อนักแข่ง: Omloop / KBK

 

เส้นทาง Omloop 2018

Omloop ปีนี้จัดแข่งเป็นครั้งที่ 73 และมีการเปลี่ยนเส้นทางเยอะพอสมควรครับ เริ่มสตาร์ในเมือง Gent ในเบลเยียม และไปจบที่ Meerbeke ระยะทางรวม 198 กิโลเมตร นักปั่นต้องเจอเนินชันที่ปูลาดด้วยถนนหินทั้งหมด 13 ลูก (บางลูกก็ซ้ำกัน) จริงๆ แล้วครึ่งหลังของสนามปีนี้ ตัดเส้นทางของ Tour of Flanders มาใช้เลยครับ ลองดูโปรไฟล์เส้นทางจากรูปข้างล่างนี้

จะเห็นว่าอุปสรรคส่วนใหญ่อยู่ในครึ่งหลังของการแข่งขัน ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 115 เป็นต้นไป เส้นทางเป็นเนินขึ้นๆ ลงๆ ไปจนถึงเส้นชัย มีเนินที่คุ้นชินกันหลายจุด เช่น Molenberg, Valkenberg

ไฮไลท์อยู่ที่ Muur van Geraardsbergen (Kapel Muur) ซึ่งยาว 1 กิโลเมตร (รูปข้างบนนี้) แต่ชันเฉลี่ยถึง 9.3% และชันสูงสุด 19.8% จุดที่ทำให้เห็นชัดคือยอดเนินอยู่ตรงโบสถ์นี้พอดี ลงมาแล้วจะเจอเนินสุดท้าย Bosberg ยาว 1.3 กิโลเมตร จากนั้นเป็นทางราบ 10 กิโลเมตรจนถึงเส้นชัย การมีเนินชันซ้อนๆ กันใกล้ๆ เส้นชัยน่าจะเปิดโอกาสให้นักปั่นหลายๆ คนได้มีโอกาสทำเกมแบบที่คาดเดาได้ยาก

 

ตัวเต็งมีใครบ้าง?

1. เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC)

เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท ลงป้องกันแชมป์อีกหนึ่งครั้ง หลังจากที่เป็นแชมป์ติดต่อกันมาสองปี ต้นปีนี้ก็ดูฟอร์มดีใช้ได้ คว้าแชมป์สเตจใน Tour of Oman ที่เส้นทางเป็นคล้ายๆ สนามคลาสสิค มีเนินตอนท้าย ปีนี้เขาได้เพื่อนร่วมทีมใหม่ เยอร์เกนท์ โรแลนท์ เป็นอดีตเอซสนามคลาสสิคทีม Lotto-Soudal และน่าจะใช้เป็นแผน B ได้ด้วย

 

2. Quickstep

ยังคงใช้แผนเดิมคือส่งแม่ทัพหลายคน ทุกคนมีโอกาสได้แชมป์ ดูจากสตาร์ทลิสต์แล้วก็น่าจะเป็นทีมที่แกร่งที่สุดในรายการนี้ (แต่ก็ไม่การันตีถึงชัยชนะเหมือนที่ Quickstep สี่คนพ่ายให้เอียน สแตนนาร์ด (Sky) คนเดียวในปี 2015

Quickstep นำทีมโดยฟิลลิป จิลแบร์, อีฟ แลมพาร์ท, นิกี้ เทิร์ปสตร้า และชเน็ค สตีบาร์ มีเฟอร์นันโด กาวิเรียห้อยท้ายไว้เก็บเกมสปรินต์ถ้ามีโอกาส

 

3. เซป ฟานมาร์ค (EF Education First-Drapac)

อดีตแชมป์เก่าปี 2012 ถึงจะยังไม่ชนะรายการคลาสสิคใหญ่ๆ สนามไหนเลยแต่ก็เป็น runner up ฝีเท้าดีมาตลอด ปีที่แล้วเขาได้อันดับสามใน Omloop ติดตามต่อไปว่าเอซชาวเบลเยียมวัย 29 คนนี้จะทำได้ดีกว่าเดิมไหม

 

4. โอลิเวอร์ เนเซ็น (AG2R)

พูดถึงเอซชาวเบลเยียม จะไม่พูดถึงแชมป์เสือหมอบเบลเยียมก็คงไม่ได้ โอลิเวอร์ เนเซ็น (AG2R) เริ่มโชว์ฟอร์มการแข่งสนามคลาสสิคในระดับหัวแถวตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว ด้วยผลงานโพเดี้ยมใน E3 Harelbeke ที่ 6 ใน Omloop ที่ 7 ใน Dwars Door Vlaanderen และที่ 8 ใน Kuurne-Brussel-Kuurne

5. Lotto-Soudal มีทีช เบนูท และทิม เวลเลนส์เป็นคู่ดูโอ้ แต่ดูจะเป็นม้ามืดมากกว่าเป็นตัวเต็ง

6. Sunweb ได้เอ็ดเวิร์ด เทิร์นส์มาจาก Trek และมีไมเคิล แมธธิวส์คอยเก็บเกมสปรินต์ แต่ดูแล้วเนินน่าจะถี่ไปสำหรับแมธธิวส์หรือเปล่า?

7. Bora-Hansgrohe ถึงจะไม่มีปีเตอร์ ซากานแต่ก็ยังมีแดนเนียล ออส ที่ย้ายมาจาก BMC ออสไม่ใช่กัปตันทีมแต่ทักษะสนามคลาสสิคนั้นไม่แพ้ใคร GVA ถึงกับพูดว่าเสียดายที่ออสย้ายไป Bora เพราะปีที่แล้วเขาช่วย GVA เก็บแชมป์ไปหลายสนาม

8. ม้ามืด: เอ็ดวาลด์ บอสซัน ฮาเก็น (Dimension-Data), และอเล็กซีย์ ลุตเซงโก้ (Astana) ก็น่าจับตามอง

 

Kuurne-Brussel-Kuurne 2018

หลังจาก Omloop วันเสาร์แล้ว นักปั่นชุดเดียวกันเกือบทั้งหมดก็จะลงแข่ง Kuurne-Brussel-Kuurne ต่อในวันอาทิตย์ครับ เป็นอีกรายการที่เก่าแก่ จัดแข่งมาแล้วร่วม 70 ปีเช่นกัน

แต่สนามนี้ต่างไปจาก Omloop ตรงที่ปกติสปรินเตอร์มักชนะรายการมากกว่าตัวเต็งสนามคลาสสิค แต่ปีหลังๆ มานี้เส้นทางเริ่มมีเนินแทรกเข้ามาเยอะมากขึ้นครับ อย่างของปี 2018 ก็มีเนินชัน 12 ลูกในระยะทาง 200 กิโลเมตร ทำให้แชมป์สองปีล่าสุดมาจากเบรคอเวย์มากกว่าจากการสปรินต์กลุ่มเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เนินลูกสุดท้ายอยู่ห่างเส้นชัยถึง 50 กิโลเมตร ระหว่างนี้มีช่วงถนนหินแทรกด้วยเหมาะแก่การเบรคอเวย์เป็นยิ่งนัก แต่ถ้ากลุ่มหนีกะจังหวะไม่ดีก็มีสิทธิโดนเปโลตองรวบได้เหมือนกัน เพราะจะไม่มีเนินมาช่วยเหมือนใน Omloop ครับ

 

ตัวเต็งมีใครบ้าง?

Quickstep: ใช้นักปั่นชุดเดียวกับใน Omloop แต่กัปตันทีมอาจจะเปลี่ยนมาเป็นเฟอร์นันโด กาวิเรีย แทนถ้าเกมจะจบด้วยการสปรินต์ เจ้าตัวก็ออกปากว่าอยากจะลองทำผลงานในสนามคลาสสิคให้ได้บ้าง และปีนี้ก็ฟอร์มดีด้วย เก็บชัยชนะมาแล้วสี่ครั้งครับ แต่ถ้าเกมไม่จบสปรินต์ QS ก็มีตัวเลือกเยอะตามเคย

ดีลน โกรนเวเก็น (LottoNL-Jumbo): เป็นสปรินเตอร์ฟอร์มดีอีกคนของปีนี้ เก็บชัยชนะมาสามครั้งใน Dubai Tour และ Volta ao Algarve น่าสนใจว่าจะรับมือกับสนามคลาสสิคชื่อดังยังไงบ้าง

อานอด์ เดอมาร์ (FDJ): สปรินเตอร์ฝรั่งเศสกึ่งสายคลาสสิคที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ปีที่แล้วได้ที่ 6 เป็นคนแรกที่เข้าเส้นชัยหลังกลุ่มเบรคอเวย์ เรื่องผลงานคลาสสิคก็มีถึงระดับแชมป์ Milan-Sanremo บวกกับทีมลีดเอาท์ของ FDJ ที่แน่นขึ้นเรื่อยๆ เป็นตัวเต็งอีกคนที่น่าลุ้น

แต่ถ้าจะไม่จบด้วยการสปรินต์ตัวเต็งเราก็จะคล้ายๆ ใน Omloop มีแวน เอเวอร์มาร์ท (BMC), Quickstep หลายๆ คน, สตอยเว็น (Trek), ฟานมาร์ค (EF), เนเซ็น (AG2R), ซันนี โคลเบรลลี (Bahrain), แม็กนัส นีลเซ็น (Astana) และแมทเทโอ เทรนติน (Mitchelton-Scott)

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!