ศึก Paris-Roubaix 2013 เมื่อคืนนี้เป็นสนามแข่งที่ฟันธงได้เลยว่าตื่นเต้นเร้าใจที่สุดตั้งแต่เปิดฤดูกาลมา พลวัตรสนามแข่งเปลี่ยนรูปร่างราวกับสายน้ำยากที่จะคาดเดาผู่้ชนะจนวินาทีสุดท้าย นักปั่นที่ฝ่าเส้นทางหินโบราณสุดโหดว่าเหนื่อยแล้ว ผู้ชมทางบ้านเหนื่อยกว่า โดยเฉพาะที่เส้นชัยใน Roubaix Velodrome
– เมื่อ Fabian Cancellara และ Sep Vanmarcke หยั่งเชิงวัดพลังกันราวกับนักปั่นจักรยานลู่คู่เอก ให้เราระทึก heart rate วิ่งขึ้นไป Zone 4 เป็นที่สุดของการแข่งขันสมศักดิ์ศรีสนามคลาสสิค Roubaix ที่จัดมาร่วมหนึ่งศตวรรษ เคี่ยวเฟ้นจนเหลือผู้ชนะที่แกร่งและฉลาดที่สุดเพียงคนเดียว
จากกิโลเมตรแรก
ถึงแม้อากาศจะหนาวเย็นเกือบติดลบ แต่พระอาทิตย์เป็นใจท้องฟ้าสดใสตั้งแต่เริ่มแข่ง Paris-Roubaix เป็นสนามเกียรติยศที่ทุกคนหวังจะคว้าชัยจึงไม่แปลกที่เราได้เห็นแต่ละทีมซัดกันตั้งแต่กิโลเมตรแรกๆ ครับ ทีมตัวเต็ง Omega Pharma และ Radioshack ส่งลูกทีมเข้ากลุ่มหนี ปล่อยให้ทีมอื่นๆ อย่าง Cofidis และ NetApp ต้องเปลืองแรงไล่จับ ชั่วโมงแรกของการแข่งขัน กลุ่ม peloton ปั่นกันเร็วเกือบ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายความฝัน breakaway กลุ่มแรกเสียย่อยยับ แต่ไม่ทันไรกลุ่มที่สองก็เริ่มออกโรง ครั้งนี้อัดแน่นไปด้วยนักปั่นคุณภาพ Stuart O’Grady (Orica) แชมป์เก่า, Mat Hayman (Sky), Gert Steegmans (OPQS), Clemet Kortesky (Bretagne) รวมพลังกันขึ้นนำห่างกว่า 1.30 นาที เข้าสู่ป่า Arenberg
แผนใหญ่ของทีมใหญ่
BMC หวังกู้ผลงานให้ Thor Hushovd ส่ง Taylor Phinney หัวจักรแรงสูงขึ้นนำขบวน ผสมโรงด้วย Robert Wagner จากทีม Blanco และ Radioshack จนระยะห่างระหว่างกลุ่ม peloton และ breakaway ใกล้มากพอ BMC ก็ส่ง Michael Schar ขึ้นประกบกลุ่มหนี ณ จุดนี้ BMC, Sky, OPQS มีลูกมืออยู่ใ่นกลุ่มหนีทีมละคน บังคับให้ทีมตัวเต็ง Radioshack ต้องขึ้นไล่จับแบบมัดมือชก เป็นไปตามแผนทีมคู่แข่งที่หวังตัดกำลัง Cancellara ตั้งแต่กลางเกมและใช้จำนวนเข้าสู่ในช่วงท้าย แน่นอนว่าสหาย ‘Spartacus’ ไม่ปล่อยให้ใครรอด นักปั่นหลายคนพยายามขึ่้นหนีไปเกาะกับกลุ่ม breakaway แต่ก็โดนขบวน Radioshack เก็บเรียบ
คลื่นยักษ์ระลอกแรก
เข้าสู่ถนนหินช่วงที่ 8 Cancellara วัดกำลังใจคู่แข่งเล่นๆ ด้วยการระเบิดพลังขึ้นนำ การระเบิดพลังวัดแข้งคู่ต่อสู้ของ Cancellara เรียกว่า “Selection” ตามศัพท์ในวงการ เป็นแทคติค “คัดเลือก” คู่แข่งอย่างง่ายๆ ด้วยการเช็คดูว่าใครจะตามเราไหวบ้าง Cancellara ปั่นคุมเชิงกลุ่มจนถึงทางหินช่วงที่ 10 “Mons-en-Pévèle” ความยากระดับห้าดาว สภาพความเสียหายก็ปรากฏเมื่อเราเหลือผู้รอดชีวิตเพียง 13 คนที่พอจะเกาะลุง Fabian ไหว
The Selection
ในกลุ่มตัวเต็ง 13 คน ประกอบด้วย Vandenbergh, Terpstra, Stybar (OPQS), Lars Boom, Sep Vanmarcke (Blanco), Cancellara (RadioShack), Langeveld (Orica), Paolini (Katusha), Sebastian Turgot, Gaudin (Europcar), Eisel (Sky), Flecha (Vacansoleil), Van Avermaet (BMC) และ Breschel (Saxo Bank).
ทีม OPQS มีกำลังพลมากที่สุดและดูจะฟอร์มดีที่สุดเพราะ Stijn Vandenbergh และ Niki Tepstra ขึ้นนำขบวนตลอด ทุกคนรู่้ดีว่าถ้าจะเอาชนะ Cancellara ก็ต้องหนีแกไปให้ได้ นักปั่น 4 คนในกลุ่มยิงหนีไปเกาะ breakaway อย่างรวดเร็ว กลุ่ม breakaway ใหม่มี Langeveld, Vanmarcke, Gaudin, Stybar, Van Avermaet, Flecha, Paolini
The Poker game
Cancellara เห็นท่าไม่ดีเมื่อศัตรูคู่อาฆาตสามคนที่มีสิทธิชนะแกแน่ๆ ประกอบด้วย Lars Boom, Eisel, และ Tepstra ซึ่งไม่ยิงหนีแต่พยายามหมกล้อ Cancellara ตลอดการแข่ง ทั้งสามคน – โดยเฉพาะ Boom สปรินต์ได้ดีกว่าและมีแรงอึดสู้ Cancellara ได้แบบตัวต่อตัว วินาทีนี้อาจจะเรียกว่าเป็นจังหวะตัดสินการแข่งก็ได้ครับ Cancellara แสร้งหลอกว่าแรงหมด ลงไปเกาะรถทีมสักครู่หนึ่งจนคู่แข่งทั้งสามคนสับสนกับสถานการณ์ ทันใดนั้น Cancellara ก็ระเบิดแรงอีกครั้งแซงคู่แข่งไปเกาะกลุ่มหนีที่นำอยู่กว่า 30 วินาทีภายในระยะทางแค่ 1 กิโลเมตร! กำจัดคู่แข่งด้วยไหวพริบและประสบการณ์ Cancellara เข้าเกาะกลุ่มใหม่ไม่ทันได้พักเหนื่อย แต่ด้วยความมั่นใจในแรงของตัวเอง Stijn Vandenbergh และ Sep Vanmarcke (Blanco) ตัดสินใจร่วมมือกันเปิดเกมออกไปอีกครั้ง
จังหวะนี้เส้นชัยอยู่ห่างไปไม่ถึงสามสิบกิโลเมตร Cancellara โชว์ความสดอีกครั้ง
ออกโจมตีกลุ่มเพื่อหวังไล่จับคู่ breakaway ชาวเบลเยี่ยม การระเบิดพลังครั้งนี้เหลือแค่ Zdenek Stybar (OPQS) เพียงคนเดียวที่ตามลุงไหว Stybar เคยเป็นอดีตแชมป์โลก Cyclocross เขาเชี่ยวชาญทางวิบากดี ในขณะเดียวกันกลุ่มหลัก peloton อยู่ห่างจนน่าจะหมดสิทธิคว้าชัย ทำให้ตากล้องเลิกถ่ายครับหันมาซูมจับอยู่ที่ตัวเต็งกลุ่มนำไม่กี่คนเท่านั้น
โชคไม่เข้าข้าง
ถึงแม้ OPQS จะมีนักปั่นถึงสองคนอยู่ในกลุ่มหนี แต่โชคก็ไม่เข้าข้างเมื่อ Vandenbergh เสี่ยงลงไปปั่นในคูข้างถนนหินเพื่อลดแรงกระเทือน แต่ก็ชนเข้ากับแฟนขอบสนามเข้าอย่างจัง ล้มสะโพกกระแทกพื้นหลุดกลุ่มไป เคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกครั้งเมื่อ Stybar ต้องชะลอเพราะชนกระแทกกับกล้องถ่ายรูปของตากล้องข้างสนามจนแทบหยุด ตาม Cancellara และ Vanmarcke ไม่ได้ จังหวะนี้แน่นอนแล้วว่าสองคนนี้ไม่คนใดก็คนหนึ่งจะคว้าชัยไปครอง
Cancellara vs Vanmarcke
ด้วยความมั่นใจในฝีมือและทรนงในศักดิ์ศรี Sep Vanmarcke เลือกที่จะไม่ตามดูดล้อ Cancellara เหมือนคู่แข่งคนอื่นๆ แต่เขากลับสลับขึ้นนำช่วย Cancellara ทิ้งห่างกลุ่มไล่กว่าหนึ่งนาทีแม้ว่าจะต้องเปลืองแรงตัวเองก็ตาม 4 กิโลเมตรสุดท้าย Cancellara พยายามสลัด Vanmarcke หลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่หลุด จนทั้งคู่เข้าสู่ Roubaix Velodrome พร้อมๆ กัน
สีหน้าและภาษากายของทั้งคู่บ่งบอกชัดเจนว่าเข้าสู่ถึงขีดสุดของร่างกายแล้ว Cancellara รู้ตัวดีว่าเขาสปรินต์เอาชนะ VanMarcke ไม่ได้แน่นอน แกเลยใช้กลยุทธ์การปั่นไสตล์นักแข่งจักรยานลู่ ฟรีขาหยั่งเชิงศัตรูจนทั้งคู่แทบจะหยุดอยู่กับที่ ต่างฝ่ายต่างลองใจกัน แต่เป็น Cancellara ที่ไหวพริบและประสบการณ์เหนือกว่าจัดตำแหน่งบนแบงก์กิ้ง velodrome บังคับให้ Vanmarcke ต้องเป็นคนนำและเปิดสปรินต์ (เป็นตำแหน่งที่เสียเปรียบ เพราะคนหลังไม่ต้องออกแรงมาก มีคนข้างหน้าบังลมให้) Fabian Cancellara ออกแรงเฮือกสุดท้ายขึ้นตีข้าง Vanmarcke และเฉือนเอาชนะไปแค่ไม่กี่ช่วงล้อ คว้าแชมป์รายการ Paris-Roubaix เป็นครั้งที่ 3 เทียบเท่าตำนานนักปั่น Eddy Merckx
วิเคราะห์การแข่ง
1. Fabian Cancellara ที่สุดของนักปั่น Classic
น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นการแข่งที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลยจนถึงกิโลเมตรสุดท้ายครับ Fabian Cancellara พิชิตรายการ Paris-Roubaix เป็นครั้งที่สาม แต่ครั้งนี้ต่างกับทุกครั้งตรงที่เป็นชัยชนะที่ได้มายากเย็นที่สุดและซับซ้อนที่สุด ประวัติศาสตร์คงบันทึกว่า Cancellara เฉือน Vanmarcke ในการสปรินต์ไม่กี่ช่วงล้อ แต่คงไม่ได้บันทึกถึงแผนเหนือเมฆที่สะท้อนความเจนสนามและไหวพริบของนักปั่นชาวสวิสคนนี้ครับ
ถึงแม้ว่า Cancellara จะไม่แกร่งพอที่จะพิชิตคู่แข่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โซโล่เดี่ยวเข้าเส้นชัยเหมือนใน Tour of Flanders เพราะล้มก่อนแข่งไปสองครั้งและคู่แข่งก็ดูจะประกบเขาได้ไม่หลุดตั้งแต่ต้ยจนจบ แต่เปรียบดั่งดาบสลับคม แรงหมด-สมองยังมี ที่น่าประทับใจที่สุดคือทีมยักษ์ใหญ่ทั้งสามทีม OPQS, SKy และ BMC ดีไซน์แผนการแข่งเพื่อกำจัด Cancellara คนเดียวแต่กลับเป็น Cancellara ที่สับขาหลอกกำจัดตัวเต็งทีมอื่นได้จนเกือบหมดครับ เริ่มจากช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายที่ Cancellara ระเบิดพลังบนทางหิน Auchy-les-Orchies และ Mons-en-Pevele จนเหลือคู่แข่งแค่สิบสองคนจากกลุ่ม peloton ร่วมร้อยชีวิต เมื่อเห็นคู่แข่งตัวฉกาจ Lars Boom, Eisel และ Tepstra ตามประกบ ก็แสร้งทำเป็นหมดแรงลงไปเกาะรถทีมก่อนที่จะตลบหลังแซงหนีไปจับ breakaway อย่างรวดเร็ว ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
มีเพียงคนเดียวที่พอจะวัดแข้งกับ Cancellara ได้ นั่นก็คือ Sep Vanmarke ดาวรุ่งวัย 24 ปีจากทีม Blanco ที่ตามราชาสนามคลาสสิคได้ไม่หวาดหวั่น ตอบรับทุกการโจมตีพร้อมสลับขึ้นช่วยกันหนีกลุ่มตาม เมื่อชัดเจนแล้วว่า Cancellara สลัด Vanmarcke ไม่หลุดก็เปลี่ยนมาใช้แผนแบบนักปั่นจักรยานลู่ใน velodrome บังคับให้ Vanmarcke เปิดสปรินต์เพื่อเกาะ slipstream และระเบิดแรงเฮือกสุดท้ายแซงเข้าเส้นชัยไป
ชัยชนะของ Fabian Cancellara สะท้อนถึงทักษะประสบการณ์และไหวพริบในสนามแข่งยากที่จะหาใครเทียบ นอกจากจะมีแรงใจแรงกายฮึดเหลือเฟือแล้ว ยังตัดสินใจกลางสนามแข่งในสภาวะกดดันได้อย่างเฉียบขาด พลิกเอาชนะทีมยักษ์ใหญ่ที่ใช้จำนวนเข้าสู้ได้หมดจด เป็นแชมเปี้ยนที่ควรค่ากับชัยชนะศึก Paris-Roubaix ปี 2013 ที่สุดครับ
2. Sep Vanmarcke: ฮีโร่หมายเลขสอง
อีกคนที่น่านับถือคือ Sep Vanmarcke นักปั่นชาวเบลเยี่ยมวัน 24 ปี อดีตแชมป์ Omloop Het Niewsblad จากทีม Blanco ครับ นอกจากจะแรงเหลือเฟือขึ้นเกาะกลุ่มนำได้ในทุกจังหวะสำคัญแล้ว ยังใจกล้าพอที่จะยิงหนีคู่ไปกับ Vandenbergh ในช่วงท้ายเกม และตามติด Cancellara ได้แบบตัวต่อตัว ที่สำคัญคือเขาเลือกปั่นในไสตล์ของตัวเองมั่นใจกับแผนการปั่น ไม่ตามหมกล้อ Cancellara อย่างเดียวเหมือนคนอื่นๆ บางครั้งถึงกับเลือกหาไลน์ปั่นต้านลมออกไปคนเดียว ไม่สนใจด้วยซ้ำว่า Cancellara จะปั่นยังไง ถึงแม้จะไม่ได้แชมป์รายการแต่ที่แพ้ก็เพราะประสบการณ์น้อยกว่า ในอนาคตหายห่วงได้เลยว่าชื่อ Sep Vanmarcke ต้องกลับมาคว้าแชมป์ Roubaix สักครั้ง ผมรู้สึกเสียดายแทน Sep จริงๆ แพ้ไปแค่นิดเดียวให้สัมภาษณ์ทั้งน้ำตา…
3. Omega Pharma ผู้โชคชะตาไม่เข้าข้าง
ทั้งหัวหน้าทีม Tom Boonen ซี่โครงหัก Stybar, Vandenbergh ล้มหลุดกลุ่มนำในช่วงสุดท้าย… เมื่อวานนี้ OPQS ทำถูกต้องตามกลยุทธ์ทุกอย่าง มีนักปั่นจำนวนมากที่สุดและแกร่งที่สุดที่จะท้าทาย Cancellara ขึ้นนำ peloton ตลอดทั้งวันซ้ำยังนำกลุ่มหนี โดยเฉพาะ Stybar ที่ปั่นสู้กับตัวเต็งคนอื่นและตามเกมได้แบบไม่พลาดช๊อตถึงแม้จะเป็นการแข่ง Roubaix ครั้งแรกของเขา น่าเสียดายจริงๆ ที่ทั้ง Vandenbergh และ Stybar ต้องล้มเพราะคนดูที่สะเพร่า ถ้าทั้งสองคนตามไปจนถึง velodrome ผลการแข่งคงยากที่จะคาดเดาจริงๆ ครับ
แต่นั่นคือเสน่ห์ของสนามคลาสสิคที่ยากจะคาดเดา อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ แชมป์เก่าปี 2011 Johan Van Summeren และ Jurgen Vandenbrough ตัวเต็งจาก Lotto ก็ยางรั่วตั้งแต่ช่วงกลางทางไปทั้งคู่ จะชนะรายการนี้ได้นอกจากฝีเท้าดีแล้วก็ต้องมีโชคเข้าข้างด้วย อย่างไรก็ดี Niki Tepstra ทำได้ดีมากที่ขึ้นมาคว้าอันดับสาม รักษาทั้งหน้าและแผลใจให้ OPQS ที่พึ่งจะมีผลงานโพเดี้ยมสนามคลาสสิคครั้งแรกในรอบปี
4. BMC, SKY ต้องทำการบ้านใหม่
สองทีมยักษ์ทุนหนาแต่ไม่มีผลงาน คงต้องกลับไปทำการบ้านใหม่ Sky เกือบจะทำได้ดีมี Mat Hayman และ Bernhard Eisel ตามกลุ่มนำได้ในจังหวะสำคัญแต่ตัวเต็งหัวหน้าทีม Edvald Boassan Hagen และ Geraint Thomas กลับหลุดกลุ่มไปตั้งแต่เริ่ม ในขณะที่เทพสายฟ้า Thor Hushovd จาก BMC ก็ดวงไม่ดียางรั่วอีกเช่นกัน Greg Van Avermaet ดาวรุ่งดวงใหม่ของทีมกลับทำผลงานได้ดีกว่า Hushovd ตลอดฤดูกาลติด top 10 สนามคลาสสิคหลายรายการ จบงานนี้ไป Hushovd คงต้องทบทวนฟอร์มกันยกใหญ่ หวังว่าจะคว้าเสตจวินใน Tour de France ได้บ้างนะ!
5. Roubaix = Queen of the Classics
จากบรรดารายการคลาสสิคที่ดูมาทั้งหมดในปีนี้ Roubaix เป็นสนามที่สนุกที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย การแข่งมีสีสันตลอดระยะทาง 254 กิโลเมตรที่เราคาดเดาผู้ชนะไม่ได้จนนาทีสุดท้าย มีทั้งดราม่า ตัวเต็งหกล้มพ่ายแพ้ แม้กระทั่งการสับขาหลอกของ Cancellara ในช่วงท้ายก็ทำให้แฟนๆ ได้ลุ้นกันตัวโก่งครับ เราได้เห็นดาวดวงใหม่จากหลายๆ ทีมทั้ง Stybar และ Vandenbergh ที่ไม่มีผลงานสักเท่าไร กลับขึ้นเกาะกลุ่มนำได้ตลอดการแข่ง ท้ายที่สุดคงเป็น Cancellara เองที่น่าจะภูมิใจกับชัยชนะครั้งที่สามมากที่สุด เพราะกว่าจะได้มานั้นต้องงัดทุกอย่างที่มีออกมาใช้จนถึงหน้าเส้นชัย Paris-Roubaix ครั้งที่ 111 นี้ทั้งนักปั่นและแฟนๆ คงจดจำไปอีกนานครับ!
เสียดายแทน Stybar T_T
วานมาร์คถือว่าสุดยอดจริงๆ ปั่นอย่างนี้ได้ใจไปเต็ม ๆ ขนาดผมเชียร์น้าแคน ยังปันใจให้แกเลย จะมีสักกี่คนที่ปั่นเกาะกลุ่มหนีตลอด แถมเจอตัวเต็งก็ไม่เกาะล้อ ผลัดขึ้นลาก Great Honour แล้ว สุดยอด
Vanmarcke ผลงานดีมาพักหนึ่งแต่น่าเสียดายที่ปีที่แล้วมีปัญหาสุขภาพครับเลยไมไ่ด้เห็นแกโชว์ฟอร์ม ปีหน้าคนนี้มาแน่ๆ
ส่วน วานเดนเบิร์ก กับ สตีบาร์ ผมอยากด่าคนดูจริงๆ ไม่งั้นกลุ่มนำมี 4 คน ไม่อยากจะนึกว่า OPQS มีสองตัว ไปทำงานเป็นทีมสู้กับวานมาร์ค / น้าแคน จะสนุกขนาดไหน
ยิ่งถ้ามี Tom Boonen ด้วยนะ OPQS 3 คน มันจะกวาดสามโพเดี้ยมเลยหรือเปล่า
ผมนับถือแกเลยคับ Vanmarcke ในการปั่น ไม่เกาะน้าแคนอย่างเดียว สมศักดิ์ศรีมากคับ
ช่วงสปิ้น ถ้าเกิดแกยกสปริ้นให้ใกล้ๆหน้าเส้นอีกหน่อย ก็ไม่แน่เหมือนกันคับกับอับดับหนึ่ง
ตัดสินกันแค่เสี้ยววินาทีจริงๆ ครับ น่านับถือทั้งคู่ Cancellara ได้ความเก๋าและความใจเย็น ผมชอบที่แกนั่งสปรินต์นี่แหละ!
โทษนะคับผม admin พอจะถอดบทสัมภาษณ์ Vanmarcke ได้มั้ยคับ
จัดไปครับ https://www.duckingtiger.com/2013/04/09/sep-vanmarcke-interview/
“But there was some photographer or something in the way and I hit him with my shifter and I nearly crashed. Before I could put my foot back in the pedal I just lost contact with the wheel of Cancellara.”
“Once you have a gap of 5 to 10 seconds, it’s impossible to close on this parcours, especially after 240 kilometers.”
สรุปว่า Zdenek Stybar ชิฟเตอร์ไปเกี่ยวกับเลนส์ซูมของผู้ชมข้างสนามครับแอดมิน
ขอบคุณมากครับ!
3:21 สังเกตกล้องกระเด็นออกไปบนถนน ตอนดูผมก็ว่าอะไรดำ ๆ หลุดออกมา นึกว่าเป็นชิ้นส่วนจักรยานของ Stybar หรืออะไร
คนนี้มันทำวิดีโอสุดยอดมากๆ ผมตามดูทุกรายการ
เสียดาย OPQS มากๆ เลย หลุดมากสอง ไม่น่าเกิดอุบัติเหตุแบบนี้เลย ไม่งั้นคงได้ลุ้นหนักกว่านี้อีก