คริส ฟรูมใช้เกียร์อะไรไต่เขา?

วันนี้ระหว่างเช็ครูปภาพจากเอเยนซี่ที่ถ่ายภาพการแข่งให้ Ducking Tiger ในอัลบั้มสนาม Ruta del Sol ปรากฏว่าช่างภาพเขาถ่ายรูปจักรยานสำรองของคริส ฟรูมมาด้วย (รูปอยู่ด้านล่าง) เป็นภาพจากสเตจ 3 (ที่ฟรูมแพ้คอนทาดอร์) ซึ่งสเตจป็นทางขึ้นเขาเกือบตลอดทั้งวันรวมถึงที่เส้นชัยด้วย มาดูกันว่าฟรูมใช้เกียร์ยังไงครับ

Screen Shot 2558-02-23 at 12.08.28 AM

ความเจ๋งของทีม Sky อยู่ตรงนี้ครับ สังเกตจุดสีเงินที่โผล่ออกมาจากแฮนด์​ (ทางฝั่งขวามือ) นั่นคือ Sattelite Climbing Shifter Shimano Di2 R600 หรือปุ่มรีโมทที่ใช้เปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องเอื้อมมือไปจับฮู้ด ปกติ Satellite Shifter ตัวนี้เป็นสีดำ แต่ทีม Sky แกะเอาเฉพาะใส้ในออกมา ให้เหลือแต่ปุ่มเพียงอย่างเดียว เพื่อลดน้ำหนักลงนิดนึง สาย Weightweenies จริงๆ…

แน่นอนว่าเกียร์ที่ใช้เป็น Shimano Dura-Ace Di2 9070 เกียร์ไฟฟ้า 11 Speed ครับ แต่ฟรูมใช้จานหน้า Osymetric ซึ่งใช้ปากกาดำลบโลโก้ออกทั้งหมด (Shimano สปอนเซอร์ไม่ชอบ แต่เขาก็เป็นหัวหน้าทีมล่ะนะ) เหตุผลที่ฟรูมชอบใช้จาน Osym นั้น เราทราบมาจากหนังสือประวัติเขา ฟรูมบอกว่าชอบความรู้สึกของการควงขาด้วยจานรีมากกว่าจานกลม แต่ทั้งนี้เขาก็บอกว่ามันไม่ได้มีผลให้ปั่นเร็วขึ้น หรือลดอัตราการเต้นหัวใจ ประหยัดวัตต์อย่างที่ผู้ผลิตจานรีโฆษณากัน เป็นเรื่องของฟีลลิ่งล้วนๆ

froome dogma f8 (3 of 3)
52-38 Osymetric chainring + 175mm Dura-Ace 9000 Crank(Stage powermeter)

ใบ Osymetric เป็นผลงานของชาวฝรั่งเศส Jean-Louis Talo หลักการออกแบบคือให้ Ovality หรือจุดที่รีที่สุดของจานอยู่ตรงกับช่วงที่เรามีแรงกดมากที่สุด (ตำแหน่ง 1-5 นาฬิกาของบันได) กลับกัน จุดที่เราออกแรงน้อยมากหรือออกแรงไม่ได้เลย (เรียกว่า dead spot อยู่ตำแหน่ง 6 และ 12 นาฬิกา) Ovality จะน้อยกว่าจานกลม

จานลักษณะนี้เกียร์จะหนักขึ้นกว่าจำนวนฟันในจุดที่รีที่สุด เช่นถ้าเป็นใบ Osym 52t ความหนักอาจจะเทียบเท่ากับใช้ใบ 55-56 แต่พอสโตรคขาเราพ้นจุดที่ออกแรงได้ดีที่สุดไปแล้ว ค่าความรีที่น้อยลงจะช่วยให้เราข้ามจุด dead spot ไปอย่างรวดเร็ว (เพราะฉะนั้นจุดที่รีน้อยของใบ Osym 52t ก็อาจจะเทียบความหนักได้ประมาณใบ 49t)

สำหรับฟรูมที่ใช้ใบ Osym 52/38 ก็จะเทียบได้กับการใช้จานกลม 48/34t ในสโตรคที่เบาที่สุด (ซึ่งก็อธิบายว่าทำไมฟรูมถึงรอบขาจัด) ขาจานฟรูมใช้ยาว 175mm ซึ่งก็น่าจะปกติสำหรับนักปั่นที่สูง 186cm

froome dogma f8 (2 of 3)

มาดูด้านหลังกันบ้าง ฟรูมใช้เฟือง 11-28 – จริงๆ แล้วทีม Sky ทั้งทีมใช้เฟือง 28 ตลอดทั้งฤดูกาลแข่ง ทุกสภาพสนามตามคำบอกเล่าของช่างทีม Sky (ยกเว้นสเตจเขาบางลูกที่ชันบ้าบอจริงๆ ซึ่งอาจจะไปใช้เฟือง 32) ฟังดูอาจจะแปลกใจว่าทำไมโปรขาแรงใช้เกียร์ระยะกว้างจัง สมัยก่อนโปรนิยมใช้ 11-23 / 11-25 ในสเตจที่ไม่ชันมาก แต่นักปั่นทีม Sky พบว่าถึงจะใช้ 11-28 ก็ไม่เคยเจอปัญหาเกียร์เบาไปหรือหนักไป ไม่พอใช้ เพราะถ้าต้องทำความเร็วสูง เฟือง 11 ก็หนักมากอยู่แล้ว บวกกับจานหน้า standard 53 ฟันก็ใหญ่เกินพอ เลยตัดสินใจใช้เฟืองเดียว เพื่อความสะดวกสำหรับช่างประจำทีม ซึ่งเป็นข้อดีของเกียร์ 11 speed ครับ มีเฟืองให้เลือกใช้เหลือเฟือ

froome dogma f8 (1 of 3)

ตีนผีเป็น Ultegra Di2 แบบ long cage ขาตีนผียาวเป็นพิเศษ สเป็คที่เหลือเป็นมาตรฐาน เบาะ Fizik Antares, สเต็ม Pro Vibe อลูมินัม 120mm แฮนด์ Pro Vibe Compact โปรหลายคนชอบใช้แฮนด์ สเต็ม อลูมินัมเพราะทนทาน และเวลาล้มก็เช็คสภาพได้ง่ายไม่เหมือนคาร์บอน ที่สำคัญ จักรยานโปรส่วนใหญ่น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์​ UCI ที่ 6.8 กิโล ถ้าใช้อะไหล่คาร์บอนด้วยยิ่งจะเบาเกิน ยากที่จะทำให้หนักเท่ากับหรือมากกว่าเกณฑ์ครับ

♦♦♦

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *