รีวิว: เบรก eeBrakes Direct Mount

รู้จักเบรก ee

“เบรกอีอี” ชื่อนี้ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ในวงการเสือหมอบและชอบแต่งรถต้องเคยได้ยินแน่ๆ กับชื่อเสียงของมันที่เป็นเบรก after market ที่น้ำหนักเบามาก แต่ยังมีพลังเบรกและฟีลลิงการเลียเบรกที่ไม่ธรรมดา วันนี้ DT จะมารีวิวเบรก eeCycleworks ในแบบ direct mount ครับ

เบรก ee มาจากบริษัทที่ชื่อ eeCycleworks จากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี 2007 และเริ่มจำหน่ายในปี 2008 ถามว่าเจ้าของเป็นใคร ee ไม่ใช่บริษัทใหญ่โตอะไร แต่เป็นเวิร์กช็อปเล็กๆ ที่ก่อตั้งโดยพี่น้องสถาปนิกและวิศวกรสองคน เครก และบรูซ เอ็ดเวิร์ด เปิดบริษัทได้ไม่นาน บรูซก็ไปทำงานกับ Tesla เหลือเครกคุมบริษัทคนเดียว

แต่แพสชันในการสร้างอะไหล่จักรยานล้ำๆ ก็มาจากเครกนี่หละครับ เขาเริ่มเข้ามาคลุกคลีในวงการเสือหมอบตั้งแต่ช่วงปลายปี ‘90s จนคิดค้นโปรดักต์ออกมาหนึ่งตัว เป้าหมายเรียบง่าย ไม่ได้ต้องการจะครองโลกหรือเป็นที่หนึ่งในวงการ แต่ก็ทะเยอทะยานไม่น้อย เขากล่าวว่า

“ผมอยากทำเบรกจักรยานที่ดีที่สุดในโลก”

A post shared by @eecycleworks on

ไม่ธรรมดา…ด้วยความที่เป็น one man show เครกปรับปรุงเบรก ee อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 2008 มานี้ก็มีอัปเดตมา 4 ครั้งแล้ว ครั้งล่าสุดคือทำเบรกแบบ direct mount ให้ตอบโจทย์เฟรมจักรยานรุ่นใหม่ๆ

ล่าสุด บริษัท Cane Creek ได้ซื้อกิจการ eeCycleworks ไปแล้ว แต่ก็ยังให้เครกดำเนินการอยู่ Cane Creek เข้ามาช่วยเรื่องการโฆษณาและการกระจายสินค้าครับ

ด้วยน้ำหนัก “คู่ละ” 152 กรัม กับราคา “ข้างละ” ประมาณ 10,000 บาท ee direct Mount เป็นเบรก direct mount ที่เบาที่สุดในตลาดตอนนี้ เบากว่า Shimano Dura Ace 9110 Direct Mount ถึง 158 กรัม [footnote]Dura-Ace 9100 DM หนักคู่ละ 310 กรัม[/footnote] แต่ก็มีราคาสูงที่สุดด้วย

 

การออกแบบ

A post shared by K S I A M B I K E (@ksiambike) on

อะไรทำให้เบรก ee น้ำหนักเบาได้ขนาดนี้? โครงเบรก ee ทำจากอลูมิเนียมแบบทุบขึ้นรูป (forged) จุดหมุนต่างๆ มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ใช้น็อตและชิ้นส่วนบางจุดเป็นไทเทเนียม ซึ่งเบาและแข็งแรง[footnote]จริงว่า ee Direct mount เป็นเบรก DM ที่เบาที่สุด แต่ถ้าเป็นเบรกธรรมดาที่เป็น center mount ก็ยังมีเบรกที่เบากว่าเช่น THM Fibular ที่ทำชิ้นก้ามเบรกจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งดุ้น หนักแค่คู่ละ 120 กรัม แต่ราคาคู่ละร่วมห้าหมื่นบาท เบากว่า ee แค่ 30 กว่ากรัม แต่แพงกว่าร่วมสองเท่า[/footnote]

จุดหมุนต่างๆ ที่อยู่ด้านบนของเบรกออกแบบให้แรงบีบเบรกเป็นลักษณะ linear ยิ่งกำเบรกลึกพลังการห้ามล้อยิ่งมากตาม

เครกกล่าวว่า “โจทย์ที่ยากที่สุดในการออกแบบเบรกน้ำหนักเบาคือความสติฟฟ์ของตัวก้ามเบรกเอง เบรกที่สติฟฟ์จะให้แรงบีบขอบเบรกได้แน่น และถ้าโครงสร้างเบรกมีความสติฟฟ์ดี เบรกก็จะไม่ให้ตัวตามในทิศทางที่ล้อหมุน ตรงนี้จะช่วยเรื่องฟีลลิงการเลียเบรก (modulation) ทำให้ผู้ใช้ค่อยๆ ผ่อนแรงได้อย่างนิ่มนวล”​

A post shared by R M (@r__major) on

แล้วจะทำยังไงให้เบรกเบาๆ มีความสติฟฟ์สูง​? เครกกล่าวว่า โครงสร้างเบรกต้องมีประสิทธิภาพสูง (efficiency) จึงเป็นที่มาของรูปทรงแบบ skeleton อย่างที่เราเห็นในรูปครับ ไม่มีวัสดุส่วนเกิน รีดน้ำหนักให้ได้เยอะที่สุดโดยที่ยังคงประสิทธิภาพเบรกไว้ด้วย

เครกเข้าใจดีว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบหน้าตาเบรกแบบนี้

“แน่นอนว่าเวลาเราเจอโจทย์วิศวกรรมที่มันต่างกันสุดขั้วแบบนี้ เรื่องหน้าตาความสวยงามต้องเอาไว้ทีหลังครับ แต่ผมเชื่อนะว่าถ้าคุณทำอะไรที่มันอัปลักษณ์มากๆ แต่ใช้งานได้ดีมากๆ มันจะดูดีขึ้นมาเองครับ”​

ผมเองคนนึงก็ไม่ได้อินกับหน้าตาของเบรก ee สักเท่าไร แต่ที่แน่ๆ มันไม่เหมือนเบรกไหนๆ ในตลาดแน่นอน (อาจจะยกเว้นเบรก Bontrager Speed Stop ที่มากับ Trek Emonda SLR ซึ่งจริงๆ เครกก็เคลมว่าลอกดีไซน์ของเขาไปใช้โดยไม่ขออนุญาตก่อน)

เบรก ee Direct mount รองรับล้อขอบอ้วนและยางหน้ากว้างได้สูงสุด 28mm ล้อที่ใช้รีวิวเป็น Roval CLX32 ซึ่งมีความกว้างขอบล้อด้านในถึง 21mm แถมยังใส่ยาง 26mm เมื่อวัดจริงแล้วยางกว้างตั้ง 28mm ก็ยังใส่เข้าไปได้และยังเหลือระยะ clearance อีกด้านละหลายมิลลิเมตรครับ

 

การติดตั้งและใช้งาน

เบรก ee ก็ติดตั้งเหมือนเบรกทั่วๆ ไป ใช้ประแจ 5mm ในการขันยึดกับเฟรม และใช้ 4mm ในการตั้งความตึงสายเบรก รุ่นที่เราทดสอบเป็น “เบรกหน้า”​ ทั้งสองข้าง (ee มีเบรกหลังเฉพาะด้วย หน้าตาต่างกันเล็กน้อย) แต่ก็มีจุดเด่นอยู่หลายข้อที่ทำให้ใช้งานสะดวกครับ

1.) เปลี่ยนผ้าเบรกออกจากฝักโดยไม่ต้องใช้น็อตยึด: ต่างกับเบรกยี่ห้ออื่นๆ เบรก ee มีร่องยึดผ้าเบรกเข้ากับฝักได้แน่นหนาโดยไม่ต้องใช้น็อตขันยึด สะดวกดีสำหรับคนที่ชอบสลับล้อคาร์บอนและอลูมิเนียมบ่อยๆ ซึ่งต้องใช้ผ้าเบรกคนละชุดกัน
2.) ตั้งศูนย์เบรก (Centering) โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ: แค่หมุนตัวแกนปรับ center มันก็จะตั้งศูนย์ได้เอง สะดวกมากมาย
3.) ฝักผ้าเบรก เลื่อนระยะสูง-ต่ำได้ละเอียด: ใช้กับล้อไหนก็ได้
4.) ตำแหน่งสายเบรกอยู่ตรงกลางก้ามเบรก: แนวสายจะเป็นระนาบเดียวไปกับเฟรมทำให้การเดินสายดูเรียบร้อยดี

แต่ทั้งนี้ ระบบ quick release ที่ใช้เปิดเบรกนั้นต้องใช้สองมือในการคลาย คือต้องบีบเบรกเข้าหากันก่อนแล้วถึงจะดึงสลักที่ใช้เปิดเบรกให้มันอ้าออกได้ ต่างกับของ Shimano หรือ SRAM ที่ใช้มือเดียวหมุนขึ้นลงก็เปิดอ้าเบรกได้แล้ว

 

ใช้งานจริงเป็นยังไง?

ผมได้ใช้เบรกนี้มาใกล้ๆ สองพันกิโลเมตรแล้วเพราะมันมากับจักรยาน Tarmac SL6 Ultralight ครับ ที่ไม่รวมไว้ในรีวิว Tarmac ก็เพราะอยากเอามาขยายความเยอะๆ หน่อย น่าจะเป็นเบรกแต่งที่หลายๆ คนมองไว้แต่มีราคาสูง ก็คงลังเลอยู่ไม่น้อย

ก่อนหน้านี้ผมได้ลองใช้เบรก ee แบบ center mount มาบ้างเหมือนกัน ซึ่งฟีลลิงรวมๆ แล้วก็คล้ายกับตัว direct mount ครับ เพราะงั้นน่าจะอธิบายแทนกันได้

ด้วยความที่ปั่นในเมืองบ่อย เป็นสถานการณ์ที่ทดสอบพลังเบรกได้ดีมาก ผมปั่นฝ่าจราจร กทม แทบทุกวัน จะเจอมอเตอร์ไซค์ปาดหน้า แท็กซี่และรถเมล์เบียดเข้าซ้ายแบบไม่ให้สัญญาณไฟ จนต้องเบรกกะทันหันประจำ

แล้วเบรก ee ทำงานแบบฉุกเฉินเป็นยังไง? สั้นๆ ง่ายๆ คือแรงเบรกเหลือเฟือครับ หยุดรถได้ทันก่อนจิ้มตูดคันข้างหน้าทุกครั้ง ที่หวุดหวิดที่สุดคือตรงห้าแยกลาดพร้าว ที่เจอรถเก๋งตัดเข้าหน้ากะทันหันแล้วเบรกทันที เพราะเขาก็โดนมอไซค์ปาดหน้าอีกที เบรกล้อหน้าและหลังพร้อมกันจนล้อหลังล็อค แต่รถก็หยุดทัน ล้อสไลด์นิดหน่อย คิดว่าถ้าพลังเบรกน้อยกว่านี้น่าจะไม่รอด

เวลาปั่นลงเขา ee ให้ฟีลลิงการเลียเบรกที่ดีมาก ให้แรงบีบแบบ linear พลังเพิ่มขึ้นตามแรงบีบก้ามเบรก ถ้ากดเบรกตื้นก็จะไม่ค่อยหยุด แต่ช่วงกลางไปถึงปลายก็มีแรงเบรกพอที่จะหยุดไม่ต้องห่วงว่าลงเขาเร็วๆ แล้วจะเอาไม่อยู่

โดยรวมแล้วพลังเบรกและฟีลลิงการเลียเบรกทำได้ดีระดับ Campagnolo Super Record และ SRAM Red ดีกว่าเบรกแต่ง third party ทุกตัว ดีกว่า Ultegra แต่ยังด้อยกว่า Dura-Ace 9100 ยิ่งเทียบกับรถคันอื่นๆ ที่รีวิวที่มากับเบรก Dura-Ace 9100 นี่เห็นความต่างชัดเจนในเรื่องพลังและการเลียครับ Shimano ทำได้ดีกว่า

ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเบรก Dura-Ace หนักกว่าครึ่งนึง วัสดุแน่นหนา ทำให้โครงสร้างสติฟฟ์ได้ง่ายกว่า เวลาใช้งานนี่อุ่นใจหายห่วงเลย ฟีลการเลียเบรก Dura-Ace ถ้าเดินสายดีๆ นี่ดิสก์เบรกอาจจะมีหนาว

ข้อเสียก็มีครับ หนึ่งคือแพงมาก เบรกคู่ละสองหมื่น แพงกว่า Dura-Ace เท่านึง สองคือสกปรกง่ายแต่ทำความสะอาดยาก ด้วยที่มันมีร่องมีรูเยอะทำให้ฝุ่น โคลนเข้าไปติดข้างใน่าย แนะนำว่าจะใช้เบรกนี้ต้องมีแปรงสีฟันเก่าๆ ไว้สักคู่ ปั่นเสร็จรีบแปรงเช็ดมันให้หมดทุกซอก ไม่งั้นดองไว้นานๆ จะยิ่งทำความสะอาดยาก

แล้วคุ้มค่าแค่ไหน? ถ้าวัดกันแค่ประสิทธิภาพ ของแต่งที่เบามากๆ ย่อมแพงมากครับ ยังไงก็สู้ Dura-Ace ไม่ได้ในเรื่องความคุ้ม (Dura-Ace direct mount คู่ละหมื่น) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและจุดประสงค์ของคุณด้วย ลองนึกดูว่าถ้าจะอัปเกรดเฟรมจักรยานที่เบาขึ้น 150 กรัม ต้องใช้เงินเกิน 40,000-50,000 บาทต่อครั้ง (น้ำหนักประมาณนี้ก็เป็นความต่างของเฟรมรุ่นกลางกับรุ่นท็อป) เพราะงั้นเพิ่ม 10,000 บาทจาก Dura-Ace มาเป็น ee ก็ไม่ “แย่” เท่าไร ถ้ารับได้กับประสิทธิภาพที่ลดลงเล็กน้อย

 

สรุป

เบรก ee เป็นชุดเบรกน้ำหนักเบาที่ประสิทธิภาพดีมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว การใช้งานโดยรวมยังไม่สู้เบรกรุ่นท็อปของ Shimano แต่ก็มีจุดเด่นของมันเองหลายด้านตามที่ได้กล่าวไปข้างบน อีกอย่างเบรก direct mount ในตลาดตอนนี้มีให้เลือกไม่มากนัก

หน้าตาที่ไม่เหมือนใคร ใช้ได้กับกรุ๊ปเซ็ตทุกรุ่น ภาพลักษณ์ของแต่งไฮเอนด์บูทีค แถมเซฟน้ำหนักได้ไม่น้อย จะจัดหรือไม่จัดก็คงต้องพิจารณากันเองว่าเราให้ความสำคัญกับจุดไหนกว่ากันระหว่าง น้ำหนัก ราคา หรือประสิทธิภาพ

เบรก ee เป็นตัวอย่างที่ดีมากของการจ่ายแพงแต่ไม่จบ ซื้อของแพงที่สุดไม่ได้แปลว่าคุณจะได้ของที่ดีที่สุดเสมอไปครับ

★★★★½

ผู้นำเข้า: TAB Group
ราคา: ประมาณ 20,900 บาท (คู่)

eeCycleworks.com

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!