ลองเบาะใหม่: SQlab 612 Ergowave Carbon

แรเบาะจักรยานเป็นอะไรที่รีวิวได้ยากที่สุดอย่างนึงเลยครับ เพราะมันเป็นอุปกรณ์ที่เฉพาะตัวจริงๆ ถ้าเราได้เบาะที่ดี เหมาะกับสรีระช่วงล่างของเรา ก็ทำให้เรานั่งปั่นได้สบายหลายชั่วโมงไม่รู้สึกไม่สบาย แต่เบาะที่ไม่เข้ากับเรานั่งสิบนาทีก็เจ็บก็เมื่อยแล้ว นี่ยังไม่รวมเรื่องหน้าตาของเบาะด้วย เบาะที่นั่งสบายสำหรับเราอาจจะเป็นเบาะที่ดูไม่เข้ากับรถเอาเสียเลยก็ได้!

จากที่ DT มีโอกาสได้สอบถามพูดคุยกับนักออกแบบจักรยานหลายๆ คน เราพบคำตอบที่เหมือนๆ กันอย่างหนึ่งคือ อุปกรณ์ชิ้นใหญ่อย่างเฟรม ล้อ ชุดขับมันพัฒนามาไกลมากแล้ว ทำให้ดีกว่านี้แบบปฏิวัติวงการน่ะเป็นเรื่องยาก แต่จุดสัมผัส (contact point) ที่หลักอาน (วางก้น), แฮนด์ (วางมือ) และบันได (วางเท้า) ยังปรับปรุงให้นักปั่นขี่สบายขึ้นได้อีกเยอะ

 

Enter SQlab

หนึ่งในบริษัทที่พยายามพัฒนาเรื่อง contact point สำหรับนักปั่นก็คือ SQlab ครับ เรื่องของเรื่องคือผู้ก่อตั้ง โทบี้ ไฮลด์ ซึ่งเป็นนักกีฬาจักรยานสายดาวน์ฮิลล์และนักแข่ง motorcross ตัวยง ดันมอไซค์คว่ำในปี 2000 จนต้องหยุดกิจกรรมกลางแจ้งทุกอย่าง

เจ้าตัวก็ต้องฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดอยู่นานสองปีจนกลับมาปั่นได้อีกครั้ง

การที่เขาบาดเจ็บหนักจนปั่นจักรยานในท่าที่สบายๆ เหมือนคนอื่นเขาได้ยากนี่ก็เลยทำให้แกสนใจศึกษาเรื่องความสบายบนจักรยานเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องตำแหน่งวางมือบนแฮนด์ ท่านั่งปั่น องศามิติรถ เบาะและบันได จนสุดท้ายไปร่วมมือกับหมอ Stefan Stautde ช่วยกันวิจัยเรื่องกายวิภาคและชีวกลศาสตร์ของนักปั่น และเขียนเป็นตำราออกมาหนึ่งเล่ม ในชื่อว่า “หนทางสู่การพัฒนาเบาะจักรยานที่สมบูรณ์แบบ” (The path to a perfect saddle) ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานวงการที่ผู้ผลิตจักรยานหลายรายใช้เป็นคำภีร์ในการพัฒนาเบาะตัวเองครับ

SQlab เป็นเจ้าแรกที่คิดค้นวิธีการวัดระยะกระดูกเชิงกราน (sitbone measurement) ที่ตอนนี้หลายๆ เจ้านำมาใช้ในการหาความกว้างเบาะที่เหมาะสมให้ลูกค้าด้วย

เบาะ SQLab 612 Ergowave ที่เราจะดูกันวันนี้ก็พัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลแฟรงก์เฟิร์ตและมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ตภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ครับ

เบาะ Ergowave 612 Active Carbon ที่เราทดสอบวันนี้ มีให้เลือก 4 ไซส์ (12, 13, 14, 15 cm กับน้ำหนัก 225, 228, 232, 236 กรัม ตามลำดับ) ใช้หนังเทียมหุ้มด้านบนเบาะและมีชั้นโฟมด้านในเพื่อความสบาย สนนราคาที่ 8,000 บาท

ตารางรุ่นและน้ำหนัก

เลือกเบาะยังไงให้นั่งสบาย?

ก่อนะจะเลือกความกว้างเบาะที่เหมาะสมได้นั้น SQlab บอกว่าเราต้องรู้สองอย่างก่อนครับ นั่นคือ?

  • ความกว้างกระดูกเชิงกราน
  • สไตล์การปั่นของเรา

แล้วจะวัดความกว้างกระดูกเชิงกรานยังไง? SQlab มีเก้าอี้ที่ช่วยวัดครับ

หลายคนน่าจะเคยเห็นในร้านจักรยานบ้างแล้ว มันจะเป็นเก้าอี้ที่ด้านบนมีปุ่มๆ สำหรับวัดแรงกดทับจากการนั่ง คนที่ช่วยวัดจะเอากระดาษมาวางทาบไว้ข้างบนนหนึ่งแผ่น ซึ่งจะมีสเกลบอกระยะคร่าวๆ เรานั่งลงไป เอามือจับข้างๆ เก้าอี้ เท้าดันพนัก ให้ก้นออกแรงกดทับได้เต็มที่ เท่านี้ก็จะเห็นว่าจุดไหนที่ก้นเรากดทับเยอะที่สุด ระยะห่างระหว่างสองจุดนี้ก็คือความกว้างกระดูกเชิงกรานของเรานั่นเอง

จากนั้นร้านก็จะถามเราว่าปั่นจักรยานแบบไหน สไตล์ไหน เพื่อเอามาช่วยเลือกว่าเราควรใช้เบาะความกว้างเท่าไร และรุ่นไหนดีครับ

ท่าปั่นมันมีผลต่อความกว้างเบาะยังไง? ถ้าเรานั่งในท่าสบายๆ ตัวตรงไม่ก้มมาก เหมือนเวลาปั่นรถแม่บ้าน หรือบนเสือภูเขา จุดสัมผัสระหว่างช่วงล่างของเรากับเบาะก็จะกว้างขึ้นด้วย ก็ต้องใช้เบาะที่กว้างกว่าคนปั่นเสือหมอบเล็กน้อย

อย่างของผมในรูปข้างบน ความกว้างกระดูกเชิงกรานวัดออกมาที่ 12.5cm และใช้ท่านั่งปั่นก้มกลางๆ ก็เพิ่มไปอีก +2cm ตามชาร์ทของ SQlab ค่ารวมคือ 14.5cm เขาก็แนะนำให้ใช้เบาะตัวกว้าง 15cm ครับ

เบาะ Ergorwave มีสองรุ่น 612 สำหรับเสือหมอบ และ 611 สำหรับเสือภูเขา ซึ่งตัวเบาะจะมีเสริมโครงเคฟลาร์เพื่อป้องกันรอยเวลาใช้ offroad

 

ทรงเบาะที่ไม่เหมือนใคร

ถ้าดูจากด้านบนและด้านข้างจะเห็นว่าทรงเบาะ SQlab นั้นมันดูแปลกตาครับ ด้านท้ายเบาะงอนขึ้นและสูงกว่าด้านหน้า ซึ่งเขาอ้างว่าทำให้เรานั่งได้เต็มก้นและถ่ายแรงได้ดี ตรงกลางเบาะไม่มี cutout แต่มีบุ๋มยุบลงไปหน่อยนึง ตรงนี้เพื่อช่วยลดแรงกดทับจุดซ่อนเร้น

 

แต่ใช่ว่าทำออกมาโดยไร้เหตุผล ดีไซน์นี้ได้รับรางวัล Design & Innovation Award ประจำปี 2017 ด้วย ซึ่งเป็นการประกวดการออกแบบอุปกรณ์จักรยานที่รับผลงานจากนักออกแบบทั่วโลกทุกๆ ปี เป็นหนึ่งในรางวัลที่ทรงเกียรติที่สุดของคนในวงการจักรยานครับ

 

ด้านหน้าของเบาะยาวและขนานพื้น และหัวกดต่ำลงเล็กน้อย ตรงนี้ก็ช่วยลดอาการกดทับจุอวัยวะเพศของทั้งชายและหญิงเช่นกันครับ

 

เบาะอะไรขยับได้ด้วย

ถ้าพลิกมาดูใต้เบาะ เราจะเห็นสิ่งที่ SQlab เรียกว่า Active Technology ครับ นั่นคือ..เบาะของ SQlab เนี่ย ช่วงหลังออกแบบมาให้มันขยับได้ครับ (rocking movement) ดูรูปนี้น่าจะเข้าใจ

เขาทำได้ยังไง? จุดที่รางเบาะไปจับตัวโครงเบาะด้านหลังนั้นจะเว้าไว้นิดนึง ไม่ได้เชื่อมเต็มเหมือนเบาะอื่นๆ มีแค่โครงพลาสติกบางๆ เชื่อมกัน ช่องว่างตรงนี้จะมียางอีลาสโตเมอร์มาเติมเต็ม ยางนี้มีให้เลือกสามความแข็งครับ ของผมใช้ความแข็งระดับกลาง จะบอกว่ามันทำงานเหมือนโช๊คที่ให้ตัวได้นิดๆ

 

พื้นที่ว่างๆ ใต้เบาะเหนือตะขอนั่นเอาไว้เกี่ยวยึดลูกยาง

ทำไมต้องทำอย่างนั้น? SQlab เชื่อว่าการที่ช่วงหลังเบาะให้ตัวซ้ายขวาได้ มันไม่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ ปกติเวลาเราเดิน pelvis จะขยับตัวได้นิดๆ หน่อยๆ ไม่ล็อกอยู่กับที่ไปตลอดอยู่แล้ว ถ้าเบาะให้ตัวได้ก็ทำให้เรานั่งปั่นควงขาได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น สมูทขึ้น ออกแรงได้ดีขึ้น ลดอาการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังเอว (lumbar spine) กระดูกเชิงกราน และสะโพก แถมช่วยลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากความยาวขาไม่เท่ากัน

เมื่อเบาะให้ตัวในแนวราบได้ กระดูกสันหลังเราก็จะรับแรงกดได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่หนักไปข้างใดข้างหนึ่ง (asymmetrical load) ครับ เป็นการป้องกันกระดูกสันหลังไปในตัว ตรงนี้ SQlab เขียนไว้ละเอียดไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ที่หน้านี้ 

 

นั่งแล้วรู้สึกยังไง?

แน่นอนเวลาเปลี่ยนเบาะใหม่ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวสักนิดนึงครับ เบาะตัวนี้ก็เช่นกัน ด้วยรูปทรงที่ไม่เหมือนเบาะทั่วไป ทั้งระนาบที่ไม่เท่ากัน ความยาวที่มากกว่าเบาะที่เคยใช้ ผมต้องลองนั่งหลายจุดพอสมควร แต่พอเจอจุดที่โอเคแล้วก็เข้ากับก้นกระชับดีทีเดียว สำหรับเบาะตัวนี้ ส่วนตัวแล้วลองเซ็ตความสูงเบาะโดยใช้ช่วงหลังเบาะ (ที่สูงกว่าด้านหน้า) เป็นเกณฑ์ก็ได้ความสูงที่พอดีครับ

SQlab แนะนำให้เซ็ตเบาะไปด้านหน้ากว่าเบาะที่เคยใช้เล็กน้อย เพื่อให้เรานั่งลงบนช่วงหลังเบาะพอดี จะได้ใช้ประโยชน์เบาะเต็มที่ จะต่างกับเบาะแนว racing หลายๆ รุ่นที่ออกแบบให้เรานั่งช่วงปลาบเบาะมากกว่าครับ

พอได้ตำแหน่งที่เหมาะแล้ว ก็ต้องบอกว่ามันนั่งสบายมากครับ ถึงจะไม่มี cutout เว้ากลางเหมือนเบาะที่เคยใช้ แต่ช่วงบุ๋มตรงกลางเบาะนั้นลดแรงกดได้ไม่ธรรมดา อย่างไรก็ดีต้องลองปั่นหลายรอบเหมือนกันกว่าจะหาจุดที่เข้าที่ได้ครับ SQlab แนะนำให้ลองปั่นก่อนสัก 6-7 ครั้งเพื่อเช็คตำแหน่งที่มันโอเคกับเราจริงๆ (ผมปั่น 2-3 ครั้งก็ได้จุดที่โอเคแล้ว)​ ที่จะลืมก็คือชอบเลื่อนมานั่งหน้าเบาะตามนิสัยเก่า แต่เบาะ SQlab มันออกแบบมาให้เรานั่งช่วงหลังเบาะอย่างที่บอกไปครับ

ช่วงหน้าเบาะที่เรียวยาวนั้นก็ไม่ได้กว้างเกินไปจนเกะกะสโตรคการควงขา ออกแบบมาได้ดีครับ

 

Active Technology ใช้แล้วเป็นยังไง?

ทีนี้มาถึงประเด็นหลัก เจ้าระบบลูกยางอีลาสโตเมอร์ที่ใช้ซัพพอร์ทใต้เบาะ ผมใช้ความแข็งระดับกลาง เวลาปั่นก็พอรู้สึกว่าเบาะมันโยกซ้ายขวาได้ครับ ถามว่ามันทำให้ปั่นดีขึ้นไหมก็คงบอกยากเหมือนกัน ก็ปั่นได้ปกติดี เวลาที่เห็นผลชัดคือตอนที่ปั่นหนักๆ โหลดทิ้งน้ำหนักเยอะอย่างตอนขึ้นเขาหรือกดเกียร์หนักครับ

ที่บอกประโยชน์มันชัดไม่ได้ คงเพราะยังไม่ชินและไม่ได้ปั่นมันนานเท่าไรด้วย ปกติผมใช้เบาะ Specialized Romin Evo Pro รางคาร์บอน ซึ่งก็นั่งตรงกลางๆ หรือหน้าเบาะมากกว่า และถึงเบาะจะให้ตัวไม่ได้แบบ SQlab มันก็ไม่ได้ทำให้บาดเจ็บหรือเกิดปัญหาอะไรน่ะนะ แต่ที่ต่างคือ รู้สึกชัดว่าเบาะ SQlab นั่งได้เต็มก้นกว่าครับ

 

สรุป

โดยรวมแล้ว SQlab Ergowave 612 เป็นเบาะที่ออกแบบมาดีมากครับ นั่งสบายทุกท่วงท่าการปั่น ปั่นใกล้ ไกล ทางวิบาก ทางราบ ทางเขาก็ยังไม่เจอปัญหา แต่มีข้อแม้ว่าต้องเลือกความกว้างเบาะให้ถูกต้องเหมาะสมกับการใช้งานหลักของเราด้วย ถ้าเลือกผิดแต่แรกมันก็อาจจะไม่สบายอย่างที่ควรจะเป็น

จุดอ่อนเป็นเรื่องน้ำหนักต่อราคา เพราะราคาระดับนี้สามารถหาเบาะที่เบากว่า 150 กรัมได้ไม่ยากครับ ตัวที่เราทดลองใช้กันนี้หนักประมาณ 190 กรัม

แต่ถ้าใครชอบทรงเบาะ SQlab แต่ไม่ต้องการระบบลูกยาง Active ก็เลือกเบาะ Ergowave Carbon ที่ไม่มี Active technology ได้เหมือนกัน รุ่นรางคาร์บอนน้ำหนักอยู่ในช่วง 175-182 กรัม (ผมลองชั่งลูกยางดู ชิ้นนึงหนักประมาณ 23-28 กรัม)

อย่างไรก็ดี จุดสัมผัสจักรยานนั้นเป็นจุดที่เราไม่ควรเสี่ยงลดน้ำหนักถ้ามันจะทำให้เรานั่งไม่สบาย

ถ้าไม่ติดสองประเด็นนี้และรับราคาได้ก็เป็นเบาะที่น่าลองใช้ไม่น้อยครับ

 

ขอบคุณ​บริษัท Spin733 – ผู้นำเข้าเบาะ SQlab และแฮนด์ Syntace ที่ส่งของเบาะให้ทดสอบครับ

https://www.sq-lab.com

SaveSaveSaveSave

SaveSave

SaveSave

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *