DT พาเที่ยว: บุกบ้าน STORCK Bicycle (1)

สำหรับคนบ้าจักรยาน จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ไปเยือนบ้านผู้ให้กำเนิดจักรยานที่เราหลงใหล? เดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ Ducking Tiger แวะไปเที่ยวงาน Eurobike – งานเทรดโชว์จักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ประเยอรมันและได้หยิบเรื่องที่น่าสนใจในวงการมาฝากกันไม่น้อย แต่มีหนึ่งเรื่องที่เก็บไว้ยังไม่ได้เล่าสักทีครับ ก่อนที่ผมจะไปถึงงาน Eurobike เราแอบไปคุยกับมาร์คัส สตอร์กถึงสำนักงานใหญ่ในเมืองอิดสไตน์

ผมรู้จักกับมาร์คัส สตอร์ก ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Storck Bicycle ครั้งแรกก็ตอนที่เขามาประเทศไทยเมื่อปีก่อน ถึงจะได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์มาร์คัสให้กับนิตยสาร Cycling Plus Thailand และได้ไปปั่นกับทริป STORCK Club Thailand ก็มีประสบการณ์ที่ไม่ดีเท่าไร เพราะทริปนั้นผมปั่นแหกโค้งลงเนินจนแขนหัก! แต่ตลอด 2-3 วันที่ได้พูดคุยกับมาร์คัสก็เข้าใจว่าคนๆ นี้ไม่ใช่นักออกแบบจักรยานธรรมดา นอกจากความมุ่งมั่นแรงกล้าและความหลงไหลในวิศกรรมและการทำธุรกิจจักรยานไฮเอนด์ เขายังมีความมั่นใจในทุกๆ เรื่องที่พูดราวกับเป็นคนที่บรรลุแตกฉานศาสตร์แห่งการออกแบบจักรยาน

คำพูดติดปากของมาร์คัสคือ “เรื่องนั้นผมเคยทำเมื่อสิบปีก่อน” และ “จักรยานของผมดีที่สุดในโลก” ฟังดูเหมือนคนโอ้อวด แต่เมื่อเขาคือเจ้าของสิทธิบัตรผู้คิดค้น ตะเกียบเสือหมอบคาร์บอน (1995 Stiletto Fork 300g) จักรยาน full suspension คาร์บอน (1997 Storck Organic) และขาจานเสือหมอบฟูลคาร์บอน (1998 – Storck Power Arms) คำพูดติดปากของเขากลับฟังดูเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติอย่างเหลือเชื่อ มาร์คัสหัวเราะโพล่ง เมื่อผมพูดถึงแบรนด์จักรยานดังที่กำลังโชว์ความเบาระดับ 4 กิโลกรัม “คันแรกของโลก” เขาสวนทันที “ผมทำจักรยานหนักสี่กิโลได้ตั้งแต่สิบปีก่อน” (ปี 2002 Storck Scenario Light เฟรมอลู หนักเพียง 4.9kg ด้วยอะไหล่ในสมัยนั้น!

“จักรยานที่ดีที่สุดในโลก” เป็นสิ่งที่แบรนด์ STORCK พูดถึงครั้งแล้วครั้งเล่า จนราวกับเป็นคำอวดอ้าง แต่คำถามคือ เขาวัดยังไง? ถ้าใครติดตามความเคลื่อนไหวในวงการน่าจะพอรู้ว่า สื่อต่างประเทศที่เชื่อถือได้หลายๆ รายไม่ว่าจะเป็น Cycling Plus, Bikeradar, และนิตยสาร TOUR Magazine ต่างยกให้จักรยาน STORCK หลายต่อหลายรุ่นเป็นจักรยานที่ดีที่สุดในผลรวมการทดสอบของแต่ละปี STORCK อาจจะไม่ใช่จักรยานที่เบา สติฟ แอโรลู่ลม หรือนิ่มปั่นสบายที่สุด แต่หลายต่อหลายครั้ง สื่อเหล่านี้ยกให้มันเป็นจักรยานที่หาจุดสมดุลของทุกด้าน มาผสมผสานลงตัวกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในรุ่นท๊อปราคาค่อนแสนอย่าง Aernario และรุ่น “เริ่มต้น” อย่าง Scenero G2 ซึ่งในฐานะคนที่อยู่ในวงการจักรยาน ผมว่ามันน่าทึ่งไม่น้อยจากการที่คนๆ เดียวจะทำได้ถึงขนาดนี้ โดยเฉพาะการทดสอบจากนิตยสาร TOUR ซึ่งถือว่าโหด ไม่มโนทดสอบจาความรู้สึกการปั่นอย่างเดียว แต่จับเฟรมจักรยานเข้าห้องแล๊บผ่านเครื่องทดสอบหลายรูปแบบ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่แบรนด์โฆษณานั้นไม่ใช่เรื่องโกหก

ทำไมผมถึงพูดว่า “คนๆ เดียว?” ระหว่างที่มาร์คัสพาเดินทัวร์สำนักงานของเขา มาร์คัสหยิบหนังสือแคตาล๊อกจักรยาน STORCK ปี 2015 ให้ผมดู ที่หน้าปก เขียนสั้นๆ ว่า “Leidenschaft” และมีรูปโมเดลจักรยาน STORCK ทั้งหมดน่าจะเกิน 100 คัน

Screen Shot 2557-12-02 at 6.33.28 PM

 

ผมถามไปว่าบริษัทคุณมีนักออกแบบจักรยานกี่คน?

“ถ้าไม่นับสองปีที่แล้ว ทีมงานวิศวกรและนักออกแบบจักรยานของ STORCK ทั้งหมดกำลังยืนอยู่ตรงหน้าคุณ”

น่าทึ่งใช่ไหมหละครับ

เขาว่ากันว่าสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคนๆ หนึ่งได้ดีที่สุดก็คือบ้านของเขา เช่นนั้นแล้ว เรามาดูกันดีกว่าว่า “บ้าน” ของมาร์คัส สตอร์ก หน้าตาเป็นอย่างไร

Storck HQ Visit (2 of 44)

1. เมืองอิดสไตน์ (Idstein) เป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ในรัฐ Hesse ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแฟรงก์เฟิร์ต การเดินทางค่อนข้างสะดวก เพราะถนนในเยอรมันเชื่อมต่อกันด้วยทางซุปเปอร์ไฮเวย์เรียบกริบที่รถยนต์เหยียบกัน 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นเรื่องธรรมดา (ไม่จำกัดความเร็ว)

Storck HQ Visit (6 of 44)

2. เมืองอิดสไตน์มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่เก่าแก่ร่วมพันปี ปัจจุบันมีประชากรไม่ถึง 30,000 คนครับ เป็นเมืองการศึกษา แวดล้อมด้วยภูเขาและเส้นทางปั่น ทั้งทาง track สำหรับคอ MTB และถนนไต่รอบเขาสำหรับชาวเสือหมอบ มาร์คัสบอกว่าหนึ่งลูปรอบเมืองได้ระยะทางราว 90 กิโลเมตร แต่มีระยะไต่เนินหลายพันเมตรเลยทีเดียว เสียดายว่าไม่ได้เอาจักรยานไปปั่นด้วย

Storck HQ Visit (4 of 44)

3. ตึก Headquarter ของ STORCK อยู่ห่างใจกลางเมืองอิดสไตน์ไม่ถึงสองกิโลเมตร ที่ตึกไม่มีโลโก้หรือตราสัญลักษณ์อะไรฉูดฉาด มีแค่โลโก้ STORCK กับตราหยินหยางของบริษัทอยู่บนยอดตึก

Storck HQ Visit (3 of 44)

4. มุมจากด้านข้าง: ตึก STORCK มีนโยบาย “โปร่งใส” ซึ่งรอบตัวตึกจะเป็นกระจกใสทั้งหมด คนที่สัญจรผ่านไปมาสามารถเห็นภายในตึกได้เกือบทุกส่วน ทั้งบริเวณโชว์รูม และห้องทดสอบเฟรม prototype

Storck HQ Visit (7 of 44)

5. ด้วยขนาดพื้นที่ 700 ตารางเมตร มาร์คัสมีพื้นที่มากพอจะจัดตึกด้านหน้าไว้เป็นโชว์รูมและต้อนรับลูกค้า อาจจะดูจักรยานโล่งนิดหนึ่งเพราะว่าตอนที่เราไปถึง STORCK ยกจักรยานเกือบทั้งหมดในโชว์รูมไปจัดแสดงที่งาน Eurobike ครับ

Storck HQ Visit (44 of 44)
Storck HQ Visit (41 of 44)

6. ชั้นสองเป็นพื้นที่โชว์จักรยานเช่นกัน แต่ก็มีคอมโพเนนท์แบรนด์ STORCK (ทำโดย Syntace) และเสื้อผ้าจักรยานของเขาเอง ซึ่งมาร์คัสเชื่อว่าก้าวต่อไปในวงการจักรยานจะไม่ได้อยู่ที่ชิ้นส่วนจักรยานอีกต่อไป แต่จะเป็นการพัฒนาเครื่องแต่งกายของนักปั่นแทน เช่นเทคโนโลยีผ้าเคลือบ Plasma กระตุ้นผ่านไฟฟ้าที่สามารถปรับผิวผ้าตามทิศทางกระแสลม เพื่อลดแรงต้านและประหยัดพลังงานในการปั่น!

Storck HQ Visit (8 of 44)
Storck HQ Visit (9 of 44)

7. ห้องต่อไปที่มาร์คัสพาเราชมคือห้อง lab ที่ใช้ทดสอบเฟรม Prototype รุ่นต่างๆ มีทั้งเครื่องวัดความสติฟท่อนั่ง ท่อคอ หลักอาน และกระโหลก เครื่องทดสอบความสติฟ 3 จุดในรูปนี้มาร์คัสเป็นคนออกแบบเอง

Storck HQ Visit (11 of 44)

8. เครื่องทดสอบความสติฟบริเวณท่อคอ (headtube) เฟรมในรูปคือ TIX เฟรม Cyclocross คันแรกของ STORCK

STORCK Lab

9. เฟรม Prototype ที่กำลังทดสอบ เฟรม Rebel Seven ที่เห็นแขวนอยู่เป็นต้นแบบจากเหล็กที่หนักจนยกแทบไม่ขึ้น ส่วนเฟรมดำน้ำเงินมุมขวาล่างคือ AERFAST เฟรมแอโรตัวล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในงาน Eurobike เป็น Rapid Prototype ครับ

Storck HQ Visit (17 of 44)

10. ห้องต่อไปที่ติดกับห้องทดสอบคือห้องประกอบรถสำหรับช่างครับ ห้องนี้จะมีแท่นประกอบอยู่รอบๆ ห้อง ไม่เยอะมาก จักรยาน STORCK Completed Bike ทุกคันที่ขายในเยอรมันจะผ่านการประกอบจากห้องนี้ทั้งหมด มาร์คัสมีนโยบายว่าช่างทุกคนต้องประกอบรถได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเสือภูเขา เสือหมอบ ไปจนถึงจักรยานไฟฟ้า เพราะเมื่อหากขาดคนนึงไป อีกคนจะได้ทำงานแทนที่กันได้

Storck HQ Visit (16 of 44)

11. FASCENARIO 0.6 หนึ่งในจักรยานที่ล้ำสมัยที่สุด เบาที่สุด และแพงที่สุดในตลาดตอนนี้

Storck HQ Visit (20 of 44)
Storck HQ Visit (18 of 44)

12. บรรยากาศในห้องประกอบค่อนข้างเงียบสงบ เพราะว่าพนักงานส่วนใหญ่ไปเตรียมจัดบูทงาน Eurobike ที่เมืองฟริดีชาฟเฟนกันหมด

Storck HQ Visit (23 of 44)

13. ห้องถัดมาเป็นห้องสต๊อก ที่นี่มีระบบ Inventory ที่น่าอิจฉามากครับ Efficiency สูงมาก

Storck HQ Visit (26 of 44)

14. มาร์คัสบอกว่าเขาและทีมงานช่วยกันพัฒนาระบบ Inventory สำหรับโกดังนี้หลายปี โจทย์การสต๊อกอะไหล่จักรยานไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะเมื่อมาร์คัสต้องการให้อะไหล่ของ STORCK ทุกชิ้นสามารถ Track ติดตามได้ว่าไปอยู่ในจักรยานคันไหน ปีไหน และจำหน่ายไปเมื่อไร อะไหล่ทุกชิ้นมี Serial Number ละเอียดขนาดที่ว่า ถ้ามีอะไหล่เล็กๆ อย่างฝา headset หลุดไปอยู่ในตระก้าน๊อต เขาสามารถบอกได้เลยว่ามันหลุดมาจากกล่องไหน

STORCK INventory
Storck HQ VisitBB (1 of 1)-2
Storck HQ VisitBB (1 of 1)-3
Storck HQ VisitBB (1 of 1)-5
Storck HQ VisitBB (1 of 1)-4

พาเที่ยวบ้าน STORCK ใน Part 1 ขอจบลงเท่านี้ก่อน ตอนต่อไปเราจะมาดูห้องทำงานของมาร์คัสและทีมงานดีไซน์เนอร์ นักออกแบบจักรยาน และเรื่องราวชีวิตในวงการของอัจฉริยะคนนี้ครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *