เมื่อซากานออกจากตูร์แล้วใครมีลุ้นแชมป์เสื้อเจ้าความเร็ว?

การออกจาก Tour de France ของปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe) เปิดโอกาสให้นักปั่นโดยเฉพาะสปรินเตอร์หลายคนมีลุ้นท้าชิงแชมป์เสื้อเขียว หรือเสื้อเจ้าความเร็ว จากที่เสื้อผู้นำตัวนี้ถูกยึดครองโดยซากานมาตลอด 5 ปี แต่เมื่อเขาถูกกรรมการเชิญออกจากการแข่งขันเพราะเหตุปะทะกับมาร์ค คาเวนดิช (Dimension Data) ในสเตจที่ 4 ปีนี้ซากานจะไม่ได้ป้องกันเสื้ออีกต่อไป

 

รางวัลเจ้าความเร็วคืออะไร?

ใน Tour de France ผู้จัดมีรางวัลให้นักปั่นหลายรูปแบบครับ แน่นอนว่าคนที่ปั่นจบเร็วที่สุดจากการแข่งขันทั้งสามสัปดาห์ก็จะได้ครองเสื้อเหลืองซึ่งเป็นตัวแทนของผู้นำเวลารวม (ใช้เวลารวมทุกสเตจน้อยที่สุด) และเป็นแชมป์รายการ

แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำเวลารวมได้ดี ผู้จัดจึงต้องมีรางวัลอื่นๆ ด้วยเพื่อการแข่งขันจะได้ไม่น่าเบื่อ เช่นรางวัลเจ้าความเร็ว เจ้าภูเขา Best Young Rider และ Best Team

ในประเภทเจ้าความเร็ว ชื่อเต็มๆ ของมันคือ Point Classification หรือถ้าเป็นเป็นไทยก็คือรางวัลผู้นำคะแนนรวม

ในแต่ละวันที่แข่งขัน ผู้จัดจะมีคะแนนแจกให้นักปั่นท้าชิงกันอยู่สองจุด มีจุดสปรินต์กลางสเตจ (Intermediate Sprint) และที่หน้าเส้นชัย (Finish Line) โดยสเตจทางราบจะแจกคะแนนเยอะกว่าสเตจภูเขา เพื่อให้นักปั่นที่ไต่เขาไม่ดีและไม่ใช่นักปั่นแบบ GC ได้มีโอกาสคว้ารางวัลบ้าง จึงเป็นที่มาของชื่อ “เจ้าความเร็ว” ในภาษาไทยนั่นเองครับ มาดูกันว่าเขาแบ่งสัดส่วนคะแนนแต่ละสเตจยังไง

  • สเตจทางราบ (สเตจ 2, 4, 6, 7, 10, 11, 16, 21): ให้คะแนน 50-30-20-18-16-14-12-10-8-7-6-5-4-3 และ 2 คะแนนสำหรับนักปั่น 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • สเตจเนินเขา/ภูเขาระดับปานกลาง (สเตจ 3, 5, 8, 14, 15, 19): ให้คะแนน 30-25-22-19-17-15-13-11-9-7-6- 5-4-3-2 ตามลำดับ
  • สเตจภูเขา (สเตจ 9, 12, 13, 17, 18): ให้คะแนน 20-17-15-13-11- 10-9-8-7-6-5-4-3-2-1 ตามลำดับ
  • สเตจ Time Trial (สเตจ 1 and 20): ให้คะแนน 20-17-15-13-11-10-9-8-7-6-5-4-3-2-1 ตามลำดับ
  • จุดสปรินต์กลางสเตจในแต่ละวัน: ให้คะแนน 20-17-15-13-11-10-9-8-7-6-5-4-3-2-1 ตามลำดับ

สังเกตว่าสเตจภูเขาให้คะแนนน้อยกว่าสเตจทางราบครับ และสเตจที่จบนยอดเนินชันแต่ไม่ถึงกับภูเขาก็มีน้อยลง บวกกับที่ Tour de France ปีนี้มีสเตจทางราบถึง 9 สเตจ นั่นหมายความว่านักปั่นที่เป็นเพียวสปรินเตอร์อย่าง คิทเทล (Quickstep), ไกรเปิล (Lotto-Soudal), เดอมาร์ (FDJ), บูฮานี (Cofidis) ก็มีโอกาสเก็บคะแนนชิงเสื้อเขียวได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

สิ่งที่ทำให้ซากานผูกขาดเสื้อเขียวได้คือความสามารถในการปีนเขาของเขาที่ดีกว่าสปรินเตอร์ทั่วๆ ไป ทำให้ในปีก่อนๆ เขาสามารถหนีไปชิงเก็บแต้มสปรินต์กลางสเตจในสเตจที่เป็นทางภูเขาได้ก่อนหน้าสปรินเตอร์คนอื่น ถึงเขาจะไม่ได้แชมป์สเตจทางราบ แต่การไล่เก็บแต้มจุดสปรินต์กลางสเตจต่อเนื่องหลายวัน กับอันดับ Top 10 ในทุกสเตจทางราบก็ทำให้เขาได้คะแนนมากพอจะครองเสื้อติดต่อกันหลายปี

ปีนี้ผู้จัดพยายามจัดเส้นทางที่เอื้อสปรินเตอร์คนอื่นๆ ด้วย เลยมีทางราบซะเยอะ ซึ่งถ้าซากานจะยังอยู่ในการแข่งขัน โอกาสชิงเสื้อเขียวของเขาก็น้อยลงตามเส้นทางที่เปลี่ยนไปครับ

 

ทีนี้มาดูกันว่าใครมีโอกาสชิงเสื้อเขียวบ้าง

1. อาโนด์ เดอมาร์ (FDJ) – 127 คะแนน

เดอมาร์เป็นผู้นำเสื้อเจ้าความเร็วอยู่ ณ ตอนนี้ ไล่เก็บแต้มได้เยอะจากการที่เขาได้แชมป์สเตจ 4 เมื่อวันก่อน และได้โพเดี้ยมอีกหนึ่งครั้งในการสปรินต์ ผลคือเขานำอันดับสอง มาร์เซล คิทเทล (Quickstep) อยู่ 43 คะแนน

เดอมาร์อาจจะไม่ใช่สปรินเตอร์ที่สปีดปลายสูงที่สุดในการแข่งขัน แต่ก็ไต่เนินได้ดีกว่าเพียวสปรินเตอร์คนอื่นๆ ไม่ถึงขั้นซากาน แต่ก็มีความได้เปรียบครับ ปีนี้ก็ดูฟอร์มดีขึ้นและการได้แชมป์สเตจ 4 ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ทีเดียว

อย่างไรก็เดอมาร์เพิ่งได้ลงตูร์เป็นครั้งที่สามและไม่เคยไล่ชิงเสื้อเขียวมาก่อน นั่นหมายความว่าเขาต้องปรับแทคติคให้เข้ากับเกมปัจจุบัน (ซึ่งสปรินเตอร์ทุกคนก็ต้องปรับด้วย เพราะก่อนที่ซากานจะโดนแบน แทบไม่มีใครอยากลุ้นชิงเสื้อกับซากาน) เดอมาร์ต้องไล่เก็บแต้มที่จุดสปรินต์กลางสเตจทุกครั้งที่มีโอกาส และต้องสู้กับสปรินเตอร์ที่ทีมพร้อมกว่าอย่างคิทเทลและไกรเปิล

 

มาร์เซล คิทเทล (Quick-Step Floors) 87 คะแนน

กับคนที่ได้แชมป์สเตจในตูร์มาแล้ว 10 ครั้ง บวกกับเส้นทางเรียบสนิททั้งหมด 9 สเตจ คิทเทลดูมีภาษีดีกว่านักปั่นทีมอื่นครับ คิทเทลเสียเปรียบคู่แข่งในสเตจ 4 เพราะลีดเอาท์ของเขาล้มก่อนถึงเส้นชัยทำให้ตัวเองไม่สามารถขึ้นเก็บแต้มได้เยอะ แต่ก็ยังดีที่แชมป์มาแล้วหนึ่งสเตจในสเตจ 2 ทำให้มีคะแนนสะสมอยู่บ้าง

ถ้าดูจากประวัติแล้ว คิทเทลเองมีศักยภาพจะชนะเสื้อเจ้าความเร็วได้ ปีก่อนเขาได้อันดับสองรองจากซากานในหมวดคะแนนรวม ซึ่งเขาได้แชมป์สเตจแค่ครั้งเดียว นั่นก็แสดงว่าเขาไล่เก็บแต้มได้ต่อเนื่องตลอดทั้งการแข่งขันครับ

จุดแข็งของคิทเทลคือทีม Quickstep ที่ประสบการณ์สปรินต์สูงและนักปั่นฟอร์มดีเต็มครบทั้งทีม

 

ไมเคิล แมธธิวส์ (Sunweb) – 73 คะแนน

เทียบสกิลกับซากานแล้ว แมธธิวส์เป็นคนที่มีสไตล์การปั่นคล้ายแชมป์โลกที่สุด นั่นคือสปรินต์ขึ้นเนินได็เร็วกว่าสปรินต์เตอร์คนอื่น เหมือนที่เราเห็นในสเตจ 3 ที่เขาพ่ายให้ซากานแต่ชนะสปรินเตอร์คนอื่นทั้งหมด ซึ่งเขาอาจจะหนีไปเก็บแต้มที่จุดสปรินต์กลางสเตจในวันอื่นๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องคว้าแชมป์สเตจทางราบ

โดยประวัติแล้วแมธธิวส์ไม่ใช่คนแปลกหน้ากับรางวัลเสื้อเจ้าความเร็ว เขาได้แชมป์คะแนนรวมสองครั้งใน Paris-Nice แต่จุดอ่อนจะเป็นสเตจทางราบที่เขาไม่เร็วเท่าสปรินเตอร์คนอื่น และไม่มีผู้ช่วยเยอะเท่าทีมใหญ่ๆ

 

อังเดร ไกรเปิล (Lotto-Soudal) – 63 คะแนน

ในตูร์ปีนี้เขาได้ที่สามสองครั้งในสเตจ 3 และสเตจ ถ้าเขาได้แชมป์สเตจ (จากสถิติการแข่งแกรนด์ทัวร์ที่ผ่านมา ไกรเปิลได้แชมป์อย่างน้อยหนึ่งสเตจทุกครั้งที่เขาลงแข่ง) ก็น่าจะมีลุ้นคว้าเสื้อเขียวเช่นกัน ผลงานที่ผ่านมาเขาเคยได้อันดับสองในหมวดเจ้าความเร็วปี 2012, 2015 และที่สามในปี 2013 ซึ่งแชมป์ในทุกปีนี้ที่กล่าวเป็นปีเตอร์ ซากาน แต่ถ้าเขาตั้งใจจะคว้ารางวัลนี้ปีนี้อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายเพราะไกรเปิลเป็นสปรินเตอร์ที่อายุเยอะที่สุดในการแข่งขัน ที่ 34 ปีครับ ปีต่อไปอาจจะเจอเด็กใหม่ไฟแรงกว่า

 

อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha) – 48 คะแนน

คริสทอฟเป็นสปรินเตอร์ที่ฟอร์มและผลงานแย่ที่สุดในปีนี้ก็ว่าได้ แถมยังมีปัญหากับฝ่ายบริหารของทีม Katusha ด้วย แรงกดดันที่จะทำผลงานนั้นคงมากกว่าคนอื่นอยู่ครับ ที่ผ่านมาเขาได้อันดับสามในสเตจ 4 แต่ยังดูเงียบๆ อยู่และลีดเอาท์ทีม Katusha ก็ยังดูไม่เป๊ะเท่าทีมอื่น ตอนนี้แต้มตามเดอมาร์อยู่ 80 คะแนน ถ้าจะท้าชิงแบบชัวร์ๆ ก็ต้องคว้าแชมป์สเตจให้ได้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง (50 คะแนน) ไม่งั้นก็ต้องคอยไล่เก็บสปรินต์กลางสเตจซึ่งให้คะแนนน้อยกว่า

โดยปกติคริสทอฟเป็นคนที่ไต่เนินได้ดีคล้ายๆ แมธธิวส์ แต่ถ้าฟอร์มยังไม่ดีขึ้นก็อาจจะชิงลำบาก เพราะแต้มตามหลังเบอร์หนึ่งร่วมร้อยคะแนนครับ

 

ลำดับคะแนนรวมปัจจุบัน

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *