Tokyo-Kyoto 2015, day 4: ตามหายอดใบชา

(Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)

เมื่อวานเราปั่นข้ามเขามาลูกหนึ่งที่มีแต่ต้นชาทั้งเขาเลย หลังจากอ่านข้อมูลแนะนำการท่องเที่ยว ก็เลยรู้ว่าเมืองคาเคะกะวะ จังหวัดชิซึโอกะนี่เขาดังเรื่องชาเขียว แต่พยายามหาร้านขายใบชาในเมืองอยู่นานสองนานก็ยังไม่เจอ ทั้งร้านใกล้ปราสาท หรือกระทั่งในสถานีรถไฟ ท้ายที่สุดก็ต้องพึ่งอากู๋กูเกิ้ลหา เว็บไหนเว็บแรกที่ขึ้นมาก็ตกลงปลงใจกับเพื่อนว่าจะไปร้านนั้นเลย หลังจากปักหมุดลงจีพีเอสและปั่นไปตามแผนที่ รู้ตัวอีกทีก็ออกมานอกเมืองเสียแล้ว ในใจจึงเริ่มสงสัย ร้านชาอะไรมันจะไกลปืนเที่ยงขนาดนั้น

หลังจากปั่นออกจากตัวเมืองมาได้ประมาณ 6-7 กม. ก็มาถึงสถานที่ที่จีพีเอสบอกไว้ แต่ผมกับพัดสงสัยกันว่าตำแหน่งผิดหรือเปล่า เพราะมันดูเป็นโกดังหรือไม่ก็บ้านคนธรรมดา ๆ เท่านั้น เมื่อไม่มั่นใจจึงลองปั่นวนรอบ ๆ และถามคนแถวนั้นกันเกือบชั่วโมงก็ยังไม่ได้ผล สุดท้ายจึงกลับมาที่เดิม เผอิญสายตาเหลือบมองไปเห็นป้ายเล็ก ๆ ข้าง ๆ กริ่งเขียนชื่อร้านไว้ จึงถึงบางอ้อว่านี่แหละถูกที่แล้ว แต่ที่ไม่เห็นหน้าร้านและไม่มีคนขาย ก็เพราะที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่ร้านค้าปลีก แต่มันเป็นโรงงาน ผนวกด้วยโกดังของเขาเลยต่างหาก !

(Photograph: Pollawat Prisawong // Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)
(Photograph: Pollawat Prisawong // Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)

ตัดสินใจกดกริ่งเสี่ยงตายเอา ก็มีเสียงตอบกลับมา

“โมชิโมชิ ?” (ฮัลโหลค่ะ) ก็เลยบอกไปว่า

“โอคุระเอ็นเดสกะ? โอฉะโอะไคไตเดสึ” (ร้านชาโอคุระเอ็นหรือเปล่าครับ พอดีอยากจะซื้อชาของที่ร้านครับ)

ในที่สุดก็มีคุณป้าตัวเล็ก ๆ วัยสักสี่สิบ (จริง ๆ สี่สิบนี่ต้องเป็นคุณน้านะครับ แต่เอาเถอะ) ออกมาต้อนรับด้วยใบหน้าแจ่มใสและรอยยิ้มรับแขก

คุยกันได้สักพัก แกเห็นพวกเราปุเลงจักรยานกันมา จึงถามว่ามาจากไหน จะไปไหน เพียงรู้ว่าเราสองคนเป็นคนไทยจะปั่นจากโตเกียวไปเกียวโตแกก็ตื่นเต้นใหญ่ จากนั้นบทสนทนาก็วกกลับมาเรื่องชา คุณป้าถามว่าจะซื้อไปฝากหรือซื้อไปดื่มเอง พอเราสองคนตอบไปว่าซื้อฝาก แกก็วิ่งกุลีกุจอเข้าไปด้านในโกดัง หยิบซองชาเขียวสี่ห้าแบบที่ด้านในบรรจุถุงชาไว้มาให้ แล้วกล่าวว่าชาในห่อกระดาษ (ที่มีด้ายสำหรับดึงออกจากถ้วย) เหมาะสำหรับซื้อฝากมากที่สุด เราก็ให้แนะนำต่อ แกจึงบอกว่าแบบนี้ดีที่สุด (เป็นเซ็นฉะ) ราคา 800 เยน ส่วนแบบนี้หอมมาก ลูกค้าหลายคนชอบ (เป็นมัตฉะที่เอามาทำเป็นเก็นไมฉะ) ราคา 600 เยน เราสองคนเลยบอกว่างั้นเอาสองแบบนี้แล้วกัน อย่างละซอง คุณป้ารับทราบแล้วก็รุดเข้าไปในโกดังอีก แต่คราวนี้แกหายไปนาน ผมกับพัดก็เดินเล่นถ่ายรูปกันไปเรื่อยเปื่อยระหว่างรอ

ผ่านไปครู่หนึ่ง คุณป้าคนเดิมก็เดินกลับออกมาอีกที หยิบชาตามที่บอกไว้มาให้สองชุด จัดเรียงใส่ถุงก๊อบแก๊บไว้อย่างเป็นระเบียบ แล้วก็คิดเงินเราแค่ 1130 เยนจากที่ควรจะเป็น 1400 เยน ตอนนั้นก็ดีใจกันใหญ่เพราะแกลดให้เยอะ จากนั้นคุยกันอีกเล็กน้อย ก่อนจะเดินทางต่อในม้ายที่สุด แกบอกขอบคุณยกใหญ่ ขอให้เดินทางปลอดภัย พร้อมโค้งอีกหลาย ๆ ทีตามแบบฉบับคนญี่ปุ่น

ตกค่ำวันนี้พวกเราเข้าที่พักที่เมืองโคะไซ มือว่าง ๆ จึงหยิบถุงก๊อบแก๊บนั้นมาดู ปรากฏว่ามีตัวอย่างชาประเภทอื่นให้ด้วยอีกสามแบบ ถุงกระดาษที่มีลวดลายอีกสองถุงสำหรับใส่ถุงชาเพื่อความสวยงามเวลานำไปเป็นของฝาก โบร์ชัวร์แนะนำร้านเป็นภาษาอังกฤษล้วน แถมที่สำคัญซองชาเขียวทั้งสี่ซอง (ของผมกับพัดคนละสองซอง) มีสติ๊กเกอร์ฉลากภาษาอังกฤษแปะทับสลากญี่ปุ่นไว้ เขียนว่าผลิตวันที่ 13 มีนาคม …

ได้มาเพียบด้วยราคามิตรภาพ (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)
ได้มาเพียบด้วยราคามิตรภาพ (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)

พัดก็เลยหันมามองผมแล้วถามว่า “วันนี้วันที่เท่าไหร่วะ”

ผมคิดครู่หนึ่งแล้วตอบไปว่า “สิบสาม”

“เฮ้ยยยยยย !!” เราอุทานขึ้นพร้อมกัน

แสดงว่าที่คุณป้าแกหายไปนานสองนานนั้น

ถ้าไม่ 1) เอาซองชาที่ผลิตวันนี้มาพิมพ์สติ๊กเกอร์ภาษาอังกฤษแปะทับ จัดเรียงพร้อมของแถมลงในถุงก๊อบแก๊บ

ก็ 2) เอาถุงชาที่พับวันนี้มานับ 20 ถุงแล้วใส่ซอง แล้วเอาไปซีล แปะสติ๊กเกอร์ทับ จัดเรียงพร้อมของแถมลงในถุงก๊อบแก๊บ

บรรจุซองวันนี้ (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)
ผลิตวันนี้… (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)

ไม่ว่าจะเป็นตามข้อสันนิษฐานหนึ่งหรือสองก็ตาม สิ่งที่แน่เสียยิ่งกว่าแน่ก็คือคนญี่ปุ่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างจังหวัด) นี่น่ารักมาก ๆ แม้เราจะพูดภาษาประเทศเขากระท่อนกระแท่นกันขนาดนี้ก็ตาม

เสียดายไม่ได้ขอแกถ่ายรูปเอาไว้
残念ですね。

13 มีนาคม 2015
เมืองโคะไซ จังหวัดชิซึโอกะ

ดูแทร็กกิ้งของวันที่ 4 ใน Endomondo ได้ที่นี่

ซากุระที่ชิซึโอกะบานแล้ว (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)
ซากุระที่ชิซึโอกะบานแล้ว (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)
300kph & 30kph max (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)
300kph & 30kph max (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)
ข้าวหน้าเนื้อสุกิยะ ราคาสบายกระเป๋า รสชาติถูกปาก (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)
ข้าวหน้าเนื้อสุกิยะ ราคาสบายกระเป๋า รสชาติถูกปาก (Post-process: Nattaporn Thoonsaengngam)

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *