เสื้อผู้นำ กฏการแข่งขัน และรางวัลใน Tour de France 2016

Editor’s Note: โพสต์นี้เป็นตอนที่ 2 ของพรีวิว Tour de France โดย Ducking Tiger จากทั้งหมด 6 ตอนครับ ซึ่งจะประกอบด้วย

  1. พรีวิวเส้นทางการแข่งขัน
  2. กฏการแข่งขันที่ควรรู้ เงินรางวัล และเสื้อผู้นำทั้ง 4 ประเภท (เพื่อความสนุกในการติดตามรับชม!)
  3. วิธีการรับชมถ่ายทอดสด / ไฮไลท์
  4. วิเคราะห์ตัวเต็งแชมป์รายการ (GC Contender)
  5. วิเคราะห์ตัวเต็งสปรินเตอร์
  6. วิเคราะห์ตัวเต็งเจ้าภูเขา

กำหนดการแข่งขัน Tour de France: 2–24 กรกฏาคม

ตารางแข่งและลิงก์ถ่ายทอดสด: www.duckingtiger.com/live

* * *

เสื้อผู้นำใน Tour de France

ในการแข่งขันตูร์ เดอ ฟรองซ์จะมีรางวัลหลักๆ ให้ผู้ชนะ 4 ประเภท ผู้นำในแต่ละประเภทก็จะได้สวมเสื้อเจอร์ซีย์พิเศษเพื่อบ่งบอกสถานะผู้นำในหมวดหมู่นั้นๆ มีอะไรบ้างและให้คะแนนแต่ละหมวดยังไง มาดูกันทีละตัวครับ

1. Yellow Jersey: เสื้อเหลือง

tdf mallot jaune

เสื้อเหลืองที่เราคุ้นเคยเป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดในรายการให้สำหรับคนที่ทำเวลาปั่นรวมทุกสเตจได้น้อยที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือคนที่ปั่นได้เร็วที่สุดในการแข่งขันนั่นเองโดยจะนับจากเวลาของทุกสเตจรวมกัน

คนที่ใช้เวลาน้อยที่สุดก็จะได้เสื้อตัวนี้ไปสวมใส่ในแต่ละวัน ผู้ที่ได้ครองเสื้อเหลืองเราจะเรียกว่า “ผู้นำเวลารวม” (รวมเวลาจากทุกสเตจ) ภาษาอังกฤษเรียก Leader of the General Classification

ทำไมต้องเป็นสีเหลือง? สีเสื้อผู้นำในการแข่งขันจะมาจากสีของบริษัทสปอนเซอร์ต่างๆ ความเป็นมาของเสื้อเหลืองในตูร์นั้นมาจากสปอนเซอร์รายแรกของรายการ นสพ. L’Auto ซึ่งเป็น นสพ. ที่ใช้กระดาษสีเหลือง ปัจจุบันสปอนเซอร์เสื้อเหลืองคือธนาคาร LCL จากฝรั่งเศส มีสีหลักของบริษัทเป็นสีเหลืองเช่นกัน

ปีนี้ผู้จัดให้เวลาพิเศษ (Time Bonus) แก่ผู้ชนะสเตจ 10-6-4 วินาที สำหรับอันดับ 1-2-3 ของแต่ละสเตจ ยกเว้นสเตจ Time Trial

2. Green Jersey (Point Jersey): เสื้อเขียว

tdf green jersey

เสื้อเขียวเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้นำหมวดคะแนนรวม หรือคนที่ทำคะแนนรวมกันได้มากที่สุดจากทุกสเตจรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นสปรินเตอร์ เพราะคะแนนในแต่ละสเตจนั้นจะให้คะแนนกันที่จุดสปรินต์กลางสเตจและที่เส้นชัย

โดยจะให้คะแนนในสเตจทางราบมากกว่าสเตจภูเขา เราเลยเรียกรางวัลนี้ว่าเสื้อเจ้าความเร็วนั่นเอง สปอนเซอร์เสื้อเขียวคือบริษัท PMU จากฝรั่งเศส คะแนนแต่ละสเตจแบ่งตามค่าสัมประสิทธิ์ (Coefficient) ของแต่ละสเตจ 4 ระดับตามความชัน

  • สเตจทางราบและสเตจโรลลิ่ง (coefficient 1) ให้ 50–30–20–18–16–14–12–10–8–7–6–5–4–3-2 คะแนนสำหรับ 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • สเตจทางราบผสมเนิน (coefficient 2/3) ให้ 25–22–19–17–15–13–11–9–7–6–5–4–3-2 คะแนนสำหรับ 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • สเตจภูเขาสูงชัน (coefficient 4/5) ให้ 20,17,15,13,11,10,9,8,7, 6,5,4,3,2,1 คะแนนสำหรับ 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • สเตจ Individual Time Trial (coefficient 6/7) ให้ 20–17–15–13–11–10–9–8–7–6–5–4–3–2–1 คะแนนสำหรับ 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัย
  • จุดสปรินต์กลางสเตจ ให้ 20–17–15–13–11–10–9–8–7–6–5–4–3–2–1 คะแนนสำหรับ 15 คนแรกที่ผ่านจุดสปรินต์

ค่าสัมประสิทธิ์ของแต่ละสเตจดูได้จากตารางข้างล่างนี้

tourdefrance2016coefficients

การที่ผู้จัดให้น้ำหนักคะแนนสำหรับเสื้อเขียวต่างกันนั้นก็เพราะว่า เขาอยากให้รางวัลนี้ตกเป็นของสปรินเตอร์ที่เก็บคะแนนหน้าเส้นชัย (จากการสปรินต์ชนะสเตจ) ได้เยอะที่สุด

เพราะโดยปกติแล้วสปรินเตอร์นั้นแทบไม่มีโอกาสคว้าแชมป์ Tour de France ได้ครับ จากลักษะทางกายภาพไม่เอื้อต่อการไต่เขาทำให้ทำเวลารวมได้แย่กว่านักไต่เขาเพียวๆ รางวัลเสื้อเขียวจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของสปรินเตอร์หลายๆ คน สเตจทางราบจึงให้น้ำหนักคะแนนสำหรับเสื้อเขียวเยอะกว่าสเตจภูเขา

3. Polkadot Jersey (King of the Mountain): เสื้อลายจุด

tdf polkadot

เสื้อลายจุดมอบให้นักปั่นที่ทำคะแนนหมวดภูเขารวมกันได้เยอะที่สุด คะแนนหมวดภูเขาจะมอบให้ที่ยอดเขาในแต่ละสเตจ จำนวนคะแนนมากน้อยแบ่งตามระดับความยากของภูเขา ยิ่งยากมาก สูงชันมากก็ได้คะแนนมาก สปอนเซอร์เสื้อเจ้าภูเขาคือคาร์ฟูร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส

  • ภูเขาที่ชันที่สุด (Hors Categorie) ให้ 25,20,16,14,12,10,8,6,4,2 คะแนนสำหรับ 10 คนแรก
  • Category 1 ให้ 10,8,6,4,2,1 คะแนนตามลำดับ
  • Category 2 ให้ 5,3,2,1 คะแนนตามลำดับ
  • Category 3 ให้ 2,1 คะแนนตามลำดับ
  • Category 4 ให้ 1 คะแนน (คนแรกคนเดียว)
  • ในสเตจที่เส้นชัยจบบนยอดเขา (สเตจ 9, 12, 17, 19) จะให้คะแนนบนเขาลูกสุดท้ายเพิ่มเป็นสองเท่า

 

4. White Jersey: เสื้อขาว

Tour de France stage 18 (4 of 8)

เสื้อขาวมอบให้กับนักปั่นที่อายุต่ำกว่า 25 ปีที่ทำเวลารวมได้น้อยที่สุด (นับเวลาเหมือนเสื้อเหลือง)

Note

  1. ถ้าสมมตินักปั่นได้เสื้อสองตัวพร้อมๆ กันเขาจะใส่ได้แค่ตัวเดียว โดยจะเป็นเสื้อที่มีเกียรติสูงกว่าแล้วให้นักปั่นที่้ได้อันดับสองในอีกหมวดใส่เสื้อตัวที่สองครับ เช่น หากนักปั่น A ได้ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อเจ้าภูเขา ในเสตจถัดไป A จะใส่ได้แค่เสื้อเหลือง ส่วนเสื้อเจ้าภูเขาจะให้นักปั่นที่มีคะแนนเป็นอันดับสองในรายการเจ้าภูเขาเป็นคนใส่

  2.  คนที่ปั่นได้ดุเดือดที่สุด เช่นออกโจมตี หรือหนีเดี่ยวใน breakaway จะได้รางวัล “Most Aggressive” ซึ่งจะเป็นป้ายเบอร์นักแข่งสีแดง และมีเงินรางวัลให้ในแต่ละวัน กรรมการจะเป็นคนตัดสินว่าใครจะได้ ไม่มีเกณฑ์ชัดเจนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการสนามแข่ง

* * *

เงินรางวัล

TDF: บาร์เดต์โซโล่คว้าแชมป์สเตจ 18, ศึก GC ยังสงบ

  • ปีนี้เงินรางวัลเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เงินรางวัลที่จะแจกทั้งหมดในรายการอยู่ที่ 2,295,850 ยูโร หรือประมาณ 90 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งตามประเภทได้ดังนี้ครับ
  • ผู้ชนะสเตจในแต่ละวันจะได้รับ 11,000 ยูโร หรือราวๆ 430,000 บาท อันดับสอง 5,500 ยูโร และลดลงเรื่อยๆ จนถึงอันดับ 20 ซึ่งจะได้รับ 300 ยูโร
  • แชมป์รายการจะได้เงินรางวัล 500,000 ยูโร หรือราวๆ 19 ล้านบาท อันดับสอง 200,000 ยูโร และอันดับสาม 100,000 ยูโร จากนั้นจะลดหลั่นลงมาตามนี้ อันดับ 4 ถึง 19 ได้ €70,000, €50,000, €23,000, €11,500, €7,600, €4,500, €3,800, €3,000, €2,700, €2,500, €2,100, €2,000 €1,500, €1,300, €1,200 และ €1,100 ตามลำดับ (ที่ 1-19)
  • อันดับ 20-160 ได้คนละ €1,000
  • ส่วนคนอื่นๆ ที่แข่งจนจบจะได้คนละ €400
  • โดยปกติแล้วทีมจะนำเงินรางวัลทั้งหมดมารวมกันแล้วหารเฉลี่ยทีเดียวแบ่งให้ทั้งนักปั่นและสตาฟหลังการแข่ง ไม่ใช่ว่านักปั่นคนที่ชนะรายการจะได้รางวัลไปทั้งหมดคนเดียว เพราะกีฬาจักรยานทางไกลเป็นงานที่แข่งกันเป็นทีมครับ ถ้าแชมป์รายการใจดีก็มักจะซื้อของขวัญราคาแพงให้เพื่อนร่วมทีมด้วย
ชนะ 1 สเตจ แชมป์รับไป 8,000 ยูโร หรือราวสามแสนบาท!
ผู้ชนะสเตจแต่ละวันรับไป 8,000 ยูโร หรือราวสามแสนบาท!

นอกจากนี้ยังมีเงินรางวัลอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น

  • คนที่สวมเสื้อเหลืองจะได้เงินรางวัลวันละ €500 ยิ่งใส่หลายวันยิ่งได้เยอะ! ส่วนผู้นำคนอื่นๆ ที่ใส่เสื้อเขียว ขาว และลายจุด จะได้คนละ €300
  • €25,000 สำหรับแชมป์เจ้าความเร็วและเจ้าภูเขา (เสื้อเขียว/ เสื้อลายจุด)
  • €20,000 สำหรับแชมป์ Best Young Rider (เสื้อขาว)
  • €2,000 สำหรับนักปั่นที่บู๊ได้ถูกใจกรรมการ (Most comabtive rider) ในแต่ละวัน วันสุดท้าย (สเตจ 21) จะได้เยอะเป็นพิเศษที่ €20,000
  • €2,800 สำหรับทีมที่ทำเวลารวมได้ดีที่สุดในแต่ละวัน (นับจากเวลารวมของนักปั่นที่ทำเวลาได้ดีที่สุด 3 คนแรกของทีม) ทีมที่ทำเวลารวมนำได้จนถึงวันสุดท้ายก็จะชนะหมวด Team Classification และได้เงินรางวัล €50,000

* * *

ตอนต่อไป Part 3 เราจะมาดู ช่องทางวิธีการรับชมถ่ายทอดสด / ไฮไลท์การแข่งขันครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *