รีวิว: Tour de France 2013

โพสต์นี้อาจจะมาช้าไปสักนิดนึงนะครับ แต่ผมคิดว่าในรายระดับ Tour de France นั้นเราปล่อยให้ความรู้สึก อารมณ์และความคิดตกตะกอนสักหน่อยก่อนแล้วค่อยมองย้อนหลังไปจะเห็นอะไรได้ชัดเจนกว่า โพสต์รีวิวครั้งนี้อยากเขียนเป็นภาษาพูดกันเองจะได้อ่านเพลินๆ เหมือนตอนที่บรรยายสดและเขียนรีวิวเรียงเสตจในเฟซบุคครับ หวังว่าจะชอบกันนะ!

จังหวะตัดสิน

สนามแข่งแบบเสตจเรซหลายอาทิตย์มันมีพลวัตรที่ต่างกับสนามอื่นๆ พอสมควร เพราะผลแพ้ชนะนั้นไม่ได้ตัดสินกันแค่ในวันเดียวเหมือนรายการคลาสสิคแบบวันเดียวจบ แทคติคและกลยุทธ์ก็ต้องปรับให้เข้ากัน พี่ตั้มวิสุทธิ์ (ตั้ม Spinbike) เคยเปรียบให้ผมฟังว่าการแข่งจักรยานมันก็เหมือนเกม Survival คือคุนเริ่มต้นการแข่งมีแบตเตอรี่ 100% เหมือนกันหมด ผู้ชนะคือคนที่แข่งจนจบทั้งสามอาทิตย์แต่ยังเหลือแบตเตอรี่เยอะกว่าคนอื่น เราจะบริหารพลังงานของเราอย่างไร จะเลือกใช้ตอนไหนให้ได้ผลสูงสุดคือศิลปะที่ยากจะลอกเลียนแบบกันได้ แต่สองปีที่ผ่านมาทีม Sky ทำให้เราเห็นว่ามันอาจจะมีเคล็ดลับหรือสูตรสำเร็จอยู่ก็เป็นได้ครับ Bradley Wiggins คว้าเสื้อเหลืองตั้งแต่เสตจ 9 ในขณะที่ Froome ได้ตั้งแต่เสตจ 8 และทั้งสองคนไม่เคยเสียเสื้อเหลืองให้ใครเลยจนจบการแข่งขัน

Sky ทำดูเหมือนมันเป็นเรื่องง่ายมาก แต่นั่นก็คือภาพสะท้อนถึงความแกร่งของทีมและตัวหัวหน้าทีมครับ ถ้าเราเปรียบเทียบกับรายการแกรนด์ทัวร์อื่นๆ จะเห็นว่าเสื้อผู้นำเวลารวมนั้นเปลี่ยนคนแทบทุกวัน อย่างใน Giro d’Italia ปีที่แล้วที่เขาชิงเสื้อผู้นำกันจนวันสุดท้าย

ใน TdF ปีนี้ผมว่าจังหวะที่เราเห็นผู้ชนะชัดเจนเลยก็คือในเสตจ 8 ที่เป็นนิยามความแกร่งของทีม Sky และเป็นเสตจที่ Froome โชว์ความ “โหด”​ ของจริงเป็นครั้งแรก วันนั้นเป็นการไต่ขึ้นเส้นชัยบนยอดเขา Ax 3 Domaines เจ้า Nairo Quintana ออกยิงบนเขาลูกรองสุดท้าย แต่ถูกจับได้ซะก่อน พอถึงตีน Ax 3 Peter Kennaugt และ Richey Porte ประสานพลังกันพา Froome กระชากหนีคู่แข่งจนกลุ่มผู้นำขาดสะบั้น ตัวเต็งทั้ง Contador, Valverde, Kreuziger, Rodriguez หลุดไปหมด และ Froome โซโล่เข้าเส้นชัยเพียงคนเดียว นี่คือจังหวะที่เราได้ผู้ชนะการแข่ง Tour de France ปีนี้ครับ

ถึงแม้ทีม Sky จะโดนทุบหม้อข้าวทันทีในวันรุ่งขึ้นโดยฝีมือของ Garmin ร่วมกับ Movistar แต่ Froome ก็ไม่เคยหลุดกลุ่มตัวเต็งเลย มีแค่สองครั้งที่เขาหลุดกลุ่มนำ ในเสตจ 13 ซึ่ง peloton เจอลมตีข้าง Saxo และ Belkin อัดเต็มเหนี่ยวทิ้งห่าง Froome ได้ 1 นาทีและอีกครั้งในเสตจสุดท้ายบนยอด Semnoz ที่ Quintana ไต่เขาจนได้อันดับสองและ Rodriguez ขึ้นมาเป็นอันดับสาม ถึงจะโดนทิ้งห่างเป็นบางครั้งแต่ Froome ก็เก็บเวลาคืนได้ในเสตจ Time Trial ทั้งสองเสตจ เรียกได้ว่าแทบไม่มีจุดไหนในระยะเวลาสามอาทิตย์ที่เขาดูด้อยกว่าคู่แข่งเลย สำนวนภาษาอังกฤษเขาพูดกันว่า

 

“There is Froome, and there is everybody else.”

 

Stage Highlights

ตูร์ปีนี้เป็นสนามที่มีสีสรรสนุกที่สุดในรอบหลายปี ศึก GC ชิงเสื้อเหลืองอาจจะไม่น่าลุ้นเพราะ Froome นำค่อนข้างขาดตลอดการแข่ง แต่ศึกชิงโพเดี้ยม ชิงจ้าวความเร็ว จ้าวภูเขา และ Young Rider นั้นสนุกไม่แพ้กัน ในการจัดเสตจก็ทำได้ดีเรียกได้ว่ามีลุ้นแทบทุกวันต่างกับปีที่แล้ว

1. Corsica แดนสวรรค์

ที่ผมชอบมากๆ คือดราม่าตั้งแต่วันแรกของการแข่งขันทีม GreenEdge เอารถบัสไปทิ่มซุ้มเส้นชัยซะอย่างนั้น เล่นเอา peloton ปั่นป่วน โยกย้ายเส้นชัยกันไปมาและแถมมี crash ล้มกันอลหม่าน เป็นวันที่เราได้เห็น Argos-Shimano กับ Marcek Kittel ขึ้นประกาศศักดาใน Tour de France เป็นครั้งแรก เอาชนะเสตจและคว้าเสื้อเหลืองไป วันที่สองยิ่งสนุกเพราะดาวรุ่งดวงใหม่อย่าง Jan Bakelants (Radioshack) หนี peloton เข้าเส้นชัยไปแค่วินาทีเดียว! ส่วนเสตจที่สามและสี่นั้นก็มันส์ไม่แพ้กันเพราะทีม GreenEdge เอาชนะไปทั้งสองเสตจและคว้าเสื้อเหลืองให้ ​Simon Gerrans และ Daryl Impey ไปใส่ถึงสี่วันต่อกัน กลายเป็นฤดูกาลที่เยี่ยมที่สุดของทีมออสซี่ทีมนี้ครับ

 

2. เสตจ 13!

Tour 16

เสตจ 13 อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเสตจที่มันส์ที่สุดในรอบหลายปีเลยก็ว่าได้ครับ ถ้าจำกันได้นี่คือเสตจที่ทีม OPQS ใช้ทักษะการปั่นสนามคลาสสิคมาสร้างกลยุทธ์ทรมานคู่แข่ง อาศัยจังหวะลมตีข้างอัดความเร็วสูงจน Marcel Kittel และ Andre Griepel หลุดกลุ่ม จน Cavendish หนีเข้ากลุ่ม breakaway (!?#$) ไปสปรินต์เข้าวินแบบนิ่มๆ ขณะเดียวกันทีม Belkin และ Saxo-Tinkoff ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เพราะเป็นคนสานต่องานที่ OPQS ตั้งไว้ตอนช่วงต้นเสตจ ทิ้งห่าง Valverde ที่รถมีปัญหาจนแกเสียเวลาไป 9:54 นาทีให้คู่แข่ง หมดสิทธิ์ชิงอันดับโพเดี้ยม

อย่างไรก็ ผมว่าวันที่ Valverde ซวยที่สุดกลับเป็นวันที่ Movistar ได้ประโยชน์ที่สุด เพราะ 1. Quintana เกาะกลุ่มนำไปด้วย ไม่เสียไพ่ใบที่สอง 2. Rui Costa ซึ่งรอ Valverde และเสียเวลาไปพอๆ กัน (จากตอนแรกอันดับ 10GC) ทำให้คู่แข่งเลิกหมายหัว Costa ปล่อยให้แกไปเก็บเสตจวินได้สบายๆ สองครั้งซ้อน! Movistar กลายเป็นทีมที่ไม่มีความกดดันต้องคอยปกป้องหัวหน้าอีกต่อไป เพราะตอนนั้นทีมยังไม่รู้ว่า Quintana จะแผลงฤทธิ์สกัดคู่แข่งได้อยู่หมัด เสตจนี้ Froome เสียเวลาให้ Contador ประมาณหนึ่งนาที แต่ก็ไม่มากพอที่เป็นผลกับอันดับ GC ในที่สุดครับ

ต้องยกความดีความชอบให้ Belkin ด้วย อาจจะไม่ใช่ทีมที่โจมตีบ้าระห่ำดุเดือดเหมือน Saxo แต่ผมว่าเป็นทีมที่ปั่นได้ฉลาดและประเมินความสามารถตัวเองได้ดีพอ ทีมรู้ว่ายังไม่มีศักยภาพพอจะคว้าแชมป์หรืออันดับโพเดี้ยมได้ แต่ก็ไม่ฝืนตัวนักปั่น บ้าจี้ไล่ตามพวกขาแรง สุดท้ายจบรายการ Moemma ได้อันดับ 6 ซึ่งไม่เลวสำหรับ Tour de France ครั้งแรกของเขา Robert Gesink และ Lauren Tendam ก็เป็นทีมซัพพอร์ทบนเขาที่ไม่เลวเลยครับ

 

3. Mont Ventoux

ถ้าบรรดาคู่แข่ง Froome ยังไม่ชัวร์ว่าสิงห์นักปั่นชาวเคนยา (สัญชาติอังกฤษ) คนนี้แรงขนาดไหน หรืออาจจะคิดว่าที่ชนะบน Ax 3 Domaines นั้นแค่ฟลุ๊ก เจอเสตจนี้เข้าไปก็น่าจะรู้สภาพแล้วครับ ชัยชนะของ Froome บน Mont Ventoux ก็เปรียบเสมือนการลงดาบสุดท้ายตัดเศียรคู่ต่อสู้ – Game over – มวยคนละชั้นกระดูกคนละเบอร์ – มีเพียง Nairo Quintana ที่พอจะตาม Froome มาได้ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าเขายังขาดประสบการณ์สนามใหญ่พอสมควร Quintana พยายามยิงหนี Froome บนเขาลูกรองสุดท้าย ซึ่งก็ทำให้แกหมดแรง ตาม Froome ไม่ได้บนยอด Ventoux ในที่สุด ถ้า Quintana เลือกเก็บแรงไว้รอดูเชิง Froome ก่อน อาจจะเหลือแรงมาชิงเสตจวินจาก Froome ก็เป็นได้

 

4. The Alpes

ไฮไลท์ของการแข่งจริงๆ น่าจะอยู่ที่ 4 เสตจสุดท้ายบนเทือกเขาแอลป์ เพราะเป็นอาทิตย์ที่ตัวเต็งหลายคนกลับมาฟอร์มดีพอจะแย่งชิงโพเดี้ยมกันได้สนุกสนานทั้ง Kreuziger, Contador, Quintana, Rodriguez ล้วนมีเวลาห่างกันไม่เกินห้าสิบวินาที มีสิทธิขึ้นและลงโพเดี้ยมกันทุกคน แถมเป็นจังหวะที่เราได้ลุ้น Breakaway ด้วย Rui Costa เปิดประเดิมกับเสตจวินแรกที่เมือง Gap (และเบิ้ลอีกครั้งในเสตจ 19) ในขณะที่ Christophe Riblon ก็ได้เสตจวินสักทีหลังจากทีออกเข้ากลุ่ม breakaway แทบทุกวัน ที่สำคัญคือเขาชนะบนยอดเขา Alpe d’Huez เล่นเอาคนฝรั่งเศสน้ำตาร่วงด้วยความปีติกันไปหลายวัน และเป็นเสตจ Alpe d’Huez นี่หละครับที่ Quintana กับ Rodriguez เริ่มมีลุ้นเขี่ย Contador ให้หลุดโพเดี้ยม ซึ่งทั้งคู่ก็ทำได้จริงๆ ในเสตจ 20 บนยอดเขา Semnoz

 

Best Team(s)

รางวัลนี้ผมขอมอบให้ Movistar และ Omega Pharma Quickstep ทั้งสองทีมอาจจะไม่ชนะรางวัลทีมยอดเยี่ยม (Team Classification) ((ซึ่งตัดสินโดยการบวกเวลารวมของนักปั่นสามคนที่ทำเวลาได้ดีที่สุดในทีม เทียบกับสามคนของทีมอื่น / Saxo เป็นคนได้ไป)) แต่ว่ามีผลงานเยอะที่สุด ทั้งคู่ชนะไปทีมละ 4 เสตจ Cavendish เก็บให้ OPQS ไปสองเสตจจากการสปรินต์ Matteo Trentin ได้ 1 เสตจ Tony Martin อีกหนึ่งเสตจ (Time Trial ตามคาด) และเกือบจะชนะเสตจ Team Time Trial แพ้ให้ Orica GreenEdge ไปไม่ถึงวินาทีทั้งๆ ที่ Tony Martin มีแผลฟกช้ำไปทั้งตัว!

ถึง Cavendish จะป้องกันแชมป์ที่ปารีสไม่ได้ และอาจจะไม่ใช่ปีที่ดีที่สุดของเขา แต่ปีหน้า OPQS จะได้ทั้งเสือเฒ่า Alesandro Petacchi และ Mark Renshaw มาเป็นหัวลากให้ Cavendish รับรองได้ว่าแกกลับมาล้างแค้นเจ้าคิตตี้แน่นอน

Tour 17

Movistar ก็เป็นอีกทีมที่พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ดีเยี่ยมครับ ในระดับบุคคล Quintana เก็บไปสามรางวัลรวด ทั้งอันดับ 2GC, จ้าวภูเขา แชมป์นักปั่นเยาวชน และเสตจวินบนแอลป์ กลายมาเป็นดาวดวงใหม่ของทีม ส่วน Valverde ก็ไฟท์กลับขึ้นมาจนจบการแข่งขันด้วยอันดับ 8 ออกมาเป็นตัวล่อคู่แข่งในเสตจท้ายๆ ช่วยเบาแรงให้ Quintana ในขณะที่ Rui Costa เป็นนักปั่นเบรคอเวย์ที่มือดีที่สุดในตูร์ปีนี้ รู้จักจังหวะจะโคนในการออกหนีเพื่อคว้าแชมป์เสตจได้ถึงสองครั้ง รวมกับผลงานในจิโรเมื่อต้นปีแล้ว Movistar คือทีมที่แกร่งไม่แพ้ Sky เลยก็ว่าได้ครับ

 

Best Sprinter

https://lh3.googleusercontent.com/-l1CzgLbtWIQ/Ue4zlDgATlI/AAAAAAAAS-k/HDPlvRmXQbY/w960-h639-no/175437.jpg

ตกเป็นของ Marcel Kittel และทีม Argos Shimano ศึกสปรินต์ปีนี้เห็นได้ชัดว่า Kittel นั้นแรงไม่แพ้ใคร เลือกไลน์และจังหวะสปรินต์ได้ดีเยี่ยม ในเสตจ 10 เขาเอาชนะ Griepel เลือกสปรินต์ได้ถูกจังหวะ (Griepel ออกตัวเร็วไปนิด) ส่วนเสตจ 12 ก็พลิกขึ้นมาแซง Cavendish ทั้งๆ ที่เขาเสียหัวลากไปก่อนคนอื่น สุดท้ายคอนเฟิร์มความแรงอีกครั้งที่ปารีส ชนะทั้ง Griepel และ Cavendish แบบตัวต่อตัว ส่วนหนึ่งนั้นต้องยกความดีความชอบให้หัวลากจาก Argos ทีมเดียวที่ฝึกการลีดเอ๊าท์สปรินต์มาตลอดสามปี และความพยายามก็มาผลิดอกออกผลในปีนี้อย่างที่เราเห็นกันครับ

 

อีกหนึ่งคนที่อยากพูดถึงคือ Peter Sagan แชมป์เสื้อเขียวจ้าวความเร็ว Sagan อาจจะไม่ใช่สปรินเตอร์ที่เร็วที่สุด แต่แกติด Top 5 แทบทุกเสตจที่มีการสปรินต์ เก็บคะแนนครองเสื้อเขียวไป 19 วัน ไม่ต้องชนะเสตจแต่ได้รางวัลที่สปรินเตอร์ทุกคนอยากได้ เท่านี้ก็ถือว่ายอดมากๆ ครับ ตราบใดที่ Sagan ยังลงแข่ง Tour de France คนอื่นคงชิงเสื้อเขียวได้ยากมากๆ เพราะจุดเด่นของ Sagan ที่ปีนเขาได้และสปรินต์ได้นั้นแทบจะตัดสิทธิ์การเก็บแต้มกลางเสตจของสปรินเตอร์คนอื่นไปเกือบหมด ในเสตจ 7 ปีนี้ทีม Cannondale โชว์พลังสะบัดหนีทีมสปรินเตอร์บนเขา แล้ว leadout Sagan เกือบ 150 กิโลเมตรจนเขาเก็บเสตจวินไปได้อีก Sagan เป็นคนที่น่าจะมีอารมณ์ขันเยอะที่สุดในการแข่งแล้วก็ว่าได้ ยกล้อมันแทบทุกเสตจครับ แถมยังย้อมหนวดเขียวในวันสุดท้ายอีกแน่ะ

 

Best Sidekick

Tour 1

Ritchey Porte คือนักปั่นมือรองที่น่าประทับใจที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าไม่มีเขา Froome อาจจะไม่ได้แชมป์ก็เป็นได้ เสื้อเหลืองตัวแรกของ Froome ในเสตจ 8 ได้มาจากการที่ Porte ระเบิดพลังขึ้นเขาลูกสุดท้าย สลัดคู่ต่อสู้ให้ Froome จนหมด ในเสตจ 20 ถ้าไม่มี Porte, Froome อาจจะสลบอยู่บนยอด Alpe d’Huez เพราะขาดน้ำตาลในเลือดฉับพลัน ในตอนนั้น Porte ร่วงหลุดจากกลุ่มนำไปแล้ว แต่ก็ยังตะเกียกตะกายตามปีนขึ้นมาคอยประคอง Froome ได้จนถึงเส้นชัย ดูจบแล้วซึ้งเลยครับ

 

Notable Mentions

รางวัลที่ไม่เข้าหมวดไหน แค่ผมอยากจะพูดถึงคือทีม GreenEdge ความสามัคคีและความเสียสละของทีมทำให้เราได้เห็นความสวยงามของกีฬาจักรยานถนนในห้วงเวลาที่ภาพลักษณ์ของวงการต้องหม่นหมองเพราะข่าวการใช้สารกระตุ้นของนักปั่นในอดีต GreenEdge พึ่งตั้งทีมมาได้ปีกว่า ชัยชนะของ Simon Gerrans ในเสตจ 3 คือเสตจวินครั้งแรกของทีมใน Tour de France และชัยชนะ Team Time Trial เสตจ 4 ก็ทำให้ทีมได้ครองเสื้อเหลืองเป็นครั้งแรกอีกด้วย จากทีมที่มีเป้าหมายแค่ 1 เสตจวิน แต่สุดท้ายได้ 2 เสตจวิน เสื้อเหลือง 4 ตัวและเอาใจแฟนๆ ทั่วโลกไปเต็มๆ

อีกคนคือเจ้า Michal Kwiatkowski จากทีม Omega Pharma Quickstep เด็กใหม่วัย 22 ปีที่พึ่งลงแข่งเป็นครั้งแรกแต่ก็ไล่ตามกลุ่มผู้นำได้แทบทุกเสตจ มาพลาดเอาจริงๆ ก็แค่ช่วงอาทิตย์สุดท้ายที่ค่อนข้างยากสักหน่อยสำหรับมือใหม่ Kwiatkowski นั้นไม่ได้ดีแค่ขึ้นเขา Time Trial ก็ไม่เลว และติด Top 10 ในเสตจสปรินต์ด้วย! ในอนาคตผมคิดว่าน้องแกคงกลายเป็นนักปั่นที่ครบเครื่องคนนึงเลยครับ

 

The Losers: BMC/ Alberto Condator

Tour 15

จริงๆ ผมอยากให้รางวัล Contador สองรางวัลครับ รางวัลแรกคือนักปั่นที่ใจสู้ที่สุดและรางวัลผู้แพ้ สำหรับคอนทาดอร์แล้ว ถ้าไม่ได้แชมป์รายการ จะได้อันดับสองหรือสิบก็มีค่าเท่ากัน เราเลยได้เห็นทีม Saxo ออกโจมตีทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นจังหวะขึ้นเขา ลงเขาหรือกระทั่งเวลาลมตีข้าง ทีม Saxo พยายามทำทุกอย่างให้คอนทาดอร์ชนะ ถึงแม้จะต้องเชือด Kreuziger (ซึ่งจริงๆ ผมว่าฟอร์มดีกว่าคอนทาดอร์) ก็ตาม แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล

คอนทาดอร์สู้ Froome และคนอื่นๆ ไม่ได้ในเสตจที่สำคัญจริงๆ อย่าง Ventoux, Ax 3 Domaines และ Semnoz เสตจเส้นชัยบนยอดเขาพวกนี้คือจุดตัดสินการแข่งขัน ว่าก็ว่าคอนทาดอร์ไม่ใช่นักปั่นคนเดิมที่เราเคยเห็นตั้งแต่พ้นโทษแบนมา จะเป็นเพราะเขาเริ่มอายุเยอะ ปีนี้ขาดฟอร์ม หรือว่าไม่ได้โด้ป ก็คงสรุปกันไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ อดีตแชมป์แกรนด์ทัวร์ 7 รายการคนนี้ต้องทำการบ้านเยอะกว่าเดิม เพราะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Valverde และ Rodriguez ซึ่งปรกติแพ้คอนทาดอร์มาตลอด รู้แล้วว่าคอนทาดอร์ไม่ใช่ภูเขาที่ปีนข้ามไม่ได้อีกต่อไป

 

Tour 11

BMC: คงเป็นทีมที่น่าผิดหวังที่สุดในปีนี้ จากอดีตแชมป์ปี 2011 และอันดับห้าโดย Tejay Van Garderen และอันดับเจ็ดโดย Cadel Evans ในปีที่แล้ว ปีนี้ทั้งคู่กลับไม่ติดแม้กระทั่งอันดับท๊อป 20 เลย ว่ากันแล้วทีม BMC นั้นอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในขณะที่ Cadel Evans อายุสูงขึ้นและฝีไม้ลายมือเริ่มสู้กับนักปั่นรุ่นใหม่ไม่ได้ Tejay Vangarderen เบอร์สองของทีมก็พึ่งจะย่างเข้าสู่วัย 24 ปี ยังขาดประสบการณ์ในการเป็นผู้นำทีมสนามใหญ่ อีกหนึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ BMC เป็นทีมที่มีนักปั่นชื่อดังฝีมือดี ค่าตัวแพงลิบลิ่วอยู่หลายคนแต่ยังทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ไม่ดีพอ เมื่องานไม่เดิน ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ John Lelange ผู้จัดการและโค้ชทีมประกาศลาออกจากทีมหลัง Tour จบทันที หนังสือพิมพ์​ L’Equipe รายงานว่า Gilbert ทะเลาะกับโค้ชทีมระหว่างแข่ง เพราะ Cadel สั่งให้ทุกคนคอยแบ๊คอัปช่วยเขา ในขณะที่ Gilbert อยากจะเข้ากลุ่ม breakaway ปัญหา “Too many Chefs in the Kitchen” ดูท่าจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงครับ

BMC เงินหนา อยากซื้อนักปั่นชื่อดังคนไหนก็ได้ แต่ทีมจักรยานนั้นไม่ใช่คอลเลคชันไหทองคำ เก่งแล้วก็ต้องทำผลงานด้วย หวังว่าทีมจะแก้ปัญหานี้ได้ในเร็ววัน เพราะมีดาวรุ่งหลายคนที่ผมอยากจะเห็นเขาเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดีและเพียบพร้อมอย่าง Tejay Van Garderen และ Taylor Phinney

 

สรุป

หนึ่งใน Tour de France ที่ดีที่สุดในรอบหลายปี แชมป์รายการอาจจะตัดสินกันตั้งแต่เสตจ 8 แต่อันดับท๊อป 10 และโพเดี้ยมนั้นเปลี่ยนกันจนถึงวันสุดท้าย เป็นการชิงตำแหน่ง GC และเป็นศึกสปรินต์ที่ลุ้นได้มันส์มากๆ ครับ เพราะตัวเต็งของผู้ชนะทุกประเภทมาลงแข่งกันครบๆ ทั้งสปรินเตอร์ นักไต่เขา ศิลปินนักหลบหนีเบรคอเวย์ และนักปั่นดาวรุ่งหน้าใหม่ ปิดท้ายด้วยการแข่งไสตล์ Night Criterium กลางกลุงปารีสซึ่งจัดได้อลังการทั้งเทคนิคแสง สี เสียง สมกับเป็นการฉลองครบรอบรายการแข่งจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครั้งที่ 100 จริงๆ

ที่สำคัญปีนี้เป็นปีแรกที่คนไทยมีถ่ายทอดสด Tour de France ให้ดูกันแบบเต็มอิ่มจุใจ ผ่านเคเบิลช่อง GMMZ (และผ่านการบรรยายสดจากเว็บ Ducking Tiger เอง) เลยมีแฟนจักรยานหน้าใหม่ที่หันมาติดตามการแข่งขันเพิ่มอีกหลายร้อยคน! เป็นเรื่องที่ดีครับจะได้มีเพื่อนมาร่วมเชียร์และออกปั่นกันมากขึ้นอีก

Vive le Tour!

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

11 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *