โลกที่กว้างใหญ่ ให้จักรยานพาเราไป

วันนี้ขอนอกเรื่องจักรยานครับ แต่มีเรื่องของเด็กคนนึงมาเล่าให้ฟังกัน

เด็กในรูปข้างล่างนี้ หน้าต้ายิ้มแย้มแจ่มใส
แต่ใครจะรู้ว่าเป็นเด็กขี้โรค เกิดมากับโรคภูมิแพ้ขนาดหนัก แม่จับไปทดสอบว่าแพ้อะไรบ้างที่โรงพยาบาล ซึ่งหมอเขาจะตีตารางบนแขน 12 ช่องแล้วเอาสารที่ทำให้แพ้เช่นไรฝุ่น ผง เกสร สารที่คนปกติเขาไม่แพ้กัน ไอ้เด็กคนนี้แพ้หมดเลยทั้ง 12 อย่าง

ชีวิตเขาจึงลำบากทีเดียว ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง เล่นกีฬาหนักๆ ก็ไม่ได้ 1 สัปดาห์มี 7 วัน แทบทุกวันใช้ชีวิตอยู่ที่คลินิกหมอเด็ก ไม่เป็นหวัด ก็แพ้นู่นแพ้นี่ น้ำมูกไหล หลอดลมหายใจตีบ หายใจไม่ออกบ้าง ยิ่งฤดูหนาวไม่ต้องพูดถึง เป็นหวัดตลอดเวลา และจมูกที่หายใจได้แค่ทีละข้างแปลว่าถ้าน้ำมูกตันจมูก เขาก็จะหายใจได้แต่ทางปาก บางทีนอนไม่ได้เพราะถ้านอนจะหายใจไม่ออกเลย ไปไหนมาไหนต้องพกถุงยาฟ่อนใหญ่ กินยามื้อละหลายเม็ด ยิ่งกว่ากินขนมหวาน

อาหารก็แพ้ ผลไม้ก็แพ้ วันหนึ่งเขากินผัดถั่วงอกที่พ่อทำให้กินเป็นกับข้าวมื้อเย็น หารู้ไม่ว่าวันนั้นเกือบจะเป็นวันสุดท้ายที่จะได้กินข้าว เกิดอาการแพ้หนัก หมอบอกว่าถ้ามาถึงคลินิกช้ากว่านี้สัก 5 นาที ไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจคงตายไปแล้ว

10301950_691822970907123_1423745086768503627_n

ขึ้นชั้นประถมอาการก็ไม่ได้ดีขึ้น เพื่อนออกไปเตะบอลฝุ่นตลบก็เล่นกับเขาไม่ได้เพราะแพ้ฝุ่น เลยกลายเป็นเด็กซึม ไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะทำกิจกรรมกับเพื่อนไม่ค่อยได้ ถึงหมอจะบอกให้ออกกำลังกายจะได้แข็งแรงขึ้นแพ้น้อยลง ก็ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

แต่ถึงชีวิตจะไม่ได้สัมผัสกีฬาอย่างที่เด็กผู้ชายหลายคนเขาเล่นกัน ไอ้เด็กคนนี้มันมีจักรยานเป็นเพื่อนครับ คุณตาเขาสอนให้ปั่นจักรยาน 2 ล้อได้ตั้งแต่แค่ 3 ขวบ แล้วก็ปั่นเรื่อยมา ตั้งแต่เล็กจนมัธยม ตกเย็นต้องคว้ารถออกไปปั่น ไปคนเดียวบ้าง ไปกับเพื่อน 2-3 คนบ้าง ปั่นกันอยู่รอบหมู่บ้าน จักรยานเป็นเหมือนเพื่อนที่ช่วยปลดปล่อยความเศร้าหมอง เป็นสิ่งที่พาเขาไปเจอโลกกว้างถึงโลกใบนั้นมันจะกว้างแค่หมู่บ้านจัดสรรและมหาวิทยาลัยบ้านนอก ที่อยู่ใกล้ๆ กันก็ตาม

บ้านเขาไม่ได้มีฐานะดีอะไร พ่อและแม่เป็นข้าราชการอาจารย์มหาวิทยาลัย แน่นอนว่าทุกครั้งที่เขาผ่านร้านจักรยานเขาจะเดินเข้าไปหยิบแคตตาล๊อกหรือโบรชัวร์จักรยานสวยๆ มาเก็บไว้ Cannondale Six13, BMC Team Machine, Specialized Tarmac, Cannodnale Lefty…ถึงจะรู้ดีว่าคงไม่มีทางขอร้องให้พ่อแม่ซื้อให้ได้แน่ๆ แต่แค่ได้เห็นก็ยังดีใจ แค่ได้เดินเข้าไปจับไปดูในโชว์รูมก็มีความสุข

ขึ้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย ชีวิตเขาห่างเหินจักรยานไปบ้างเพราะหน้าที่การเรียนและความสนใจที่เปลี่ยนไป แต่ทุกครั้งที่เขาเจอกิจกรรมอะไรใหม่ๆ จักรยานก็ยังวนเวียนอยู่ในหัวไม่เคยเปลี่ยน เสือภูเขา Wheeler ที่เคยปั่นอาจจะสนิมขึ้นไม่ได้รับการดูแลเหมือนแต่ก่อน แต่มันก็ยังคงอยู่ที่เดิมของมันไม่หายหรือถูกทิ้งไปไหน

เขาโชคดีที่สอบได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่างประเทศ เพราะลำพังเงินเดือนพ่อแม่ คงไม่พอจะส่งไปเรียนเองแน่ๆ การไปยุโรปช่วยเปิดโลกของเขาอีกครั้ง และพาเขากลับมาใกล้ชิดกับการแข่งขันจักรยานเสือหมอบกีฬาที่ครั้งหนึ่งเขาเคยหลงรักและคลั่งไคล้ แต่ก็หาดูได้ยากเหลือเกินในประเทศไทย เงินทองยังเป็นของหายาก แต่วัฒนธรรมและสังคมการปั่นของคนยุโรปทำให้เขาเห็นคุณค่าของจักรยานมากขึ้นกว่าเดิม

เข้าวัยทำงานจากเด็กขี้โรคกลายมาเป็นผู้ใหญ่ขี้โรคไม่ได้แข็งแรงขึ้นเท่าไรกลับจากเมืองนอกมาประเทศไทยเขาเริ่มปั่นจักรยานจริงจังอีกครั้งจากจักรยานแม่บ้านในสวนสาธารณะจนกระเถิบขึ้นมาเป็นเสือหมอบมือสองจนอยากจะแข่งขันอยากจะเอาชนะความขี้โรคของตัวเอง

ในเวลาเกือบ 2 ปี ที่จริงจังกับการปั่นและการฝึกซ้อม จากคนที่เป็นภูมิแพ้ทุกอย่างที่จะมีให้แพ้ได้ในโลกนี้จนตอนนี้เขาไม่แพ้อะไรอีกเลย จากระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็น 20 เป็น 200 จากการปั่นในหมู่บ้านเล็กๆเป็นโอกาสที่จะได้ปั่นทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ

จักรยานมีความหมายสำหรับเขามากกว่าแค่ยานพาหนะ
มากกว่ากีฬาและมากกว่าของเล่นราคาแพง
มันคือสิ่งแรกที่เขานึกยามตื่นและเป็นสิ่งสุดท้ายที่คิดยามหลับ
มันคืออาชีพและมันคือทุกอย่างในชีวิต
อย่าถามผมว่าทำไมถึงบ้าจักรยาน เพราะถ้าอ่านมาถึงประโยคนี้คุณก็คงรู้คำตอบแล้วครับ

Note: โพสต์นี้ออนไลน์ครั้งแรกที่แฟนเพจ Ducking Tiger วันที่ 15 สิงหาคม 2557 
รู้สึกเสียดายที่จะปล่อยให้มันตกหายลงไปตาม Timeline ของเพจ บวกกับวันนี้แอดมินแก่ขึ้นอีกปี ก็ประจวบเหมาะพอดีครับ 

Note 2: ชื่อโพสต์ “โลกที่กว้างใหญ่ ให้จักรยานพาเราไป” เป็นประโยค tagline ของรายการ Nich Cycling ที่ออกอากาศทางช่อง Very TV ประโยคนี้พี่แก๊ปโปรดิวเซอร์รายการเป็นคนคิด ซึ่งผมว่ามันตอบโจทย์ความหมายของจักรยานในชีวิตของเราได้เหมาะสมจริงๆ 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *