สิ่งที่ปีเตอร์ ซากานไม่ได้พูด

© Bettini Photo / Bora-Hansgrohe

1.5 ล้านคน คือจำนวนผู้ติดตามปีเตอร์ ซากานใน Instagram
เขาเป็นนักปั่นจักรยานที่มีผู้ติดตามเยอะที่สุดในโลก

หลายคนเห็นซากานใส่เสื้อปั่นสีเขียว ในการแข่ง Tour de France

จาก 1.5 ล้านคนนี้ บางคนอาจจะรู้ว่ามันคือเสื้อผู้นำตัวหนึ่งในการแข่งขัน เหมือนที่ผู้นำเวลารายการสวมใส่เสื้อเหลือง

บางคนอาจจะรู้ว่ามันคือเสื้อผู้นำ “คะแนนรวม”

ภาษาไทยเรียกกันว่าเสื้อเจ้าความเร็ว แต่จริงๆ แล้วไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

บางคนอาจจะรู้ว่าซากานชนะรางวันนี้มาแล้ว 6 สมัย

ถ้าเขาชนะอีกครั้งในปีนี้ เขาจะเป็นนักปั่นคนแรกของโลกที่ไดรางวัลนี้ 7 ปี

ทุกครั้งที่ซากานลงแข่ง Tour de France แล้วได้ใส่เสื้อสีเขียว มันช่างดูเป็นเรื่องง่าย ราวกับเป็นของตายว่าไม่ว่ายังไงเขาก็จะชนะรางวัลนี้ในทุกปีที่ลงแข่ง แต่มันง่ายอย่างที่เขาแสดงออกจริงหรือ?

ใช่ครับ ปีเตอร์ ซากานก็เป็นนักปั่นอีกคนที่ไม่มีสิทธิได้แชมป์รายการ Tour de France เหมือนจูเลียน อลาฟิลลิปที่เราพูดถึงในวันก่อน

เพราะซากานเป็นนักแข่งประเภทที่เราเรียกว่า “สปรินเตอร์” และผู้เชี่ยวชาญการแข่งขันแบบวันเดียว เขาจึงไม่ใช่คนที่จะแย่งชิงทำเวลาบนสเตจภูเขาสูงชันได้หลายๆ วันติดต่อกันเหมือนนักปั่นที่ผอมเพรียวบางที่เป็นตัวเต็งรายการ

แต่ในการแข่งแกรนด์ทัวร์ ผู้จัดก็ไม่ได้ใจร้าย เพราะคนที่ไม่ใช่ตัวเต็งแชมป์รายการก็ยังมีรางวัลอื่น และมีเสื้อผู้นำตัวอื่นให้แย่งชิง เพียงแค่มันอาจจะดูไม่โดดเด่นเท่าเสื้อเหลืองของแชมป์ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะในการแข่งจักรยานทั่วโลกไปแล้ว

นอกจากเสื้อเหลืองแล้ว ก็ยังมี

  • เสื้อสีเขียว มอบให้นักปั่นที่ทำคะแนนรวมสะสมได้เยอะที่สุดจากทั้งหมด 21 สเตจ คะแนนจะแจกที่จุดสปรินต์กลางสเตจ (IS) และที่เส้นชัย สเตจที่เป็นทางราบจะให้คะแนนเยอะกว่าสเตจภูเขา

  • เสื้อเจ้าภูเขาลายจุดขาวแดง มอบให้นักปั่นที่ทำคะแนนแต้มภูเขาสะสมได้เยอะที่สุดจากทั้งหมด 21 สเตจ คะแนนจะแจกที่ยอดภูเขาต่างๆ ที่ผู้จัดกำหนดไว้ ภูเขายิ่งยากยิ่งได้คะแนนเยอะ

  • เสื้อสีขาว สำหรับนักปั่นที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ที่ทำเวลารวมได้น้อยที่สุด (กฏเกณฑ์เดียวกับเสื้อเหลือง) เพื่อบ่งบอกว่านักปั่นคนนี้คือดาวรุ่งที่แข่งแกรนด์ทัวร์ได้ยอดเยี่ยม

เช่นนั้นแล้ว สำหรับนักปั่นอย่างซากานที่ไม่มีโอกาสจะได้เป็นแชมป์รายการ รางวัลที่ดีที่สุดที่เขาจะทำได้ และเหมาะกับสไตล์การปั่นของเขาก็คือการคว้าเสื้อเขียว ผู้นำคะแนนรวมนั่นเอง

ซากานอาจจะทำให้มันดูง่าย ปีนี้เขาได้ใส่เสื้อเขียวตั้งแต่สเตจที่ 3 และเสื้อก็ไม่เคยหลุดมือเขาเลยจนถึงตอนนี้ ในขณะที่เสื้อเหลืองเปลี่ยนมือไปแล้ว 4 ครั้ง

แต่เบื้องหลังความง่ายนั้นเต็มไปด้วยความพยายาม การจะทำคะแนนรวมได้เยอะนั้นหมายความว่านักแข่งต้องทำอันดับในแต่ละสเตจให้ได้อันดับดีๆ เพราะคะแนนเขาแจกแบบนี้ครับ

  • สเตจทางราบ: 15 คนแรกที่เข้าเส้นชัยได้
    50-30-20-18-16-14-12-10-8-7-6-5-4-3-2 คะแนนตามลำดับ
  • สเตจทางราบผสมภูเขา: 15 คนแรกได้ 30-25-22-19-17-15-13-11-9-7-6- 5-4-3-2 คะแนน
  • สเตจภูเขา+TT: 15 คนแรกได้ 20-17-15-13-11- 10-9-8-7-6-5-4-3-2-1 คะแนน
  • จุดสปรินต์กลางสเตจ: 15 คนแรกที่ผ่านได้ 20-17-15-13-11-10-9-8-7-6-5-4-3-2-1 คะแนน

ต่อให้จะเป็นแชมป์สเตจได้ครั้งหรือสองครั้ง แต่ถ้าไม่สามารถรักษาอันดับในแต่ละสเตจให้สูงๆ ได้ หรือไม่ไล่เก็บคะแนนที่จุดสปรินต์กลางสเตจ ก็มีโอกาสโดนแย่งเสื้อได้ตลอดเวลา ซากานให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้:

“ตอนนี้ผมมีคะแนนนำแมธธิวส์ (Sunweb) อยู่ 62 คะแนน มันไม่เยอะหรือขาดลอยอะไรหรอกครับ แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย”

“สปรินเตอร์บางคนอย่างวิวิอานี (Quickstep) เขาอาจจะชนะอีก 1-2 สเตจ ถ้าเขาชนะเขาก็ได้สเตจละ 50 คะแนน แล้วแมธธิวส์เองก็ปีนเขาได้ดี ทีมเราต้องคุมเกมทีมเขาตลอด ไม่งั้นเขาก็จะแย่งคะแนนผมได้เยอะ”

โจทย์ของซากานใน Tour de France นั้นไม่ง่ายเท่าไร อันดับแรก ถึงเขาจะชนะสเตจทางราบได้บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาเองไม่ใช่สปรินเตอร์ที่เร็วที่สุดในการแข่งขัน ว่ากันด้วยสปีดเพียวๆ เขาสู้นักปั่นอย่างวิวิอานี, คาเล็บ ยวน, หรือดีแลน โกรนเวเก็นไม่ได้ เจ้าตัวเป็นคนบอกเองหลายครั้ง ทุกครั้งที่เขาชนะสปรินเตอร์พวกนี้ มาจากการวาง positioning ที่ดีกว่า แต่ไม่ใช่เพราะว่าเขาสปรินต์ได้เร็วกว่าเสมอไป มันทำให้การชิงแต้มในสเตจทางราบเรียบนั้นยากสำหรับซากาน

สเตจที่เขาจะได้เปรียบสปรินเตอร์ก็คือสเตจทางราบผสมเขา (hilly) ที่ภูเขากลางสเตจจะตัดตัวสปรินเตอร์ที่ปีนเขาได้ไม่ดีออกไป (ทำให้มาแย่งแต้ม IS ไม่ได้ด้วย) นักปั่นอย่างซากานและแมธธิวส์ปีนเขาได้ดีกว่า (เหมือนเป็นซับเซ็ตหนึ่งของประเภทนักปั่น กีฬานี้มันมี speciality หลายแบบครับ) แต่นั่นหมายความว่าเขาก็ต้องสู้สปรินต์ให้ชนะนักปั่นประเภทเดียวกันด้วย

โจทย์ที่สามคือ คุมเกมเบรกอเวย์ เพราะถ้าเบรกอเวย์ชนะสเตจ ก็จะตัดแต้มคนที่เข้าเส้นชัยมาทีหลังด้วย

ถึงจะไม่ได้ชิงแชมป์รายการ แต่นักปั่นอย่างซากานมีโจทย์ให้แก้ทุกวัน และต้องพร้อมบวกทุกสเตจ ไม่ใช่แค่รอฟัดกันในสเตจภูเขาเหมือนกลุ่มตัวเต็ง GC

และนี่คือความท้าทายที่ซากานไม่ได้พูด
การที่เขาชนะเสื้อเขียวมาหกสมัย ยิ่งทำให้มันเป็นอะไรที่น่าทึ่ง

สุดท้ายผมอยากให้ดูสถิตินี้ครับ

สเตจ 1 – ที่ 2
สเตจ 3 – ที่ 5
สเตจ 4 – ที่ 4
สเตจ 5 – ที่ 1
สเตจ 6 – ที่ 128 (สเตจภูเขา)
สเตจ 7 – ที่ 3
สเตจ 8 – ที่ 5
สเตจ 9 – ที่ 171 (เบรกอเวย์ได้แชมป์สเตจ)
สเตจ 10 – ที่ 5

นี่คืออันดับของซากานในแต่ละสเตจ นอกจากสเตจ Team Time Trial (สเตจ 2) และสเตจ 6 ที่เป็นภูเขาและสเตจ 9 ที่เบรกอเวย์หนีไปชนะ ซากานไม่เคยได้อันดับต่ำกว่าที่ 5 เลยในการแข่งขันปีนี้

ในทุกๆ วันที่มีผู้ชนะได้คนเดียว และมีผู้เข้าแข่งขัน 176 คน เขาพาตัวเองไปติด Top 5 ได้ทุกวันในสเตจแบบที่เขามีแนวโน้มว่าสามารถจะชนะได้ (อย่างสเตจเขาก็ตัดไปเพราะยังไงก็หลุดกลุ่มตัวเต็ง)

มันไม่ใช่อะไรที่ใครๆ ก็ทำได้ แค่พาตัวมาให้ถึงเส้นชัยก็ไม่ง่ายแล้ว แต่ต้องเข้าท้าชิงแชมป์สเตจจนได้อันดับดีต่อเนื่องเพื่อให้ได้คะแนนสะสมเยอะ

ถึงแม้จะไม่ได้แชมป์สเตจบ่อยเหมือนสปรินเตอร์ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เขาได้ครองเสื้อผู้นำคะแนนรวมนั่นเอง

Published
Categorized as Analysis

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!