ใช้ใบดิสก์เบรกขนาดเท่าไรดี?

เสือหมอบดิสก์เบรกยังไงก็น้ำหนักมากกว่าเสือหมอบริมเบรก พอมันเคยชินกับรถเบาๆ มามันก็ต้องหาจุดที่ลดน้ำหนักใช่มั้ยครับ
ผมลองไล่ดูทีละส่วนว่าตรงไหนพอจะลดน้ำหนักได้คุ้มเงินหน่อย โดยไม่เสียประสิทธิภาพการใช้งาน และราคาไม่แพงเมื่อเทียบ บาท/กรัม และถ้าได้ความสวยงามเพิ่มขึ้นด้วยก็แจ๋วเลย

จุดแรกๆ ที่นึกออกก่อนเลยก็คือใบดิสก์เบรกครับ

รถเสือหมอบดิสก์ส่วนใหญ่ที่ขายในตลาดจะมากับใบดิสก์ขนาด 160mm ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานที่ใช้กันในวงการ แต่ขนาดที่ขายปกติจะมีสองขนาดคือ 160 กับ 140mm

ถามว่าต่างกันยังไง ใบดิสก์ที่ใหญ่กว่าก็ระบายความร้อนได้ดีกว่าครับ ซึ่งสุดท้ายก็คือจะช่วยให้เบรกได้ดีกว่านั่นแหละ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้เบรกต่อเนื่อง เช่นลงเขายาวๆ หรือสำหรับคนตัวใหญ่ น้ำหนักตัวเยอะ เบรกก็จะร้อนไวกว่าคนที่น้ำหนักน้อยกว่า แบบนี้ก็จำเป็นต้องใช้ใบใหญ่หน่อย

ผู้ผลิตมักจะเลือกสเป็คใบ 160mm มาสำหรับล้อหน้า+หลังเลย ในรถคอมพลีทไบค์ เพราะมันปลอดภัยกว่ากับลูกค้า “ส่วนใหญ่” ยังไงเผื่อเหลือก็ดีกว่าขาด ลูกค้าฟ้องทีมันไม่คุ้ม

ทีนี้ ผมว่าคนอ่านเพจเราน่าจะรู้อยู่แล้วแหละว่า พวกโปรเนี่ย เขาจะเซ็ตรถเป็นใบหน้า 160mm ใบหลัง 140mm แทบทุกคัน นั่นก็เพราะเวลาเบรกเราใช้เบรกหน้ามากกว่าเป็นปกติ เบรกหลังที่ทำงานไม่เยอะ ใช้ 140mm ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการระบายความร้อนเท่าไร แล้วรถโปรค่อนข้างหนักจะทำให้ได้ 6.8kg ไม่ง่ายเพราะต้องใช้อะไหล่ตามสปอนเซอร์ แต่งเยอะไม่ได้ เพราะงั้นอะไรที่อยู่ในของที่สปอนมี (ทุกแบรนด์ต้องมีใบดิสก์ 140mm) ก็หยิบมาใช้ให้มันเบาลง


ส่วนต่างน้ำหนัก

แล้วเปลี่ยนขนาดใบดิสก์เนี่ยมันลดน้ำหนักได้เท่าไร? จริงๆ มันก็ไม่เยอะหรอกครับ ถ้าใช้ใบค่าย เช่นใบ Dura-Ace 160mm หนัก 118g ใบ 140mm หนัก 100g ส่วนต่างก็แค่ 18 กรัม ถ้าเปลี่ยนมาใช้ 140mm สองใบก็ได้ลดไป 36 กรัมเท่านั้น
แต่ถ้าเราหันมาใช้ใบนอกค่ายเราจะลดได้เท่าไร?

ผมขอยกตัวอย่างเคสของผม ใช้ใบ SRAM Centerline XR 160mm ที่มากับชุดขับ SRAM Red eTap AXS น้ำหนักใบละ 119g x2 = 238g

ใบ Centerline XR 140mm หนัก 98g x 2 = 196g

ส่วนต่างระหว่าง 160 vs 140mm คือ 238-196 = 42g ก็ยังไม่น่าสนใจเท่าไร

SRAM Centerline XR

ผมเลยลองดูใบดิสก์ค่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ SRAM มาเจอ Galfer แบรนด์จากสเปน (สายมอไซค์น่าจะรู้จัก Galfer ทำดิสก์เบรกมอไซค์ / MTB มาหลายสิบปีแล้ว ปีนี้เพิ่งมาทำใบดิสก์ให้ Road Bike)

จุดเด่นคือเจ้านี้ทำใบคุณภาพดีแต่ราคาไม่แพง ผมลองดูตัว 140mm (ในรูปเปิดบทความ)

  • Galfer Wave Road Disc 140mm น้ำหนัก 64g x 2 = 128g
  • ส่วนต่างน้ำหนักเทียบกับใบ SRAM Centerline XR 160mm คิดเป็น 238-128g = 110g
  • 110g กับเงินสองพันบาท ก็ถือว่าไม่เลว สำหรับสายไล่เบา (สั่งมาตกใบละพันนิดๆ) ถูกมากเมื่อเทียบกับใบเบาราคาสูงอย่างพวก Carbon-Ti ที่คู่นึงหมื่นกว่า แต่น้ำหนักแทบจะเท่า Galfer เลย (แต่ Carbon-Ti ได้เปรียบตรงที่เป็นใบแบบ float)

ใช้งานดีไหม?

แล้วใบ 140mm เนี่ยมีปัญหาไหม? เล็กไปไหม? ผมดูจากสไตล์การปั่นตัวเอง กับทักษะในการลงเขา ซึ่งไม่ได้เก่ง แต่ไม่ใช่คนแช่เบรกเยอะ แล้วก็น้ำหนักตัวประมาณ 64-66kg ผมคิดว่าใบ 140 หน้า-หลังนี่เพียงพอ ลองลงเขาเขียว เขาใหญ่ เนินชันๆ ยาวๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องระบายความร้อนไม่ทันหรือเบรกจะเฟด และคิดว่าคงไม่มีโอกาสไปขี่อะไรแบบนั้น

แต่สำหรับคนที่ขึ้นลงเขาบ่อยๆ ต่อให้น้ำหนักตัวไม่มาก ผมว่าใช้ใบหน้า 160mm น่าจะอุ่นใจกว่าครับ ใบหลัง 140mm ก็ยังโอเคนะ ผมลองผ้าเบรก 3 ยี่ห้อ ของ Galfer, SwissStop แล้วก็ของ SRAM ก็ใช้ได้ดีทั้งสามตัว ผ้าเบรก Galfer หนึบสุด

ทีนี้อีกเรื่องที่ต้องคิดคือ ใบดิสก์แต่งส่วนใหญ่เนี่ย มันเบี้ยวง่าย ไม่ค่อยแข็งเหมือนใบค่าย และตัวที่เบามากๆ อย่างพวก Ashima นี่คือเบรกไม่อยู่เลย เพราะมันเจาะรูเยอะเกินไป ไม่มีพื้นที่ให้ผ้าเบรกได้จับตัวใบ เพราะงั้นต้องเลือกดีๆ ครับ ใบ Galfer นี่แข็งใช้ได้ แต่ก็มีความจุกจิกตอนตั้งเบรกพอสมควร กว่าจะลงตัว กว่าจะให้ไม่หอน ให้มันไม่สีก็ตั้งกันนานกว่าใบค่ายพอสมควร ต้องเอาลงถนนหลายครั้งแล้วกลับมาตั้งใหม่ แต่พอเซ็ตเข้าที่แล้ว ไม่มีปัญหาเลยครับ

ใบค่ายทั้ง Shimano กับ SRAM เนี่ยจริงๆ ทำมาดีมาก ถ้าไม่ใช่สายไล่เบาก็อย่าไปเปลี่ยนเลยครับเอาอุ่นใจดีกว่า ใบแข็ง ไม่คดง่ายๆ float ได้ ไม่ค่อยสี ไม่ค่อยเบี้ยว

สำหรับคนที่ใช้ Shimano หลายคนนิยมใช้ใบ Shimano XTR (เสือภูเขา) เพราะเบากว่าใบ Dura-Ace และดูโปร ถ้าสังเกตรถโปรที่ Shimano สปอนหลายๆ คนใช้ใบ XTR เพราะเอามารีดน้ำหนักนี่ล่ะครับ
ลองดูเป็นไอเดียครับ


By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!