ต้องใช้พลังกี่วัตต์ถึงจะเป็นแชมสเตจ Time Trial ในแกรนด์ทัวร์?

มีนักปั่นอาชีพไม่กี่คนที่ยอมเปิดเผยข้อมูลการปั่นของตัวเองทุกอย่างให้โลกออนไลน์รับรู้ นั่นก็เพราะคู่แข่งอาจจะนำข้อมูลไปวิเคราะห์หาจุดอ่อนได้ แต่ก็ยังมีคนที่กล้าโชว์ข้อมูลกันแบบแฟร์ๆ ไม่ต้องมานั่งเดาว่าปั่นกันกี่วัตต์ อัตราการเต้นของหัวใจกี่ครั้งต่อนาทีครับ และหนึ่งในนั้นคือสตีเว่น เคราซ์เวก (LottoNL-Jumbo) ผู้นำเวลารวมคนปัจจุบันในสนาม Giro d’Italia และได้อันดับสองในสเตจ 15 ที่เป็นการแข่งจับเวลาบุคคล ระยะทาง 10 กิโลเมตรที่เป็นการขึ้นเขาตลอดเส้นทาง

ถึงเขาจะได้อันดับสอง แต่เขาแพ้แชมป์สเตจ อเล็กซานเดอร์ ฟอร์ลิฟอนอฟ (Gazprom-Rusvelo) แค่เสี้ยววินาที เพราะงั้นเราคงพอเรียกได้ว่าเขาก็ทำผลงานได้ดีเท่าๆ กับแชมป์สเตจครับ

เคราซ์เวกเปิดเผยข้อมูลใน Strava ส่วนตัว (ลิงก์ https://www.strava.com/athletes/3056059) ซึ่งแสดงข้อมูลดังนี้

  • ระยะทาง 10.4 กิโลเมตร
  • ระยะเวลาปั่น 28:40 นาที
  • ระยะทางขึ้นเขา (elevation): 777 เมตร
  • ความเร็วเฉลี่ย: 21.9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • Weighted Average Power: 382 วัตต์

สำหรับ Segment ภูเขาที่ใช้เป็นเส้นทางของวัน Alpe di Siusi นั้นมีระยะทาง 9.2 กิโลเมตร กับความชันเฉลี่ย 8%

Screen Shot 2559-05-24 at 8.19.15 AMScreen Shot 2559-05-24 at 8.19.38 AMScreen Shot 2559-05-24 at 8.19.22 AM

ข้อมูลจาก Wikipedia บอกน้ำหนักของเคราซ์เวกไว้ที่ 66 กิโลกรัม และสูง 178cm ซึ่งไม่น่าจะเที่ยงตรงสักเท่าไร เพราะโปรไม่ค่อยบอกน้ำหนักตัวกันครับ ข้อมูลออนไลน์อีกหลายๆ แหล่งบอกว่าเขาหนักอยู่ในระยะ 63–68kg ถ้าเราเอาเกณฑ์กลางๆ เดาว่าน้ำหนักแข่งจริง (race weight) อยู่ที่ 65kg ค่า Watt/kg ที่เขาออกแรงตลอดการแข่งสเตจนี้ก็จะอยู่ที่ 382/65 = 5.876 w/kg เลยทีเดียว!

 

เทียบกับคริส ฟรูม (Sky) ใน Tour de France ปีที่แล้วที่เขาได้แชมป์สเตจ 10 บนเขา La Pierre-Saint-Martin (และได้แชมป์รายการด้วย) ฟรูมออกแรงเฉลี่ย 414 วัตต์ ใช้เวลา 41:30 นาที (แต่การใช้ใบจาน Osymetric หมายความว่าค่าวัตต์ของฟรูมจะถูกอ่านเกินจริงไป 6%) เมื่อหักลบตรงนี้แล้ว มาคิด w/kg กับน้ำหนักตัวฟรูม 67.5 kg ทำให้ได้ค่า power to weight ที่ถูกต้องประมาณ 5.78 w/kg

ทั้งนี้ ฟรูมสูงกว่าเคราซ์เวกประมาณ 6cm และเป็นสเตจเขาที่ระยะทางไกลกว่า แต่ข้อมูลดังกล่าว ถึงแม้เราจะไม่รู้น้ำหนักตัวที่แท้จริงของเคราซ์เวก ก็พอจะบอกได้ว่าชั่วโมงนี้เขาฟิตมากๆ ในระดับที่น่าจะมีลุ้นแชมป์รายการหรือคว้าโพเดี้ยมเลยทีเดียวครับ

ps. ค่า w/kg ในระดับ 5.7–5.9 ในการขึ้นเขาต่อเนื่องเกิน 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมงถือว่าสูงมากๆ สำหรับโปร และถ้าขึ้นเลข 6 ไปแล้วจะอยู่ในโซนที่ยากเกินมนุษย์จะทำได้ สมัยก่อนมีโปรทำได้ 6–7 w/kg แต่นั่นก็มาจากการโด้ปนั่นเองครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *