พรีวิว: ใครจะชนะ 2015 Milan-San Remo?

[dropcap letter=”เ”]ช่นเดียวกับสนามแข่งระดับคลาสสิค หลายๆ รายการ Milan-San Remo (มิลาน-ซาน เรโม) มีอีกหนึ่งชื่อเล่นที่ใช้เรียกกันในกลุ่มแฟนพันธ์แท้ “La Classicissima” คือหนึ่งในสนามแข่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในรอบปี ด้วยระยะทางการแข่งขัน 300 กิโลเมตร ผสมผสานไปด้วยความทะเยอทะยานของทั้งสปรินเตอร์ ตัวเต็งคลาสสิค และนักไต่เขา ซานเรโมให้โอกาสผู้เข้าแข่งขันทุกคนคว้ารางวัลเกียรติยศที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้ชนะ

2015 Milan-San Remo
ระดับ: UCI WorldTour
22 มีนาคม 2015 / ถ่ายทอดสดเริ่ม 20:30-23:00
ชมได้ที่: Ducking Tiger Live

108 ปีก่อน (ใช่แล้วครับหนึ่ง-ร้อย-แปด-ปี!) ยูจีโน่ คอสต้าแม็กน่าเข้านำเสนอแผนการแข่งขันรายการจักรยานที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนให้ นสพ. La Gazetta dello Sport ของอิตาลี ซึ่ง​ ณ​ เวลานั้นเป็นสปอนเซอร์ให้สนามแข่งจักรยานหลายรายการอยู่ก่อนแล้ว เส้นทางการแข่งจะไปจบที่เมืองซาน เรโมที่ริมฝั่งทะเลลิกัวเรี่ยน ผู้ท้าชิงต้องปั่นข้ามระยะทาง 300 กิโลเมตร (+/- เล็กน้อย) ผ่านช่องเขา Passo del Turchino (พาสโซ่ เดล ทูร์คีโน) ซึ่งยังเป็นช่องเขาสำคัญที่ใช้ในสนามซาน เรโมจนถึงทุกวันนี้ ทูร์คีโน อยู่ห่างจากเส้นชัย 150 กิโลเมตร

เราแบ่งจุดยุทธศาสตร์ซาน เรโมได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ครับ ลองดูโปรไฟล์เส้นทางตามรูปข้างล่างนี้

msr_img_altimetria2015_big

ถึงเส้นทางปีนี้จะยาว 293 กิโลเมตร แต่ซานเรโมเป็นสนามที่ราบเรียบมาก แปลว่ายากที่จะเบรคอเวย์หนีได้สำเร็จ ทำให้การแข่งขันหลายครั้งจบด้วยการสปรินต์ แต่ก็ใช่ว่าเหล่านักไต่เขาระเบิดเนินจะหมดโอกาส เพราะยังมีเนินยุทธศาสตร์ทั้ง 3 จุดที่นักปั่นสามารถใช้เป็นแท่นยิงหนีกลุ่มได้ ลูกแรก Passo del Turchino ที่ กม 143, ลูกที่สอง Cipressa ที่ กม 271.5, ลูกที่สาม Poggio Di Sanremo ที่ กม. 287.5

cipressapoggio

Cipressa (ซิเพรซซ่า) จะเป็นจุดที่ตัวเต็งหลายๆ คนรวมถึงม้ามืดเริ่มหาทางกระชากหนีกลุ่มหลัก ระยะทาง 5 กิโลเมตร ความชันเฉลี่ย 4.1% วินเชนโซ นิบาลินิยมยิงหนีตรงเนินลูกนี้หลายครั้ง แต่ถ้ากลุ่ม peloton ถูกคุมโดยทีมที่แข็งจริง ก็มักจะไล่ทันผู้เสี่ยงโชคได้เสมอ

เนินที่โหดกว่าคือ Poggio (พ็อกจิโอ) ซึ่งถือว่าเป็นลานประหารเลยก็ว่าได้ พ็อกจิโออยู่ห่างเส้นชัยแค่ 9.2 กิโลเมตร การันตีได้ว่าความเร็วกลุ่ม ณ​ จุดนี้จะเริ่มสูงระดับ 50-60 kph ตำแหน่งของตัวเต็งในกลุ่มหลักจะเป็นอะไรที่สำคัญมากเพราะเมื่อรวมเอาความเหนื่อยล้าที่สะสมมา 285 กิโลเมตร การโจมตีหนักๆ ของตัวเต็งครั้งสองครั้งกลางเนินนี้ก็มากพอจะฉีก peloton ให้ขาดกลุ่มได้ไม่ยาก

sanremo4

ที่โหดยิ่งกว่าคือทางลงเนินที่มีโค้ง hairpin ถึง 5 โค้ง นักปั่นหลายคนเคยคว้าแชมป์โดยใช้ทางลงเขาทำความเร็วหนีคู่แข่ง พ้นเนินลูกนี้แล้วก็เป็นทางตรงยาวจนถึงเส้นชัย

เส้นทางที่กล่าวมาเปิดโอกาสให้ตัวเต็งชิงชัยกันได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การสปรินต์ แล้วที่ผ่านมาโปรเขาชนะด้วยวิธีไหนได้บ้าง? มาดูกันครับ

1. Sprint

105th Milano-Sanremo 2014 more
Kristoff (2014)

2014, 2009, 2005, 2004, 2002, 2001, 2000, 1998, 1997 – 9 ครั้งในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ซาน เรโมจบด้วยการสปรินต์ (และอีกหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้) คิดเป็น 45% ของรูปแบบชัยชนะทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน เหตุผลที่ปีหลังๆ มานี้สปรินเตอร์ชนะบ่อย ก็เพราะทีมทำงานกันมีระบบระเบียบมากขึ้น ทีมเริ่มมีขบวนลีดเอาท์ที่ช่วยวางตำแหน่งให้สปรินเตอร์ และสภาพอากาศที่ไม่แย่เกินไปก็มีผลเช่นกันครับ

ใครจะชนะด้วยวิธีนี้ได้บ้าง: Alexander Kristoff (Katusha), Mark Cavendish (EQS), Peter Sagan (Tinkoff-Saxo), Andre Greipel (Lotto-Soudal), Nacer Bouhanni (Cofidis), Arnaud Démare (FDJ)

2. สปรินต์จากกลุ่มเล็ก

gara ciclistica Milano-Sanremo
Ciolek (2013)

การสปรินต์เอาชนะคู่แข่งจากกลุ่มเบรคอเวย์เล็กๆ อาจจะเป็นวิธีชนะซานเรโม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดก็ว่าได้ มันเริ่มมาจากกลุ่มตัวเต็งที่ไม่ไว้ใจความสามารถการสปรินต์ของตัวเองเทียบกับเอซสปรินเตอร์คู่แข่ง ทางแก้? ก็ออกหนีสิครับ! จุดยุทธศาสตร์คือเนิน Poggio ที่มีโอกาสให้ทิ้งห่างกลุ่ม peloton ได้หลายวิธี ทั้งกระชากทิ้งห่างบนเนิน หรือจะใช้ทักษะดิ่งเหวพุ่งลงเนินก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลว วิธีนี้ได้ผลที่สุดถ้าคุณสปรินต์ได้ดีระดับหนึ่ง ดูเจอรัลด์ ชิโอเล็ก (MTN) ที่หมกกลุ่มตัวเต็งในปี 2013 ปล่อยให้ซากานและแคนเชอลาราซัดกันจนอ่วมแล้วฉกสปรินต์เก็บแชมป์จากด้านหลัง

ใครจะชนะด้วยวิธีนี้ได้บ้าง: Gerald Ciolek (MTN), Edvald Boassen Hagen (MTN), Peter Sagan (Tiknoff-Saxo), Greg Van Avermaet (BMC), Fabian Cancellara (Trek), Michal Kwiatkowski, Zdenek Stybar (EQS), Filippo Pozzato (Lampre), Tony Gallopin (Lotto-Soudal), Juan Jose Lobato (Movistar), Michael Matthews (OGE), Ramunas Navardauskas (Cannondale-Garmin), John Degenkolb (Giant-ALpecin), Geraint Thomas (Sky), Matti Breschel (Tinkoff-Saxo)

3. หนีเดี่ยว!

Milano - Sanremo 2008 finish
Cancellara (2008)

วิธีที่ยากที่สุดและหล่อที่สุด คุณต้องกระชากหนีกลุ่มหนักๆ และปั่นโซโล่เดี่ยวปะทะลมทะเลที่วัตต์สูงสุดให้ได้อย่างน้อย 20 กิโลเมตร นิบาลิลองวิธีนี้ทุกปี (หนีบนเนิน Cipressa) นักไต่เขาจะชอบวิธีนี้เป็นพิเศษเพราะรู้ตัวดีว่ายังไงก็สปรินต์สู้สปรินเตอร์ไม่ได้แน่ๆ หรือจะหนีบนเนิน Poggio ก็ใกล้เส้นชัยเกินไป มีสิทธิโดน peloton รวบง่ายๆ ที่ 5 กิโลเมตรสุดท้ายซึ่งเป็นทางตรงยาว คนสุดท้ายที่ใช้วิธีนี้ได้สำเร็จคือจิออร์จิโอ เฟอร์ลานในปี 1991 ซึ่งเขากระชากหนีทีมของมาริโอ ชิปโปลินีบนเนิน Poggio เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกนำชิปโปลินีถึง 20 วินาที เอ็ดดี้ เมิร์กซ์ ตำนานนักปั่นก็ใช้วิธีนี้หลายครั้งจนเขาชนะซานเรโมถึง 7 ครั้ง (!)

หรือถ้าใครเจ๋งจริง จะลองเหมือนยูจีน คริสตอฟในปี 1910 ที่ออกหนี peloton บนเนิน Turchino นำเดี่ยวหกนาทีท่ามกลางพายุหิมะ และเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกนำอันดับสองถึงหนึ่งชั่วโมงเต็ม O_O

ใครจะชนะด้วยวิธีนี้ได้บ้าง: Vincenzo Nibali (Astana), Fabian Cancellara (Trek), Michal Kwiatkowski (EQS), Rui Costa (Lampre), Tom Dumoulin (Giant-Alpecin)

ที่กล่าวมาคือ 3 กลยุทธ์หลักทีเราน่าจะได้เห็นตัวเต็งหลายคนลองครับ การแข่งขันจะจบแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์การแข่งขันจะเป็นยังไง สภาพอากาศและทิศทางลมก็มีผล แต่จะจบแบบไหนก็ตามการันตีได้ว่าสนุกแน่นอน เพราะตัวเต็งมาลงกันครบๆ เลย

 

วิดีโอพรีวิว

ใครมีลุ้น?

✮✮✮✮✮ Alexander Kristoff / Mark Cavendish / Peter Sagan 

Cav และ Kristoff เป็นแชมป์เก่าทั้งคู่ และมีจุดเด่นคนละแบบ คริสทอฟพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเขาเป็นสปรินเตอร์ที่อึดที่สุดในสนามแข่งระยะทางไกลแบบนี้ ถ้า Katusha คุมเกมได้ดีและคริสทอฟฟอร์มดี การันตีชัยชนะไม่ใช่เรื่องยากครับ คริสทอฟอาจจะมีสปีดปลายไม่มากเท่าคาเวนดิช แต่ความอึดของเขาถือเป็นแต้มต่อ

ส่วนคาเวนดิชได้เปรียบจากทีมลีดเอาท์ของ Etixx-Quickstep ที่ชั่วโมงบินสูงและเขาเองก็ยังมีความเร็วหน้าเส้นชัยที่ยากจะหาตัวจับได้เช่นกัน ปีนี้เป็นปีที่คาเวนดิชต้องต่อสัญญากับ EQS ชัยชนะสนามใหญ่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ทีมต้นสังกัดและเป็นเหตุผลใช้เฃรียกเพิ่มค่าตัวได้ดีทีเดียว

ส่วนซากาน ซานเรโมเป็นโอกาสแรกที่เขาจะพิสูจน์ตัวเองในทีมใหม่ แน่นอนว่าแรงกดดันมหาศาล แต่เขามีทักษะมากพอที่จะชนะรายการนี้ครับ เป็นเหมือนลูกผสมระหว่างคริสทอฟกับคาเวนดิช และเป็นคนที่จะหนีเดี่ยวก็ได้หรือสปรินต์ก็ได้ จะเสียอย่างเดียวที่ทีมอาจจะไม่แข็งเท่า EQS

✮✮✮ Kwiatkowski / Michael Matthews / Fabian Cancellara / Greg Van Avermaet 

เควียทคอฟสกีเป็น plan B สำหรับ Quickstep ในกรณีที่คาเวนดิชมีปัญหา คนนี้สปรินต์ได้หนีได้ และเป็นแชมป์โลก ยังต้องถามอะไรอีก? แมธธิวส์ (OGE) มีลุ้นเหมือนกันแต่ผมยังไม่มั่นใจในฝีมือเขาเท่าไร, แคนเชอลาราน่ากลัวเสมอและพักนี้สปรินต์ได้ดีด้วย Trek ต้องชงเกมให้ดี ยังไงลุงก็โดนหมายหัวแน่นอน ส่วน GVA ก็รอบด้าน หนีได้สปรินต์ได้ และใจสู้ที่บู๊ที่สุดใน peloton จริงๆ อาจจะเป็นม้ามืดของรายการเลยก็ว่าได้…ถ้าไม่โดนคำสาป “ที่สองตลอดกาล” ตามหลอกหลอนอีกครั้ง

คนอื่นๆ? จับตามองชเน็ค สตีบาร์ Plan C ของ Quickstep (มันจะมีตัวเต็งเยอะไปไหนเนี่ย ทีมนี้), จอห์น เดเกนโคลบ์ (Giant), เจเจ โลบาโต้ (Movistar) และเบ็น สวิฟต์ (Sky) ที่เหลือที่ลุ้นขึ้นก็มีโทนี กาโลแพน (Lotto), ฟิลลิป จิลแบร์ (BMC), รูย คอสต้า (Lampre), ซาช่า โมโดโล่ (Lampre), อาร์นอร์ด เดอแมร์ (FDJ), เนเซอร์ บูฮานี  (Cofidis), เอลิอา วิวิอานี (Sky)

รายการนี้ Ducking Tiger ไม่ได้บรรยายสดครับเพราะยังอยู่ไต้หวันอยู่เลย T_T แต่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ชมได้ที่ duckingtiger.com/live เหมือนเดิมครับ

♦♦♦

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *