คุยกับทีม Aisan Racing นี่คือชีวิตจริงของโอตาคุน่องเหล็ก

Editor’s Note: ชีวิตจริงของนักแข่งจักรยานอาชีพเป็นยังไง? คนอ่าน Ducking Tiger อาจจะคุ้นเคยกับเรื่องราวนักแข่งจากทางฝั่งยุโรป จากทีมระดับโปรทัวร์ที่มีสปอนเซอร์รายใหญ่ ได้ลงแข่งในสนามชื่อดัง แต่จริงๆ แล้วโปรพวกนี้เป็นคนกลุ่มเล็กมากเลยครับ เทียบกับนักแข่งอาชีพทั้งโลก ซึ่งมีชิวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

แล้วชีวิตของนักแข่งอาชีพระดับรองลงมา อย่างทีมระดับ Continental หรือที่เราเรียกว่าทีมดิวิชัน 3 มันเป็นแบบไหน? โดยเฉพาะทีมจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ที่ 2-3 ปีมานี้กระแสเรื่องการแข่งจักรยานมาแรงมาก จากอนิเมะและมังงะชื่อดัง Yowamushi Pedal (โอตาคุปั่นสะท้านโลก) ที่ช่วยทำให้การแข่งจักรยานถนนเป็นกีฬาที่คนรุ่นใหม่รู้จักและสนใจในวงกว้าง แต่โปรญี่ปุ่นตัวจริงจะมีชีวิตที่ดูสนุกตื่นเต้นเหมือนในมังงะหรือเปล่า? 

นักเขียนหลักของทีม Ducking Tiger พี่นัท ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล ย้ายถิ่นไปอยู่ญี่ปุ่นถาวร ก็เลยมีโอกาสได้คุยกับทีม Continental เล็กๆ ทีมหนึ่งที่มีฐานอยู่ที่จังหวัดไอจิ เรื่องราวของทีมนี้น่าสนใจและได้ข้อขบคิดหลายอย่าง คิดว่าน่าจะได้อะไรจากบทสัมภาษณ์รอบวงครั้งนี้กันครับ 

* * *

 

ทีมเล็กแต่ใจใหญ่

เรื่องราวของ Aisan Racing Team

เรื่องมันเริ่มต้นที่ผมย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่เมืองมิโนะ จังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ครับ และตอนที่ไปที่ทำการเมืองเพื่อรายงานตัวชาวต่างชาติ สายตาผมก็เหลือบไปเห็นใบปลิวแนะนำเรื่อง การให้สัญญาณมือเพื่อความปลอดภัยในการปั่นจักรยาน พอพลิกไปด้านหลังก็พบหน้าโปรโมททีมแข่งจักรยานอาชีพที่ชื่อทีม Aisan Racing Team

สิ่งที่ทำให้ผมสนใจสุดไม่ใช่เรื่องตัวทีม เพราะก็เคยได้ยินชื่อมาบ้าง แต่เป็นประโยคแนะนำทีมสั้นๆ ว่า “เป็นทีมเหย้าในการแข่งขัน Tour of Japan สนามมิโนะ” (มิโนะ คือหนึ่งในสนามแข่งขัน Tour of Japan ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี อารมณ์เหมือนสนามชิงแชมป์ประเทศไทยก็ต้องมีแข่งที่เชียงราย) พอเห็นว่าเป็นทีมเจ้าบ้านก็เลยสนใจยิ่งกว่าเดิมครับ

กลับมาบ้านเลยรีบหาข้อมูลดู ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลองติดต่อของสัมภาษณ์เขาดูดีกว่า หลังจากที่คุยกับคุณเบ็ปปุ ทาคุมิ ผู้จัดการทีม ซึ่งเป็นพี่ชายของ เบ็ปปุ ฟุมิยุคิ นักแข่งญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ลงแข่ง Tour de France หลายครั้ง ก็ได้ความว่า เขาให้ผมเข้าไปสัมภาษณ์ถึงบ้านเขาเลย ซึ่งแม้จะเป็นทีมเจ้าบ้านประจำสนามมิโนะ แต่ตัวทีมอยู่ที่เมืองโอบุ ในจังหวัดไอจิ แม้จะเป็นจังหวัดที่ผมเคยเรียนอยู่ 4 ปี (ในเมืองนาโกย่า) แต่ก็ไม่คุ้นกับเมืองโอบุอยู่ดี

หลังจากใช้เวลาเดินทางเกือบสองชั่วโมง ผมก็มาถึงสถานีโอบุ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ดูจะเป็นเมืองที่เน้นอุตสาหกรรมโรงงานขนาดเล็กเสียมากกว่า ก็ไม่แปลกอะไร เพราะตำแหน่งของเมืองคืออยู่ระหว่างเมืองนาโกย่า เมืองหลวงของไอจิ และเมืองโตโยต้า อีกเมืองสำคัญที่เป็นฐานการผลิตของบริษัทโตโยต้านั่นเอง และ Aisan ก็คือบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่งให้โตโยต้าอีกทีหนึ่ง

ยืนรอไม่นานคุณเบ็ปปุก็ขับรถประจำทีมติดโลโก้สปอนเซอร์ทั่วคันมารับผมที่หน้าสถานี (ซึ่งรถที่ขับเป็นรถยี่ห้อซุบารุ ทั้งที่ทีมสนิทกับโตโยต้า แต่ต้องใช้ซุบารุเพราะเขาเป็นสปอนเซอร์ของสมาคมจักรยานญี่ปุ่น ไม่ใช้ก็จะเอารถไปซัพพอร์ตในการแข่งไม่ได้) และใช้เวลาประมาณ 12 นาทีก็ถึงฐานทัพของทีม ซึ่งบอกตามตรงว่า ไปอยู่กลางทุ่งกลางนาก็ว่าได้ คงคล้ายๆ กับการไปอยู่ในโรงงานแถวๆ อำเภอเล็กๆ ในอยุธยาหรือนครนายกครับ มองออกไปรอบตัวถ้าไม่เห็นนา ก็เป็นป่าพง หรือโรงงานอื่นไกลลับๆ

ระหว่างทางเราก็คุยนอกรอบกันหน่อย ทำให้ได้รู้ว่าก่อนหน้านี้ Aisan Racing Team ก็เคยมาร่วม Tour of Thailand และปีนี้ก็กำลังดีลกันอยู่ว่าจะได้ไปหรือไม่ หลังจากนั้นก็พาผมเข้าไปดูห้องของทีมจักรยาน ซึ่งดูๆ ไปก็มีบรรยากาศคล้ายกับชมรมจักรยานของมหาวิทยาลัยมากกว่าทีมโปรเวอร์วังแบบยุโรป มันเป็นอาคารเล็กๆ อยู่แบบกันเอง ฝั่งนึงเป็นห้องสารพัดประโยชน์ นั่งประชุมก็ได้ เตรียมตัวออกซ้อมก็ได้ ส่วนอีกฝั่งก็เป็นที่เก็บและบำรุงจักรยานและอุปกรณ์ครับ ก็เล่นเอาตกใจนิดนึง เพราะเล็กและเรียบง่ายกว่าที่คิดไว้มาก

หลังจากนั้นเราก็ย้ายไปนั่งคุยกันที่หอพักนักแข่ง ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ หอพักพนักงานบริษัท Aisan ที่ส่วนหนึ่งแบ่งมาให้นักแข่งในทีมพักด้วย บรรยากาศก็คล้ายๆ กับหอนักศึกษาญี่ปุ่นแบบมีพื้นที่สารพัดประโยชน์ส่วนกลาง เวลาพักก็พักห้องใครห้องมัน นี่ก็เรียบง่ายกว่าที่คิดไว้มาก

เท่าที่ถามคือ เป็นหอพักแบบมีอาหารให้กินด้วย แต่ปัญหาคือ แม่ครัวก็ทำอาหารเพื่อให้พนักงานบริษัททั่วไปเสียมากกว่า นักแข่งเลยลำบากต้องพยายามคุมอาหารด้วยการเลือกกินนั่นกินนี่เอง ถ้าเป็นอาหารทอดพวกเท็มปุระหรือไก่ทอด ก็ต้องลอกแป้งหรือหนังไก่ออกก่อนกินกัน ฟังแล้วก็ได้แต่คิดว่านักแข่งของเขานี่คล้ายๆ กับพวกนักกีฬาทีมสโมสรของบริษัทมากกว่าที่จะเป็นทีมที่บริหารแบบเอกเทศ ซึ่งก็จะได้รู้สาเหตุในภายหลังครับ

และในครั้งนี้ คุณเบ็ปปุก็ได้จัดให้ผมสัมภาษณ์นักแข่งสี่คนของทีมคือ

  • Damien Monier นักปั่น All-Rounder ชาวฝรั่งเศส อดีตนักแข่งทีม Cofidis เจ้าของผลงานแชมป์สเตจใน Giro d’ Italia และเคยสังกัดทีม Bridgestone-Anchor มาก่อน
  • Watanabe Shoutarou สาย Puncheur นักแข่งที่มาจากจังหวัดกิฟุ
  • Hayakawa Tomohiro สาย GC และ Climber เคยสังกัด Team Nippo ก่อนที่จะย้ายมา Aisan Racing Team มาจากจังหวัดไอจิ
  • Suiyoshi Kouta สาย All-Rounder จากจังหวัดคุมาโมโต้ มาจาก Team UKYO เคยได้ที่ 8 ในสเตจของ Tour of Thailand

ขอเริ่มเลยนะครับ เทิร์นโปรกันมากี่ปีแล้วครับ ทำไมถึงอยากเป็นนักแข่งกัน?

วาตานาเบะ ผมเพิ่งเป็นโปรได้ 3 ปีครับ เริ่มแข่งจักรยานตอนมัธยมปลายครับ โรงเรียนผมเป็นโรงเรียนที่ทีมจักรยานเก่งมาก แต่ผมไม่ได้เข้าโรงเรียนเพราะอยากแข่งจักรยานนะ ทีแรกผมอยากจะเตะฟุตบอล แต่ถูกเพื่อนชวนไปปั่นด้วย เลยลองดูเพราะคิดว่าสนุก ก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางนักปั่น พอเข้ามหาวิทยาลัยก็แข่งจักรยานต่อครับ

ตอนเรียนอยู่ปีสี่ช่วงเดือนสิงหา ผมก็คิดว่าอยากจะแข่งจักรยานอาชีพ เลยติดต่อทีมด้วยตัวเอง ซึ่งก็ตัดสินใจเลือกทีมที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน (คุณวาตานาเบะมาจากจังหวัดกิฟุ ซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดไอจิ ฐานของทีม Aisan Racing Team)

ฮายาคาวะ ส่วนผมเป็นโปรมา 8 ปี ตั้งแต่มัธยมต้นก็ชอบปั่นจักรยานเสือภูเขาไปไหนมาไหนไกลๆ อยู่แล้วครับ วันละเป็น 100 กิโลเลยครับ ตอนเข้ามัธยมปลายเลยเลือกโรงเรียนที่มีชมรมจักรยานจริงจัง ตอนเข้ามหาวิทยาลัยเลือกเข้ามหาวิทยาลัยโฮเซในโตเกียวที่ชมรมจักรยานเป็นทีมที่แกร่งมากครับ แล้วตอนจบมหาวิทยาลัยก็เข้าทีม Nippo Vini Fantini แล้วอยู่ที่นั่น 2 ปี แล้วค่อยย้ายมาทีม Aisan Racing Team ครับ (บ้านเดิมของคุณฮายาคาวะอยู่ห่างจากฐานของทีมแค่ประมาณ 10 นาที)

 

แล้วที่เลือกเข้าทีม Aisan Racing เพราะเป็นทีมที่อยู่อยู่ในท้องถิ่นตัวเองรึเปล่า?

วาตานาเบะ อีกสาเหตุนึงที่ผมเลือกเข้าทีมเพราะว่าผมแข่งจักรยานลู่ด้วย ซึ่งทีม Aisan Racing ก็ลงแข่งประเภทนี้ด้วยครับ (เบ็ปปุ: ทีมอื่นไม่ค่อยส่งลงแข่ง ในญี่ปุ่นไม่ค่อยมีคนที่แข่งทั้งสองประเภทพร้อมกัน ไม่เหมือนที่อังกฤษหรือออสเตรเลีย)

หลังจากนี้เราย้ายที่คุยกันและมีคุณสุมิโยชิ และคุณเดเมียนเพิ่มมาด้วย

คุณวาตานาเบะ

คิดยังไงกับการเป็นนักแข่งจักรยานอาชีพครับ?

สุมิโยชิ นั่นสิครับ ถึงจะบอกว่าเป็นนักแข่งจักรยาน ก็มีเพื่อนเราอีกหลายคนที่ทำงานประจำไปด้วย แต่การที่พวกผมสามารถที่จะแข่งจักรยานอย่างเดียวแล้วได้เงินเลี้ยงชีพด้วยถือว่าโชคดีครับ เพราะคนส่วนใหญ่มีโอกาสแบบนี้น้อยมาก ดังนั้นเวลาซ้อมก็ต้องเต็มที่ เวลาพัก เวลากินอะไร ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะดี เพราะถึงจะซ้อมเหมือนกัน แต่การใช้เวลาที่เหลือจากนั้นก็จะส่งผลกับการแข่งของแต่ละคนแน่นอน จึงต้องจริงจังกับเรื่องพวกนี้มากๆ

ถ้าเทียบกับคนที่ต้องทำงานพิเศษเลี้ยงตัวเองไปด้วย เพื่อที่จะได้แข่งจักรยาน พวกผมก็สามารถที่จะแข่งจักรยานอย่างเดียวไม่ต้องห่วงเรื่องการทำงานอื่น ดังนั้นก็ต้องพยายามให้เต็มที่สมกับที่เป็นนักแข่งอาชีพเต็มตัวครับ

ฮายาคาวะ มันก็เป็นโลกที่เราก็ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดเหมือนกันนะครับ แน่นอนว่าถ้าได้ลงแข่งแล้วชนะ ก็เป็นเรื่องดีที่สุดครับ แต่ว่าก็ใช่ว่าทุกคนจะทำแบบนั้นได้ ดังนั้น ก็ต้องคิดว่าตัวเองควรทำอะไร หาคำตอบด้วยตัวเองครับ แน่นอนว่าทุกคนก็อยากจะเร็วขึ้น แกร่งขึ้น แต่ที่สำคัญคือ ตั้งเป้าหมายของตัวเองแล้วซ้อมเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้

นักแข่งอาชีพก็คืออาชีพที่สามารถที่จะซ้อมอย่างเดียวโดยไม่ต้องห่วงเรื่องอื่นได้ครับ

วาตานาเบะ ผมซ้อมวันละ 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ว่างตลอด ก็ต้องเน้นไปที่เรื่องการพักฟื้นร่างกาย คือเวลาทำงานจริงๆ ก็ไม่ได้เยอะมาก แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นก็ซ้อมกันหนัก แต่ที่เหลือก็คือต้องพักให้เต็มที่

เดเมียน คือซ้อมหนัก หลังจากนั้นก็ไม่เหลือแรงทำอะไรละครับ ใช้แรงเกินจำเป็นไม่ได้ครับ จะไปเดินเล่น เดินซื้อของให้เปลืองแรงไม่ได้ ต้องพยายามอยู่เฉยๆ จริงๆ ครับ

เบ็ปปุ แล้วก็ต้องเดินทางบ่อยๆ แล้วระหว่างเดินทางก็ต้องคิดเรื่องการพักฟื้นกล้ามเนื้อตลอดด้วยครับ

สมาชิกทีม Aisan ปัจจุบัน จากซ้ายไปขวา: ฮายาคาวะ โทโมฮิโระ, วาตานาเบะ โชทาโร่, สุมิโยชิ โคตะ, นาคากาว่า เค็น, คุซาบะ เคโกะ, โอมาเอะ คาเครุ, โอคาโมโต้ ฮายาโตะ, เดเมียน โมเนียร์

จะบอกว่า มันเป็นวิถีชีวิตมากกว่าแค่งานประจำเฉยๆ ก็ว่าได้สินะครับ

เบ็ปปุ ชีวิตประจำวันมันกลายมาเป็นงานแทนครับ คือชีวิตประจำวันถูกจักรยานผูกมัดไว้เลยครับ

เดเมียนใช่ครับ อย่างแค่เดินซื้อของเฉยๆ ก็ไม่ดีครับ

เบ็ปปุ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากนั่งตลอดครับ เพราะปรกติพวกเราปั่นจักรยาน ควงขากันเป็นวงกลม แต่พอลงมาเดินพื้น ก็ใช้กล้ามเนื้อคนละชุดกัน ถ้าฝืนเดินมากๆ ก็จะเพิ่มภาระให้ขาเปล่าๆ จะเมื่อยกว่าเดิมครับ

เดเมียน ถ้าพักไม่พอ วันต่อมานี่จะทรมานมากตอนซ้อมปั่นชั่วโมงแรกครับ

 

ตอนนี้เป้าหมายของทุกคนคืออะไรครับ มีงานแข่งไหนที่อยากลงแข่งหรืออยากได้แชมป์ไหมครับ

ฮายาคาวะ ตอนนี้ก็คิดเรื่อง National Champion (ชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่น) มากที่สุดครับ อยากจะทำผลงานของตัวเองให้ดีที่สุดครับ

วาตานาเบะ ผมจะลงแข่ง Time Trial ครับ ก็อยากจะขึ้นโพเดียมให้ได้ครับ

สุมิโยชิ ผมเองก็อยากจะคว้าแชมป์ญี่ปุ่นให้ได้ครับ

เดเมียน ของผมจะแตกต่างออกไปหน่อย ตอนนี้ผมต้องการจะช่วยเพื่อนร่วมทีม ซัพพอร์ตให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้ ช่วยให้ทีมได้แต้ม UCI เพิ่มมากขึ้น ในทีมก็มีสปรินเตอร์เยอะนะครับ ผมก็อยากจะทำหน้าที่แอซซิสต์ช่วยให้ทีมสปรินต์ชนะ และยกระดับทีมขึ้นไปอีกครับ

 

อาจจะเสียมารยาทต่อทาง Aisan Racing หน่อยนะครับ แต่ว่าอยากจะย้ายไปแข่งกับทีมในต่างประเทศไหมครับ

สุมิโยชิ ตอนนี้ก็อยากจะมุ่งไปที่งานแข่งที่ตัวเองลงแข่งให้เต็มที่ก่อนครับ เพราะเราก็มีสปอนเซอร์ของทีม ก็อยากจะสร้างผลงานกับสมาชิกทั้งทีม แล้วก็ทำให้คนรู้จักทั้งทีมทั้งสปอนเซอร์ของเราครับ ทำให้อยากจะให้ได้แชมป์ญี่ปุ่นให้ได้ เพราะว่านอกจากจะทำให้ทีมเป็นที่รู้จักแล้วยังสามารถที่จะใส่เสื้อแชมป์ญี่ปุ่นไปได้ตลอดปีครับ

ที่ผ่านมาไปแข่งที่ประเทศไหนบ้างครับ

เบ็ปปุ ไปหลายที่เลยครับ ที่ไทยก็เคยไปแข่ง Tour of Thailand บางทีก็ไปที่ใหม่ๆ อย่างคาซัคสถานเมื่อปีก่อนครับ อิหร่านก็ไปนะครับ ปกติคงไม่ค่อยมีใครคิดไปเที่ยวหรอกครับ แต่เอาจริงๆ แล้วพอไปแข่งที่นั่นก็รู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรน่ากลัวเหมือนในข่าวนะครับ มีแต่คนใจดีนะครับ เวลาไปแข่ง ก็เลือกไปครั้งละ 5-6 คน ดูตามความเหมาะสมว่าสนามนั้นควรใช้นักปั่นแบบไหน วางแผนอย่างไรแล้วค่อยๆ เลือกตัวไปครับ

 

น่าสนุกดีนะครับ

เบ็ปปุ แต่ก็ไม่ค่อยมีโอกาสอยู่ที่ไหนนิ่งๆ นานๆ นะครับ แป๊บๆ ก็เดินทางอีกแล้ว เจอใครแป๊บๆ ก็ต้องลากันแล้ว อย่างเดเมียนเองก็ตัดสินใจให้ครอบครัวอยู่ที่ฝรั่งเศสแล้วมาอยู่นี่คนเดียวครับ

สุมิโยชิ เฮ้อ ไม่มีโอกาสเจอใครเลย

 

เอ๊ะ ทุกคนยังโสดเหรอครับ

ทุกคน หัวเราะ

สุมิโยชิ โสดแบบสุดๆ เลยล่ะครับ ตอนนี้ก็โสด แล้วก็ไม่มีวี่แววว่าจะหลุดพ้นจากความโสดเลยครับ

เบ็ปปุ ก็อย่างที่บอกครับ เจอคนเยอะ แต่ก็แค่แป๊บๆ ยกเว้นแต่จะเจอคนที่ชอบตอนไปแข่งแล้วสุดท้ายก็แต่งงานนั่นล่ะครับ

ทุกคน หัวเราะดังกว่าเดิม

เบ็ปปุ เอาจริงๆ ก็แค่ว่านักแข่งจักรยานอาชีพนี่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ เท่านั้นเองครับ อืม แต่คิดอีกที จริงๆ พวกนี้อาจจะเรื่องมากครับ มีสาวๆ มาชอบเยอะ แต่อยากจะเจอคนที่ดีกว่านี้เลยไม่ได้ตัดสินใจเลือกใครครับ

ทุกคน ฮา

เบ็ปปุ บางทีอาจจะเล็งหาสาวที่ครอบครัวฐานะดี แต่งเข้าตระกูลแล้ววันๆ ก็ปั่นจักรยานได้เต็มที่ตามใจชอบ ไม่ต้องทำอะไรก็ได้นะครับ

แต่ถ้าให้พูดจริงๆ นักแข่งจักรยานนี่ก็ชีวิตไม่ค่อยเหมือนคนอื่นนะครับ รายรับก็ไม่ได้เยอะอะไรขนาดนั้น แล้วพอถามว่าถ้าเลิกแข่งแล้วจะไปทำอะไร ก็หนักใจเหมือนกันนะครับ ถ้าเป็นคนที่มีงานรองรับอยู่แล้ว หรือที่บ้านมีธุรกิจให้รับช่วงต่อก็คงดี แต่ถ้าไม่มีแล้วล่ะก็ คงต้องคิดหนักว่าจะไปทำอะไรต่อ เช่นทำงานในทีม เปิดร้านจักรยาน หรือบางคนก็เป็นช่างฟิตติ้งแทนครับ

คุณฮายาควะ
บรรยากาศห้องช่างของทีม ดูไม่ต่างจากห้องสโมสรทีมมัธยมปลายเท่าไร

หมายถึง Second Career เหรอครับ

เบ็ปปุ ใช่ครับ ถ้าจะอยู่ในวงการต่อ ก็ลำบากไม่น้อย เพราะไม่ได้มีทีมเยอะครับ หลายคนก็เลยห่วงเรื่องอนาคต แต่ถึงจะมีเรื่องให้กังวล แต่หลายคนก็ยังเลือกเป็นนักแข่งจักรยานอาชีพ ก็แสดงว่า อาชีพนี้มันก็มีเสน่ห์ไม่น้อยล่ะมั้งครับ บางคนก็อาจจะไปได้ไกลแบบน้องชายผม (ฟูมิยูกิ ตอนนี้สังกัดทีม Trek-Segafredo) แต่ของแบบนี้มันก็เหมือนการพนันครับ เพราะเราไม่รู้เหมือนกันว่า กำลังขาของเราจะพาเราไปได้ไกลแค่ไหน

 

เคยตั้งเป้าหมายไว้มั้ยครับว่าอยากจะไปถึงระดับไหน

เบ็ปปุ หลักๆ ก็คงเป็นเรื่องอายุนั่นล่ะครับ ต่อให้อยากแข่งต่อแต่ทีมก็เป็นคนตัดสินใจว่าจะให้โอกาสแข่งต่อไหม ในฐานะผู้จัดการผมก็ต้องรักษาสมดุลตรงนี้ให้ดีครับ ระหว่างนักแข่งที่ยังอยากแข่งต่อ กับทางทีมที่อยากให้เลิก เป็นเรื่องยากเหมือนกันครับ แต่เงื่อนไขที่ต้องพิจารณาก็เยอะครับ ทั้งผลงาน ประสบการณ์ สภาพร่างกายของแต่ละคน

 

แล้วเคยจินตนาการไหมครับว่าถ้าไม่ได้เป็นนักแข่งจักรยานอาชีพแล้วจะทำอาชีพอะไรครับ

ฮายาคาวะ อืม ผมก็คิดจริงจังกับจักรยานตั้งแต่มัธยมปลาย เลยไม่เคยคิดเรื่องอื่นครับ

วาตานาเบะ ผมไม่ได้มีอาชีพอะไรที่อยากทำเป็นพิเศษครับ (หัวเราะ) แต่จริงๆ ทีแรกก็อยากจะเป็นนักแข่งเครินนะครับ แต่กำลังขาผมไม่เหมาะกับการแข่งสปรินต์ระยะสั้นขนาดนั้น เลยเลือกทางโร้ดแทนครับ

สุมิโยชิ ผมได้งานก่อนเรียนจบแล้วครับ แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไป ตอนนั้นได้งานเซลส์ของ Pearl Izumi แต่ตัดสินใจเลือกเป็นนักแข่งครับ

เดเมียน ส่วนผมก็เคยอยากจะเป็นนักฟุตบอลนะครับ แต่ว่ามันยากเกินไป แต่ก็ยังอยากจะเป็นนักกีฬาอาชีพ เลยหากีฬาที่เป็นกีฬาชายเดี่ยวครับ คือถ้ากีฬาประเภททีมนี่ ถ้าทีมไม่ชนะ บางทีก็อาจจะเป็นเพราะผม หรือเพราะคนอื่น แต่อย่างจักรยานนี่ ถ้าเทิร์นโปรไม่ได้ ก็เพราะผมห่วยคนเดียวเลยครับ ถึงเวลาแข่งจะลงเป็นทีม แต่ฝีมือของแต่ละคนก็ส่งผลให้เห็นชัดเจนเยอะมากครับ แต่นั่นก็ทำให้ผมเริ่มแข่งจักรยานช้าหน่อย เพราะผมเริ่มแข่งจักรยานตอนอายุ 18 ในขณะที่คนอื่นเขาเข้าทีมเยาวชนกันตั้งแต่อายุ 13-14 กัน

เบ็ปปุ แต่หลายคนระหว่างเป็นโปรก็คอยหาทางว่าจะไปทำอะไรต่อไปนะครับ เอาประสบการณ์จากตอนเป็นโปรไปใช้ บางคนก็บบริหารโรงแรม บางคนชอบกาแฟก็เปิดร้าน จะว่าไปการเป็นโปรก็เหมือนกับเป็นการค้นหาตัวเองต่อไปด้วยครับ

เดเมียน แต่โปรฝรั่งเศสนี่ส่วนใหญ่เลิกไปก็ไปทำงานธรรมดาๆ เลยครับ เป็นพนักงานร้าน Decathlon บ้าง ทำงานประปา หรือก่อสร้างก็มีครับ ถ้าไม่ได้เป็นแชมเปี้ยนมาก่อน Second Career ของนักปั่นฝรั่งเศสนี่ลำบากเอาเรื่องเลยครับ แต่ละคนเลยพยายามจะแข่งจักรยานให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ (หัวเราะ)

คุณสุมิโยชิ

ไหนๆ ก็พูดเรื่องเครินแล้ว นักแข่งเครินนี่แตกต่างกับนักแข่งโร้ดมากแค่ไหนครับ โดยเฉพาะเรื่องรายรับ

ทุกคน หัวเราะ

เบ็ปปุ ต่างกันประมาณ 3 หลักเลยล่ะครับ แต่ว่านักแข่งเครินเขาก็ไม่มีเงินเดือนนะครับ เพราะไม่ได้มีต้นสังกัด แต่ในทางกลับกัน ก็มีรายการแข่งเยอะ ถ้าชนะก็ได้เงินเยอะ และขอให้แข่งจนครบรอบ ก็มีเงินให้ครับ

สายโร้ดแบบพวกผมนี่แข่งจบก็ไม่มีเงินให้ มีแค่คนที่ชนะเท่านั้นที่ได้เงิน อันดับอื่นๆ ก็พอได้เงิน แต่ก็แค่นิดเดียวครับ แถมต้องเอามาแบ่งกันในทีมอีก บางคนแข่งกันแทบแย่แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรครับ เพราะอย่างนั้นทีมเลยต้องมีเงินเดือนให้ครับ ถ้าคิดเรื่องเงินอย่างเดียวก็ไปแข่งเครินกันแล้วครับ ขนาดบางคนเลิกเล่นกีฬาอื่นมาแข่งเครินแทนครับ ว่าแต่ ทำไมนายไม่ไปแข่งเครินนะ (หันไปทางวาตานาเบะ)

วาตานาเบะ อืม ไม่ค่อยเท่ครับ (หัวเราะ)

เบ็ปปุ เอาจริงๆ เริ่มตอนนี้ก็ยังทันนะ เขายกเลิกเกณฑ์อายุแล้ว เท่าไหร่ก็เข้าโรงเรียนเครินได้ สนมั้ย

เดเมียน อืม ลองดูหน่อยดีมั้ย

เบ็ปปุ ต้องโกนหัวโล้นด้วยนะ (หัวเราะ)

สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในฐานะนักแข่งจักรยานคืออะไรครับ

วาตานาเบะ ยังไม่มีอะไรมากครับ อายุการแข่งผมยังน้อย

เดเมียน ของผมคงเป็นการได้ลงแข่ง Tour de France ครับ ถึงอันดับจะไม่ได้ดีมาก แต่ก็ภูมิใจที่ได้รับเลือกร่วมทีม แล้วก็แข่งจนจบครับ ตอนได้แชมป์ Taiwan KOM (2015) ก็ดีใจนะครับ แต่มันก็ต่างกับการแข่งจักรยานอื่นๆ มากครับ เหมือนกับคนละประเภทไปเลย เพราะปั่นขึ้นอย่างเดียวเลย โหดมากครับ จากระดับน้ำทะเลขึ้นไปสามพันกว่าเมตรเลย

 

ในญี่ปุ่นนี่ ถ้าอยากจะเป็นนักแข่งอาชีพ ก็ต้องเริ่มจากแข่งระดับมัธยม แล้วค่อยไประดับมหาวิทยาลัย ก่อนจะถูกดึงตัวเข้าทีม หรือยื่นสมัครเป็นโปรเอง แล้วทางฝรั่งเศสเป็นไงครับ

เดเมียน ในฝรั่งเศสก็เริ่มจากเข้าสโมสรหรือชมรมเป็นทีมแข่งระดับเยาวชน (มักจะเป็นทีมของร้านจักรยาน) แล้วค่อยๆ สร้างผลงานไปเรื่อยๆ ไต่ระดับไป แล้วค่อยถูกแมวมองมาดึงตัวไปครับ แต่ไม่มีทางที่จะไปยื่นสมัครกับทีมนะครับ ต้องทำผลงานรอให้คนมาชวนเข้าทีมอย่างเดียวเท่านั้นครับ

เบ็ปปุ ของญี่ปุ่นนี่ก็อย่างที่บอกครับว่ามีทั้งสองทาง

สุมิโยชิโยชิ อย่างผมก็แข่งระดับมหาวิทยาลัยแล้วก็ถูกทีมแรกที่สังกัดมาชวน ตอนนั้นเลยปฏิเสธงานหลักไป แต่ไม่ได้หนักใจอะไรเลย เพราะอยากจะแข่งจักรยานเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว แต่ว่าแน่นอนว่าพ่อแม่ก็เป็นห่วง อยากจะให้ทำงานที่มั่นคงกว่าครับ แต่สุดท้ายผมก็เลือกทางที่ตัวเองอยากเลือกครับ

 

แล้วปีนี้ในงาน Tour of Japan นี่คิดอย่างไรบ้างครับ คือผมอาศัยอยู่ที่มิโนะ (เมืองในจังหวัดกิฟุ) ที่เป็นหนึ่งในสเตจแข่งขันอยู่แล้ว เลยอยากทราบความเห็นในฐานะทีมเจ้าบ้านอย่างเป็นทางการครับ

เบ็ปปุ นี่เดือนเมษายน ก่อนจะแข่ง Tour of Japan เราก็จะมีอีเวนต์ร่วมปั่นกับคนท้องถิ่นในเมืองมิโนะครับ ซึ่งก็ร่วมงานกับหน่วยงานท้องถิ่นด้วย แล้วเดเมียนก็ทำหน้าที่เป็นคนตัดริบบิ้นเริ่มงาน เพราะเราเป็นทีมเจ้าบ้าน ก็ทำให้ถูกจับตามมอง และอยากจะเอาชนะให้ได้ แต่ว่า Tour of Japan นี่ ทีมไหนเป็นทีมเจ้าบ้านสเตจนั้น ก็ไม่เคยชนะในบ้านตัวเองซะทีครับ ปีนี้ก็จะพยายามเอาชนะให้ได้ครับ

Damien Monier อดีตเพื่อนร่วมทีมแบรดลีย์ วิกกินส์

นอกจากจะได้คุยรอบวงกับนักปั่นในทีมหลายๆ คนแล้วผมยังได้คุยนอกรอบเพิ่มเติมกับเดเมียนและทาคุมิ คนหนึ่งเป็นนักแข่งยุโรปมากประสบการณ์ที่อยากช่วยเพื่อนให้มีผลงาน ในขณะที่อีกคนก็พยายามบริหารทีมให้นักแข่งมีโอกาสได้ชนะและทีมยังอยู่รอดได้ ซึ่งก็ทำให้เราได้มุมมองที่น่าสนใจไม่น้อยครับ เริ่มกันที่เดเมียนก่อน

คุณเดเมียนอยู่ญี่ปุ่นมาแล้ว 6 ปีแล้ว คิดว่าวงการในฝรั่งเศสกับญี่ปุ่นต่างกันอย่างไรบ้างครับ?

เดเมียน ที่ฝรั่งเศสนี่มีแต่ความเครียดครับ เพราะมีนักปั่นเยอะไปหมด รวมถึงนักปั่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในวงการด้วย ที่ญี่ปุ่น ถ้าทำผลงานไม่ได้ ก็ค่อยสู้ใหม่ปีหน้า แต่ถ้าเป็นที่ยุโรป ถ้าโชว์ผลงานไม่ได้ ก็อาจจะไม่ได้ต่อสัญญาในปีต่อไป และอีกเรื่องนึงคือ ที่ยุโรปมีงานแข่งเยอะมากๆ ทำให้มีโอกาสทำผลงานได้เยอะ แต่ถ้าขนาดนั้นแล้วยังไม่มีผลงานก็มีโอกาสโดนคัดตัวออกครับ ตอนที่ผมย้ายมาใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าระดับของวงการญี่ปุ่นยังต่ำอยู่นะครับ แต่ว่าก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันก็ดีกว่าเดิมมากเลยครับ

 

ทำไมถึงย้ายมาปั่นที่ญี่ปุ่นครับ ชอบชีวิตที่นี่มั้ย

เดเมียน เพราะผมประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ทำให้หลังจากนั้นก็ทำผลงานไม่ได้ เลยถูกยกเลิกสัญญา แล้วทางทีม Bridgestone-Anchor ของญี่ปุ่นเสนอสัญญามาเลยย้ายมาที่ญี่ปุ่นครับ เรื่องชีวิตส่วนตัวก็ไม่มีอะไรครับ ภรรยาผมเป็นคนจีน ผมก็ไปจีนอยู่บ่อยๆ เลยชินกับประเทศเอเชีย ญี่ปุ่นถึงต่างจากจีน แต่ก็มีส่วนคล้ายกัน เลยไม่รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ อาหารก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ

อยู่ญี่ปุ่นก็สบายดีนะ เงียบๆ อาหารก็ถูกปาก ที่สำคัญ ร้านสะดวกซื้อนี่สะดวกจริงๆ ครับ จะซื้อของตอนไหนก็ได้ ที่ฝรั่งเศสหรือในยุโรปนี่ร้านค้าก็ปิดเร็ว สุดสัปดาห์ก็ไม่เปิด ที่ญี่ปุ่นนี่อาจจะสะดวกเกินไปเลย ที่ยุโรปเวลาผมออกไปซ้อมนี่ไม่มีที่ให้พัก ที่ญี่ปุ่นนี่แป๊บๆ ก็เจอร้านสะดวกซื้อได้ตลอด อย่างแย่สุดก็มีตู้กดน้ำกระป๋องครับ

 

แล้วในแง่ของการแข่งจักรยานล่ะครับ

ตอนมาใหม่ๆ เมื่อ 6 ปีก่อน ก็ระดับต่ำกว่าตอนนี้มากนะ จะทำผลงานดีๆ อันดับดีๆ นี่ไม่ยากเลยครับ แต่ทุกวันนี้ยากขึ้นมาก แล้วอีกเรื่องนึงก็คือ การแข่งในญี่ปุ่นมักจะเป็นการวนในคอร์สสั้นๆ คล้ายไครทีเรียมมากกว่า ไม่เหมือนในยุโรปที่เป็นสนามแข่งยาวๆ แล้วก็ ไม่ค่อยมีสื่อมาทำข่าวครับ ทีวีก็ไม่มา ไม่มีถ่าย หนังสือพิมพ์ก็ไม่ลง ที่เส้นสตาร์ตก็ไม่มีแคมปิ้งคาร์ ไม่มีรถบัสทีม เงียบมาก เล่นเอาเหงานิดนึง ขาดบรรยากาศรื่นเริงครับ

แต่ในการซ้อม ผมรู้สึกว่าที่ญี่ปุ่นอันตรายนะครับ เพราะแถวนี้ถนนเล็ก แล้วก็รถบรรทุกเยอะ (โอบุเป็นพื้นที่โรงงาน) แถมเขาก็ไม่คิดว่าถนนคือที่ที่เหมาะสำหรับการซ้อมจักรยานด้วย เลยไม่ค่อยเว้นช่องห่างระหว่างรถให้ครับ ต้องเข้าช่วงภูเขาล่ะครับค่อยปลอดภัยขึ้น ถนนทั่วไปแถวนี้ผมว่าอันตรายอยู่ครับ

ตอนปี 2012 คุณเจออุบัติเหตุครั้งใหญ่ กว่าจะกลับมาได้ ต้องปรับสภาพจิตใจเยอะไหมครับ (เสริม: เดเมียนเคยถูกรถชนระหว่างซ้อมส่วนตัว ตอนปั่นเข้าวงเวียน ซึ่งเขาบาดเจ็บที่หน้าเป็นแผลลึก ต้องผ่าตัด 3 ครั้ง ต้องพักในโรงพยาบาล 10 วัน)

ช่วงหนึ่งปีหลังจากอุบัติเหตุนี่ ทำให้ผมกลัวมากเหมือนกันนะครับ แต่ตอนอยู่ที่โรงพยาบาล หมอสั่งให้ผมอยู่โรงพยาบาล 1 เดือน แต่ผมคิดว่ามันนานไป ต้องกลับมาแข่งให้เร็ว เลยเซ็นรับทราบว่าถ้าเกิดอะไรหมอจะไม่รับผิดชอบ แล้วออกจากโรงพยาบาลภายในเวลา 10 วัน แล้ว 2 เดือนหลังจากนั้นก็ลงแข่งงานแรก แต่แข่งไม่จบครับ แต่วันต่อมาก็แข่งจบได้ ก็รู้สึกว่าน่าจะไหว ก็ค่อยๆ สู้กับความกลัวไปครับ

คุณเคยร่วมทีม Cofidis กับแบรดลีย์ วิกกินส์ช่วงหนึ่ง มองย้อนกลับไปตอนนั้น มีความคิดว่าเขาจะกลายมาเป็นแชมป์ Tour de France ในภายหลังได้ไหมครับ

ตอนนั้นเหรอ? พรืดดดด ไม่เลยครับ (ระเบิดเสียงหัวเราะรอบวง) จริงๆ เขาเป็นคนที่แกร่งมากเลยนะครับ มีพลังล้นเหลือ แข่งพวก TT หรือแทร็คนี่ดีมากๆ ครับ แต่เขาเป็นคนที่ชอบทำตัวเป็นโจ๊กเกอร์ครับ เวลาอยากจะได้อะไรก็ตั้งใจเต็มที่เพื่อให้ได้มา แต่เวลาที่ไม่สน ก็ไม่พยายามอะไรเลย ทำตามใจชอบมากๆ ครับ

 

หมายความว่า ตอนนั้นเขาก็ปั่นแทร็คดีมาก แต่ว่าไม่น่าจะเป็นแชมป์ GC ได้ใช่ไหมครับ

(คุณเบ็ปปุแทรกมาว่า แล้วปั่นขึ้นเขาเป็นไง?)

(ส่ายหัว) ไม่ไหวเลย คิดว่าเขาเปลี่ยนวิธีคิดไปตอนไป Team Sky ล่ะครับ ตอนอยู่ Cofidis เขาแค่แข่งไทม์ไทรอัลและทำหน้าที่แอซซิสต์ให้ดีก็พอครับ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีนะครับ เวลาเจอลมตีด้านข้าง คนอื่นร่วงหมด มีเขาคนเดียวที่ปั่นพาเอซต่อไปได้เฉยเลยครับ

ตอนผมเห็นทีแรกนี่ได้แต่ เอ๋! เลยล่ะครับ ส่วนวิธีการขึ้นเขาของเขาก็ต่างไปจากคนอื่น เพราะว่าเขาปั่นขึ้นด้วยเพซของตัวเองนิ่งๆ ก็น่าจะเข้ากับสไตล์การวางแผนของ Team Sky นะครับ แล้วก็ดูเหมือนเขาจะลดน้ำหนักลงไป 10 กิโลกรัมจากตอนอยู่ Cofidis เลยนะครับ ตอนเจอกันอีกทีผมก็ตกใจเหมือนกัน แล้วในวงการจักรยานทุกคนก็ตกใจกับการเปลี่ยนสภาพร่างกายของเขากันหมดครับ แต่ก็เป็นคนดีจริงๆ นะครับ

 

วงการจักรยานมีการเปลี่ยนแปลงตลอด อย่าง 10 ปีก่อน Power Meter ยังไม่แพร่หลายมาก แต่กลายเป็นของธรรมดาในตอนนี้ไปแล้ว สำหรับคุณเดเมียนเองคิดว่ามันส่งผลอย่างไรบ้างครับ

ต่างจากเดิมเหมือนกันนะครับ นี่ผมน่าจะแข่งเป็นฤดูกาลที่ 16 แล้ว แต่ผมก็ใช้ PM มาตั้ง 13 ฤดูกาลแล้วครับ จัดว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มใช้เหมือนกัน

หลักๆ คือ ไม่สามารถอู้ตอนซ้อมได้ครับ เพราะเห็นข้อมูลชัด (หัวเราะ) จริงๆ คือ ทำให้ซ้อมได้ประสิทธิภาพมากขึ้นครับ แต่ก่อนต้องใช้ความรู้สึกบวกกับเช็คการเต้นของหัวใจ แต่พอมี PM ก็ทำให้เห็นข้อมูลได้ชัดขึ้น ศักยภาพนักแข่งก็ดีขึ้น ยุคก่อน PM ช่องว่างระดับแชมเปี้ยน นักแข่งหัวแถว กับนักแข่งทั่วไป คือห่างกันมากครับ แต่ตอนนี้ก็เริ่มใกล้เคียงกันมากขึ้น มีคนมีโอกาสเป็นแชมป์เพิ่มมากขึ้นครับ

 

ตอนนี้แข่งในญี่ปุ่นมา 6 ปีแล้ว แล้วอนาคตคิดว่าอย่างไรครับ จะกลับฝรั่งเศสไหมครับ

ถ้ายังแข่งจักรยานได้ก็อยากอยู่ญี่ปุ่นต่อนะครับ ผมชอบสภาพแวดล้อมที่นี่ และชอบหน้าที่ที่ได้รับที่นี่ การช่วยพัฒนานักแข่งญี่ปุ่นรุ่นใหม่ก็เป็นภารกิจที่ผมสนุกกับมันครับ จะให้กลับไปแข่งที่ฝรั่งเศสตอนนี้คงยากแล้วครับ

ขอบคุณคุณเดเมียนมากๆ นะครับ

ทาคุมิ เบ็ปปุ อดีตโปรแนวหน้าที่หันมาเป็นผู้จัดการทีม 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น จริงๆ พี่น้องเบ็ปปุเป็นนักปั่นที่มีชื่อเสียงมากในญี่ปุ่น คนพี่ เบ็ปปุ ทาคุมิ เป็นอดีตโปรชาวญี่ปุ่นวัย 39 ปีที่รีไทร์แล้วเลือกมาบริหารทีมระดับ Continental ของประเทศตัวเอง ในขณะที่น้องชาย เบ็ปปุ ฟูมิยูคิวัย 35 ปีไปโลดแล่นอยู่ในวงการโปรทัวร์ตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกทีม Trek-Segafredo คนสำคัญและพูดได้ว่าเป็นนักปั่นจากเอเชียที่ประสบการณ์การแข่งโปรทัวร์เยอะที่สุดในโลก เพราะแทบไม่เคยตกดิวิชันเลย ถึงวันนี้จะไม่ได้คุยกับฟูมิยูกิ แต่พี่ชายของเขา ทาคุมิก็มีมุมมองต่อวงการจักรยานญี่ปุ่นที่น่าขบคิดไม่น้อยครับ

 

สื่อจักรยานในญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับทีมโปรในประเทศไหมครับ

ไม่ค่อยเท่าไหร่นะครับ ส่วนนึงอาจจะเพราะคนอ่านไม่ค่อยสนใจด้วย สื่อต่างๆ โดยเฉพาะนิตยสารเลยไปเน้นที่เรื่องของอุปกรณ์ซะมากกว่า

ถ้าเป็นเรื่องของนักปั่นก็จะไปเน้นที่นักปั่นสมัครเล่น ว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไรมากกว่าครับ เพราะว่า เพราะในญี่ปุ่นก็มีนักปั่นสมัครเล่นเยอะ เป็นตลาดใหญ่ และการทำเนื้อหาแบบนั้นก็ช่วยให้ขายของได้เยอะขึ้น วงการก็หมุนไปได้ครับ แล้วในมุมมองผมก็คือ คนญี่ปุ่นเองก็ยังไม่เข้าใจว่า โปร คืออะไรนะครับ ดังนั้นไปเจาะตรงงานแข่งสมัครเล่นที่ใกล้ตัวคนอ่านก็ได้ผลดีกว่า

อย่างพวกผมไปแข่งต่างประเทศ ก็ไม่มีใครตามไปทำข่าวครับ ต่อให้ตามมาทำข่าวการแข่งของโปรในประเทศ แต่สุดท้ายก็มีแค่คนชนะที่ถูกสัมภาษณ์ครับ ไม่ได้เน้นอะไรมาก

เพราะอย่างนั้น พวกผมเลยต้องโปรโมทกันด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นครับ บางทีก็ต้องเขียนข่าวเองแล้วส่งไปให้สื่อจักรยานออนไลน์ให้ลงให้เราครับ เราก็ต้องพยายามสื่อออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้คนได้เห็นเยอะขึ้นครับ

 

แล้วกลุ่มแฟนที่ดูการแข่งจักรยานในประเทศนี่เป็นคนกลุ่มไหนครับ

ช่วงหลังๆ นี่คนที่ตามดูแข่ง J-Pro Tour นี่ก็เป็นผู้หญิงช่วงอายุ 30 ปีเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนนะครับ ดูเหมือนว่ากลุ่มแฟนผู้หญิงจะเน้นตามนักแข่งรายตัวมากกว่าการแข่งโดยรวม แต่พอดูข้อมูคนที่มาดูเว็บไซต์หรือในเฟซบุ๊คของเราแล้ว ส่วนใหญก็เป็นผู้ชายช่วงอายุ 40 ปีนะครับ ก็คงเป็นช่วงอายุที่ดูแล้วซื้อจักรยานหรืออุปกรณ์ตามพวกเราแล้วไปปั่นเองได้ครับ หรือบางทีอาจจะเป็นพนักงานในบริษัทเรานี่เองที่คอยเช็คเว็บไซต์ครับ

แล้วมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มแฟนคลับไหมครับ

คือทีมของเราเป็นส่วนที่ขยายมาจากบริษัทหลักน่ะครับ งบประมาณก็เลยต้องรับจากบริษัท แล้วก็ทำให้มีเงื่อนไขทางการบัญชีว่า จะเอาเงินจากแหล่งอื่นมาใช้ไม่ได้ เลยต้องใช้งบตามที่บริษัทให้ในแต่ละปีมาบริหารครับ จะรับเงินจากแหล่งอื่นก็ไม่ได้นะครับ ทำให้ทั้งงบและบุคลากรมีจำกัด เลยทำกิจกรรมนั่นนี่มากไม่ได้ครับ

ขนาดจักรยานหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ ก็ได้มาเป็นของอย่างเดียวครับ ไม่มีเงิน เป็น Supplier มากกว่า Sponsor ครับ ถ้าเป็นทีมอื่นเช่น Utsunomiya ก็เป็นบริษัทเป็นเอกเทศ มีผู้อำนวยการทีม บริหารจัดการเอง หาสปอนเซอร์มาสนับสนุน หาทุนเอง ทำให้ทำอะไรได้อิสระมากกว่า ซึ่งใน 8 ทีมระดับ Continental ของญี่ปุ่นก็มีวิธีบริหารงานแบ่งได้สองแบบนี้ครับ จะบอกว่าเป็นระบบของอดีตทีมบริษัท กับ ทีมที่บริหารแบบใหม่ก็ว่าได้ครับ

 

แล้วถ้าชนะได้เงินรางวัลมาล่ะครับ

ก็เหมือนได้โบนัสครับ ปกติก็เอามาแบ่งกันในทีมนั่นล่ะครับ ก็เหมือนๆ กับทีมในยุโรปครับ เอาจริงๆ ทีมในยุโรปเองก็คล้ายๆ กันในแง่ของระบบทีมแบบเก่า ที่มีเศรษฐีที่รักจักรยาน ก็มาตั้งทีม ให้เงินทำทีม แล้วเวลานักแข่งชนะก็เหมือนได้เงินโบนัส ส่วนเจ้าของทีมก็มีความสุขที่ทีมทำผลงานได้ครับ ทีมจักรยานยังไม่สามารถพัฒนาไปให้เลี้ยงตัวเองได้แบบกีฬาอาชีพอื่นๆ อย่างอเมริกันเกมส์นะครับ

 

บริษัท Aisan นี่ ในความเข้าใจของผมคือบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์อะไหล่ให้ทางโตโยต้า พูดตรงๆ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำการโปรโมทบริษัทเลย แล้วทำไมถึงมีทีมจักรยานของตัวเองครับ

จะบอกว่าจุดกำเนิดทีมเรามันพิลึกก็ได้ครับ คือทีแรกนี่ ในบริษัทไอซังโคเกียว ก็มีพนักงานที่ชอบปั่นจักรยานกัน เลยตั้งชมรมจักรยานขึ้นในช่วงปี 1976 ครับ ไปๆ มาๆ ก็เป็นที่รู้จักกันว่า ในทีมของบริษัทมีคนที่ปั่นจักรยานเก่งเยอะ บริษัทก็เลยเริ่มเอาจริงเอาจัง มีงบให้ จนกลายมาเป็นทีม Aisan Racing Team ในทุกวันนี้ครับ ไม่ได้มาจากแนวคิดจะใช้จักรยานเพื่อการโปรโมทบริษัทอะไรเลย

แต่ตอนโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า ก็มีพนักงานของ Aisan ที่ติดทีมชาติญี่ปุ่นไปแข่งจักรยานด้วยนะครับ ทำให้เป็นที่ฮือฮาเอามาก เพราะสเกลมันใหญ่มาก ทำให้บริษัทตัดสินใจเอาจริงเอาจังกับจักรยานมากขึ้นครับ ไหนๆ ก็มีชื่อเสียงในวงการจักรยานแล้ว แล้วพนักงานเองก็ฮึดเพราะอยากจะสร้างชื่อให้บริษัทด้วยครับ หลังจากนั้นเวลาไปติดต่องานที่ไหน บางทีเรื่องจักรยานก็กลายเป็นหัวข้อสนทนาไป แล้วก็เชื่อมกันได้ด้วยจักรยานครับ

ในบริษัทเราเองก็ไม่ได้เรียกทีมว่าโปรนะครับ แต่เรียกว่าชมรมจักรยาน (หัวเราะ) แต่เราก็มีบริษัทลูกหรือบริษัทที่ติดต่องานด้วยในต่างประเทศ เช่นในอินโดนีเซีย แล้วเวลาไปแข่งในประเทศนั้นๆ แล้วทำผลงานได้ ก็กลายเป็นเรื่องที่คนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกันในเรื่องงานสนใจครับ ทำให้ทำงานกันได้ราบรื่นขึ้น นั่นก็อาจจะเป็นประโยชน์ของทีมเราครับ ด้วยงบประมาณจำกัด ทำให้ไม่สามารถลงแข่งได้ทุกงาน บางครั้งก็ปฏิเสธงานใหญ่ แต่ไปงานเล็กที่คิดว่ามีโอกาสได้พบปะผู้คนมากกว่าครับ

ขอถามเรื่องวงการจักรยานทั่วไปของญี่ปุ่นหน่อยนะครับ จากอิมเมจที่ผมเคยได้ยินมาและสังเกตเอง ส่วนใหญ่นักปั่นจะมีอายุอยู่ประมาณช่วงวัยกลางคน จริงเป็นอย่างที่ได้ยินมามั้ยครับ? 

จะว่างั้นก็ได้ครับ จริงๆ ก็มีนักปั่นวัยรุ่นอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ปัญหาคือ พวกเขาไปร่วมงานแข่งได้ยากครับ นอกจากจักรยานจะแพงแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมงานแข่งแต่ละที่ก็ไม่ใช่น้อยๆ บางที่ก็ต้องขับรถไปเอง ถ้าเป็นนักเรียนแล้วไม่ได้ร่วมกิจกรรมชมรมของโรงเรียนก็ลำบากแน่นอนครับ

แถมการแข่งระดับสมัครเล่นในญี่ปุ่นก็มักจะเป็นคอร์สวนๆ แล้วก็มีเนินมีเขาเยอะ ใครไม่แน่จริงๆ แป๊บๆ ก็จอดล่ะครับ เลยอาจจะทำให้ไม่สนุก จะหาทางราบปั่นยาวๆ 100 กิโลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ (สมกับเป็นประเทศภูเขา) พอไม่สนุก คนก็ไม่อยากจะปั่นต่อครับ คนที่ทำงานบริษัทใหม่ๆ จะหาเวลาไปซ้อมก็ลำบาก มืดแล้วก็ซ้อมยาก ติดไฟแดงบ่อย สุดสัปดาห์จะไปแข่งก็ใช้เงิน ซ้อมไม่พอ แข่งก็ไม่ไหว สุดท้ายก็เลยไม่สนุกครับ ทำให้คนที่จะสนุกกับจักรยานได้ส่วนใหญ่เลยเป็นวัยกลางคนที่เริ่มมีเงินมีเวลาเหลือพอนั่นล่ะครับ

ตอนที่โอตาคุปั่นสะท้านโลกฮิต ก็มีหลายคนมาเริ่มปั่น แต่ผมคิดว่า สุดท้ายก็ชนกำแพงตรงนั้น ก็เลยเลิกกันไปไม่น้อยครับ เด็กมัธยมนี่ยังไม่เท่าไหร่ แต่พอเป็นนักศึกษาแล้วก็น่าจะยากครับ (คุยนอกรอบกับคุณเบ็ปปุ เห็นว่าช่วงนึง คนแห่กันซื้อจักรยานกันเยอะ โดยเฉพาะสาวๆ ที่ซื้อตามตัวละครที่ชอบ บางคนก็สอย Pinarello คันละ 700,000 เยนเลย ร้านค้านก็ดีใจขายของได้เยอะ แต่สุดท้าย ก็เอามาขายต่อกัน ทำให้ตลาดมือสองรุ่งเรืองแทน ของมือหนึ่งขายไม่ได้ ค้างสต็อค กลายเป็นปัญหากันในวงการอีก)

อย่างที่ไทยนี่ ถ้าจัดงานแข่งก็หาทางราบง่ายนะครับ แต่ญี่ปุ่นนี่ ยังไงก็เจอเนินเจอเขานะครับ พอเป็นงั้นแล้วกลุ่มก็แตก ไม่สนุกอีก ทำให้คนเบื่อกันได้ง่ายครับ รายจ่ายก็เยอะ มีแต่น้าๆ ที่สู้ไหวครับ

 

ถ้าอย่างนั้น สำหรับวัยรุ่นที่อยากจะเทิร์นโปร เอาจริงกับจักรยาน ก็ควรหาทางไปยุโรปตั้งแต่อายุน้อยรึเปล่าครับ

ก็พูดยากนะครับ มันก็จริงอยู่ว่าไปยุโรปมันมีโอกาสมากกว่า แต่ถ้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย จะไปแข่งให้ทีมในยุโรปก็คงไม่ได้ ก็ต้องติดทีมชาติแล้วให้ทางสมาคมส่งไป ถ้าจะไปอยู่ยุโรปตั้งแต่อายุน้อย เพื่อเป็นโปรในอนาคต ทีนี้ความเสี่ยงของชีวิตก็เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะได้เป็นโปรแน่นอน (ดูความเห็นของเดเมียนก็ได้)

ทางที่น่าจะดีสุดคือ ไปเรียนมหาวิทยาลัยในยุโรปแล้วลงแข่งไปเรื่อยๆ แต่นั่นก็ยังยากอยู่ดีครับ ทั้งภาษา ทั้งเงิน ถ้าอยากไปอยู่ทีมในยุโรปจริงๆ ก็อาจจะเริ่มโชว์ผลงานตั้งแต่ในญี่ปุ่น เทิร์นโปรในญี่ปุ่น สร้างผลงานให้เยอะๆ ก็อาจจะมีคนสนใจ หรือสปอนเซอร์ในประเทศส่งไปก็ได้ครับ มันมีมากมายหลายทางอยู่เหมือนกันครับ จะพูดง่ายๆ ว่า ให้ไปยุโรปถ้าอยากเป็นโปรคงไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่แค่การแข่ง แต่มันคือชีวิตเลย เกิดเป็นโปรไม่ได้ก็จะทำไง เป็นโปรแล้วหลังจากนั้นจะทำไง พูดยากครับ แล้วแต่คนจริงๆ

ทีนี้ เรื่องการเทิร์นโปรของญี่ปุ่น อย่างที่คุยกันเมื่อกี๊ ก็มีทั้งแมวมองดึงตัว มีทั้งสมัครเข้าทีมเอง แล้วที่ญี่ปุ่น สมาคมจักรยานมีศูนย์ฝึกซ้อม คอยดึงเด็กที่มีแววมาฝึก แล้วค่อยส่งเข้าทีมต่างๆ แบบที่อังกฤษ (British Cycling) หรือออสเตรเลีย (Australian Institute of Sports) ทำไหมครับ

ญี่ปุ่นไม่มีขนาดนั้นครับ อย่างมากก็พานักแข่งทีมชาติไปเข้าร่วมทีมในยุโรป ถ้าโชว์ผลงานได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็บ๊ายบายกัน ต้องติดทีมชาติให้ได้ก่อนล่ะครับ ค่อยว่ากัน คือชาวเอเชียเรายังไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าไหร่ ยังถูกมองว่าฝีมือไม่ดีพอ ก็ต้องให้คนที่มีโอกาสไป โชว์ผลงานเด่นๆ ให้ได้เยอะๆ แบบที่พยายามทำกันอยู่ตอนนี้

ถ้าทำได้ก็จะได้รับการยอมรับเยอะขึ้นแบบชาวโคลอมเบียครับ (เสริม: คือ คล้ายๆ กับกรณีนักฟุตบอลญี่ปุ่นที่ไม่ได้รับการยอมรับ จนกระทั่ง ฮิเดะโตชิ นากาตะ โชว์ผลงานเด่นในเซเรียอาได้ ค่อยมีนักฟุตบอลญี่ปุ่นได้ไปเตะในยุโรปมากขึ้น) แต่ปัญหาตอนนี้ก็ยังติดอยู่ที่ หลังเบ็ปปุ (ฟุมิยุกิ น้องชายคุณทาคุมิ) หลังอาราชิโระ แล้วจะเป็นใครล่ะ?

ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครโชว์ผลงานขึ้นมาได้นะครับ ตอนนี้ก็มีนักแข่งจีน หรือไต้หวันอยู่ในทีมระดับ WorldTour นะครับ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้ไปเพราะสปอนเซอร์ทีมมาจากชาตินั้นๆ นั่นล่ะครับ อย่าง Loh Sea Keong นักแข่งชาวมาเลย์ที่อยู่ในทีม Thai Continental ก็เคยไปแข่งให้ทีม Sunweb เพราะตอนนั้น Shimano อยากได้นักแข่งจากอาเซียนไปแข่ง แล้วมีแต่เขานี่ล่ะครับที่เสนอตัวว่าพร้อม เลยได้ไป นักแข่งเอเชียยังไม่ได้รับการยอมรับในยุโรปขนาดที่ถูกดึงตัวไปได้โดยตรงขนาดนั้นครับ

 

แล้วสมาคมจักรยานญี่ปุ่นได้พยายามช่วยอะไรในส่วนนี้บ้างไหมครับ

คงต้องจากนี้ไปน่ะครับ เพราะนี่ก็เพิ่งหันมาจากทางเครินบ้าง ที่ผ่านมาคือเน้นไปทางเครินเป็นหลักเลยครับ (สมาคมจักรยานญี่ปุ่นดูแลการแข่งทุกประเภท) เพราะว่าเครินนี่ทำเงินให้สมาคมเยอะมากครับ สมาคมเลยไปเน้นตรงนั้น เพราะรายรับดีกว่า แถมเวลามีแข่งระดับโลก แข่งโอลิมปิค เครินก็คว้าเหรียญได้นะครับ

อุดหนุนโร้ดนี่ไม่ได้เงินอะไรเท่าไหร่เลยครับ แถมโอกาสได้เหรียญโอลิมปิกยังแทบไม่มีเลย ยังดีที่หลังๆ ก็หันมาสนใจบ้าง ก็ช่วยไม่ได้นะครับ เราก็พอเข้าใจอยู่ เราก็ต้องโชว์ผลงานด้วยตัวเอง เพื่อให้เขาหันมาสนบ้าง ก็ต้องพยายามให้เต็มที่ครับ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งชนะงานแข่งในประเทศ ในเอเชีย หรือเวลามีงานแข่งที่ทีมในยุโรปมาร่วม ถ้าเอาชนะนักแข่งยุโรปได้ ก็จะถูกจับตามองมากขึ้น ต้องค่อยๆ สั่งสมผลงานไปเรื่อยๆ ครับ

จริงๆ เราก็อยากจะพัฒนาทักษะของนักแข่งญี่ปุ่นนะครับ แนวทางของทีมเราก็คือ ไหนๆ เป็นทีมญี่ปุ่นแล้ว ก็อยากจะเน้นใช้ตัวนักแข่งญี่ปุ่นในการสร้างผลงานครับ ถ้ามองในระดับโลก การดึงนักแข่งต่างชาติเก่งๆ มาร่วมทีมก็ไม่แปลกอะไร แต่ทีมเราก็แข่งในประเทศเป็นหลัก จะไปดึงนักแข่งยุโรปเก่งๆ มาหลายๆ คน สร้างผลงานในประเทศหรือในเอเชีย ถึงเวลาไปแข่งอาจจะมีคนฮือฮา แต่มันก็ไม่ได้พัฒนาอะไร

สุดท้ายแล้ว ก็ต้องมาถามตัวเองว่าเป้าหมายคืออะไรครับ เวลาไปแข่งในประเทศอื่นในเอเชีย นักแข่งเจ้าบ้านอาจจะดีใจว่ามีโอกาสสู้กับนักแข่งชาวยุโรปเก่งๆ แต่ตัวนักแข่งญี่ปุ่นในทีมกลับไม่มีโอกาส ต้องเป็นผู้ช่วย ก็น่าเสียดายนะครับ ผมเลยไม่เห็นด้วยกับการดึงนักแข่งต่างชาติเก่งๆ มาหลายคนเพื่อเป็นตัวหลักในทีมญี่ปุ่นเท่าไรครับ แต่ถ้าประเทศอื่นทำแบบนี้ แล้วนักแข่งญี่ปุ่นอยากพยายามเอาชนะนักแข่งยุโรปที่อยู่ในทีมประเทศอื่นๆ นี่ก็ดีนะครับ ถือว่าได้พัฒนาตัวเองดี (หัวเราะ)

แต่ในทางกลับกัน พอไม่มีนักแข่งเก่งๆ โชว์ผลงานได้ทันที ก็กลายเป็นว่าทีมมีคะแนนสะสม UCI น้อยไป ไม่ถูกเชิญไปแข่งงานต่างๆ อีก ก็ชวนให้หนักใจอีกทางครับ

 

ขอบคุณคุณเบ็ปปุและทีม Aisan Racing Team มากๆ นะครับ ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับทาง Ducking Tiger

ขอบคุณที่อุตส่าห์มาซะไกลเหมือนกันครับ นานๆ ทีก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับชาวไทยนะครับ

 

 

ส่งท้าย

หลังจากนั่งคุยกันเกือบสองชั่วโมง คุณเบ็ปปุก็ขับรถกลับมาส่งผมที่สถานี ก่อนจะกลับผมมองไปที่หอพักของนักแข่ง เห็นห้องๆ หนึ่งที่แขวนเสื้อแข่งสารพัดทีมไว้ ก็คงเป็นเสื้อที่แลกมาจากการไปแข่งที่นั่นที่นี่ เจ้าของห้องก็คงภูมิใจกับผลงานของตัวเองไม่น้อย ก็ได้แต่รู้สึกว่า เส้นทางของการเป็นโปร ถ้าไม่ใจรักจักรยานและการแข่งกันจริงๆ ก็คงไม่เดินเส้นทางนี้กัน แม้ดูเหมือนวงการจักรยานญี่ปุ่นจะใหญ่และพัฒนาไปไกลกว่าเรา แต่ระดับอาชีพก็ยังคงมีอุปสรรคอีกไม่น้อยชนิดที่ถ้าไม่คุยกับคนในวงการเองก็คงไม่รู้

ดูตัวอย่างคุณสุมิโยชิ ที่ได้งานประจำแล้ว แต่ตัดสินใจเลือกเส้นทางที่เสี่ยงกว่า ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าเป็นอย่างไร และพูดตรงๆ ว่า รายรับอาจจะน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่เพราะเสน่ห์ของจักรยานทำให้พวกเขายังคงปั่นจักรยานต่อไป โดยหวังว่าสองล้อนั้นจะเบิกเส้นทางใหม่ๆ ให้กับพวกเขาต่อไปได้ ยิ่งได้เห็นความทุ่มเทของพวกเขาก็ยิ่งทำให้ได้แต่คารวะพวกเขาเท่านั้น

และในการแข่ง Tour of Japan ปีนี้ ผมก็คงขอเชียร์ทีม Aisan Racing Team โดยเฉพาะในสนามแข่งที่มิโนะ อยากให้พวกเขาเป็นทีมเจ้าบ้านทีมแรกที่ชนะในสนามเหย้าได้ซะทีนะครับ

*  *  *

By ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

นัท - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น ชอบปั่นจักรยาน ฟังเพลง อ่านหนังสือ และเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ มีผลงานหนังสือกับสำนักพิมพ์แซลมอนมา 3 เล่มแล้วจ้า

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *