ข้อดีทางอ้อมของดิสก์เบรก

วันก่อนผมได้ ฟัง Podcast เกี่ยวกับเรื่องในวงการจักรยาน แล้วมีประเด็นน่าสนใจอย่างนึง เป็นมุมที่ไม่เคยคิดมาก่อน

Podcast นี้เกี่ยวกับเทคโนโลยีจักรยาน มีคนไปสัมภาษณ์ Josh Poertner อดีตวิศวกรล้อ Zipp ที่ตอนนี้ออกมาเป็นเจ้าของบริษัท Silca

ประเด็นคือเขาบอกว่าข้อดีของการที่วงการเสือหมอบเริ่มหันมาใช้ดิสก์เบรกกันมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีข้อดีอย่างนึง นั่นคือมันอาจจะทำให้ราคาล้อคาร์บอนถูกลงครับ

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? Josh กล่าวว่า งบที่ใช้เป็นต้นทุนการออกแบบและวิจัยล้อคาร์บอนจำนวนมาก ไปตกอยู่ที่การทำขอบเบรกครับ ล้อคาร์บอนเนี่ย ดูเผินๆ เป็นของง่ายๆ นะครับ แต่เท่าที่เคยมีประสบการณ์ได้ถามวิศวกรจักรยานจากแบรนด์ต่างๆ มา ทุกคนตอบเหมือนกันว่า ทำล้อให้ดีนั้นทำยากกว่าเฟรม

เพราะล้อคาร์บอนต้องรับแรงหลายประเภท ในลักษะที่เฟรมจักรยานไม่ต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นรับแรงดันลมในปริมาณที่สูงมากๆ (มีล้อยานพาหนะอะไรบ้างที่เดี๋ยวนี้เติมลม 80-100psi?), รับความร้อนจากขอบเบรก, รับแรงกระแทก, สู้แรงเหวี่ยง สู้แรงกดทั้งแนวราบและแนวข้าง โดยทั้งหมดนี้ต้องทำงานได้อย่างปลอดภัย ไม่ย้วย ทนทาน และมีความลู่ลมสูง

ส่วนที่แพงที่สุดในการทำล้อคาร์บอนก็คือขอบเบรก การจะทำคาร์บอนซึ่งเป็นวัสดุที่ระบายความร้อนได้แย่มาก (เทียบกับอลูมิเนียมเป็นต้น)​ ให้ทนการใช้เบรกต่อเนื่องยาวนานจากการลงเขา ซึ่งก็เป็นกิจกรรมปกติของนักปั่นจักรยานเนี่ย ก็หมายความว่าต้องเลือกเรซินทนร้อนที่จะใช้มาทำเป็นส่วนผสมขอบเบรก เรซินทนร้อนมีราคาแพง สมัยนี้มีการทำ texture พื้นผิวขอบเบรกเพิ่มเข้าไปอีก ด้วยเทคนิคต่างๆ นาๆ ก็เพิ่มต้นทุนไปอีกขั้น

แต่สำหรับล้อดิสก์เบรก วิศวกรตัดเรื่องการทำขอบเบรกล้อให้ทนร้อนทิ้งไปได้เลย ไม่ต้องแคร์แล้ว ผลก็คือ ลดต้นทุนการผลิตวงล้อได้พอสมควร และลดน้ำหนักได้ด้วย เพราะไม่ต้องไปพอกขอบเบรกด้วยเรซินทนร้อน (ที่มักจะทำให้ขอบล้อมีความเปราะสูง) ในเอกสารการออกแบบล้อ Roval ของ Specialized วิศวกรกล่าวว่า วงล้อดิสก์มีน้ำหนักเบากว่าวงล้อริมเบรก เพราะไม่ต้องไปพอกขอบเบรกให้ทนร้อนและแข็งแรง และสามารถเปลี่ยนการเรียงชั้นคาร์บอนในวงล้อดิสก์เบรกให้มีความทนทานแข็งแรงได้มากกว่าในรุ่นริมเบรกด้วย

“For the disc brake clincher, we freed ourselves from a rim brake track and the associated material and construction it requires. We utilized more impact resistant material and a unique layup to measurably improve impact strength. This also resulted in a rim that is up to 20g lighter than the corresponding rim brake rims”

ใน Podcast ข้างต้น Josh กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ล้อแบรนด์ใหญ่อย่าง Zipp, Enve และ Campagnolo มีราคาสูงกว่าเพื่อนก็มาจากการลงทุนการทำขอบเบรกทนร้อนนี่เอง ซึ่งมันเป็น competitive advantage ของแบรนด์ล้อไฮเอนด์ ที่มีขอบเบรกที่หยุดรถได้อุ่นใจและปลอดภัยกว่าแบรนด์ที่ไม่ได้มีงบทำ R&D

แต่เมื่อเราเปลี่ยนเบรกให้มาอยู่ที่ใบดิสก์แทน competitive advantage ในล้อแบรนด์ดังก็หายไป จากที่ปกติเราจะเลือกซื้อล้อคู่นึงเรามักจะดูประสิทธิภาพการเบรกเป็นตัวแปรสำคัญ ประเด็นนี้ก็ตกไปได้เลย ถ้าขอบล้อน้ำหนักดีพอ วงล้อสติฟฟ์ส่งถ่ายแรงได้ดี ดุมโอเค ซี่ลวดโอเค ราคาตรงงบ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อล้อไฮเอนด์เพื่อให้ได้เบรกประสิทธิภาพสูงอีกแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าขอบเบรกจะละลายหรือบวมได้ง่ายๆ (ซึ่งที่ผ่านมามักเป็นจุดอ่อนของแบรนด์ที่ไม่มีงบทำ R&D)

ข้อสุดท้ายนี้มันเปิดโอกาสให้แบรนด์ล้อขนาดกลางถึงเล็ก สามารถสู้กับแบรนด์ใหญ่ได้ง่ายขึ้น เพราะแบรนด์ใหญ่กำลังจะขาดจุดขายสำคัญไปครับ (ขอบเบรกประสิทธิภาพสูง)

ในมุมกลับคนปั่นก็สามารถประหยัดงบค่าล้อคาร์บอนได้ ต่อให้ไม่ใช่ล้อหลักแสนก็เบรกได้ดีไม่แพ้กัน ล้อแบรนด์ไฮเอนด์พยายามแก้เกมตรงนี้ด้วยการปล่อยล้อดิสก์เบรกที่ใช้ขอบวงล้อจากรุ่นตัวท็อป แต่ใช้สเป็คต่ำลง น้ำหนักมากขึ้น เพื่อให้สู้ใน price point ระดับกลาง-ล่างได้

สิ่งที่น่าจะได้เห็นในอนาคตคือ

  1. R&D ของล้อจักรยานน่าจะไปอยู่ที่รูปทรงขอบล้อ ดุม และความสัมพันธ์กับยาง (tire interface) นั่นคือล้อรุ่นใหม่ๆ น่าจะน้ำหนักเบากว่าเดิมได้อีก ทนทานขึ้น และลู่ลมกว่าเดิม
  2. ผู้ใช้มีตัวเลือกล้อประสิทธิภาพสูงในกลุ่มราคา ล่าง-กลางมากขึ้น จากที่ผู้ผลิตไม่ต้องทำขอบเบรกทนร้อนอีกต่อไป ตรงนี้เปิดช่องให้แบรนด์เล็กมีโอกาสแข่งขันได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องไปทุ่ม R&D กับขอบเบรก ถ้ามีตัวเลือกมากขึ้นราคาล้อโดยรวมก็น่าจะต่ำลงตามกลไกการตลาดครับ
  3. ถึงจะบอกว่าราคาล้อคาร์บอนโดยรวมจะต่ำลง แต่พวกแบรนด์ไฮเอนด์ที่ตั้งราคาล้อริมเบรกและดิสก์เบรกเท่ากันในตอนนี้ เขาคงไม่ลดราคาลงอยู่แล้ว ถ้ามีการแข่งขันจากระดับ mid range มากขึ้นก็คงทำล้อระดับ mid range มาสู้แทนครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *