Specialized Venge ViAS อาจจะเป็นโปรเจ็คที่แย่ที่สุดของ Specialized
ไม่ใช่ว่าเป็นจักรยานที่ไม่ดี (Ducking Tiger เคยรีวิวไว้เมื่อสองปีก่อน เราว่ามันขี่ดีทีเดียว ถึงจะเซ็ตอัปยาก หน้าตาพิลึก และหนักมากก็ตาม) และมันก็สะท้อนในตลาด เพราะเป็นเสือหมอบแอโรที่น่าจะขายได้น้อยที่สุดเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ ถึงจะเป็นเสือหมอบแอโรที่ชนะเยอะที่สุดในวงการอาชีพก็ตาม
วันนี้ Specialized เปิดตัวจักรยานเสือหมอบแอโรรุ่นใหม่ Specialized Venge ซึ่งแก้ไขทุกอย่างที่ไม่ดีใน ViAS ครับ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่เบาลง ความลู่ลมที่มากขึ้น แฮนด์แอโรและสเต็มใหม่ที่เรียบง่ายพร้อมสติฟฟ์กว่าเดิม สามารถถอดเปลี่ยนได้ทุกชิ้น และน้ำหนักเฟรมที่ไม่ถึงหนึ่งพันกรัม
Specialized เคลมว่า Venge เจเนอเรชันใหม่คือเสือหมอบแอโรที่เร็วที่สุดในโลกตอนนี้
สำหรับคนที่ติดตามวงการอาชีพมาสักพักอาจจะเคยเห็นจักรยานคันนี้มาบ้างแล้ว เพราะจริงๆ แล้ว Specialized ส่งให้โปรใช้แข่งมาหลายสนามและมีผลงานชัยชนะเยอะที่สุด 10 ครั้งเทียบกับจักรยานแอโรจากแบรนด์อื่นแต่ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จนถึงวันนี้ครับ
DT มีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัว Venge ใหม่ที่จัดขึ้นในจังหวัดคานากาว่า ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีอะไรใหม่บ้างและปั่นเป็นยังไง ลองมาดูกันครับ
At a Glance
สำหรับคนขี้เกียจอ่าน
- เร็วกว่า Venge VIAS 8 วินาทีในระยะทาง 40 กิโลเมตร
- เร็วกว่า Tarmac SL6 50 วินาทีในระยะทาง 40 กิโลเมตร
- น้ำหนักเบากว่า Venge VIAS 460 กรัม (นับน้ำหนักตะเกียบ แฮนด์ และสเต็มด้วย)
- น้ำหนัก Completed bike ในไซส์ 56cm พร้อมล้อ Roval CLX 64 อยู่ที่ 7.1 กิโลกรัม
- สเต็มและแฮนด์แอโรใหม่ที่สติฟฟ์กว่าเดิม และเป็นแบบแยกชิ้น
- ไม่มีเวอร์ชันริมเบรก เป็นดิสก์เบรกเท่านั้น
- รองรับเฉพาะชุดเกียร์ไฟฟ้า
- S-Works Venge completed bike ราคา 11,500 USD
- S-Works Venge Frame Module ราคา 5,000 USD
ตามล่าหาความแอโร
The Specialized Aero Heritage
ที่งานเราได้พบกับคาเมรอน ไพเพอร์ (Cameron Piper) โปรดักต์เมเนเจอร์จาก Specialized มาอธิบายถึงกระบวนการออกแบบ Venge รุ่นใหม่นี้
นอกจากจะสันทัดเรื่องวิศวกรรมจักรยานแล้ว คาเมรอนยังเป็นนักแข่งจักรยานตัวยง ล่าสุดเพิ่งมาแข่ง Tour of Thailand ซึ่งทีม Illuminate ของเขาชนะไปถึงสามสเตจ!
คาเมรอนเริ่มด้วยการเล่าเรื่องความสนใจในอากาศพลศาสตร์ของ Specialized ซึ่งไม่ใช่ผู้เล่นใหม่ในวงการแอโรไดนามิกบนจักรยาน แต่เป็นแบรนด์แรกๆ ของโลกที่ทุ่มพัฒนาเทคโนโลยีแอโรไดนามิกในชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมวกันน็อกแอโร Specialized Air Force ที่ใช้ซอฟต์แวร์ Computing Fluid Dynamic ออกแบบ ตั้งแต่ปี 1991 หรือล้อแอโรสามก้านที่ร่วมพัฒนากับ Specialized-Dupont ในปี 1989
จริงๆ แล้วล้อสามก้านตัวนี้คือดีไซน์ที่ HED ซื้อไปพัฒนาต่อ จนกลายเป็นล้อ HED สามก้านอันโด่งดัง และโปรทีมยอมซื้อไปใช้เองถึงจะไม่ได้สปอนเซอร์นั่นเองครับ
แน่นอนว่าการที่ Specialized มีอุโมงค์ลมของตัวเองก็ช่วยให้ทดสอบความลู่ลมระหว่างการพัฒนาสินค้าจักรยานได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากในการเช่าอุโมงก์ลมข้างนอก ทุ่มเวลาวิจัยแอโรได้เยอะกว่าแบรนด์อื่นๆ
จักรยานที่ออกแบบโดยซุปเปอร์คอมพิวเตอร์
รูปทรงแอโรไดนามิกเจเนอเรชันใหม่
คาเมรอนเล่าถึงประวัติการพัฒนาท่อเสือหมอบทรงแอโรของ Specialized เริ่มจาก S-Works Venge ที่เปิดตัวในปี 2011 ซึ่งถือว่าเป็นเสือหมอบแอโรเจเนอเรชันแรก พยายามหาสมดุลระหว่างน้ำหนักเฟรมและความลู่ลม แต่ยุคนั้นยังมีเครื่องมือพัฒนาน้อย ส่วน S-Works Venge ViAS เป็นหมอบแอโรเจนสอง ซึ่งคอนเซปต์การพัฒนาคือแอโรที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ต้องแคร์ถึงเรื่องอื่น เช่นน้ำหนักที่มากขึ้น ส่วนเจน 3 คือท่อใน Venge รุ่นใหม่ โดยกลับไปรื้อใหม่หมด คำนวนว่าส่วนไหนของเฟรมควรจะแอโรจริงๆ ส่วนไหนไม่ต้องแอโรแต่เซฟน้ำหนักและเพิ่มความสติฟฟ์ได้เป็นต้น
Specialized ตั้งโจทย์ว่าทำยังไงก็ได้ให้ได้เฟรมที่แอโรไม่แพ้ Venge ViAS โดยใช้วัสดุน้อยกว่าเดิม ฟังดูง่ายนะ!
คาเมรอนเล่าต่อว่าการที่ Specialized มีอุโมงก์ลมของตัวเองทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ของรูปทรงท่อกับแอโรไดนามิกมากขึ้นในแบบที่คนทั่วไปอาจจะมองไม่เห็น เช่นรูปทรงท่อล่าง (downtube) นั้นมีผลกับแอโรไดนามิกน้อยมาก แต่กลับมีผลกับน้ำหนักและความสติฟฟ์มากกว่าท่ออื่นๆ หลายเท่า (ท่อล่างเป็นจุดที่คนทั่วไปมักใช้แบ่งว่าจักรยานคันนี้เป็นรถ “แอโร” หรือ “all around”)
ขณะเดียวกันท่อชิ้นเล็กๆ อย่างขาตะเกียบ แฮนด์ ซีทสเตย์ และหลักอานมีผลกับความลู่ลมมากกว่าท่อล่างหลายเท่า แต่มักถูกมองข้าม การพัฒนาเฟรม Venge รุ่นใหม่จึงพยายามเก็บรายละเอียดรูปทรงท่อในจุดเล็กๆ ให้มากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาของ ViAS คือรูปทรงเฟรมที่แอโรมากแต่ประสิทธิภาพด้านอื่นเช่นความสติฟฟ์หรือความสบายทำได้ไม่ดีนัก
โปรเจ็ค Venge ใหม่นี้ Specialized ได้อิงมาร์ ยุงนิคเคล วิศวกรใหม่ไฟแรงของ Specialized มาช่วย
อิงมาร์เคยทำทีสีสเรื่อง “ผลกระทบของลมข้างที่มีต่อล้อขอบสูงในจักรยานเสือหมอบแข่งขัน” (โคตรเนิร์ด) จากนั้นเขาพัฒนาโปรแกรมหาค่าความลู่ลมในอุโมงค์ลมที่ใช้โดยทีมจักรยานอาชีพและทีมชาติเยอรมัน ทั้งหมดนี้เขาทำสำเร็จก่อนอายุ 25 ปี!
แทนที่จะพัฒนารูปทรงด้วยซอฟต์แวร์ CFD เพียงอย่างเดียว อิงมาร์เขียนโปรแกรมในการ optimize รูปทรงท่อให้ได้ทรงที่ลู่ลมที่สุด Specialized เรียกกระบวนการนี้ว่า Free Shape Optimization
เป็นการรันโปรแกรมผ่านซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่ช่วยประมวลผลหารูปทรงท่อที่ลู่ลมที่สุดแต่ยังมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงตามโจทย์ที่ตั้งไว้ ทำให้การหาสมดุลระหว่างความลู่ลม น้ำหนัก และความแข็งแรงของท่อแต่ละส่วนเป็นเรื่องง่ายและใช้เวลาน้อย
เมื่อทำรูปทรงจนได้สมดุลที่พอใจแล้วก็นำไปขึ้นรูปเป็นเฟรมต้นแบบ และให้นักปั่นอาชีพลองทดสอบเฟรมในเลย์อัปคาร์บอนแบบต่างๆ จนได้ต้นแบบที่สมดุลดีที่สุด
ผลที่ได้คือโมดูล Venge Disc รุ่นใหม่ที่น้ำหนักทั้งระบบเบากว่า Venge VIAS Disc 460 กรัม คาเมรอนเปรียบเทียบให้ดูง่ายๆ ด้วยการโชว์เฟรม VIAS ที่ถูกตัดท่อต่างๆ ออก น้ำหนักของท่อที่ถูกตัดคือน้ำหนักที่หายไปในเฟรม Venge ใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้เฟรมใหม่ที่ลู่ลมกว่า VIAS ในทุกองศาลมกระทบ
จักรยาน Venge Disc ไซส์ 56cm แบบ completed bike ที่มากับชุดขับ Dura-Ace Di2, ล้อ Roval CLX 64 หนัก 7.1 +/- 100 กรัมเท่านั้น
Venge ViAS | New Venge | เบาลง (กรัม) | เบาลง (%) | |
เฟรม | 1200g | 960g | 240g | 20% |
ตะเกียบ | 410g | 385g | 25g | 6% |
แฮนด์ + สเต็ม | 547g | 440g | 107g | 20% |
หลักอาน | 200g | 175g | 25g | 13% |
อะไหล่อื่นๆ | 219g | 156g | 63g | 29% |
ส่วนน้ำหนักเฟรมไซส์ 56cm อยู่ที่ 960 กรัม +/- 30 กรัม ในสี Satin Black (น้ำหนักไม่นับที่แขวนตีนผี, น็อตยึดขากระติก, น็อตยึดหลักอาน, ลูกปืนและ headset)
สิ่งที่ทำให้จักรยานน่าปั่น
Handling, Fit, and Comfort
เช่นเดียวกับจักรยานของ Specialzied รุ่นอื่นๆ Venge ใหม่ใช้ปรัชญา/เทคโนโลยีการออกแบบที่เรียกว่า Rider-First Engineered ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2014 ในเฟรม Tarmac SL5 กล่าวอย่างสั้นๆ คือการทำให้เฟรม ตะเกียบ หลักอาน และแฮนด์-สเต็ม ทุกไซส์มีคาแรคเตอร์ในการปั่นใกล้เคียงกัน เพราะโดยปกติแล้วจักรยานไซส์ใหญ่มักมีความสติฟฟ์น้อยกว่าไซส์เล็ก ในขณะที่ไซส์เล็กมากก็มักมีความสติฟฟ์มากเกินจนปั่นไม่สบาย วิธีแก้คือการออกแบบเฟรมแต่ละไซส์ให้มีรูปทรงท่อต่างๆ และการเรียงชั้นคาร์บอนที่ต่างกันเพื่อให้แมทช์กับคนปั่นไซส์นั้นจริงๆ
เฟรม Venge ใหม่มีช่วงหน้า (front end) ที่สติฟฟ์กว่า Venge ViAS 20% ที่กระโหลก +18% โดยเฉพาะในไซส์ใหญ่สุดที่สติฟฟ์กว่าเดิม 24%
สำหรับมิติรถหรือ geometry นั้นคาเมรอนกล่าวว่าฟิตเท่ากับ Tarmac SL6 เป๊ะๆ ถึงแม้ระยะ stack จะต่างกันเล็กน้อย เพราะ Venge ใหม่ใช้ headset ต่างจาก Tarmac SL6 แต่ตำแหน่งสเต็มที่ต่ำที่สุดระหว่างเฟรมทั้งสองรุ่นนั้นเท่ากันพอดี
ระหว่างทดลองปั่นผมขี่ Venge ไซส์ 52cm กับสเต็มระยะ 90mm ชักหลักอานเท่ากับ Tarmac ก็ให้ฟีลฟิตที่เหมือนกันมากครับ
ในด้านความสบาย Venge รุ่นใหม่ใช้วิธีการเดียวกับจักรยานร่วมสมัยรุ่นอื่นๆ เช่นลดจุดยึดหลักอานให้ต่ำลง เพื่อให้ตัวหลักอานให้ตัวได้มากขึ้น, ปรับการเรียงคาร์บอนในหลักอานให้ซับแรงสะเทือนได้ดีขึ้น และท้ายสุดการใช้ยางหน้ากว้างเพื่อให้ซับแรงสะเทือนจากถนนได้ดีขึ้น ซึ่งรองรับยางได้กว้างถึง 32mm แต่ถ้าอยากกว้างกว่านั้นก็ใช้ได้เต็มที่เกือบ 34mm
ค็อกพิทที่ลู่ลมแต่ปรับตั้งง่าย
Smart integration
ช่วงแฮนด์และสเต็มหน้ารถอาจจะเป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจมากนัก แต่คาเมรอนเล่าว่าระหว่างการพัฒนาเฟรม Venge, Specialized เรียนรู้ว่าเฉพาะแฮนด์, สเต็มและการเดินสายให้หลบลมนั้นคิดเป็น 40% ของความลู่ลมของทั้งระบบ Venge VIAS เลยใช้สเต็มแบบขนานพื้น เดินสายแบบภายใน และให้ใช้แฮนด์แบบยกเพื่อปรับความสูงช่วงหน้ารถแทน
แต่ระบบ Venge cockpit เก่าก็ทำให้ผู้ใช้ปรับระยะต่างๆ ได้ยาก และเดินสายยาก
ใน Venge ใหม่ Specialized ตัดสินใจใช้แฮนด์และเสต็มแบบปกติที่แยกชิ้นกัน และใช้วิธีพัฒนารูปทรงของสเต็มและแฮนด์แยกชิ้นให้แอโรที่สุดแทน ใช้การเดินสายภายในแบบใหม่ที่ง่ายต่อการประกอบและจูนรถ และการเลือกพัฒนารถให้เป็นระบบดิสก์เบรกและใช้กับชุดขับไฟฟ้าอย่างเดียวก็หมายความว่าไม่ต้องกังวลเรื่องประสิทธิภาพสายเบรกและสายเกียร์เหมือนใน VIAS อีกต่อไป
ถ้าผู้ใช้ไม่ชอบรูปทรงของแฮนด์และสเต็ม Venge ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้ของแบรนด์อื่นได้ แต่จะเสียเรื่องความลู่ลมไปเล็กน้อย
คามเรอนกล่าวว่าแฮนด์และเสต็มใหม่เมื่อใช้กับเฟรม Venge ใหม่ ทำให้ได้ระบบที่เร็วกกว่า Venge VIAS 8 วินาทีที่ระยะทาง 40 กิโลเมตร
สเต็มและแฮนด์ที่โปรอยากใช้
Can’t have all those Zipps and Visions on our pro bikes!
เรื่องหนึ่งที่ Specialized รู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีนักคือความสติฟฟ์ของสเต็ม หลายคนอาจจะเห็นว่าสปรินเตอร์ที่ใข้จักรยาน Specialized อย่างปีเตอร์ ซากาน และทอม โบเน็น เลือกใช้สเต็ม Zipp SL Sprint แทนถึงทีมจะไม่ได้สปอนเซอร์จาก Zipp ก็ตาม รวมถึงแฮนด์ที่นักปั่นหลายคนเลือกใช้แฮนด์ integrated จาก Vision แทน
The Venge Stem
เรื่องนี้ Specialized ยอมไม่ได้! นอกจากจะเสียภาพลักษณ์ที่โปรไม่ยอมใช้อุปกรณ์ของตัวเองแล้ว ยังแสดงถึงความเสียเปรียบด้านวิศวกรรมด้วย คาเมรอนกล่าวว่าโจทย์สำคัญของการพัฒนาระบบ Venge ใหม่คือต้องทำแฮนด์และเสต็มที่แอโรที่สุดและสติฟฟ์ที่สุดจนโปรไม่ยอมใช้ของแบรนด์อื่นด้วย!
หลังจากทดลองผลิตสเต็มหลายๆ รูปทรงออกมา โดยอิงกับฐานข้อมูลรูปทรงแอโรใน Freefoil Shape Library ก็ทำสำเร็จครับ ได้เป็นรูปทรงสเต็มที่ด้านหน้ากว้างเพื่อเพิ่มความสติฟฟ์
ชาร์ทข้างบนโชว์ค่าความสติฟฟ์ (หน่วย N/mm) และอัตราส่วนความสติฟฟ์ต่อน้ำหนัก ซึ่งสเต็ม Venge รุ่นใหม่ะสติฟฟ์กว่าสเต็ม Venge VIAS ถึง 60% และถึงค่า STW จะแพ้ Zipp SL แต่ก็เพียง 5% เท่านั้น
ตัวสเต็มทำจากอลูมิเนียม CNC และถึงน้ำหนักจะไม่เบาเท่าสเต็ม S-Works SL แต่ก็ให้ประสิทธิภาพโดยรวมดีกว่า คาเมรอนเล่าว่าประสิทธิภาพสเต็มใหม่ดีจนนักปั่นในทีมอย่างฟิลลิป จิลแบร์ที่ใช้ Tarmac SL6 ถึงกับขอสเต็ม Venge ไปใช้แทนสเต็มปกติที่เขาใช้อยู่
The Aerofly II
นักปั่นจาก Quickstep หลายคนไม่ยอมใช้ cockpit ในเฟรม ViAS แต่หันไปใช้แฮนด์ Vision 4D แบบชิ้นเดียวแทนซึ่งน้ำหนักเบากว่าและสติฟฟ์กว่า
ใน Venge ใหม่ Specialized ปรับปรุงแฮนด์แอโร Aerofly ให้มีรูปทรงที่ลู่ลมกว่าเดิม สติฟฟ์กว่าเดิม และลดน้ำหนัก โดยที่ไม่ทำเป็นแฮนด์ integrated ชิ้นเดียว เพื่อให้นักปั่นเลือกปรับระยะต่างๆ ได้สะดวก
คาเมรอนกล่าวว่าแฮนด์รูปทรงแอโรมักมีปัญหาเรื่องความสติฟฟ์เพราะ รูปทรงที่ยาวกว่าแฮนด์กลมจำเป็นต้องใช้เนื้อวัสดุมากขึ้นเพื่อยังคงความแข็งแรงไว้ แฮนด์ Aerofly Riser ใน ViAS ก็เจอปัญหาเดียวกัน สปรินเตอร์แรงดีหลายคนไม่ชอบความย้วยของตัวแฮนด์ riser จนต้องใช้แฮนด์ aerofly แบบ flat หรือหันไปใช้แฮนด์กลมแทน
เลยเป็นที่มาของแฮนด์ Aerofly II ซึ่งปรับรูปทรงให้สติฟฟ์กว่าเดิมและแข็งแรงกว่าเดิม ปรับเชป flat top ให้มีมุมเฉียงขึ้นเล็กน้อยให้รับกับตำแหน่งมือได้เป็นธรรมชาติ พร้อมเว้าบากเนื้อแฮนด์เข้าไปในจุดพันผ้าพันแฮนด์ เวลาพันแฮนด์แล้วจะได้ออกมาสวยพอดีไม่ดูล้น
Flat top ด้านบนme texture ไว้ให้จับไม่ลื่นมือด้วย
เมื่อใช้ร่วมกับสเต็ม Venge แล้ว Specialized ได้ชุด cockpit ใหม่ที่สติฟฟ์กว่าแฮนด์ Vision และ Aerofly Riser และน้ำหนักน้อยกว่าร่วม 100 กรัม
และสำคัญสุดคือแฮนด์และสเต็มใหม่นี้ ถอดปรับตั้งได้ด้วยประแจตัวเดียวครับ
Specialized ใช้วิธีการเดินสายเบรกลอดใต้ช่องเล็กๆ ใต้สเต็ม ทะลุเข้าไปใน spacer น็อตที่ใช้ขันยึดสเต็มมีฝาพลาสติกครอบอีกทีเพื่อความลู่ลมและเรียบร้อย สเต็มใช้ขนาดปกติ เพราะงั้นถ้าไม่ชอบสเต็ม Venge ก็เปลี่ยนเป็นแบรนด์อื่นได้ครับ
แค่ต้องเปลี่ยน headset cap เป็นแบบนี้ ก็จะได้วิธีการเดินสายที่ไม่สวยเท่าสเต็ม Venge
แน่นอนว่ามากับที่ยึดคอมพิวเตอร์จักรยานด้วย ทำจาก CNC ลงเงาสวยงามทีเดียว รองรับคอมพิวเตอร์จักรยานเกือบทุกรุ่น ยกเว้น SRM ครับ
สเต็มมีให้เลือกสองมุมที่ 6° และ 12° ความยาวตั้งแต่ 80-140mm ส่วนแฮนด์ Aerofly II มีค 4 ความกว้างที่ 380, 400, 420 และ 440mm
ใช้ได้เฉพาะดิสก์เบรกและเกียร์ไฟฟ้า?
เชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่หลายๆ คนอาจจะไม่แฮปปี้ Venge รุ่นใหม่รองรับเฉพาะระบบดิสก์เบรกและชุดเกียร์ไฟฟ้าเท่านั้น เช่นไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินสายเบรกและเกียร์แบบซ่อนในเฟรมที่จะทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานแย่ลง และการรองรับดิสก์เบรกอย่างเดียวช่วยเรื่องการซับแรงสะเทือนมาก เพราะผู้ใช้เลือกใช้ยางขนาดใหญ่ได้
Venge ใช้ดิสก์เบรกแบบ Flatmount ตามมาตรฐาน Shimano มากับแกนปลด thru-axle แกนหน้า 100x12mm แกนหลัง 142x12mm และใช้กับระบบปลดไว RWS ของ DT Swiss ได้ด้วย
แกน Thru-axle ออกแบบให้มีขนาดเล็กแนบไปกับตะเกียบและน้ำหนักคู่ละ 67 กรัมเท่านั้น
นอกจากนี้ Specialized ยังเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นเปลี่ยนจุดยึด junction box DI2 มาไว้ที่ท้ายหลักอานตามคำเรียกร้องของช่างโปรทีมที่อยากติดตั้งและปรับจูนเกียร์ง่ายๆ และสามารถเอี้ยวตัวจากรถเซอร์วิสลงมาจูนเกียร์ระหว่างแข่งขันได้ง่ายขึ้นด้วย
จุดยึดสับจานหน้ามีเพลตแบบ built in เพื่อใช้ยึดน็อตปรับสับจาน กระโหลกยังเป็น Specialized OSBB / BB30
ราคา
- Completed Bike US$12,500
- Frameset US$5,500
- ราคาและวันวางจำหน่ายในไทยรอสอบถามตัวแทน Sport Bicycle
Gallery
ข้อมูลเพิ่มเติม: Specialized.com
อยากให้รีวิวเสือภูเขามั่งง่ะ