จะเป็นอย่างไรถ้าแบรนด์จักรยานมีโลโก้ภาษาไทย?

จะเป็นอย่างไรถ้า? “แบรนด์จักรยานมีโลโก้เป็นภาษาไทย”

คำถามง่ายๆ แต่ก็เป็นอะไรที่น่าลอง นอกจากจะเขียนบทความให้ Ducking Tiger อยู่เรื่อยๆ แล้วอีกงานหนึ่งของผมคือเป็นนักออกแบบฟ้อนต์ครับ เลยคิดว่าถ้าเราสามารถแปลงโลโก้แบรนด์จักรยานให้ออกมาเป็นภาษาไทย โดยพยายามรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ให้ครบถ้วนจะมีหน้าตาเป็นยังไงบ้าง

ก็เลยได้ลองทำออกมาเป็นผลงานจำนวน 9 แบรนด์ โดยเลือกมาจากแบรนด์ที่เพื่อนๆ ในทีมจักรยานของผมเลือกปั่นอยู่ อนาคตอาจมีเพิ่มเติมมากกว่านี้ครับ

CANYON แคนยอน

ลักษณะเด่นของตัวอักษรชุดนี้คือตัวอักษรที่เอนไปด้านหน้า แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่ส่วนมากเอนไปด้านหลัง และส่วนล่างของตัวอักษรนั้นถูกตัดแหว่ง เพิ่มความแปลกตาและสร้างความน่าจดจำให้กับแบรนด์

  • ชุดตัวอักษรภาษาอังกฤษ CANYON สั่งทำฟอนต์พิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ

COLNAGO โคลนาโก

หนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่เลือกใช้ฟอนต์แบบมีเชิง (Serif) ดังนั้นเราจึงนำลักษณะเด่นของเชิงมาเติมแต่งให้กับตัวอักษรไทยด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากเชิงของตัวอักษรนั้นส่งผลให้ตัวอักษรดูแข็งกระด้างมากเกินไป จึงพยายามออกแบบส่วนโค้งของตัวอักษรและปลายเส้นให้มนและละเมียดมากที่สุดเพื่อถ่วงสมดุลกับความแข็งนั่นเอง

SPECIALIZED สเปเชียลไลซ์

หนึ่งในแบรนด์ยอดฮิตกับชื่อที่ยาวมาก ตัวอักษรถูกออกแบบมาให้มีความโฉบเฉี่ยว เอนไปด้านหลังสะท้อนถึงความเร็ว แต่เนื่องจากตัวอักษรภาษาไทยมีรายละเอียดภายในตัวอักษรที่มากกว่า ทำให้ตัวอักษรดูอึดอัด จึงจำเป็นต้องขยายขนาดของตัวอักษรให้กว้างขึ้นเล็กน้อย

FELT เฟลท์

สำหรับตัวอักษรภาษาอังกฤษเลือกใช้ฟอนต์มาตรฐาน โครงสร้างแข็งแกร่ง แต่เพิ่มความน่าจดจำโดยการตัดมุมส่วนล่างของตัวอักษรทุกตัว ดังนั้นสำหรับภาษาไทยจึงตัดมุมออกด้วยเพื่อให้สอดคล้องกัน

SCOTT สกอตต์

โลโก้ชุดนี้ตัวอักษรอังกฤษและไทยมีความสอดคล้องกันในหลายด้าน อาทิ ตัว O และตัว อ อ่าง ที่สามารถใช้โครงสร้างแบบเดียวกันได้โดยยังคงความ “อ่านได้” เอาไว้อยู่ และยังอยู่ตำแหน่งตรงกลางของตัวอักษรพอดี ส่วนตัว T สองตัว สอดคล้องกับการใช้ ต เต่าซ้ำกันสองตัว บาลานซ์น้ำหนักของโลโก้ทั้งซ้ายขวาให้สมดุล

Cervélo เซอร์เวโล

หนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่เลือกใช้ตัวอักษรตัวพิมพ์เล็ก โครงสร้างของตัวอักษรภาษาอังกฤษมีความผสมผสานหลากหลายรูปแบบมาก จึงพยายามออกแบบภาษาไทยให้มีลูกเล่นผสมผสานตามกัน อีกทั้งได้ดึงลักษณะของตัว é ที่เป็นจุดเด่นสุดของแบรนด์ มาใช้เป็นตัวการันต์ให้กับ ร เรือ

TREK เทรค

อักษร 4 ตัวสั้นๆ ที่แข็งแกร่ง โชคดีที่เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยแล้วได้ 4 ตัวพอดีเช่นกัน อีกทั้งไม่มีสระ, วรรณยุกต์บนล่างมากวนใจ ทำให้ได้ออกมาเป็นโลโก้ไทยที่คลีนและเขากับต้นฉบับได้เป็นอย่างดี

GIANT ไจแอนท์

ไจแอนท์เลือกใช้ฟอนต์มาตรฐานอย่าง Helvetica ลดช่องไฟระหว่างตัวอักษรให้ชิดติดกันมากขึ้น และมีการดัดแปลงส่วนโค้งด้านล่างของตัว G ให้มีลักษณะคล้ายคลื่น จึงดึงลักษณะเด่นดังกล่าวมาใช้กับตัว อ อ่างของภาษาไทย

FACTOR แฟคเตอร์

ตัวอักษรต้นฉบับมีความทันสมัย ช่องไฟระหว่างตัวอักษรกว้างเป็นพิเศษ เพิ่มความโฉบเฉี่ยวให้โลโก้โดยการเพิ่มมุมแหลมให้กับตัว A และตัว T สร้าง Dynamic ให้ภาพรวมของโลโก้ไม่ราบเรียบเกินไป โดยภาษาไทยเราเลือกที่จะเพิ่มมุมแหลมให้กับตัว ฟ ฟัน และสระ เอ ในตำแหน่งเดียวกับต้นฉบับนั่นเอง

//

  • อนุญาตให้เผยแพร่โดยทั่วไป แต่หากต้องการใช้ตัวอักษรภาษาไทยเชิงพาณิชย์ รบกวนติดต่อที่ [email protected]

** โลโก้แบรนด์ภาษาอังกฤษ เจ้าของแบรนด์ดังกล่าวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยสมบูรณ์

ที่มา www.facebook.com/fontcraft

Fontcraft รับออกแบบและจัดทำฟอนต์สำเร็จรูป

By จุติพงศ์ ภูสุมาศ

ใช้ กับตันทีมปั่นฝัน ใช้ชีวิตควบคู่กับการปั่นตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน สนใจในทุกด้านของเครื่องจักรสองล้อพลังเท้า!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *