คาเดล เอวานส์ The Greatest Australian

การจากลาเป็นเรื่องยากเสมอ…

ช่วงชีวิตที่ดีที่สุดของนักกีฬาจักรยานคือช่วงไหน? หลายคนคงตอบว่าก็น่าจะแถวๆ อายุ 28-35 ปี เพราะมันคือเวลาที่นักปั่นพร้อมสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และไหวพริบ ตัดสินใจได้เฉียบขาด ไม่พลาดพลั้งเหมือนรุ่นน้องที่เพิ่งจะก้าวสู่สังเวียน มีความทะเยอทะยานแต่ก็ไม่ประมาทเผลอเรอ ไม่น่าแปลกใจว่านักปั่นชื่อดังหลายๆ คนจะสะสมผลงานยาวจนนับไม่ไหว ถ้าจะสร้างประวัติศาสตร์ก็ต้องว่ากันในช่วง 7 ปีนี้

มีคำเปรยเรียบง่ายสำหรับนักปั่นที่สะท้อนชีวิตจริงได้ดีเสมอมา “ถ้าคุณรักจะสนุกกับการลงเขา คุณก็ต้องขึ้นให้ถึงยอดเขาเสียก่อน” ช่วงสุดท้ายของการเป็นนักปั่นอาชีพ อาจจะไม่ใช่เวลาที่ใครๆ หลายคนอยากจดจำ ทีมเริ่มมีนักปั่นหน้าใหม่ขึ้นมาทัดทานฝีมือ ผลงานเริ่มร่อยหรอ สื่อและแฟนคลับเริ่มตั้งขอสงสัย  “หมอนี่จะปั่นต่อได้สักอีกกี่ปี?”

Cadel Evans (2 of 6)

คาเดล เอวานส์ กัปตันทีม BMC และอดีตแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ประกาศเมื่อเช้าวันนี้ว่าเขาจะอำลาวงการวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ขอลงแข่งสนามที่บ้านเกิดออสเตรเลีย 2 สนาม – Tour Down Under และ The Great Ocean Race เป็นครั้งสุดท้าย

เอวานส์ให้สัมภาษณ์สื่อว่าถึงเขาจะมีประสบการณ์การแข่งเสือหมอบมาร่วม 20 ปี แต่เช่นเดียวกับนักปั่นอาชีพอีกหลายๆ คน พอไม่ได้แข่งแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ แอนดี้ รีส์ เจ้าของทีมและบริษัท BMC เสนอให้เอวานส์เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์สำหรับ BMC ซึ่งหน้าที่ของเขาหลังจากปลดคลีทแล้ว จะเป็นการช่วย BMC พัฒนาจักรยานรุ่นใหม่ๆ และช่วยพัฒนานักปั่นในทีมรุ่นใหม่ที่เริ่มก้าวเข้าสู่วงการน่องเหล็ก

แต่สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงเอวานส์คงไม่ใช่อาชีพใหม่ของเขา อาจจะมีโปรรีไทร์ทุกปี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีผลงานคุณภาพระดับเอวานส์ ทางสมาคมจักรยานออสเตรเลียถึงกับออกมากล่าวยกย่องเอวานส์ว่าเขาคือผู้มีคุณูปการต่อวงการจักรยานออสเตรเลียที่สุดในประวัติศาสตร์ เอวานส์ทำให้วัยรุ่นออสเตรเลียมองเห็นว่าการแข่งจักรยานเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชีวิตที่พวกเขาสามารถใช้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้

2836310-16x9-940x529

 

Steady, as he goes.

ในระยะเวลา 20 ปีของการเป็นนักปั่นอาชีพ เอวานส์คือคนเดียวในประวัติศาสตร์การแข่งที่ได้แชมป์โลกเสือภูเขา แชมป์โลกจักรยานถนน และแชมป์ตูร์เดอฟรองซ์

ต่างกับครอบครัวนักปั่นหลายคนที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้รุ่นลูก เอวานส์ไต่เต้าเข้าสู่วงการจากการรับทุนการศึกษานักกีฬาจาก Australian Institute of Sport เข้าฝึกโปรแกรมเสือภูเขาจนได้เป็นแชมป์เยาวชนออสเตรเลีย เหตุผลที่เขาพัฒนาอย่างรวดเร็ว? ผลทดสอบในห้องแลปพบว่าเขามีความจุปอดและความสามารถในการดูดซึมอ๊อกซิเจนดีกว่า 99.9% ของประชากรออสเตรเลีย

เขาเริ่มเทิร์นโปรด้วยการเป็นนักปั่นจักรยานเสือภูเขาประเภทครอสคันทรี และครองแชมป์โลก Mountainbike World Cup สองสมัยซ้อนในปี 1998-1999 ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการเสือหมอบในปี 2001 กับทีม Saeco ((จำ Canonndale Saeco ได้มั้ย?))

เริ่มลงแข่งเสือหมอบได้ปีเดียว เอวานส์ก็เริ่มโชว์ฟอร์มนักปั่น GC ด้วยการคว้าเสื้อชมพู Maglia Rosa ให้กับทีม Mapei ในรายการจิโรดิตาเลียปี 2002 – แกรนด์ทัวร์สนามแรกในชีวิตเขา ไม่มีใครสงสัยว่าเขาคืออนาคตของวงการ แต่เมื่อเขาย้ายไปอยู่กับทีม Telekom ร่วมกับแยน อูลริค เอซ GC ของทีมและอดีตแชมป์ตูร์เดอฟรองซ์ในยุคนั้น แน่นอนว่าเขาคงไม่ได้ขึ้นนำทีมในปีสองปีแน่ๆ เอวานส์ไม่ได้ลงแข่งตูร์จนถึงปี 2005 หลังจากที่เขาย้ายไปอยู่กับ Lotto และก็ไม่ทำให้ทีมผิดหวังเมื่อเขาคว้าอันดับ Top 10 ในปีนั้นและอันดับ 4 ในปีถัดมา

เอวานส์ไม่ใช่นักปั่นที่มีฟอร์มหวือหวา แต่ถ้าจะให้เปรียบ เขาน่าจะเป็นคนที่มีผลงานคงเส้นคงวาที่สุด และพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปี ในยุคที่ EPO และสารโด้ปยังตามจับได้ยาก ไม่แปลกที่เอวานส์ – คนที่ได้ชื่อว่า “สะอาด” ที่สุดใน peloton ไม่สามารถขึ้นคว้าโพเดี้ยมรายการใหญ่ได้เหมือนคู่แข่งหลายๆ คนที่ตอนนี้โดนจับแบนกันไปหมดแล้ว

เขา “คงเส้นคงวายังไง?” ในปี 2007 เอวานส์พ่ายสนามตูร์ให้อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ แพ้แค่ในสเตจ Time Trial สุดท้าย ปีถัดมาถึง Astana และคอนทาดอร์จะไม่ได้ลงแข่งตูร์ (โดนแบน) เอวานส์ก็ยังทำได้อันดับสอง พ่ายให้ซาสเตร้ไปอย่างน่าเสียดาย

Cadel Evans (3 of 6)

The Rainbow year

2009 เป็นปีที่น่าจดจำสำหรับเอวานส์ เพราะมันเป็นที่เขาคว้าอันดับ 3 ในทัวร์ออฟสเปน ตบท้ายด้วยการครองแชมป์โลกจักรยานถนนซึ่งเป็นครั้งแรกของออสเตรเลีย (และยังคงเป็นคนเดียวที่ทำได้จนถึงทุกวันนี้) สิ่งที่น่าประทับใจก็คือในวันนั้น ทีมออสเตรเลียทุ่มกำลังไปซัพพอร์ทเอซคนอื่น เอวานส์ซึ่งพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นตัวเต็งของสนามกลับไม่มีคนช่วย แต่เขาก็เลือกจังหวะโจมตีที่ตีนเขาลูกสุดท้าย กระชากหนีวิโนคูรอฟ แคนเชอลารา และโรดริเกรซ ทิ้งห่างเข้าเส้นชัยไปก่อนร่วม 12 วินาที

สำหรับนักปั่น GC แล้ว นอกจากชัยชนะในแกรนด์ทัวร์และการเป็นแชมป์โลก ยังมีอีกหนึ่งสนามที่ทุกคนต่างใฝ่ฝันจะครองแชมป์ให้ได้สักครั้ง นั่นก็คือ La Fleche Wallone – สนามแข่งคลาสสิควันเดียวในเมือกเขาอาร์เดนส์  ที่เนินลูกสุดท้ายชันกว่า 26% อวานส์เอาชนะตัวเต็งทั้งชเล็ค คอนทาดอร์ และโรดริเกรซ จากการออกโจมตีในช่วง 100 เมตรสุดท้ายเท่านั้น

 

ผลงานที่รอคอย

สำหรับเอวานส์แล้วตูร์ เดอ ฟรองซ์ 2011 เปรียบเสมือนปีที่ความพยายามตลอดเส้นทางนักปั่นอาชีพของเขาตกผลึก กลายมาเป็นผลงานที่ดีที่สุดในชีวิต เอวานส์คือชาวเออสเตรเลียคนแรกที่คว้าแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เขาชนะแอนดี้ ชเล็กในวันสุดท้าย ซึ่งเป็นสเตจ Time Trial

Cadel Evans (6 of 6)

เอวานส์ไม่ได้ชนะด้วยการเร่งออกหนีบนภูเขาเหมือนตัวเต็ง GC ชื่อดังคนอื่น แทบทุกสเตจภูเขาสำคัญ เอวานส์ต้องไล่ตามพี่น้องชเล็คและนิบาลิไม่ได้ พร้อมๆ กับลากคู่แข่งคนอื่นๆ ไปด้วย เพราะเขาไม่ชอบการกระชากขึ้นเขาเหมือนคนอื่นๆ แต่เอวานส์ก็พยายามครั้งแล้วครั้งเล่า ไล่ตามให้เสียเวลาน้อยที่สุด เก็บเล็กผสมน้อย ด้วยวิถีทางของเขาเอง – จนพลิกเอาชนะแอนดี้ที่ถือเสื้อเหลืองได้ในที่สุด ความทรหดและความไม่ยอมแพ้ของเอวานส์สะท้อนออกมาในการปั่นตูร์ปีนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ 9 ครั้งที่เขาลงแข่งแกรนด์ทัวร์ เขาติด Top 10 ถึง 7 ครั้ง

The Final Time Trial

 

บทสรุป

ถึงเอวานส์จะฟอร์มตกลงเรื่อยๆ หลังจากที่เขาคว้าแชมป์ตูร์ ประกอบกับการเข้ามาของทีเจย์ แวนการ์เดอเรน และความขัดแย้งภายในทีม อาจจะทำให้เรามองเขาในภาพที่ไม่ดีเท่าไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอวานส์คือนักปั่นที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ เป็นทั้งนักแข่งแกรนด์ทัวร์ที่กล้าจะท้าประลองกับคู่แข่งในสนามคลาสสิค เป็นคนที่พยายามพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ยอมรับในจุดอ่อน แต่ก็หาจุดแข็งในด้านอื่นมาเสริม

สิ่งที่ผมชอบมากกว่าอื่นใดคือความแน่วแน่และมั่นคงของเขา  เอวานส์ไม่ใช่คนที่หวือหวา กระโชกโฮกฮาก ชนะโด่งดังแบบข้ามคืนแล้วเงียบหายไป อาชีพนักปั่นของเอวานส์เป็นเสมือนการไต่ขึ้นบันไดทีละขั้น ถึงแม้จะก้าวพลาดหลายครั้ง แต่เขาก็กลับขึ้นไปจนถึงยอดได้ในที่สุด

Cadel Evans (1 of 6)

 

Cadel Evans
เกิด: 14 กุมภา 1977
จาก: แคเธอรีน, ออสเตรเลีย
ทีมปัจจุบัน: BMC Racing Team
ทีมในอดีต: Saecco (2001), Mapei-Quickstep (2002), Telekom (2003-2004), Lotto (2005-2009), BMC (2010-2015)

2014
Tour Down Under; แชมป์สเตจ 3
Giro del Trentino; แชมป์สเตจ 3
Giro del Trentino; แชมป์รายการ
Tour of Utah; แชมป์สเตจ 6
Tour of Utah; แชมป์สเตจ 7

2013
Tour of Alberta; แชมป์สเตจ 4

2012
Criterium International; แชมป์สเตจ 2
Criterium International; แชมป์รายการ
Criterium International; แชมป์ผู้นำคะแนนรวม
Criterium du Dauphine; แชมป์สเตจ 1
Criterium du Dauphine; แชมป์ผู้นำคะแนนรวม

2011
Tirreno-Adriatico; แชมป์สเตจ 6
Tirreno-Adriatico; แชมป์รายการ
Tour de Romandie; แชมป์รายการ
Tour de France; แชมป์สเตจ 4
Tour de France; แชมป์รายการ

2010
La Fleche Wallonne; แชมป์รายการ
Giro d’Italia; แชมป์สเตจ 7

2009
Criterium du Dauphiné Libéré; แชมป์ ITT
Criterium du Dauphiné Libéré; แชมป์ผู้นำคะแนนรวม
Settimana Internazionale Coppi e Bartali; แชมป์สเตจ 5
World road race Championships; แชมป์โลกจักรยานถนน

2008
Paris-Nice; แชมป์สเตจ 4
Settimana internazionale di Coppi e Bartali; แชมป์สเตจ 3
Vuelta a Andalucia; แชมป์สเตจ 2

2007
UCI ProTour; อันดับ 1 UCI Pro Tour

2006
Tour de Romandie; แชมป์รายการ

2004
Tour of Austria; แชมป์รายการ

2002
Tour Down Under; แชมป์สเตจ 5
Commonwealth champion, แชมป์ Time Trial

2001
Tour of Austria; แชมป์รายการ

1999
Mountain bike World Cup; แชมป์โลก

1998
Mountain bike World Cup; แชมป์โลก

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *