รีวิว: Chapter 2 Tere

ทำความรู้จัก Chapter 2

Chapter 2 Bike เป็นแบรนด์จักรยานใหม่ที่ก่อตั้งและออกแบบโดยไมเคิล ไพรด์​ (Michael Pryde) อ่านนามสกุลแล้วอาจจะคุ้นหูใช่มั้ยครับ มันพ้องกับแบรนด์จักรยาน Neil Pryde นั่นก็เพราะไมค์ ไพรด์เป็นลูกชายของนีล ไพรด์​​​ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าของบริษัท Neil Pryde ที่โด่งดังเรื่องอุปกรณ์วินด์เซิร์ฟและจักรยานเสือหมอบแข่งขันนั่นเอง

ไมค์ไม่ได้เป็นนักออกแบบจักรยานตามอาชีพ เขาจบเอกสถาปัตยกรรมจากอังกฤษ​ จากนั้นมาเป็นสถาปนิกให้กับ Norman Foster และมีส่วนร่วมในการออกแบบสนามบินฮ่องกง แต่ด้วยที่เป็นคนรักงานออกแบบ ไมค์ออกมาช่วยพ่อที่บริษัท Neil Pryde ในปี 2004 ด้วยความรักและหลงไหลในการแข่งขันจักรยานตั้งแต่เด็ก ไมค์เป็นหัวเรือหลักในการเปิดตัวแบรนด์จักรยาน Neil Pryde ในปี 2008 ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าทีมออกแบบจักรยานทุกรุ่น

อย่างไรก็ดีพ่อของไมค์เริ่มอายุมากแล้วและอยากจะรีไทร์จากการทำงาน ก็เลยขายบริษัทไป ไมค์ก็ออกมาด้วย แต่ไมค์ยังอยากจะทำแบรนด์จักรยานอยู่ เพราะเขาเห็นว่ามันมีช่องโหว่และจุดอ่อนในโมเดลธุรกิจจักรยานปัจจุบัน เลยออกมาก็ตั้งแบรนด์ Chapter 2 แบรนด์นี้มีฐานการออกแบบและวิจัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ บ้านเกิดของไมค์นั่นเอง

Mike Pryde
Neil Pryde

ขายตรงผ่านหน้าเว็บ, แต่ยังมีศูนย์บริการ

Chapter 2 จะเป็นแบรนด์ที่ขายตรงสู่ลูกค้า (consumer direct) เช่นเดียวกับจักรยานออนไลน์อย่าง Canyon ไมค์มองว่าธุรกิจการขายจักรยานแบบที่แบรนด์ใหญ่ทำกันนั้นผลักภาระให้ร้านค้าและผู้นำเข้าเกินไป การวิจัยและพัฒนาสินค้าก็ถูกจำกัดด้วยรอบการผลิตแบบ Model Year ซึ่งใช้เวลานานและตอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ไม่ทัน ทั้งยังจำกัดตัวเลือกสำหรับผู้ใช้เช่นสีและสเป็ครถ

ในมุมกลับแบรนด์ออนไลน์ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน เพราะลูกค้าต้องรอสินค้านานทั้งๆ ที่ต้องจ่ายเงินก่อนเป็นจำนวนมาก ครั้นจะเคลมประกันหรือสั่งอะไหล่ก็ต้องรอเป็นเดือน ยิ่งถ้ามีจักรยานคันเดียวก็ไม่ต้องปั่นกันเลย Chapter 2 แก้ปัญหาตรงนี้ด้วยการเปิด “Service Course” หรือศูนย์บริการในประเทศต่างๆ เวลาซื้อลูกค้าต้องกดสั่งซื้อจากหน้าเว็บไซต์ Chapter 2 แต่ของจะส่งจาก Service Course ในประเทศนั้นๆ อะไหล่สำรองก็จะสต็อกไว้ที่ศูนย์บริการในประเทศเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องรอสั่งข้ามประเทศเป็นเวลานาน ตัวเฟรมก็จะสต็อกไว้ในประเทศเช่นกัน

นั่นหมายความว่าจักรยานจาก Chapter 2 จะมีราคาถูกกว่าแบรนด์อื่นๆ ในสินค้าระดับเดียวกัน เพราะไม่จำเป็นต้องมีดีลเลอร์ที่แบ่งกำไรจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าอีกที ปัจจุบัน Chapter 2 มีศูนย์บริการในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ ไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอีกหลายๆ ประเทศกำลังทยอยตามมาครับ

ไมค์เล่าให้เราฟังว่าใช้ชื่อ Chapter 2 ก็เพราะมันเหมือน “บทที่สอง” ของชีวิตในวงการจักรยานของเขา

Chapter 2 Tere design

ลองคิดว่าคุณเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจักรยานรายใหม่ คำถามแรกเลยคือคุณจะขายจักรยานประเภทไหน? ในเมื่อจักรยานมีตั้งหลายประเภท สำหรับไมค์ คำตอบนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องเป็นเสือหมอบแข่งขัน เพราะมันคือแพสชั่นส่วนตัวของเขา ไมค์แข่งจักรยานมาหลายสิบปีและล่าสุดนี่ก็เพิ่งลงสนาม Tour of Friendship ที่ประเทศไทยแถมยังได้อันดับไม่เลวด้วย จักรยานคันแรก (และตอนนี้มีแค่รุ่นเดียว) ของ Chapter 2 คือรุ่น Tere

เฟรม Tere (เป็นภาษาเมารีจากชนเผ่าพื้นเมืองในนิวซีแลนด์ แปลว่า “ไปอย่างรวดเร็ว”) และโจทย์การออกแบบคือต้องเป็นจักรยานที่ดูแล้วมีรูปทรงคลาสสิคขณะเดียวกันก็ต้องมีองค์ประกอบด้านแอโรไดนามิคด้วย ผลที่ได้คือจักรยานที่มีท่อนั่งตรงยาวไม่สโล้ปจนเกินไปเหมือนเฟรมทรงคอมแพค แต่ท่อต่างๆ ที่ใช้นั้นเป็นทรงแอโร ไมค์กล่าวว่าเราอยากได้จักรยานทรงคลาสสิคที่เร็วที่สุดเท่าที่รูปทรงแบบนี้จะให้ได้

หลายๆ ส่วนของเฟรม Tere จึงใช้รูปทรง Kamm-tail (truncated airfoil) แทนท่อทรงกลมซึ่งไม่ค่อยจะลู่ลมเท่าไร สำหรับคนที่ไม่ทราบ รูปทรง Kamm-tail จะมีลักษณะมนด้านหน้าและเพรียวไปด้านหลังเหมือนหยดน้ำ แต่ตัดส่วนท้ายออก และใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์มาตั้งแต่ปี 1930s แต่เพิ่งนำมาใช้ในวงการจักรยานอย่างแข็งขันเมื่อราวๆ ปี 2013 นี้เอง

ระหว่างทดสอบความลู่ลมของเฟรม Tere ในอุโมงค์ลม Auckland University Windtunnel

ถึงรูปทรง Kamm-tail จะไม่ลู่ลมเท่าทรงหยดน้ำแบบ NACA ที่เห็นได้ในปีกเครื่องบิน แต่เหมาะกับการใช้ทำโครงจักรยานกว่าเพราะท่อทรงหยดน้ำ NACA แบบเต็มตัวนั้นต้องใช้วัสดุปริมาณมาก (หนัก) และรูปทรงไม่เอื้อต่อการรับแรงกระทำจากการปั่น (ย้วย) ท่อทรง Kamm-tail ที่ช่วงท้ายตัดหางป้านออกทำให้ได้รูปทรงที่ตอบสนองแรงดีขึ้นและใช้วัสดุน้อยลง และยังคงความแอโรไว้ได้เกิน 80% ของทรง NACA และบริษัท Trek เป็นรายแรกที่ใช้รูปทรง Kamm-tail ในจักรยานในปี 2010 กับเฟรม time trial Speedconcept

เฟรม Tere ใช้ท่อทรง Kamm-tail บริเวณท่อคอ, ขาตะเกียบ, ท่อล่าง, ท่อนั่งและหลักอาน พูดง่ายๆ คือส่วนที่ปะทะลมทั้งหมด เมื่อได้รูปทรงที่ต้องการและทดสอบหาความแอโรในซอฟต์แวร์ CFD แล้วก็นำไปทดสอบในอุโมงค์ลมที่มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์​ในประเทศนิวซีแลนด์

DT ถามไมค์ว่าจะมีพวกค่าอุโมงค์ลมเทียบกับเฟรมจากค่ายอื่นๆ ให้เราดูไหม ไมค์บอกว่าไม่มี เพราะจริงๆ โจทย์คันนี้ไม่ใช่การออกแบบเสือหมอบที่เร็วที่สุด (ซึ่งจะเป็นคันต่อไปของ Chapter 2)

เฟรม Tere ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ Toray T700 และ T800 แบบทิศทางเดียว (unidirectional) และใช้เนื้อแบบทอ (weave) ในลาย 3K เสริมความแข็งแรงในจุดข้อต่อต่างๆ เช่นท่อคอ ท่อนอนและกระโหลก โดยรวมแล้วไม่ใช่เฟรมที่เบาหวิว น้ำหนักในไซส์ M (54cm) อยู่ที่ 950g รวมสี

ดีไซน์อื่นๆ ก็คล้ายเสือหมอบร่วมสมัย ใช้กระโหลก BB86, หลักอานแบบ integrated ที่ไม่ต้องใช้รัดหลักอาน, เฟรมมีให้เลือกทั้งแบบดิสก์เบรค (thru-axle + flatmount) และริมเบรค เดินสายภายในทั้งสายเบรคและสายเกียร์ รองรับชุดขับไฟฟ้าและชุดขับ mechanical

ฟิต ไซส์ สี ราคา

Tere มีให้เลือก 5 ไซส์ – XS, S, M, L XL ค่า STR หรือสัดส่วน stack:reach จะอยู่ที่ 1.4 (ไซส์ XS) และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึง 1.5 ต้นๆ (ไซส์ XL) เชนสเตย์หลังระยะเท่ากันหมดในทุกเฟรมไซส์ที่ 405mm ซึ่งก็จัดว่าสั้นและซิ่งครับ เฟรมไซส์ XS และ S ใช้ตะเกียบที่มีระยะ rake 53mm ไซส์ M ขึ้นไปใช้ตะเกียบ rake 43mm

ทั้งนี้ geometry ของรุ่นดิสก์เบรคและริมเบรคจะไม่เท่ากัน เฟรมดิสก์เชนสเตย์จะยาวกว่า 3mm (ทำให้รองรับยางกว้างสุด 28mm) ระยะ front-centre ช่วงครึ่งหน้าของรถก็ยาวกว่ารุ่นริมเบรค 3mm ลดความไวในการควบคุมเข้าโค้งลงเล็กน้อย เพื่อตอบโจทย์การใช้งานเสือหมอบดิสก์เบรคที่หลายๆ คนใช้ปั่นแนวผจญภัยมากกว่าแข่งขัน

เมื่อแบรนด์ขายออนไลน์การจะหาไซส์ที่ถูกต้องนั้นแนะนำว่าควรปรึกษาไบค์ฟิตเตอร์ก่อน หรือปรึกษาศูนย์บริการ Chapter 2 ก่อนเพื่อความชัวร์ครับ

Chapter 2 จะต่างจากแบรนด์จักรยานทั่วๆ ไปตรงที่จะมีการเปลี่ยนสีเฟรมเป็น “ฤดูกาล” เหมือนกับวงการแฟชันครับ แบ่งได้เป็น 3 คอเลคชัน

  • Essential Collection: สีคลาสสิคเรียบๆ เช่นดำด้านสลับดำเทา แซมด้วยลวดลายของชนเผ่าเมารีสีเขียวอ่อนเป็นแถบเล็กๆ เปลี่ยนลวดลายทุกๆ สิบเดือน
  • Limited Edition: สีพิเศษทำออกมาเป็นระยะ แต่หมดแล้วหมดเลย
  • Special Edition: สีพิเศษที่ทำจำนวนจำกัดมากๆ เช่นลาย Tour de France สเตจ 17 ในปีนี้ มีเพียง 17 คัน

Chapter 2 ยังไม่ทำคอมพลีทไบค์ออกมาขาย ตอนนี้จะมีแต่เฟรมเซ็ตเท่านั้น เหตุผลก็คือเล็งกลุ่มเป้าหมายเป็นคนปั่นที่มีประสบการณ์พอจะประกอบเลือกอะไหล่มาประกอบรถเองได้

ราคาเฟรมเซ็ต Tere ในคอลเลคชัน Essential และ Limited ซึ่งมากับหลักอาน headset และสเต็ม (รวมค่าส่งและภาษีต่างๆ) อยู่ที่ 79,000 บาท รับประกัน 5 ปี และมี crash replacement program มีส่วนลดให้ซื้อเฟรมใหม่หากได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ ส่วน Special Edition ราคาแพงกว่าเล็กน้อยที่ 96,646 บาท

รีวิว

รีวิวรอบนี้เราได้ Chapter 2 Tere ไปทดสอบที่เขาใหญ่ครับ เส้นทางก็จะมีทั้งทางราบ ทางราบสลับเนินและทางขึ้นเขาใหญ่จากฝั่งด่านปราจีนบุรีไปจนถึงยอด มีของแถมเป็นสายฝนที่ถาโถมลงมาตลอดครึ่งหลังของการปั่น ก็พลอยได้ทดสอบ handling บนพื้นเปียกไปด้วย

ต้องบอกก่อนว่า Chapter 2 Tere คันที่ผมกับวีทดสอบเป็นสีรุ่นแรกๆ เลยที่ทำออกมาทดลองกัน ไม่มีขายครับ (เดี๋ยวไปเปิดในเว็บแล้วจะไม่เจอ) สเป็ครถเป็นชุดเกียร์ SRAM eTap, Rotor 3D24 Crankset + Power2Max Ng, เบาะ SQ Lab, ล้อ Fulcrum Racing Zero Nite, ยาง Veloflex 23mm, สเต็มของ Chapter 2 และแฮนด์ดรอปคาร์บอน

Chapter 2 Tere เป็นจักรยานที่ “ขี่ง่าย” เป็นความรู้สึกแรกที่เราจับได้ชัดมาก ง่ายยังไง?

  • Geometry ไม่ก้มต่ำเกินไป: (STR ประมาณ 1.4 ซึ่งผมว่ากำลังดีสำหรับคนที่ไม่ได้แข็งแรงเหมือนนักกีฬา ไม่ต้องรองแหวนรองคอเยอะ และยังคงความดุดันสไตล์รถแข่งได้อยู่)
  • รถไม่กระด้าง: มีฟีดแบคจากพื้นถนนที่ดีระดับหนึ่งไม่ได้ดูซับแรงสะเทือนจนตายด้านไปหมด แต่ก็ไม่กระด้างเหมือนรถแข่งที่สติฟมากๆ จับวิ่งผ่านลูกระนาดมีความกระดอนแต่ไม่สะเทือนขึ้นมาถึงไส้
  • Handling กลางๆ: รถแข่งส่วนใหญ่ที่ DT ทดสอบจะบังคับรถเข้าโค้งได้เฉียบคมและไวมาก นั่นคือใช้แรง steering น้อย ซึ่งถ้าคนที่ไม่คุ้นชินอาจจะพบว่าบางทีมันไวเกินความสบายใจเกิดความหวาดเสียวได้ง่ายๆ ครับ (แต่ขี่นานๆ เข้าก็ชิน) Chapter 2 Tere ในไซส์ที่เราขี่นี่ steering ออกไปทางช้าเลยด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อติมากกว่า Chapter 2 Tere ในไซส์ XS และ S มีระยะ fork rake ยาวกว่าไซส์อื่นๆ 1 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปัญหาเท้าไปติดล้อหน้าเวลาหักเลี้ยว (toe overlap) แต่พอรวมกับท่อคอที่องศาน้อย (70 องศาในไซส์ XS และ 72 องศาในไซส์ S) ทำให้จักรยานมันจะเข้าโค้งช้านิดนึง เรียกว่าอาการ understeer ครับ ทั้งนี้ เราคิดว่าเฟรมไซส์ M ขึ้นไปไม่น่าจะเจอปัญหานี้ เราได้คุยกับชาวต่างชาติที่ปั่นรถไซส์ XL เขาก็บอกว่ารถเข้าโค้งได้คมและไวดี

เมื่อรวมสามจุดนี้เข้าด้วยกันทำให้มันเป็นรถที่มือใหม่ขี่สนุกครับ handling กลางๆ ไปทางช้า, ไม่สะท้าน, และท่านั่งไม่ก้มเหยียด

ทีนี้มาดูเรื่องการตอบสนองแรงหรือ pedaling response กันบ้าง โดยเฉพาะการไต่เขาและสปรินต์ Chapter 2 Tere มากับ geometry แบบคอมแพค คือช่วงสามเหลี่ยมหลังเล็กและกระชับ เชนสเตย์หลังจัดว่าสั้น ยาวแค่ 405mm ในทุกไซส์ เทียบกับเสือหมอบแข่งขันส่วนใหญ่ที่เชนสเตย์จะยาวประมาณ​ 410mm เหตุผลที่ต้องพูดระยะเชนสเตย์ก่อนก็เพราะมันมีผลต่อฟีลลิ่งการปั่นและการตอบสนองแรงโดยตรง เชนสเตย์ที่สั้นจะให้ความรู้สึกคล่องแคล่วว่องไว เวลาเราเลี้ยวโค้ง ลุกยืนขึ้นปั่นและออกกระชากรถครับ เมื่อรวมกับกระโหลกที่สติฟพอประมาณก็ได้รถที่กดแล้วพุ่งดีครับ

แต่ต้องบอกว่ายังไม่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับเสือหมอบแข่งขันไฮเอนด์ที่ราคาเกิน 120k++ ขึ้นไป Tere ยังไม่พุ่งแบบเปิดวาร์ปขนาดนั้น และสปีดปลายยังไม่พุ่งไม่สุด แต่เมื่อรวมกับคาแรคเตอร์อื่นๆ ของรถแล้วก็ได้สมดุลดีและขี่สนุกครับ เป็นรถที่ยืนปั่นขึ้นเขาสนุกมากและไม่รู้สึกหน่วงเหมือนเสือหมอบแอโรส่วนใหญ่

Chapter 2 Tere มีท่อต่างๆ เป็นทรงแอโรไดนามิกหลายจุด ไมค์ ไพรด์บอกกับเราว่าได้นำรถไปทดสอบในอุโมงค์ลมที่มหาวิทยาลัย Auckland ในประเทศนิวซีแลนด์และพบว่าลู่ลมกว่าเสือหมอบทรงคลาสสิคทั่วไป แต่ยังไม่เร็วเท่าเสือหมอบแอโรแบบเพียวๆ เราไม่มีข้อมูลตรงนี้ คงวิจารณ์อะไรไม่ได้ ถ้าเอาแค่ความรู้สึกรถก็ยังไม่ได้ไหลเหมือนเสือหมอบแอโร แต่ก็ไม่ได้ช้าหรือรู้สึกต้องเติมเยอะที่ความเร็วแช่ 40kph ครับ

โดยรวมแล้วผมว่า Tere เป็นเสือหมอบที่รอบด้านมาก แต่ไม่มีด้านไหนโดดเด่นเป็นพิเศษ นิ่มระดับหนึ่ง พุ่งระดับหนึ่ง ไหลระดับหนึ่ง แต่กลับเป็นว่าเมื่อเอาคาแรคเตอร์ทุกอย่างมารวมกันก็ได้รถที่ขี่ดี เหมาะกับการขี่หลายรูปแบบครับ จะเซ็ตให้ซิ่งไว้ใช้แข่งก็ได้ ขี่สนุกๆ กับเพื่อน ขี่ไกลๆ ก็ได้ (แต่ควรใส่ยางกว้างสัก 25mm เพื่อความสบาย) และใช้งานได้คล่องตัวหลากหลายเส้นทาง

เชื่อว่าคนที่มอง Chapter 2 ไม่ได้มองเรื่องประสิทธิภาพอย่างเดียว แต่คงดูเรื่องดีไซน์ สีสันที่ส่วนตัวผมว่าสวยและมีลูกเล่นกว่าสีสต็อคของแบรนด์อื่นๆ ตัวเฟรมสีดำคลาสสิคก็มีทั้งส่วนที่เป็นดำด้านและดำกลอส คาดด้วยลายชนเผ่าเมารีตรงกลางท่อล่าง รวมๆ แล้วออกมาดูดีมีมิติถึงแม้จะเป็นรถสีดำ สีอื่นโดยเฉพาะในคอเลคชัน Limited ก็แปลกตาไม่ซ้ำใครดี

สรุป

ถึง Chapter 2 จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ ขาดประวัติการแข่งขัน หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าแบรนด์​แต่ผมว่าทำรถและปั้นแบรนด์ได้ดีครับ และไม่ได้โฟกัสไปที่วงการแข่งขันอาชีพ 100% ซึ่งว่ากันตามตรงแล้วมันก็ไม่ดึงดูดคนปั่นกลุ่มใหญ่ เช่นผู้หญิงและคนที่ไม่ได้คลั่งไคล้การแข่งขัน ไมค์บอกเราว่าตั้งใจทำแบรนด์ออกมาให้เข้ากับกลุ่มคนธรรมดาทั่วไปที่รักการขี่จักรยาน (แต่ก็ชอบขี่จักรยานซิ่งๆ ประสิทธิภาพดีด้วย) มันเลยสะท้อนออกมาในอัตลักษณ์ แนวคิด และการออกแบบของแบรนด์ทั้งหมด ผมว่าน่าจะเป็นแบรนด์ที่ผู้หญิงหลายคนชอบแน่ๆ

Chapter 2 ไม่ต้องการขายจักรยานเป็นจำนวนมากและแต่ละปีก็ไม่ได้ผลิตมาก ไมค์บอกว่าไม่อยากให้บริษัทใหญ่เกินไปเพราะไม่งั้นก็ต้องเดินตามกลไกตลาด ต้องขายรถคอมพลีทไบค์ เลือกทำสีที่วิจัยแล้วว่าลูกค้าจะชอบ อะไรแบบนั้น ซึ่งเขาเองอยากทำแบบที่อยากทำ และอยากรักษาแพสชันและความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าและลูกค้าให้เหนียวแน่น เขารู้ว่าถ้าแบรนด์ใหญ่กว่านี้คงทำแบบนี้ไม่ได้ แล้วเขาเองก็จะเบื่อเลิกทำไปในที่สุด เหมือนตอนที่แยกตัวจาก NeilPryde

เรื่องประสิทธิภาพรถก็อย่างที่กล่าวไว้คือ Tere นี่เป็นรถประสิทธิภาพดีที่ให้ฟีลกลางๆ แต่ขี่สนุกและขี่ไม่ยาก คนที่ชอบรถแข่งจี๊ดจ๊าด พุ่งมาก ไหลมาก คงไม่ถูกใจ แต่ถ้าชอบรถขี่ง่ายๆ ไม่โหดร้ายกับร่างกายเราเกินไปก็ใช้ได้ครับ

ในรุ่นต่อไปไมค์บอกว่าจะเป็นรถที่ “เร็วมาก” ซึ่งเราเดาว่าคงเป็นเสือหมอบแอโรแบบ pure 100% เพราะเขาเองก็มีประสบการณ์การออกแบบเสือหมอบแอโรอย่าง NeilPryde Nazare มาแล้ว

ราคาก็ทำได้ดี ไม่ถูกแต่ก็ไม่แพง แต่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่อยากจะ customise / personalise รถตัวเอง หาอะไหล่มาแต่งเอง แต่แน่นอนว่ากว่าจะออกมาเป็นจักรยานเต็มคันก็ต้องจ่ายมากกว่าเสือหมอบคอมพลีทไบค์จากแบรนด์ใหญ่

จุดที่ลูกค้าไทยน่าจะยังไม่สนิทใจคือการซื้อออนไลน์ Chapter 2 ไม่มีหน้าร้าน เพราะไม่มีตัวแทนดีลเลอร์เหมือนจักรยานแบรนด์อื่น ผู้ซื้อต้องสั่งและจ่ายเงินผ่านเว็บไซต์แล้วรอของส่งไปที่บ้าน ยกเว้นบ้านจะอยู่ใกล้ศูนย์บริการ (Service Course) ซึ่งตอนนี้มี Cycling Project (กทม.), Ksiam Bike (กทม.), Life and Living Bikenet (ชลบุรี), และBeaze BobBike (โคราช)

ข้อมูลเพิ่มเติม: Chapter2bikes.com  / Facebook Chapter 2 Bike Thailand

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *